กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--สสวท.
ศูนย์วิทยาศาสตร์ 15 แห่งขานรับความสำเร็จในเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ครั้งที่ 7 เผยปีหน้าจัดฉายต่อแน่นอนเพื่อเปิดโอกาสทางการเรียนรู้ให้แก่นักเรียนชนบท
รายงานผลจากจัดการประชุมเพื่อสรุปผลการดำเนินงานการจัดฉายภาพยนตร์สัญจร ที่จัดฉายไปเมื่อวันที่ 17-31 มกราคม 2555 โดยศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา 15 แห่ง ในเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ครั้งที่ 7 ซึ่งได้จัดประชุมไปเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2555 ณ โรงแรมแคนทารี กรุงเทพมหานคร โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) นั้น ผู้อำนวยการและตัวแทนศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาดังกล่าว ต่างก็ได้ขานรับความสำเร็จของการจัดฉายภาพยนตร์ ซึ่งพบว่า เยาวชนให้และพื้นที่รับผิดชอบได้ให้ความสนใจเข้าร่วมชมภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ในเทศกาลกันอย่างคับคั่ง
นายวสันต์ ศรีสุข จากศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษากาญจนบุรี กล่าวว่า ภาพยนตร์ที่นักเรียนให้ความสนใจมักจะเป็นเรื่องใกล้ตัวเขา อย่างเช่น ภาพยนตร์เรื่องน้ำตาลหวานเจี๊ยบ เพราะกาญจนบุรีปลูกอ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจ ครอบครัวของนักเรียนหลายคนทำไร่อ้อย เมื่อได้เรียนรู้จากภาพยนตร์ว่าเมื่อส่งอ้อยเข้าโรงงานแล้วเกิดกระขวบการขั้นตอนอย่างไรต่อ จึงเกิดความสนใจ และเข้าใจลึกซึ้งมากขึ้น
“ศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ ต้องการทำงานทั้งเชิงรุกและรับ การนำภาพยนตร์ไปฉายสัญจรนอกศูนย์ ฯ ทำให้คนมีโอกาสได้ดู ได้เข้าถึงบ้าง สถานศึกษาในกาญจนบุรีมีเยอะมาก และอยู่ลึกการเดินทางลำบาก เราอยากให้เด็กเหล่านั้นได้ดูด้วย ปีหน้าและปีต่างๆ ไป จึงอยากเสนอให้มีการขยายเวลาเพิ่มขึ้นจากเดิม เพื่อให้ได้มีโอกาสนำภาพยนตร์ออกฉายยังโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลได้ทั่วถึงมากขึ้น”
นางดวงแก้ว กัลภาชน์ จากศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษายะลา กล่าวว่า ทางศูนย์ ฯ เรารับผิดชอบ 3 จังหวัด คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และมองว่าภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่จำเป็น อยากให้เด็กในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ได้ชม จึงได้ลงพื้นที่เข้าไปหาเขา ส่วนใหญ่จะตอบรับและพอใจ
“เราฉายทั้งกลุ่มโรงเรียนเทศบาล โรงเรียนประถมศึกษา มัธยมศึกษา และกลุ่ม กศน. โดยมีการประสานผ่านเครือข่ายที่เคยทำกิจกรรมร่วมกัน เนื่องจากต้องการให้เด็กได้เรียนรู้เพื่อไปใช้ในชีวิตประจำ จึงมีการอธิบายเพิ่มเติม ทำให้เด็กเกิดการคิดต่อยอด เกิดการวิเคราะห์ พยายามสอนกระบวนการให้เขารู้จักสังเกต นำไปต่อยอดได้ และนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ พยายามดึงดูดเขาตรงนั้น และมีการทำกิจกรรมการทดลองให้เข้าได้ลงมือปฏิบัติ”
นอกจากนั้นยังกล่าวต่อไปว่าที่จริงแล้วความสนใจของผู้ชมมากกว่านี้ แต่เนื่องจากเวลาจำกัด ยังมีคนที่ต้องการชมอีกมาก แต่ยังไม่มีโอกาสไปชม เทศกาลครั้งต่อไปจึงอยากให้ขยายระยะเวลาที่จัดฉายเพราะ 15 วันน้อยเกินไป ทำให้ขยายโอกาสการเข้าชมไม่ทั่วถึง เราอยากจะขยายให้ทั่วถึงมากกว่านี้”
นางสาวพรพิมล พันลา จากศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาลำปาง กล่าวว่า บางโรงเรียนที่ได้เข้าชมกิจกรรมนี้แล้วได้จุดประกายการทดลองในภาพยนตร์ที่นำมาฉาย ทำให้ครูมานั่งดูภาพยนตร์หลายรอบ เพื่อจะนำเอาการทดลองในภาพยนตร์ไปขยายผลใช้ต่อในงานสอนวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียน ครูนำความรู้จากภาพยนตร์ไปต่อยอดการเรียนการสอนในห้องเรียนได้ จึงให้ความสนใจมาก
นอกจากนั้น ครูยังสะท้อนให้ฟังว่า เวลาที่ครูสอนในห้องเรียนเด็กจะเล่นกัน ไม่ค่อยฟัง พอเราไปฉายภาพยนตร์เด็กตั้งใจฟังดีมาก และแย่งกันตอบคำถาม เพราะทางศูนย์ทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์หลังจากฉายภาพยนตร์จบ
“กลุ่มเป้าหมายเราคือ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เด็กมัธยมศึกษาจะให้ความสนใจมาก เพราะเขาสามารถนำไปทำโครงงานวิทยาศาสตร์ในชั้นเรียนได้ ภาพยนตร์ที่ดึงดูดเด็กได้ดีนั้นจะเป็นหนังที่มีการทดลองเยอะ มีการพิสูจน์ ให้เห็น เช่น เรื่องพลังงานสะอาด เขาสนใจ ถ้าเป็นสารคดียาวๆเด็กจะไม่ค่อยสนใจ ต้องไม่เกิน 30 นาที ปกติแล้วความสนใจวิทยาศาสตร์ของเด็กภาคเหนือจะน้อย เพราะครูวิทยาศาสตร์โดยตรงไม่ค่อยมี ดังนั้น เวลาเขามาร่วมกิจกรรมกับศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ เขาจะตื่นเต้น การเรียนวิทยาศาตร์ ถ้ามีสื่อการเรียนการสอนที่ดึงดูดให้น่าสนใจ เด็กจะสนใจมากขึ้น”
ทั้งนี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาทั้ง 15 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต กาญจนบุรี นครสวรรค์ นครราชสีมา สระแก้ว สมุทรสาคร พระนครศรีอยุธยา ลำปาง ขอนแก่น อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด ยะลา นครศรีธรรมราช ตรัง และประจวบคีรีขันธ์ ต่างก็ขานรับที่จะจับมือกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จัดฉายภาพยนตร์วิทยาศาสตร์สัญจร ในเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ครั้งที่ 8 ปีต่อไป เพื่อร่วมกันขยายโอกาสทางการเรียนรู้ให้แก่เยาวชนและประชาชนผู้สนใจให้ทั่วถึงมากขึ้นกว่าเดิม และจะมีการปรับกลยุทธ์การดำเนินงานร่วมกันให้มีประสิทธิภาพและได้รับประสิทธิผลมากยิ่งๆ ขึ้นไป-นท-