กรุงเทพฯ--1 ธ.ค.--ซิน คัมปานี
กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เปิดโมเดลแปลงขยะเป็นพลังงานหลังเกิดปัญหาขยะจากเหตุน้ำท่วมใหญ่ โชว์ตัวอย่างความสำเร็จ “แปลงขยะเป็นไฟฟ้า” “แปรรูปขยะพลาสติกเป็นน้ำมัน” หวังได้พลังงานทดแทน ช่วยลดปัญหาพื้นที่การจัดเก็บขยะและรักษาสิ่งแวดล้อม ระบุ ขยะ 5 ตัน ผลิตไฟฟ้าได้ 1,300 หน่วย ขยะ 10 ตัน ผลิตน้ำมันได้ 6,600 ลิตรต่อวัน
นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ขยะในปัจจุบันมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ถึงวันละ 40,000 ต้น หรือปีละ 15 ล้านตัน และเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในครั้งนี้ ผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วมและผู้ที่เกี่ยวข้อง กำลังเผชิญกับปัญหาขยะมูลฝอยจำนวนมากที่รอการกำจัด โดยที่ผ่านมาการกำจัดขยะใช้วิธีการฝังกลบซึ่งลงทุนน้อย ค่าบำรุงรักษาต่ำ แต่มีปัญหาเรื่องพื้นที่ไม่เพียงพอและแหล่งฝังกลบยังต้องอยู่ห่างไกล ทำให้เกิดค่าขนส่งขยะสูง แต่หากนำขยะไปใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านพลังงานจะก่อให้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ช่วยลดปัญหาพื้นที่การจัดเก็บขยะและรักษาสิ่งแวดล้อม
การนำขยะมาใช้ประโยชน์ด้านพลังงานไฟฟ้า กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้ให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อดำเนิน “โครงการศึกษาและพัฒนาต้นแบบการจัดการขยะชุมชนเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน” โดยได้ศึกษาวิจัยเทคโนโลยีการหมักเพื่อยุบกองขยะและลดกลิ่น และนำขยะที่ได้ไปอัดแท่งเพื่อใช้ในโรงไฟฟ้าชีวมวล ปริมาณขยะจำนวน 5 ตัน สามารถผลิตเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่งได้ถึง 2 ตัน และนำไปผลิตเป็นไฟฟ้าได้ 1,300 หน่วย รวมถึงช่วยประหยัดค่าขนส่งขยะให้กับเทศบาลได้ถึง 80,000 บาทต่อเดือน และลดค่าไฟภายในมหาวิทยาลัยได้ 30,000 บาทต่อเดือน
กระบวนการแปลงขยะเป็นไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เริ่มต้นดำเนินงานด้วยการนำขยะภายในมหาวิทยาลัยที่มีจำนวนประมาณ 3 – 5 ตันต่อวัน มาคัดแยกออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ประเภทย่อยสลายไม่ได้และย่อยสลายได้ และนำส่วนที่ย่อยสลายได้ เช่น เศษอาหาร ไปเข้าเครื่องสับขยะ จากนั้นนำเข้าสู่โรงงานหมักขยะ ใช้กระบวนการกลและชีวภาพเพื่อย่อยสลายและปรับสภาพให้ขยะมีความเหมาะสมนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่งเพื่อใช้ในโรงไฟฟ้าชีวมวล
ด้านการแปรรูปขยะพลาสติกเป็นน้ำมัน กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณกับเทศบาลเมืองวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ในการจัดซื้อเครื่องจักรแปรรูปขยะพลาสติก โดยขยะพลาสติกวันละ 10 ตัน สามารถผลิตน้ำมันได้วันละประมาณ 6,600 ลิตร
ส่วนกระบวนการแปรรูป เริ่มต้นที่การทำความสะอาดพลาสติกให้มีความปนเปื้อนไม่เกิน ร้อยละ 30 และนำเข้าเตาเผาโดยให้ความร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 300 – 500 องศาเซลเซียส ผ่านโครงสร้างของเหล็กเพื่อถ่ายเทความร้อนให้กับพลาสติก พลาสติกจะเปลี่ยนจากของแข็งเป็นของเหลวและจากของเหลวกลายเป็นไอ แล้วทำท่อให้ไอจากของเหลวผ่านการควบแน่นโดยใช้น้ำเป็นตัวหล่อเย็น พอผ่านกระบวนการหล่อเย็นก็จะได้น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งจะต้องนำไปกลั่นอีกรอบหนึ่งเพื่อให้สามารถนำไปใช้งานกับเครื่องยนต์ เครื่องจักรได้ นายสุเทพ กล่าวว่า กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ตระหนักถึงความสำคัญของการนำขยะมาแปรรูปเป็นพลังงาน ซึ่งนอกจากจะได้พลังงานแล้วยังเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย โดยการสนับสนุนการแปลงขยะเป็นไฟฟ้าและแปรรูปขยะพลาสติกเป็นน้ำมัน เป็นหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จที่ถูกนำมาถ่ายทอดในรูปแบบสารคดีโทรทัศน์ ความยาว 2 นาที จำนวน 30 ตอน ชื่อชุด “สรรค์สร้างพลังงานต้นแบบ” เพื่อร่วมจุดประกายความคิดต่อยอดวิธีการและนวัตกรรมด้านการอนุรักษ์พลังงานแบบใหม่ๆ ไปสู่สังคมไทย เพื่อประเทศไทยมีพลังงานใช้อย่างยั่งยืน
ติดตามชมสารคดีชุด “สรรค์สร้างพลังงานต้นแบบ” ทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ ตั้งแต่บัดนี้จนกระทั่งถึงวันที่ 16 ธันวาคม 2554 ในรายการเช้าข่าวข้น ช่อง 9 อสมท. เวลา 6.00- 7.00 น. และติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.eppo.go.th หรือ Facebook/สรรค์สร้างพลังงานต้นแบบ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit