วธ. พัฒนาโครงสร้าง เพิ่มศักยภาพบุคลกรขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมสู่สากล

05 Mar 2012

กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--กระทรวงวัฒนธรรม

เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างระบบราชการกระทรวงวัฒนธรรมว่า ปัจจุบันโครงสร้างระบบราชการกระทรวงวัฒนธรรมยังคงยึดตามกรอบโครงสร้างเดิมเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว นับตั้งแต่สถาปนาเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๔๕ ดังนั้น จึงต้องมีการพัฒนาโครงสร้างระบบราชการกระทรวงวัฒนธรรมใหม่ เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก และการขับเคลื่อนภารกิจตามนโยบายของรัฐบาลที่เน้นการนำทุนทางวัฒนธรรมมาเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และการมีส่วนร่วมภาคประชาชน ซึ่งในที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบเสนอปรับโครงสร้างของแต่ละหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรมก่อนเสนอต่อ กพร. ดังนี้ ๑. สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม จัดตั้งใหม่ ๒ หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานวัฒนธรรมอำเภอ ๕ จังหวัดชายแดนใต้ และสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมและวีดิทัศน์ (องค์การมหาชน) ๒. กรมศิลปากร ได้มีการยกระดับหน่วยงาน อาทิ ศูนย์โบราณคดีใต้น้ำ เพื่ออนุรักษ์โบราณคดีที่อยู่ใต้น้ำ และจัดตั้งหน่วยใหม่ คือ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (องค์การมหาชน) ๓. กรมการศาสนา ได้จัดตั้งกองส่งเสริมกิจการฮัจย์ขึ้นใหม่ เพื่อดูแลการดำเนินงานกิจการฮัจน์ และ กองทุนส่งเสริมงานศาสนาทั้งพุทธและศาสนาต่างๆ และ๔. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ตั้งใหม่ ๒ หน่วยงาน คือ สำนักส่งเสริมประยุกต์ศิลป์ เพื่อดูแลงานด้านมัณฑนศิลป์ การออกแบบ เป็นต้น และสำนักส่งเสริมวิจิตรศิลป์เพื่อดูแลงานด้านจิตรกรรม ภาพถ่าย เป็นต้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า การปรับโครงสร้างในครั้งนี้ถือเป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพด้านบุคลากร รวมถึงการเพิ่มหน่วยงานต่างๆ เพื่อช่วยขับเคลื่อนงานด้านวัฒนธรรมได้อย่างครอบคลุม อย่างเช่นศูนย์โบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร ในแต่ละปีได้มีการสำรวจโบราณวัตถุใต้น้ำได้เพียงแค่ ๓ แห่ง จากที่มีอยู่มากมาย อีกทั้งยังต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นๆ ในการสำรวจอีกด้วย ดังนั้น จึงต้องเพิ่มบุคลากรเพื่อลงไปสำรวจในเรื่องดังกล่าวให้มากยิ่งขึ้น เพราะประเทศไทยมีทุนทางวัฒนธรรมอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งมรดกที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้

“นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เสนอให้กระทรวงวัฒนธรรมได้ดำเนินการจัดตั้งหน่วยงานหรือบุคลากรไปประจำที่องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเสนโก) เพื่อประสานงาน เป็นผู้ให้ข้อมูล หรือชี้แจงทันกับเหตุการณ์ความเป็นไปในเวทีระดับนานาชาติ และเสนอให้มีการจดทะเบียนทรัพย์สินทางภูมิปัญญาไทย อย่างเช่น การอนุรักษ์นิทานพื้นบ้านที่ควรมีอยู่ต่อไป การตรวจสอบศูนย์อาหารต่างๆ ที่ตอนนี้มีชาวต่างชาติเข้ามาประกอบอาชีพโดยขึ้นป้ายว่าเป็นร้านอาหารไทย จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดเพี้ยนไป รวมทั้งการอนุรักษ์ด้านความรู้เกี่ยวกับงานช่างต่างๆ อย่างเช่นงานช่างสิบหมู่ เพราะปัจจุบันถือว่าบุคลากรทางด้านดังกล่าวยังมีอยู่น้อย”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว

-กผ-