รมว.ไอซีที เปิดนโยบาย Government Cloud Service

05 Jan 2012

กรุงเทพฯ--5 ม.ค.--กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวในการแถลงข่าวเปิดโครงการนำร่องบริการระบบคลาวด์ภาครัฐ (Government Cloud Service) ว่า กระทรวงไอซีที มียุทธศาสตร์หลักที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นสังคมอุดมปัญญา หรือ Smart Thailand ซึ่งหมายถึง สังคมที่มีการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างชาญฉลาด โดยการมี Smart Network ที่สามารถเชื่อมต่อเครือข่ายไปสู่พื้นที่ห่างไกลเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล รวมทั้งมี Smart Government ที่ช่วยลดการลงทุนภาครัฐและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน และมี Smart Business ซึ่งเป็นการกำหนดนโยบาย มาตรการเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนนำ ICT มาใช้ในการทำธุรกิจ

โดยการดำเนินการด้าน Smart Government นั้น รัฐบาลมีแนวทางในการพัฒนา e-Services เพื่อให้บริการกับประชาชน แต่กลไกในการพัฒนายังมีข้อจำกัดหลายเรื่อง เช่น ระยะเวลาในการจัดซื้อ - จัดจ้างที่ยังไม่ทันต่อความต้องการใช้งาน รวมถึงประเด็นการลดความซ้ำซ้อนในการลงทุนเพื่อช่วยให้ภาครัฐเกิดความคุ้มทุนในด้านงบประมาณมากขึ้น ดังนั้น หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค จึงได้มีการนำระบบ Cloud มาพัฒนาการให้บริการแก่ประชาชน เช่น ไต้หวัน เวียดนาม อินเดีย ได้มีการศึกษาและเริ่มลงทุนในระบบ Cloud Computing แล้ว ขณะเดียวกันประเทศชั้นนำของโลกอย่างสหรัฐอเมริกานั้นได้ดำเนินโครงการ Federal Government Cloud มาตั้งแต่ปี 2009 ซึ่งคาดว่าสามารถประหยัดงบประมาณด้านไอทีของภาครัฐไปกว่า 25%

“ส่วนประเทศไทย กระทรวงไอซีที ได้มีการวางแนวทางการผลักดันและเป้าหมายในเรื่อง Smart Cloud เอาไว้ โดยมอบหมายให้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สรอ. จัดทำระบบนำร่องขึ้นอย่างเร่งด่วน และทำการทดสอบระบบร่วมกับหน่วยงานภาครัฐนำร่องจำนวน 10 หน่วยงาน เพื่อศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการนำระบบ Cloud มาใช้ในการให้บริการจริงแก่ประชาชน ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะได้รับการจัดสรรเครื่องแม่ข่ายที่อยู่บนระบบ Cloud ของ สรอ. ไปใช้ในการทดสอบเป็นระยะเวลา 3 เดือน

ซึ่งการผลักดัน Government Cloud Service ในครั้งนี้ จะส่งผลดีกับการบริการของภาครัฐแก่ประชาชนชน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเป็นอย่างมาก โดยในระยะสั้นการบริหารจัดการระบบเครือข่ายของภาครัฐจะดีขึ้น และสามารถประหยัดงบประมาณทางด้านการลงทุนระบบได้อย่างน้อย 30% ตามตัวเลขที่ได้มีการประเมินในระดับโลกมาแล้ว ซึ่งผลของการดำเนินโครงการนำร่องนี้จะนำไปสู่การให้บริการคลาวด์ภาครัฐ อย่างเต็มรูปแบบ ในช่วงเดือนเมษายน 2555

ด้านภาพรวมในระยะยาวการบริการผ่านระบบคอมพิวเตอร์ของภาครัฐทั้งหมดจะขยายใหญ่ขึ้นโดยกระจายผ่าน สรอ. ซึ่งจะเข้ามาบริหารจัดการผ่าน Data Center ต่างๆ อย่างเหมาะสม โดยมีเครือข่าย GIN คอยให้การสนับสนุน ซึ่งจะทำให้หน่วยงานภาครัฐจำนวนมากสามารถทำงานผ่านระบบออนไลน์ที่เชื่อมโยงกรม กองต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างสมบูรณ์ สามารถทำงานผ่านระบบโมบายได้อย่างง่ายดาย มีความสะดวกรวดเร็วและมีความถูกต้องของข้อมูล จนกลายเป็น Smart Network ในที่สุด” นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์กล่าว

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net