ภาพข่าว: วว. จับมือ ปตท. พัฒนาเทคโนโลยีเยื่อแผ่นขั้นสูงทดแทนการนำเข้า หวังประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ด้านสิ่งแวดล้อม

24 Feb 2012

กรุงเทพฯ--24 ก.พ.--สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จับมือบริษัท ปตท . จำกัด (มหาชน) พัฒนาเทคโนโลยีเยื่อแผ่นขั้นสูงประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และด้านสิ่งแวดล้อม ทดแทนการนำเข้าและสร้างจุดแข็งการพัฒนาเทคโนโลยีเยื่อแผ่นเทียบเท่ามาตรฐานสากล เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของกลุ่ม ปตท.และประเทศ

ดร.สุทธิพร ชีวสาธน์ รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน วว. และนายไชยเจริญ อติแพทย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเยื่อแผ่นขั้นสูง เพื่อการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ณ ห้องประชุมคณะกรรมการ ปตท. อาคาร 1

ดร.สุทธิพร ชีวสาธน์ รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน วว. กล่าวชี้แจงว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการแข่งขันของประเทศมาก ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของประเทศที่พัฒนาแล้ว มีการนำเยื่อแผ่นไปใช้ในการกรองโลหะหนักและน้ำมันออกจากน้ำเสีย ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับกระบวนการ ดังนั้น การที่ วว. และ ปตท. ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยและพัฒนาระดับประเทศที่มีศักยภาพความพร้อมทุกด้าน ได้ร่วมมือกันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเยื่อแผ่นขั้นสูงในครั้งนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการนำประเทศเข้าสู่การพัฒนาและแข่งขันด้านอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมีอย่างเต็มตัว อีกทั้งเป็นการสนองนโยบายรัฐที่ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อหน่วยงานเองและประเทศในภาพรวม

นายไชยเจริญ อติแพทย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. กล่าวว่า ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีวัสดุเยื่อแผ่น ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยลดการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพไปประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การประยุกต์ใช้ Nano Membrane ในการทำให้ก๊าซธรรมชาติมีคุณภาพดีขึ้น การบำบัดน้ำเสีย การปรับสภาพน้ำและการผลิตน้ำอุปโภคและบริโภคจากน้ำทะเล ที่ประหยัดพลังงานมากกว่าเทคโนโลยีปัจจุบัน ดังนั้นโครงการพัฒนาเทคโนโลยีวัสดุเยื่อแผ่นที่เหมาะสมต่อสภาวะการใช้งานจริงในภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย และภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก จึงมีบทบาทสำคัญยิ่ง เพื่อทดแทนการนำเข้าเทคโนโลยีวัสดุเยื่อแผ่น และช่วยสร้างจุดแข็งในการพัฒนาเทคโนโลยีให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มปตท.และของประเทศ โดยผ่านการต่อยอดความสามารถและเครือข่ายความร่วมมือในระดับสากลที่สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. มีอยู่ในปัจจุบันในด้าน Gas Liquid Membrane ผนวกกับความเชี่ยวชาญของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ในการสังเคราะห์ Membrane ต่างๆ โดยสถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. มีโครงการนำร่องจากฝ่ายวิจัยธรณีวิทยาและวิศวกรรมปิโตรเลียม 2 โครงการ ซึ่งคาดว่าจะสำเร็จถึงมือผู้ใช้ในกลุ่มปตท.ภายใน 2-3 ปี

-กผ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net