กรุงเทพ--6 ม.ค.--
การเติบโตของปริมาณข้อมูลมหาศาลกำลังก่อให้เกิดความท้าทายในการบริหารจัดการสำหรับบริษัทองค์กรธุรกิจทั่วโลก เนื่องจากปัจจัยต่างๆ อาทิ การควบรวมกิจการที่เพิ่มมากขึ้น และการเพิ่มขึ้นของข้อมูลทั้งแบบ Structured และ Unstructured ทำให้ข้อมูลขององค์กรในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแอพพลิเคชั่นธุรกิจเพิ่มขึ้นเท่าตัวในทุก 18 เดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับแอพพลิเคชั่นธุรกิจบางประเภท เช่น เรคคอร์ดข้อมูลการสื่อสาร นั้นปริมาณข้อมูลสามารถเพิ่มขึ้นถึงสี่เท่าได้ในเวลาเท่าๆ กัน และในขณะเดียวกัน ข้อกำหนดเกี่ยวกับการติดตามธุรกรรมการเงินและข้อมูลลูกค้าที่ต้องรัดกุมมากยิ่งขึ้น ทำให้องค์กรธุรกิจต้องมองหาแนวทางการบริหารข้อมูลให้ดียิ่งขึ้น ต้องบำรุงรักษาและดูแลข้อมูลเป็นเวลาหลายปี ซึ่งปัญหา คือ องค์กรธุรกิจต้องจัดซื้อและดูแลฮาร์ดแวร์ที่เก็บข้อมูล ซึ่งเป็นจำนวนเงินมหาศาล ทั้งดาต้าแวร์เฮ้าส์หลายๆ ตัวเมื่อรวมกับระบบต่างๆ เข้าด้วยกัน ย่อมก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ดังนั้น องค์กรธุรกิจต้องวางแผนด้านกลยุทธ์รับมือให้ได้อย่าง รวดเร็ว และทันสมัย พร้อมทั้งพัฒนาแผนการรับมือได้ก่อนที่จะต้องประสบกับผลกระทบเชิงลบต่อธุรกิจ ตลอดจนคาดการณ์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรับมือกับความต้องการหรือความไม่พึงพอใจจากลูกค้า จากนั้นฝ่ายงานขายต้องมีความพร้อมด้านข้อมูลที่จำเป็นในการปิดการขาย ทุกเมื่อ
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว องค์กรธุรกิจต้องมีความชัดเจนด้านข้อมูลเชิงธุรกรรมของการดำเนินการในแต่ละขั้นตอน โดยไม่จำเป็นต้องเสียเวลารอข้อมูลดิบจากดาต้าแวร์เฮ้าส์ อย่างไรก็ตาม ปริมาณข้อมูลจากธุรกรรมต่างๆ ที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์ เพื่อสร้างความชัดเจนทางธุรกิจนั้น ก็มีจำนวนมากเกินกว่าขีดความสามารถของระบบเก็บข้อมูลแบบดิสก์ หรือแม้แต่ดาต้าแวร์เฮ้าส์จะจัดการได้ภายในเวลาตอบรับที่เหมาะสม แต่ในปัจจุบัน องค์กรส่วนใหญ่ ต้องสามารถตอบคำถามให้ได้ทันที รวดเร็ว โดยอาศัยข้อมูลแบบเรียลไทม์
เทคโนโลยี In-memory คือ คำตอบ
ในระบบดั้งเดิมแบบดิสก์นั้น ข้อมูลถูกดึงจากระบบปฏิบัติการ และจัดรูปแบบ (Structured Data) ในระบบวิเคราะห์ของดาต้าแวร์เฮ้าส์ ที่แยกออกมาต่างหาก จึงสามารถรับคำถาม (Query) ได้ ซึ่งหมายถึงแอพพลิเคชั่นในการปฏิบัติงานจะไม่เชื่อมต่อกับสภาพแวดล้อมของการวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านั้น จึงเสียเวลาไปในระหว่างการเก็บข้อมูล และจากนั้นจึงค่อยนำมาวิเคราะห์
อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยี In-memory ข้อมูลจากการดำเนินการได้ถูกเก็บไว้ในฐานข้อมูลเดียว ที่สามารถรับมือกับธุรกรรมและอัพเดทต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้จากการดำเนินงานในแต่ละวัน รวมทั้งกับรีเควสต์เชิงวิเคราะห์ แบบเรียลไทม์ที่มีเข้ามาอีกด้วย เทคโนโลยี In-memory Computing นี้ทำให้สามารถประมวลผลข้อมูลปริมาณมหาศาลในเมโมรี่หลักของเซิร์ฟเวอร์ได้ ส่งผลให้ได้รับคำตอบจากการวิเคราะห์ธุรกรรมเหล่านั้นได้ทันที
เนื่องจากเทคโนโลยี In-memory เปิดโอกาสให้เรียกใช้ข้อมูลได้โดยตรงจากเมโมรี่ ดังนั้น ผลจากการทำ Query จะกลับมาได้เร็วกว่าระบบแวร์เฮ้าส์บนดิสก์แบบดั้งเดิม ประหยัดเวลาที่ใช้ไปในการอัพเดทฐานข้อมูลลงได้อย่างเห็นได้ชัด และระบบเองก็สามารถที่จะรับมือกับ Query ได้จำนวนมากขึ้นพร้อมๆ กันในครั้งเดียว
จากความเร็วการประมวลผลที่เร็วขึ้น จำนวน Query ที่รับได้มากขึ้น ความชัดเจนของข้อมูลธุรกิจเชิงวิเคราะห์เที่ยงตรงแม่นยำมากขึ้น ชี้ว่าระบบบริหารจัดการฐานข้อมูลด้วย In-memory นี้ ให้ประสิทธิภาพความเร็วเพิ่มขึ้นจากระบบบนดิสก์แบบเก่าคิดเป็น 10 ถึง 20 เท่าเลยทีเดียว
องก์ประกอบของ In-memory Computing ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องของช่วงเวลาที่เหมาะสมในการใช้งาน จากพัฒนาการด้านเศรษฐศาสตร์ฮาร์ดแวร์ และนวัตกรรมเทคโนโลยีซอฟท์แวร์ ทำให้การกลั่นกรองวินิจฉัย จัดระเบียบ จำแนกประเภทและอัพเดทข้อมูลปริมาณมาก เป็นไปได้ในเวลาเพียงเสี้ยววินาที โดยอาศัยเทคโนโลยี In-memory ที่เป็นเทคโนโลยีขั้นแอดว้านซ์ ที่รวบรวมศักยภาพจากเมโมรี่หลัก มัลติคอร์โปรเซสซิ่ง และการบริหารจัดการข้อมูลเข้าด้วยกันเพื่อประสิทธิภาพการทำงานสูงสุด
ประโยชน์ต่อธุรกิจ
เทคโนโลยี In-memory คือ การสร้างประสิทธิภาพสูงสุดต่อองค์กรธุรกิจในปัจจุบัน ที่เด่นชัดที่สุด คือ ประสิทธิภาพที่สูงขึ้น ด้านการช่วยให้องค์กรลดค่าใช้จ่าย สามารถทำงานร่วมกันทั่วทั้งองค์กรได้อย่างถูกต้อง และชัดเจน ทำให้การตัดสินใจทางธุรกิจได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น
ประหยัดค่าใช้จ่าย
ธุรกิจไม่ว่าขนาดใด ย่อมได้ประโยชน์จากการลดค่าใช้จ่ายผ่านการติดตั้งเทคโนโลยี In-memory ซึ่งปัจจุบันนี้ ค่าใช้จ่ายจากการบริหารจัดการฐานข้อมูลคิดเป็น 25% ของงบประมาณสารสนเทศขององค์กร และเนื่องจากฐานข้อมูลบนระบบ In-memory ใช้ฮาร์ดแวร์ที่ช่วยประหยัดไฟมากกว่าระบบดั้งเดิม ยิ่งช่วยให้ประหยัดลดค่าใช้จ่ายและค่าบำรุงรักษาฮาร์ดแวร์ลงไปได้มากยิ่งขึ้น
ฐานข้อมูล In-memory ลดความซับซ้อนยุ่งยากในการจัดการบริหารระบบสารสนเทศขององค์กร การที่ใช้ทรัพยากรน้อยลง ทำให้เหลือทรัพยากรไว้สนับสนุนกิจกรรมประเภทอื่นที่จำเป็นได้ อาทิ รายงาน ที่เคยสิ้นเปลืองเนื้อที่ในการทำงานมาก่อน และด้วยความที่เทคโนโลยี In-memory เป็นที่ยอมรับ พิสูจน์แล้วในศักยภาพประสิทธิภาพที่ได้รับจริงตามที่คาดหมาย ดังจะเห็นได้จากการติดตั้งที่ไม่ยุ่งยาก ไม่กีดขวางการทำงานปกติ ยังสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ส่งผลกระทบอย่างใดต่อการดำเนินงานปกติ
ประสิทธิภาพโดดเด่นบนความเรียบง่าย
บริษัทใดก็ตามที่การปฏิบัติงานขึ้นอยู่กับการต้องอัพเดทข้อมูลสม่ำเสมอ จะต้องพึ่งพาศักยภาพเทคโนโลยี In-memory ในการดำเนินงาน ซึ่งช่วยลดระดับเทคโนโลยีทั้งหมดออกจากสถาปัตยกรรมระบบสารสนเทศขององค์กร ลดความซับซ้อนทางโครงสร้างแบบดั้งเดิม ส่งผลให้สื่อสารข้อมูลใช้เวลาสั้นลงกว่าเดิม หรือเกือบจะในทันที เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานภายในองค์กร
เทคโนโลยี In-memory Computing นี้ทำให้ผู้ใช้งานได้ความชัดเจนของข้อมูลเบื้องลึกลงรายละเอียดจำแนกประเภทตามแผนก เพื่อความเหมาะสมในการใช้งาน การแบ่งกลุ่มงานนั้นสามารถทำได้โดยอัตโนมัติโดยไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของดาต้าแวร์เฮ้าส์ส่วนกลาง บางที สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การที่ผู้ใช้งานไม่ต้องพึ่งพาไอทีซัพพอร์ตมากนักเพียงเพื่อจะเรียกใช้ข้อมูลธุรกิจที่จำเป็นกับงานของตน
ประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจเช่นนี้ ทำให้ผู้ใช้งานที่ทำงานอยู่นอกออฟฟิศ สามารถเรียกใช้ข้อมูลที่มีคุณภาพผ่านอุปกรณ์โมบายล์ได้ ซึ่งได้กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญมากขึ้นสำหรับบริษัทองค์กรธุรกิจที่หันมาประยุกต์เทคโนโลยีโมบายล์มาใช้ในการดำเนินธุรกิจของตนมากขึ้น
โปร่งใสชัดเจนอย่างเห็นได้ชัด ก้าวสำคัญสู่การตัดสินใจธุรกิจเฉียบคม
เทคโนโลยี In-memory ทำให้องค์กรธุรกิจมีภาพรวมทางธุรกิจ ไม่ติดกับอยู่เพียงแค่ข้อมูลหยิบมือที่ถูกดึงออกมาหรือเก็บเข้าดาต้าแวร์เฮ้าส์เท่านั้น จากภาพรวมที่ชัดเจนยิ่งขึ้นนี้ ธุรกิจสามารถเปลี่ยนจากแบบตั้งรับไปเป็นแบบเชิงรุก ด้วยการวางแผนที่ดีมากขึ้น อาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์
เมื่อใช้งานคู่กับโซลูชั่นเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูล SAP BusinessObjects 4.0 ที่ใช้งานง่าย ยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ผู้ใช้งานที่ไม่ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านใด ก็เรียกข้อมูล (Query) และอ่านแดชบอร์ดแผนข้อมูลได้ง่ายดาย
ผลกระทบต่อธุรกิจประเภทต่างๆ
การบริหารจัดการลูกค้าด้วยเทคโนโลยี In-memory ทีมงานลูกค้าสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลแบบต่างๆ กัน เพื่อการวิเคราะห์เกี่ยวกับพฤติกรรมของลูกค้าได้คล่องตัวรวดเร็ว และวิเคราะห์ประวัติจากอดีตถึงสถานะธุรกิจในปัจจุบัน ได้สะดวกง่ายดาย ไม่ว่าจะอยู่ในออฟฟิศหรือเรียกเข้ามาผ่านอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ ไร้สายต่างๆ ก็ตาม เนื่องจากผู้ใช้งานในวงธุรกิจ สามารถที่จะติดต่อหรือตั้งคำถาม (Query) กับข้อมูลในหน่วยความจำได้โดยตรง จึงสามารถจำลองการทำงานรูปแบบต่างๆ ในการสร้างสรรค์รูปแบบการขาย หรือแผนการตลาดที่โดนใจลูกค้าได้เต็มที่ ทีมงานขายสามารถเข้าถึงข้อมูลตามความจำเป็นได้ด้วยตนเอง ทำให้เข้าใจพฤติกรรมลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น เพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ สามารถปิดการขาย และจำหน่ายสินค้าข้ามไลน์ได้อย่างคล่องตัว
การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน
ด้วยระบบการเก็บข้อมูลบนดิสก์แบบดั้งเดิมนั้น ข้อมูลจะถูกประมวลตอนกลางคืน หมายถึงบ่อยครั้งการตอบสนองต่อการจัดการส่งสินค้าที่สำคัญเร่งด่วนทางธุรกิจก็จะล่าช้าออกไป แต่ด้วยเทคโนโลยี In-memory องค์กรธุรกิจสามารถเห็นภาพที่ชัดเจน ของข้อมูลความต้องการเชิงธุรกิจที่ถูกต้อง ทันสมัย ระดับวินาทีต่อวินาที แบบเรียลไทม์ โดยสามารถเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจอย่างสิ้นเชิง อาทิ สามารถมีการเตือนก่อนล่วงหน้าได้เมื่อสต็อคสินค้าเริ่มลดลง ทำการแก้ไขสั่งเพิ่มได้ทันตามความเหมาะสม
การบริหารการเงิน
ผู้ดูแลด้านการเงินมักต้องประสบปัญหาอยู่เสมอเรื่องปริมาณข้อมูลที่เพิ่มขึ้น และความล่าช้าในการตอบสนองของข้อมูล จึงเหมือนถูกบังคับให้ต้อง จำกัด ช่วงเวลาของการวิเคราะห์ข้อมูลให้เหลือเป็นจำนวนวัน แทนที่จะเป็นเดือนหรือไตรมาส นำไปสู่ความล่าช้าต่างๆ มากมาย รวมทั้งการปิดบัญชีด้วย แต่ด้วยเทคโนโลยี In-memory การวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณมหาศาลในสภาพแวดล้อมที่มีความยืดหยุ่นคล่องตัว ย่อมหมายถึงการปิดบัญชีประจำไตรมาสได้เร็วขึ้น ได้ภาพรวมที่ชัดเจนของรายละเอียดธุรกรรมการเงินที่ดำเนินมาเป็นระยะเวลาหนึ่งๆ ได้ดีมากขึ้น
ผลกระทบต่อวงการอุตสาหกรรม
เทคโนโลยี In-memory นั้นมีความเป็นไปได้ในการสนับสนุนธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม ให้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคอนซูมเมอร์โปรดักส์และค้าปลีก ไปจนถึงการผลิตและบริการการเงิน
คอนซูมเมอร์โปรดักส์นั้นสามารถใช้เทคโนโลยี In-memory เพื่อการบริหารสินค้าสำรอง (Supplies) ที่มีอยู่ ติดตามและค้นหาโปรดักส์ บริหารจัดการด้านโปรโมชั่น สนับสนุนมาตรฐาน EPA และทำการวิเคราะห์เกี่ยวกับโปรดักส์สินค้า ที่มีตำหนิและยังอยู่ในการรับประกัน
บริษัทธุรกิจด้านค้าปลีกสามารถบริหารจัดการการปฏิบัติงานของสโตร์ได้ครอบคลุมทั่วทุกสาขาที่ตั้ง สามารถทำการวิเคราะห์ข้อมูล ณ จุดขาย (Point-of-sales Analytics) ได้ สามารถทำการวิเคราะห์การตัดราคาแบบหลากช่องทาง (Multi-channel Pricing Analyses) รวมทั้งติดตามโปรดักส์ที่ชำรุด เน่าเสีย หรือถูกตีกลับได้อีกด้วย
ส่วนธุรกิจด้านการผลิตนั้น สามารถที่จะใช้เทคโนโลยี In-memory เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงาน ทำการวิเคราะห์ข้อมูลการผลิตและการบำรุงรักษา รวมทั้งศึกษาการใช้วัตถุดิบได้แบบเรียลไทม์ได้อีกด้วย
สำหรับธุรกิจด้านบริการการเงินนั้น สามารถที่จะวิเคราะห์การลงทุนกองทุนรวม เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่างๆ เช่น บริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน อนุพันธ์ ตราสารทุนต่างๆ ให้แก่นักลงทุน การมีข้อมูลที่สามารถเรียกใช้ได้จาก In-memory ช่วยในการบริหารความเสี่ยงได้อย่างเป็นระบบในแบบเรียลไทม์ และยังสามารถรายงานสถานภาพความเสี่ยงจากการลงทุนในตลาดได้อีกด้วย
การเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินการธุรกิจ
จากการคาดการณ์ ภายในห้าปีจากนี้ไป ประมาณ 30% ขององค์กรธุรกิจจะมีแอพพลิเคชั่นอย่างน้อยหนึ่งหรือมากกว่านั้น เพื่อใช้งานบนฐานข้อมูล In-memory และภายในปี พ.ศ. 2557 ประมาณ 30% ของแอพพลิเคชั่น เพื่อการวิเคราะห์ธุรกิจจะใช้ฟังก์ชั่น In-memory เพื่อรองรับการเพิ่มอัตราความเร็วและศักยภาพในการคำนวณอีกด้วย
เทคโนโลยี In-memory คือทางเลือกที่ดีที่สุดที่มาแทนที่ระบบบริหารข้อมูลรุ่นดิสก์ที่ราคาสูงแต่ความเร็วต่ำ เนื่องจากความสะดวกคล่องตัวจากภาพของธุรกิจที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสารสนเทศที่ลดลงไปอย่างชัดเจน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นข้อได้เปรียบสำหรับองค์กรธุรกิจตัดสินใจหันมาใช้เทคโนโลยี In-memory ก่อนใคร
กส
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit