เวิร์คช็อป “วัยมันส์” รู้ทัน(อารมณ์) ป่วน

20 Feb 2012

กรุงเทพฯ--20 ก.พ.--มูลนิธิสยามกัมมาจล

“วัยรุ่น”มักเผชิญกับอารมณ์ป่วนใจอยู่เสมอ เพราะใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลางทำให้ไม่พอใจ เพื่อน พ่อแม่ คนรัก และบางครั้งก็สับสนในตัวเอง อารมณ์ต่างๆ ทั้งรัก โกรธ หดหู่ เหงา เศร้า เซ็ง ฟุ้งซ่าน สับสน แวะเวียนเข้ามากวนใจวัยรุ่นอยู่ทุกวัน แล้วจะมีวิธีการอะไรบ้างที่จะช่วยให้ความปั่นป่วนของวัยรุ่น “สงบ” ลง และสามารถอยู่ในสภาวะที่สับสนวุ่นวายนี้ได้อย่าง รู้เท่าทัน

เป็นที่มาของกิจกรรมดีๆ ใน โครงการศิลปะเพื่อชีวิตและอิสรภาพของคนรุ่นใหม่ จัดโดยเครือข่ายพุทธิกา ในการสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)ที่เปิดรับสมัครเยาวชนที่สนใจเรื่องการจัดการอารมณ์“ป่วน” เข้าร่วมเวิร์คช็อปที่ประยุกต์หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เรื่อง“นิวรณ์ 5”หรือ สิ่งกีดขวางจิตใจไม่ให้เข้าถึงความดีงาม ได้แก่อารมณ์ โกรธ อยาก หดหู่ลังเลสงสัย และฟุ้งซ่าน” มาจัดกระบวนการเรียนรู้รูปแบบใหม่เปลี่ยนธรรมะที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวเยาวชน กระชับพื้นที่ให้เข้ามาใกล้ชิดจิตใจของคนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น

พี่จุ้ย “คะทาวุธ แวงชัยภูมิ” เครือข่ายพุทธิกา วิทยากรหลัก เล่าว่า เวิร์คช็อปนี้ประกอบด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ 5 ครั้งต่อเนื่องกัน ในระยะเวลา 4 เดือน เริ่มต้นครั้งแรกที่การรู้จักตนเอง และเข้าใจผู้อื่น ผ่านการวิเคราะห์บุคลิกลักษณะของตัวเองเทียบเคียงกับสัตว์ 4 ประเภท เช่น “กระทิง” ที่หุนหันพลันแล่น กล้าได้กล้าเสีย “เหยี่ยว” ที่เป็นนักคิดสร้างสรรค์ เห็นภาพรวม “หมี” ที่เจ้าระเบียบ ละเอียดรอบคอบ และ “หนู” ที่เข้าอกเข้าใจผู้อื่น เป็นนักประนีประนอม เพื่อให้เข้าใจข้อดีและข้อควรปรับปรุงของตนเองและเข้าใจความแตกต่างของแต่ละคน เมื่อเข้าใจแล้ว เราจะลดอารมณ์ป่วนต่างๆ จากการกระทำของผู้อื่นที่มีผลกับตัวเราได้

ส่วนอีก 3 ครั้ง น้องๆ จะได้ “รู้จัก” อารมณ์ป่วนทั้ง 5 อารมณ์อย่างลึกซึ้ง สามารถ “แยกแยะ” และ “เท่าทัน” สิ่งที่มากระทบแล้วทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกได้ ผ่านกิจกรรม เกม ศิลปะ สถานการณ์จำลอง และการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน

ปิดท้ายเวิร์คช็อป ด้วยการให้น้องๆ ทบทวนการเรียนรู้ และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเองในช่วงระยะเวลาที่เข้าร่วมเวิร์คช็อปนี้พร้อมทั้งเผยแพร่บทเรียน และการเรียนรู้นี้ โดยจัดทำเป็นหนังสือเผยแพร่เรื่องวิธีการจัดการอารมณ์ป่วนของวัยรุ่น แบ่งปันให้เพื่อนๆ วัยป่วนได้เรียนรู้ด้วย

“ในแต่ละครั้งที่จัดกิจกรรม น้องๆ จะได้รับการบ้านให้กลับไปตามดูอารมณ์ของตัวเอง เมื่อเกิดอารมณ์ที่เกิดขึ้นเด่นชัด เช่น อยาก โกรธ ฟุ้งซ่าน ให้บันทึกลงในสมุดบันทึกอารมณ์พร้อมวิธีการจัดการกับอารมณ์นั้นแล้วมาแลกเปลี่ยนกับเพื่อนในกิจกรรมครั้งถัดไป หลายคนบอกว่า การบันทึกอารมณ์ในสมุดเป็นกุศโลบายที่ดีมาก เพราะช่วยให้เขารู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง เมื่อไหร่ที่เกิดอารมณ์ต่างๆ ขึ้นมา ก็จะนึกถึงสมุดเล่มนี้ นับว่าเป็นเครื่องมืออย่างดีที่ทำให้เขารู้เท่าทัน และจัดการกับอารมณ์นั้นได้ เพื่อไม่ให้เกิดความทุกข์”

ท้ายที่สุดผลผลิตสุดท้ายในโครงการฯ ยังจะได้“หลักสูตรการจัดการอารมณ์ป่วน”ที่ผ่านการเวิร์คช็อปที่เห็นผลจริง ขยายผลแก่สังคมในวงกว้าง โดยเฉพาะกับพ่อแม่ผู้ปกครอง ครู ตลอดจนพี่เลี้ยงเยาวชนที่สามารถนำไปใช้จัดกระบวนการให้แก่น้องๆ ในกลุ่มของตนเองได้ เสียงตอบรับจากน้องๆ ในกิจกรรม น้องอ๊อฟ “พัชรพล สุนทรวัฒนากุล” อายุ 18 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สาขาอุตสาหกรรมอาหาร และบริการเล่าว่า มาร่วมกิจกรรมเพราะมีพี่ที่รู้จักชักชวนมา เมื่อมาแล้วก็รู้สึกประทับใจ โดยเฉพาะกิจกรรมทำความรู้จกตนเอง ซึ่งทำให้เขารู้จักตัวเองและเปิดใจยอมรับทำความเข้าใจคนรอบข้างมากขึ้น ขณะที่การเรียนรู้อื่นๆ ยังทำให้ตัวเขามีความละเอียดอ่อนมากขึ้น ที่เด่นชัดคือ เมื่อก่อนเป็นคนชอบลุย ทำอะไรไม่ยั้งคิดจนเกิดความผิดพลาด เปลี่ยนเป็นคนที่รู้เท่าทัน ระมัดระวังการกระทำมากขึ้น

น้องส้ม “ปาริฉัตร วิจารณ์พล” อายุ 23 ปี นักเทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลศิริราช สะท้อนบ้างว่า ได้ประโยชน์จากสมุดบันทึกอารมณ์ของตัวเองที่ช่วยทำให้มีสติในการใช้ชีวิตมากขึ้น นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทีละเล็กละน้อย ที่เห็นชัดคือ การรู้เท่าทันอารมณ์ป่วนชัดเจนขึ้น

“ตัวอย่างเช่น เมื่อโกรธปุ๊บ เราก็จะรู้สึกตัวได้เร็วขึ้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็น้อยลง รู้จักที่จะเข้าใจและให้อภัยกันมากขึ้น มีความสุขในการทำงานเห็นวิธีการแก้ปัญหา และลดความผิดพลาดได้ดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน หรือแม้แต่การรู้เท่าทันอารมณ์อยาก เมื่อเจอของที่อยากได้ ก็จะต้องหยุดคิดก่อนซื้อ”ส้มว่า

ส่วน สมาร์ท “เอกภพ สิทธิวรรณธนะ”หนุ่มนักศึกษาปริญญาโทในวัยเบญจเพสจากภาควิชาสังคมและสุขภาพ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเสริมต่อว่า ความสุขที่เกิดขึ้นจากการรู้เท่าทันอารมณ์ป่วน นอกจากจะทำให้ตัวเองมีความสุขแล้ว ยังทำให้คนรอบข้างเรามีความสุขมากขึ้นได้ ซึ่งสำหรับตัวเขาแล้วเห็นว่า สังคมไทยยังมีกิจกรรมการเรียนรู้ธรรมะนอกกรอบไม่มากนัก ที่มีอยู่หลายที่ก็ต้องลงทะเบียนเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก จึงอยากเห็นกิจกรรมที่เปิดกว้างเช่นนี้บ่อยๆ

“หากเป็นไปได้ วันหนึ่งข้างหน้า ผมอยากเห็นกิจกรรมการเรียนรู้ด้านในแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งในวิถีการเรียนรู้ในระบบด้วยเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงมันได้มากที่สุด”หนุ่มน้อยนักจัดการอารมณ์ป่วนแสดงความคิดเห็นปิดท้าย

ผู้สนใจติดตามชมวีดิทัศน์งานเวิร์คช็อป เร็วๆ นี้ที่ www.scbfoundation.com #-กภ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net