กรุงเทพฯ--16 ธ.ค.--หอศิลปวิทยนิทรรศน์
Beyond Perfection
โดย ชวลิต เสริมปรุงสุข
ณ หอศิลปวิทยนิทรรศน์ ศูนย์วิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แสดงงานวันที่ 1 ธันวาคม 2554 – 28 มกราคม 2555
วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม 2554
เวลา 16.30-18.00 น. โปรแกรมเพื่อการศึกษา: การบรรยายโดยศิลปิน อ. ชวลิต เสริมปรุงสุข เกี่ยวกับผลงานในนิทรรศการ Beyond Perfection เวลา 18.00-20.00 น. พิธีเปิดนิทรรศการ โดยคุณณรงค์ อิงค์ธเนศ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะแวลลูซิสเตมส์ จำกัด ให้เกียรติเป็นประธาน
*หากสื่อมวลชนท่านใดมีความประสงค์สัมภาษณ์ศิลปิน กรุณาโทรนัดสัมภาษณ์ได้ช่วงก่อนหรือหลังวันเปิดนิทรรศการ
หอศิลปวิทยนิทรรศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภูมิใจเสนอ Beyond Perfection นิทรรศการจิตรกรรมเดี่ยวโดยอาจารย์ชวลิต เสริมปรุงสุข ศิลปินไทยผู้ทรงเกียรติซึ่งปัจจุบันพำนักและทำงานอยู่ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม อาจารย์ชวลิตสำเร็จการศึกษาโดยเป็นหนึ่งในลูกศิษย์ของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (เดิมชื่อ Corrado Feroci ชาวอิตาลีสัญชาติไทย ผู้ก่อตั้ง และครูสอนศิลปะในมหาวิทยาลัยศิลปากร) ผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของประเทศไทย ก่อนที่จะไปศึกษาต่อยัง Rijksakademie van beeldende kunsten ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม อันเป็นสถาบันศิลปะชั้นเลิศสำหรับศิลปินมากความสามารถทั้งจากเนเธอร์แลนด์และนานาชาติ
จากการพำนักอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์กว่า 40 ปีที่ผ่านมา อาจารย์ชวลิตสามารถที่จะสังเกตเห็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ในมุมมองทั้งแบบไทยและฮอลันดาหรือดัตช์ได้อย่างแยบยลและทำงานศิลปะอยู่อย่างต่อเนื่อง ศิลปินได้ผ่านความเกรียงไกรของศิลปะลัทธิสมัยใหม่หรือ Modern Art ฉบับประเทศไทย รวมทั้งการจบลงและแปรเปลี่ยนของศิลปะลัทธินี้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีศิลปินไทยร่วมสมัยในวัยที่อ่อนกว่าหลายคนได้แสดงผลงานในระดับนานาชาติภายใต้บริบททางทฤษฎีในยุคหลังสมัยใหม่หรือ Post-Modernism ผ่านทัศนะของชาวไทย แต่ศิลปินน้อยคนนักที่เคยได้เห็นว่าลัทธิศิลปะสมัยใหม่มีจุดกำเนิดอย่างไร และจากผู้ใดในประเทศนี้
ผลงานจิตรกรรมของอาจารย์ชวลิตเหล่านี้ถือเป็นการสมทบองค์ความรู้ชั้นสูงของศิลปะในขนบนามธรรมสมัยใหม่ที่ใช้ฟอร์มเรขาคณิตโดยมีการข้ามและไขว้วัฒนธรรมหลากทวีป แม้เรากำลังอยู่ในยุคที่ใช้โปรแกรม Photoshop และ Illustrator กันอย่างแพร่หลาย ผู้ชมก็จะยังคงสัมผัสได้ถึงความเรียบง่ายที่ปรากฏในผลงานเมื่อได้ตระหนักว่าการรวมตัวกันของเส้น รูปทรง และสีส่งผลอย่างไรต่อสายตาและประสาทสัมผัสของเรา ในที่สุด ความงาม (หรือไม่ก็ตาม) ล้วนเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับมุมมอง ค่านิยม ความศรัทธา การศึกษาและทัศนคติของผู้มองทั้งสิ้น
ดร. ประพล คำจิ่ม หัวหน้าหอศิลปวิทยนิทรรศน์
หอศิลปวิทยนิทรรศน์ ชั้น 7 ศูนย์วิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพ 10330 โทรศัพท์: 02-218-2965 โทรสาร: 02-218-2907 อีเมล์: [email protected] www.car.chula.ac.th/art Facebook: The Art Center - Chula เปิดทำการ จันทร์-ศุกร์: 9.00-19.00 น. เสาร์: 9.00-16.00 น. ปิดวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit