งานวิจัยไทย เพื่อคนไทย ติดตั้งก่อนน้ำท่วมบ้านของท่าน.. ชุดป้องกันไฟฟ้ารั่ว

17 Nov 2011

กรุงเทพฯ--17 พ.ย.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร

แม้สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นจะได้ลดลงบ้างแล้วในหลายพื้นที่..แต่เรากับพบว่ายังมีอีกสาเหตุหนึ่งที่ได้สร้างความทุกข์ระทมให้กับผู้ประสบภัย โดยได้คร่าชีวิตประชาชนไปแล้ว นั่นก็คือภัยจากกระแสไฟฟ้ารั่วออกมาจากสายไฟฟ้าแรงสูง ปลั๊กไฟ หรือแหล่งจ่ายไฟต่างๆ ที่จมน้ำ ดังนั้นก่อนนำอุปกรณ์ไฟฟ้ามาใช้งาน ควรตรวจสอบว่าอุปกรณ์ไฟฟ้าอยู่ในสภาพปลอดภัย ซึ่งเมื่อเปิดใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าแล้วพบสิ่งผิดปกติ เช่น มีกลิ่นเหม็นไหม้ มีเสียงดังมาจากเครื่อง ให้หยุดใช้งานในทันที พร้อมนำไปให้ช่างผู้ชำนาญการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพปลอดภัย อย่างไรก็ตามเพื่อไม่ให้ประชาชนต้องถูกซ้ำเติมมากไปกว่านี้ ดร.ภานวีย์ โภไคยอุดม ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร และทีมวิจัยจึง ได้ประดิษฐ์ชุดอุปกรณ์ ป้องกันไฟฟ้ารั่ว ในภาวะน้ำท่วม เพื่อมอบให้กับผู้ประสบมหาอุทกภัยครั้งนี้

อุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้ารั่ว อุปกรณ์เช็คว่าบ้านมีสายดินหรือไม่

น้ำท่วมกับไฟฟ้ารั่ว ไฟช๊อต ระวังและป้องกันกันอย่างไร

ดร.อิทธิพัฒน์ รูปคม, ดร.ปนันท์ โพธิพันธุ์ทอง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และ ดร.อมร จิรเสรีอมรกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับศูนย์วิจัยส่วนนวัตกรรมเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ (Applied Innovation Division: AID) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร โดยการนำของ ดร.ภานวีย์ โภไคยอุดม ได้เกิดแนวคิดและทำการทดลองชุดอุปกรณ์ป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่วอย่างง่าย อันจะเป็นตัวช่วยเบื้องต้นในการลดความเสี่ยงจากการถูกไฟฟ้าช็อตภายในบ้าน โดยเฉพาะจากการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ด้วยความไม่ประมาท เพราะร่างกายคนเป็นเสมือนเส้นทางเดินไฟฟ้า หากมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านต่อเนื่องครบวงจรก็อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งผู้หญิงและคนที่มีรูปร่างอวบมีโอกาสเสี่ยงถูกไฟฟ้าดูดมากกว่า เนื่องจากปริมาณน้ำในตัวมีมาก และการมีความชื้นในตัวสูงจะทำให้กลายเป็นตัวนำไฟฟ้าได้อย่างดี

ชุดอุปกรณ์ ป้องกันไฟฟ้ารั่ว ในภาวะน้ำท่วม จะเหมาะอย่างยิ่งกับบ้านที่มีระบบสายดิน หรือถึงแม้ไม่มีระบบสายดินก็ยังคงช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้ได้ โดยอุปกรณ์ประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ คือ “หัวปลั๊กเช็คไฟ” และ “ฝาครอบกันไฟรั่ว” โดยหัวปลั๊กเช็คไฟมีหน้าที่ทดสอบว่าปลั๊กไฟที่บ้านเรามีระบบสายดินอยู่จริงหรือไม่ และสายมีไฟ (L) กับนิวทรัล (N) ต่อในตำแหน่งถูกต้องตามมาตรฐานหรือเปล่า เนื่องจากผู้อยู่อาศัยตามบ้านทั่วไปน้อยคนนักที่จะทราบว่าระบบสายไฟภายในบ้านได้รับการติดตั้งถูกต้องหรือไม่ เพราะฉะนั้นแม้ปลั๊กไฟที่บ้านจะมีสามรู เราก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่ารูที่สามได้ถูกต่อกับสายดินจริงหรือเปล่า

ซึ่งอาจส่งผลถึงชีวิตหากเกิดไฟฟ้ารั่วจากอุปกรณ์เครื่องใช้อย่างเช่นเครื่องทำน้ำอุ่น ตู้เย็น หรือปั๊มน้ำได้ ยิ่งในภาวะน้ำท่วมเช่นนี้โอกาสเกิดไฟฟ้ารั่วก็มีเพิ่มสูงขึ้นมาก แต่ด้วยหัวปลั๊กเช็คไฟจะสามารถทดสอบสายดินของบ้านได้โดยเพียงเสียบหัวปลั๊กเช็คไฟเข้ายังเต้ารับที่ต้องการทดสอบ จากนั้นให้สังเกตสีของหลอดไดโอดเรืองแสงหรือหลอดแอลอีดี

ถ้าหลอดแอลอีดี ปรากฏไฟสีแดง หมายความว่า บ้านไม่มีระบบสายดิน หากปรากฏไฟสีฟ้า หมายความว่า บ้านมีระบบสายดินแต่ต่อสาย L และ N สลับกัน และหากปรากฏไฟสีเขียว หมายความว่า บ้านมีระบบสายดินและสายต่อถูกต้องตามมาตรฐาน

“ฝาครอบกันไฟรั่ว” อุปกรณ์ปกป้องไฟรั่ว...!!

เมื่อตรวจสอบแล้วว่าบ้านของคุณมีสายดิน ก็มาสู่ขั้นตอนที่สองในการปกป้องตัวคุณหรืออาสาสมัครที่จะเข้ามาช่วยเหลือคุณจากไฟฟ้าที่อาจจะรั่วออกจากปลั๊กไฟได้ ด้วยการใช้ “ฝาครอบกันไฟรั่ว” ซึ่งมีหลักการที่ง่ายมาก นั่นคือการขยายขีดความสามารถของสายดินให้ป้องกันไฟรั่วได้ดีกว่าเดิม โดยการสร้างแผ่นโลหะมาปิดทับปลั๊กไฟและเชื่อมต่อแผ่นโลหะนั้นเข้ากับขั้วสายดินเดิม ดังนั้นเมื่อเกิดน้ำท่วมและไฟฟ้ารั่วขึ้น กระแสไฟฟ้าส่วนใหญ่ก็จะพากันวิ่งลงสายดินเกือบทั้งหมด เนื่องจากแผ่นฝาครอบและระบบสายดินมีความต้านทานต่ำกว่าน้ำและตัวคนมากๆ นั่นเอง ช่วยให้เราเดินลุยน้ำผ่านปลั๊กไฟเพื่อไปสับสะพานไฟได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น

แต่สำหรับบ้านใดที่ตรวจพบว่าไม่มีสายดินหรือใช้ปลั๊กแบบสองรูมาตลอด โปรดพึงระลึกไว้ว่าชีวิตคุณกำลังตั้งอยู่บนความเสี่ยงอย่างมาก ขอแนะนำให้พิจารณาติดตั้งระบบสายดินเพิ่มเติมโดยด่วน อย่างไรก็ตาม ในภาวะเร่งด่วนเช่นนี้เจ้าแผ่นฝาครอบกันไฟรั่วก็ยังพอช่วยปกป้องการถูกไฟช็อตได้ระดับหนึ่ง โดยแทนที่จะเชื่อมแผ่นฝาครอบกับสายดิน ก็ให้เชื่อมต่อเข้ากับขั้วนิวทรัลของปลั๊กไฟแทน แต่เนื่องจากโดยทั่วไปสายนิวทรัลมักมีความต้านทานสูงกว่าสายดินอยู่บ้าง บางครั้งจึงอาจมีกระแสไฟฟ้าบางส่วนหลุดรอดออกมาได้เมื่อไปสัมผัสโดน ด้วยเหตุนี้เราจึงได้ออกแบบฝาครอบพลาสติกปกป้องด้านนอกไว้อีกชั้นหนึ่งเพื่อลดโอกาสสัมผัสกับชิ้นส่วนโลหะ จึงช่วยให้มั่นใจถึงความปลอดภัยได้ดียิ่งขึ้น แม้อาจจะไม่เท่ากับการเชื่อมต่อกับสายดินก็ตาม

ด้วยระบบตรวจสอบและป้องกันไฟฟ้ารั่วจากปลั๊กไฟนี้ จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับชีวิตและทรัพย์สินในกรณีเกิดน้ำท่วมฉับพลันได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้แผ่นฝาครอบยังช่วยป้องกันเศษดินโคลนเข้าไปอุดตามรูปลั๊กไฟได้อีกด้วย ทำให้ปลั๊กไฟพร้อมใช้งานอีกครั้งเมื่อน้ำท่วมลดระดับลง อีกทั้งยังสามารถใช้หัวปลั๊กเช็คไฟเพื่อช่วยตรวจสอบความพร้อมในการใช้งานปลั๊กไฟได้ด้วยเช่นกัน และเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบมหาอุทกภัยครั้งนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ได้จัดโครงการ “บริจาคหัวปลั๊กเช็คไฟ และฝาครอบกันไฟรั่ว” ให้แก่ผู้เดือดร้อน โดยจะมอบหัวปลั๊กเช็คไฟครอบครัวละ 1 ตัว พร้อมฝาครอบกันไฟรั่ว 4 ชิ้น โดยแจ้งความประสงค์ขอจองได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-9883655 ต่อ 1105-1107 สำนักประชาสัมพันธ์และบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net