3 นักศึกษา มจธ.คว้าที่ 1 รางวัลกล้าใหม่...สร้างสรรค์ชุมชนปี 6 สร้างเกมเสริมพัฒนาการเด็กออทิสติก

06 Mar 2012

กรุงเทพฯ--6 มี.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

3 นักศึกษา มจธ. ผลิตเกมเสริมสร้างพัฒนาการการเรียนรู้เด็กออทิสติก คว้าแชมป์โครงงาน “กล้าใหม่...สร้างสรรค์ชุมชน” ล่าสุดเตรียมขึ้นเวทีออทิสติกโลก เผยแพร่องค์ความรู้ให้นานาชาตินำไปใช้ ด้านคณบดีรับลูกเตรียมสร้างศูนย์เรียนรู้ไฮเทค เร่งพัฒนานิสิตหัวคิดสร้างสรรค์นำเทคโนโลยีช่วยเหลือสังคมด้อยโอกาส

“ออทิสติก” เป็น กลุ่มอาการบกพร่องทางพัฒนาการอย่างรอบด้าน พ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนจึงรู้สึกกังวลไม่น้อยเมื่อลูกที่เป็นออทิสติกถึงวัยต้องเข้าเรียน ปัญหานี้ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในประเทศไทย หลายส่วนกำลังเร่งหาเครื่องมือต่างๆ มาเป็น “ตัวช่วย” ในการเสริมสร้างพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กออทิสติก และ “สื่อ” สำหรับเสริมสร้างพัฒนาการการเรียนรู้ จึงเป็นสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญกำลังเร่งพัฒนาเพื่อให้เด็กออทิสติกมีพัฒนาการกระทั่งสามารถเรียนรู้ร่วมกับเด็กปกติได้

ท่ามกลางการศึกษาวิเคราะห์วิจัยของหลายฝ่าย นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ประกอบด้วย นางสาวรุ่งนภา สกุลลิ้ม นายธีรพงศ์ ศรีณรงค์ และ นายภัทรวัตร เผือกผ่อง ได้ร่วมกันสร้าง “เกมเสริมสร้างพัฒนาการการเรียนรู้เด็กออทิสติก” ขึ้นเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ของเด็กออทิสติกที่มีศักยภาพสูง (High) และปานกลาง (Moderate) อายุระหว่าง 3-10 ปี

นางสาวรุ่งนภา สกุลลิ้ม ให้สัมภาษณ์ว่า จุดเริ่มต้นของการพัฒนาเกมนี้มาจากการหาโจทย์ในการทำโปรเจคจบในระดับปริญญาตรี ขณะเดียวกันก็มีโอกาสรู้จักกับโครงงานกล้าใหม่...สร้างสรรค์ชุมชน ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สนับสนุนให้นักศึกษาระดับอุดมศึกษาส่งโครงงานเพื่อพัฒนาสังคมชุมชนเข้าร่วมแข่งขัน จึงผนวกแนวคิดทั้งสองอย่างเข้าด้วยกันเพื่อทำให้โปรเจคจบของพวกเขามีคุณประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้น

“ตอนแรกพวกเราคิดถึงคนตาบอด หูหนวกก่อนเลย แต่พอหาข้อมูลไปเรื่อยๆ ก็พบทั้งสองกลุ่มนี้มีสื่อเทคโนโลยีในการเสริมสร้างพัฒนาการมากพอสมควร แต่ยังมีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังไม่มีสื่อเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริมสร้างพัฒนาการเท่าที่ควร นั่นคือกลุ่มเด็กออทิสติก พวกเราก็ได้ไอเดียว่าถ้าเราสามารถทำสื่อที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กกลุ่มนี้ให้ใกล้เคียงกับเด็กปกติได้ก็น่าจะดี”

บทสรุปของการหารือกันหลายวัน ประกอบกับการปรึกษาอาจารย์ศศิภา กัลยาวินัย รวมถึงนักวิชาการ และค้นข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต นักศึกษากลุ่มนี้ตกลงปลงใจว่า พวกเขาจะสร้างเกมขึ้นมา 1 ชุดเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กออทิสติก โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านออทิสติกจากโรงเรียนอนุบาลจันทยานนท์ เป็นผู้ให้คำปรึกษา พวกเขาใช้เวลาในเก็บข้อมูล ร่างรูปแบบ กระทั่งเขียนเกม และนำไปทดสอบกับผู้ใช้ตัวจริงรวมระยะเวลากว่า 5 เดือนในทำไปเรียนรู้ไป และปรับปรุงกระทั่งวันนี้ได้เกมออกมา 1 ชุด มี 5 เกมโดยแบ่งการเรียนรู้ออกเป็น 3 หมวดคือ หมวดที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน หมวดสังคม และหมวดร่างกาย ทั้งนี้เกมย่อยทั้ง 5 ประกอบไปด้วย

1. เกมจำแนกสิ่งของซึ่งเกิดจากไอเดียที่นักศึกษาได้ไปพูดคุยกับอาจารย์ เริ่มจากการนำสิ่งของที่น้องๆ ออทิสติกสามารถพบเห็นได้ในชีวิตประจำวันมาออกแบบเกม

2.เกมแยกแยะอารมณ์ ที่ได้ไอเดียมาจากเว็บไซต์ต่างประเทศ แต่เกมแยกแยะอารมณ์ของต่างประเทศใช้ภาพชาวต่างชาติที่มีความแตกต่างด้านอารมณ์ไม่ชัดเจน ไม่เหมาะกับเด็กเล็ก พวกเขาจึงปรับปรุงให้เป็นภาพการ์ตูนซึ่งดึงดูดความสนใจของเด็กๆ ได้มากกว่า

3.เกมประกอบอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เพื่อให้เด็กๆ รู้จักและสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในเบื้องต้น

4.เกมลากเส้น เป็นการประยุกต์เกมให้เหมือนแบบฝึกหัดคัดลายมือของเด็กอนุบาลที่มีอยู่แล้วในแบบเรียนแต่นำมาใส่ไว้ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์

5. เกมเรียงลำดับเหตุการณ์ แม้จะได้ไอเดียมาจากเกมของต่างประเทศแต่นักศึกษาได้นำมาปรับให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของเด็กไทยมากขึ้น ซึ่งหลังจากผู้ใช้เล่นเกมที่ 5 เสร็จแล้วยังมีด่านที่ 6 ซึ่งเป็นแบบฝึกหัดสรุปรวมเกมทั้ง 5 เกมมารวมไว้เพื่อย้ำเตือนความเข้าใจของน้องๆ อีกครั้ง ก่อนจะเข้าสู่การประเมินผลนับจำนวนดาวแห่งความสำเร็จมอบให้ผู้ใช้เพื่อเป็นแรงจูงใจในการเรียนรู้

ด้านนายธีรพงศ์ ศรีณรงค์ กล่าวว่า กว่าจะได้เกมที่สมบูรณ์พวกเขาต้องเพียรพยายามนำเกมแต่ละเกมเข้าไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทั้งอาจารย์สิทธิชัย ครูอารีย์ และครูอื่นๆ ในโรงเรียนอนุบาลจันทยานนท์ รวมถึงให้น้องๆ ที่โรงเรียนอนุบาลจันทยานนท์ทดลองเล่นก่อน แล้วนำกลับมาปรับปรุงแก้ไขหลายครั้ง

“เราต้องหาเวลาที่น้องๆเขาเรียนรู้ได้ดีที่สุดคือช่วงเช้าประมาณ 8 โมงถึง 9 โมงเช้า แรกๆ เราจะมาสร้างความคุ้นเคยกับน้องๆ ก่อน เอาตุ๊กตามาเล่น พูดคุยกันเพื่อสร้างความคุ้นเคย แล้วจึงให้น้องๆ ทดลองเล่นพร้อมกับปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเราไปบ่อยๆ จนได้ข้อควรคำนึงในการออกแบบเกมเพื่อเด็กออทิสติกมากมาย ทั้งเรื่องระยะเวลาของเกมที่ต้องมีความเหมาะสม ไม่สั้นหรือยาวจนเกินไป เรื่องคำสั่งจะต้องสั้นกระชับ เพราะถ้าใช้เวลาในการเล่นมากไป ก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพสายตาของเด็ก หรืออาจทำให้เด็กติดเกมได้ หรือเรื่องการจับเวลาต้องไม่เร็วหรือช้าเกินไป ต้องไม่มีเงื่อนไขยากหรือมากเกินไป เพราะจะทำให้เด็กๆ เครียด รวมถึงรายละเอียดเรื่องเสียงพากย์ที่ต้องมีความเหมาะสม ตรงนี้เราต้องปรับเสียงให้เป็นเหมือนเสียงการ์ตูน คนพากษ์ก็หายากมาก โชคดีที่ได้เพื่อนของส้มมาช่วยพากย์ให้”

ครูอารีย์ คำคณา ครูผู้สอนโรงเรียนอนุบาลจันทยานนท์ กล่าวถึงพัฒนาการของเด็กออทิสติกที่เคยผ่านการเล่นเกมเสริมสร้างพัฒนาการการเรียนรู้ว่า เด็กในโรงเรียนส่วนใหญ่มักไม่สนใจการฟังเสียง ไม่ชอบภาพ แต่หลังจากที่ได้เล่นเกมก็เริ่มสนใจเสียงและสนใจภาพมากขึ้น สามารถทำแบบฝึกที่ครูมอบหมายได้ดี สนใจสิ่งที่ครูสอนได้นานขึ้น

“เด็กเขาอยากเรียนรู้มากขึ้น เด็กๆ จะตื่นเต้นและชอบเล่นมาก ที่จริงแล้ววิชาคอมพิวเตอร์เขาได้เรียนอยู่แล้ว แต่พอมีเกมนี้เข้ามา เขาก็จะรู้สึกตื่นตัวและมีความสุขกับการเรียนมากขึ้น พอเห็นพี่ๆ นักศึกษาเข้ามาจะวิ่งเข้าไปหาเลย” ครูอารีย์ยืนยัน พร้อมกับเล่าถึงกรณีของน้องออโต้ เด็กออทิสติกวัย 3 ขวบที่ทดลองเล่นเกมเสริมสร้างพัฒนาการการเรียนรู้มาโดยตลอดว่า “น้องออโต้เรียนที่นี่ได้ประมาณปีครึ่งแล้ว เริ่มแรกน้องเขาไม่พูดเลย แต่ตอนนี้เริ่มพูดแล้ว ตอนเล่นเกมครูสังเกตเห็นว่าเขาเริ่มจับคู่ เริ่มวาดภาพ และก็ระบายสี เลือกสีมาระบายเองในคอมพิวเตอร์และก็ปริ้นผลงานของตัวเองออกมาได้ อาการเขาก็จะดีขึ้นเพราะเกมเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยเสริมการเรียนรู้อื่นๆ ที่ทางโรงเรียนมีอยู่แล้วให้ดีขึ้นไปอีก” เป็นเสียงตอบรับจากผู้ใช้ตัวจริงเกี่ยวกับเกมที่นักศึกษาทีมนี้ตั้งใจสร้างสรรค์ขึ้นมา

ทั้งนี้หลังจากที่เกมฯนี้ได้รับผลตอบรับเป็นที่พอใจ นายชูศักดิ์ จันทยานนท์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลจันทยานนท์ กรรมการมูลนิธิคุณพุ่ม และนายกสมาคมออทิสติกแห่งประเทศไทยที่ติดตามการดำเนินงานของนักศึกษาทีมนี้มาโดยตลอด ระบุว่า เกมดังกล่าวน่าจะสามารถพัฒนาเด็กออทิสติกให้มีพัฒนาการเรียนรู้ให้ทัดเทียมเด็กปกติได้ โดยนายชูศักดิ์ต้องการให้นักศึกษา มจธ.ต่อยอดและพัฒนาเกมนี้ต่อ ในขณะที่ในส่วนของสมาคมออทิสติกแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ อีกทั้งจะช่วยกระจายเกมไปสู่ผู้ปกครองนำไปพัฒนาบุตรหลายที่เป็นออทิสติกทั่วประเทศ อีกทั้งนำเกมนี้ขึ้นไปไว้บนเว็บไซด์ของเครือข่ายทั้งหมด ที่สำคัญในการประชุมสัมมา เครือข่ายออทิสติกโลก ที่จะจัดขึ้นในประเทศไทย ช่วงเดือนเมษายน 2555 นี้ เกมดังกล่าวยังได้รับโอกาสให้นำเสนอผลงานความสำเร็จต่อสมาคมโลกได้รับรู้อีกด้วย

ด้าน รศ.ดร.นิพนธ์ เจริญกิจการ คณะบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า การที่นักศึกษาในคณะทุ่มเทสร้างผลงานอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมกระทั่งได้รับรางวัลมาในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีในการกระตุ้นนักศึกษาภายในคณะให้ตื่นตัวในการพัฒนาตัวเอง อีกทั้งยังเห็นโอกาสในการต่อยอดและพัฒนาการถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้กับนักศึกษาและสังคม ล่าสุดจึงเตรียมแผนสร้างห้องวิจัย ให้อาจารย์และนักศึกษาที่มีความสนใจในด้าน ซอฟแวร์สำหรับผู้ด้อยโอกาส หรือ Usability ได้เข้ามาศึกษาค้นคว้าและพัฒนา เพื่อเป็นการสร้างความรู้ที่เป็นประโยชน์กับกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะกลุ่มผู้ด้อยโอกาส หรือกลุ่มที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยี โดยคณะจะเป็นผู้สนับสนุนด้านสถานที่ อุปกรณ์ที่จำเป็นและคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญไว้รองรับ

อนึ่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หรือ มจธ. เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฯ เป็น 1 ใน 8 ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย และเปิดทำการสอนทั้งในหลักสูตรปกติ สองภาษาและนานาชาติ ในระดับปริญญาตรี และเอก มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทยด้วย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและภาพประกอบติดต่อ โทร.0-2270-1350-4 ต่อ 114 ,115

-นท-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net