พันธวณิชชี้คอร์รัปชั่นลดลงได้ถ้าหน่วยงานเลิกลักไก่ใช้วิธีพิเศษ

21 Feb 2012

กรุงเทพฯ--21 ก.พ.--พันธวณิช

ภายหลังจากวิกฤติอุทกภัยในปี พ.ศ. 2554 รัฐบาลได้จัดทำโครงการฟื้นฟูประเทศโดยออกพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 วงเงินรวมประมาณ 3.5 แสนล้านบาท ทั้งนี้ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้หน่วยงานราชการใช้งบประมาณในการป้องกันน้ำท่วม 1 แสนล้านบาทไปจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ โดยวิธีพิเศษเพื่อให้การดำเนินการป้องกันอุทกภัยในปี พ.ศ. 2555* บริษัท พันธวณิช จำกัด ในฐานะผู้มีประสบการณ์ในการให้บริการประมูลออนไลน์ภาครัฐมามากกว่า 10 ปี เป็นห่วงว่าการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษจะเปิดช่องให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นได้ง่าย จึงเสนอให้หน่วยงานรัฐจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อความโปร่งใสแต่ให้ปรับลดขั้นตอนให้กระชับเพื่อแก้ปัญหาเรื่องความล่าช้า

พ.อ. รังษี กิติญาณทรัพย์ ที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พันธวณิช จำกัด ผู้ให้บริการตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์และบริการประมูลออนไลน์ภาครัฐ แสดงทรรศนะต่อการนำวิธีพิเศษในการจัดซื้อจัดจ้างเข้ามาใช้ว่า “ผมเป็นห่วงเรื่องการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในการป้องกันน้ำท่วม 1 แสนล้านบาท ที่ครม. มีมติให้หน่วยงานต่าง ๆ นำวิธีพิเศษเข้ามาใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะกับโครงการในระยะเร่งด่วน เพราะที่ผ่านมาพบว่าหลายโครงการที่จัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษมีปัญหาเรื่องการทุจริต ทำให้โครงการดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ผมไม่อยากให้เกิดปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำๆ เพราะการจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษเป็นวิธีที่เปิดโอกาสให้เกิดการทุจริตมากที่สุด เนื่องจากขั้นตอนการจัดซื้อเป็นไปอย่างรวบรัด ไม่มีการแข่งขัน ไม่มีการบังคับให้เปิดเผยรายละเอียดอย่างเป็นระบบ ผมเห็นว่าภาครัฐยังสามารถปรับระเบียบการจัดประมูลฯ เพื่อลดเวลาการดำเนินการได้” เท่าที่ผ่านมาพบว่าโครงการใหญ่ๆ ที่ส่อว่ามีการกระทำผิดเข้าข่ายทุจริตคอร์รัปชั่นมักจะเป็นโครงการที่ใช้วิธีพิเศษเพื่อดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง อาทิ โครงการจัดซื้อรถเข็นกระเป๋าของ บมจ. ท่าอากาศยานไทยสำหรับสนามบินสุวรรณภูมิ มูลค่า 566 ล้านบาท โครงการรถยุทธวิธีกันกระสุนของกระทรวงกลาโหม มูลค่า 750 ล้านบาท หรือโครงการจัดซื้อถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ประสพอุทกภัยของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มูลค่า 80 ล้านบาท เป็นต้น

คุณมรกต ทวีศรี ผู้อำนวยการฝ่ายการประมูลออนไลน์ภาครัฐ บริษัท พันธวณิช จำกัด ได้ให้ข้อมูลว่าจุดอ่อนของวิธีพิเศษที่เอื้อให้เกิดการทุจริต คือ 1. ไม่มีการบันทึกหรือบังคับให้หน่วยงานเปิดเผยรายละเอียดต่อสาธารณะชนอย่างเป็นระบบ 2. การสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อเป็นไปได้ยาก 3. เปิดโอกาสให้ใช้เงื่อนไขพิเศษ ทำให้เกิดการสมยอมราคาได้ง่าย 4. ขั้นตอนการจัดซื้อเป็นไปอย่างรวบรัด ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันด้านราคา คุณมรกตกล่าวเสริมว่า “ทางพันธวณิชเสนอว่ารัฐบาลควรผลักดันให้ดำเนินการจัดจ้างด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ (อีอ็อกชั่น) เพื่อให้การใช้งบประมาณเป็นไปอย่างโปร่งใสตามมาตรฐานสากล ทางบริษัทฯ เห็นว่ารัฐบาลควรที่จะพิจารณาเรื่องการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้ในขั้นตอนการเสนอราคาและการเจรจาต่อรอง สำหรับการจัดซื้อประเภทอื่นๆ เช่น วิธีตกลงราคา วิธีสอบราคา หรือวิธีประกวดราคา ซึ่งในปัจจุบันที่ยังคงใช้การยื่นซองอยู่ เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการตรวจสอบการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ทั้งนี้การนำวิธีการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้จะทำให้ข้อมูลต่างๆ มีการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ สามารถเรียกข้อมูลมาตรวจสอบได้ เกิดความโปร่งใสในขั้นตอนการเจรจาต่อรองราคา นอกจากนี้ผู้ขายจำนวนมากยังสามารถเข้าร่วมประมูลและเสนอราคาได้โดยไม่มีข้อจำกัดด้านสถานที่และเวลา ซึ่งในที่สุดจะทำให้หน่วยงานได้ผู้ขายที่เสนอราคาสินค้าที่เหมาะสมที่สุด จากสถิติที่ผ่านมาบริษัทฯ พบว่าการนำอีออกชั่นมาใช้จะทำให้รัฐบาลประหยัดงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างได้โดยเฉลี่ยปีละ 7-8%

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทางบริษัท พันธวณิช จำกัด ได้พยายามผลักดันให้กรมบัญชีกลางปรับปรุงแก้ไขในเชิงนโยบายให้มีการควบคุมดูแลขั้นตอนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อ เช่น การกำหนดราคากลางที่สูงเกินจริง การล็อกสเปก(TOR) การลดโอกาสให้ผู้เสนอราคามาพบกันเพื่อสมยอมราคา รวมถึงมีการตรวจสอบการตรวจรับงานที่มีคุณภาพด้อยกว่า TOR เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติโดยมีรายละเอียดดังนี้

ขั้นตอนก่อนการประกวดราคา

  • แก้ไขระเบียบโดยให้โครงการที่มีมูลค่ามากว่า 1,000,000 บาทขึ้นไปต้องดำเนินการจัดซื้อหรือจัดจ้างผ่านวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
  • หน่วยงานควรตรวจสอบอย่างเข้มงวดก่อนที่จะอนุมัติให้ใช้วิธีพิเศษเพื่อดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง
  • ตั้งองค์กรกลางเพื่อตรวจสอบการหลีกเลี่ยงดำเนินการจัดซื้อหรือจัดจ้างผ่านวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ไปใช้วิธีพิเศษ ขั้นตอนการประกวดราคา
  • ตั้งองค์กรกลางเพื่อดูแล ตรวจสอบและปรับราคากลางให้เหมาะสมต่อสภาวะตลาด เพื่อป้องกันการกำหนดราคากลางที่สูงเกินจริง
  • ตั้งหน่วยงานอิสระที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เพื่อตรวจสอบและอนุมัติร่างขอบเขตงาน (TOR) ตลอดจนเพิ่มประเภทของการประมูลออนไลน์แบบ MVB ที่สามารถรองรับการประมูลสินค้าที่มีความต่างในด้านคุณภาพ เพื่อป้องกันการล็อคสเปก
  • ใช้ระเบียบประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ของ ปี 2548 ซึ่งไม่ได้กำหนดให้ผู้เสนอราคา ต้องมาเสนอราคาในสถานที่เดียวกัน และบังคับใช้บทลงโทษอย่างจริงจังกับผู้กระทำผิด เพื่อลดโอกาสที่ผู้เสนอราคาจะมาพบกันและป้องกันการสมยอมราคา ขั้นตอนการตรวจรับ
  • ตั้งองค์กรกลางเป็นผู้ดูแล ตรวจสอบ เพื่อไม่ให้มีการตรวจรับงานหรือสินค้าที่มีคุณภาพด้อยกว่า TOR และบังคับใช้บทลงโทษอย่างจริงจังกับผู้กระทำผิด

*อ้างอิงจาก http://web.parliament.go.th/news/news_detail.php?prid=313408

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

บริษัท พันธวณิช จำกัด

สุพพตา บัวเอี่ยม

Marketing Communications Executive

โทรศัพท์ 0 2689 4228 แฟกซ์ : 02-679-7474

e-mail : [email protected]

-กภ-