กรุงเทพ--24 ม.ค.--อภัยภูเบศร
ช่วงนี้ ประเทศไทย อุณหภูมิลดลงทั่วทุกพื้นที่ โดยเฉพาะแถบภาคเหนือ และอีสาน มีอากาศหนาวเย็น อาการปวดตามข้อ มักจะสร้างความทุกข์ทรมาณให้กับผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthritis of the knees) หรือ ที่ทางการแพทย์แผนไทย เรียกว่า โรคลมจับโปงเข่า ซึ่งเกิดจากการที่กระดูกอ่อนที่บุอยู่บนผิวข้อต่อกระดูกสึกกร่อนทำให้ตัวกระดูกเกิดการเสียดสีกัน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดข้อ ข้อติด ระยะแรกจะมีอาการเป็นๆ หายๆ และเป็นมากขึ้น จนในที่สุด จะปวดรุนแรงหรือปวดตลอดเวลา เดินไม่ถนัด ขาโก่ง เดินกระเผลก หรือ ตัวเอนไปมา งอ และ เหยียดเข่าลำบาก อาจมีอาการกล้ามเนื้อขาลีบ และในรายที่มีกล้ามเนื้อรอบเข่าอ่อนแรง ก็จะมีอาการเข่าอ่อน เข่าทรุด ร่วมด้วยนางสาวแววใจ พิมพิลา แพทย์แผนไทย มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระอภัยภูเบศร กล่าวว่า ในระยะนี้ มีผู้ป่วยที่มีอาการปวดตามข้อ มาเข้ารับการรักษาเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นโรคลมที่เกิดขึ้นกับข้อเข่า และ ข้อเท้า ซึ่งแพทย์แผนไทย แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ โรคลมจับโปงแห้ง และ โรคลมจับโปงน้ำ ซึ่งอาจเกิดจาก การเสื่อมตามอายุขัย โดยเฉพาะหญิงวัยหมดประจำเดือนจะมีโอกาสเกิดได้มาก เนื่องจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน น้ำหนักตัวมาก ทำให้ข้อเข่าต้องรับน้ำหนักมาก การใช้งานเกินกำลัง เช่น การเดินขึ้นลงบันได หรือการอยู่ในท่าเดิมนานๆ การรับประทานอาหารที่มีกรดยูริกสูง เช่น หน่อไม้ เครื่องในสัตว์ เป็นต้น การกระทบอากาศเย็นก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เลือดไหลเวียนมาเลี้ยงได้ไม่สะดวก หรือการอักเสบของเข่าจากอุบัติเหตุการรักษาด้วยแพทย์แผนไทย มีหลายวิธี อาทิ การนวดรักษา โดยเน้นที่จุดเหนือเข่า ใต้เข่า และรอบเข่า เพื่อคลายกล้ามเนื้อ การจ่ายยาสมุนไพร ตามอาการ โดยส่วนใหญ่ ใช้กลุ่มยารสร้อน ช่วยขับลมในเส้น เช่น พริกไทยดำ การประคบสมุนไพร และการใช้ท่าบริหารตนเองเพื่อบรรเทาอาการ และ ช่วยให้กล้ามเนื้อรอบเข่าแข็งแรงโดยโรคลมจับโปงแห้ง จะมีอาการ ปวด บวม แดง ร้อน ที่เข่า มีสภาวะเข่าติด ขาโก่ง นั่งยองๆ หรือ พับเพียบไม่ได้ เดินขัดข้อเข่า ขณะเดินจะมีเสียงดังในเข่า อาการจะปวดมากเวลาเปลี่ยนอิริยาบถ และก้าวขึ้นบันได หมอยาพื้นบ้านใช้สูตรยาโด่ไม่รู้ล้มตำรับปราจีนบุรี ลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ แก้ปวดเมื่อยได้ทุกชนิด บำรุงกำลัง ไม่เหนื่อยง่ายซึ่งมีส่วนผสม คือ โด่ไม่รู้ล้ม(ลดความดัน), เจตพังคี, กำแพงเจ็ดชั้น(ปรับสมดุลย์ร่างกาย), เถาวัลย์เปรียงอย่างละ 30 กรัม, ชะเอมไทย 45 กรัม, ฝางเสน 45 กรัม, ข้าวเย็น 15 กรัม, ข้าวเย็นใต้ 15 กรัม, น้ำ 3 ลิตร โดยนำสมุนไพรทั้งหมดห่อผ้าขาวบางต้มกับน้ำ 3 ลิตร เคี่ยวจนเหลือน้ำ 1 ลิตร ดื่มก่อนอาหารขณะอุ่น ๆ สามารถเก็บไว้ได้นาน 7 วัน สามารถใช้เป็นประจำได้ ไม่อันตราย ตัวยามีฤทธิ์ช่วยขับปัสสาวะโรคลมจับโปงน้ำ มีอาการอักเสบ ปวด บวม แดง และมีความร้อนเกิดขึ้น ถ้าเป็นมากจะมีอาการปวดลงส้นเท้า ทำให้มีลักษณะการเดินไม่ปกติ รักษาได้ด้วยวิธีการพอกสมุนไพรรสเย็น เพื่อดูดพิษร้อนออก โดยการใช้ดินสองพองตำผสมใบย่านาง พอกเข่า หรือ บริเวณที่บวม และนวดบริเวณเหนือเข่า เพื่อให้กล้ามเนื้อคลาย พอสมุนไพรที่พอกแห้ง ก็เปลี่ยนพอกใหม่จนกว่าอาการจะทุเลาวิธีทำสมุนไพรพอก ใช้ใบย่านางจำนวน 1 ส่วน ผักคาดหัวแหวนจำนวน 1 ส่วน กานพลูจำนวน เศษ 1 ส่วน 4 ส่วน ดองไว้ในเหล้า 28 ดีกรี นาน 3 วัน ใช้เนื้อสมุนไพรที่ผ่านการดองใส่สำลีหรือผ้าสะอาด นำมาพอกบริเวณที่บวม หรือ ใช้การประคบแบบร้อนชื้น ด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบ เพื่อป้องกันกล้ามเนื้อตึงหลังประคบ ทำทุกวัน เช้า-เย็น ประมาณ 10-15 นาที ซึ่งคนเมืองส่วนใหญ่ที่มีเวลาน้อยมักจะใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบแห้ง เนื่องจากสะดวก แต่การใช้กระเป๋าน้ำร้อน จะทำให้กล้ามเนื้อตึงตัวเร็ว และกลับมาปวดบวมอีกการใช้ท่าบริหาร เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อรอบเข่าแข็งแรง (Muscle Strengthening) ใช้เพิ่มพิสัยการเคลื่อนของข้อ ลดอาการติดขัดของข้อเข่า และเพื่อให้สามารถทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันได้อย่างราบรื่น ดังนี้1. ท่านั่งกระดกปลายเท้า- นั่งห้อยขา ลำตัวตั้งตรง- เตะขาข้างที่มีอาการขึ้นให้ขนานกับพื้นและกระดกปลายเท้าขึ้นเกร็งค้างไว้นับ 1-5 และกระดกปลายเท้าลง นับ 1-52. ท่ายืนเขย่งปลายเท้า- ยืนแยกขาเล็กน้อย มือทั้งสองข้างเกาะผนัง หรือที่ยึดเกาะ ที่มั่นคง- งอขาข้างที่ไม่เจ็บขึ้น ขาอีกข้างยืนให้มั่นคง เข่าตรง- เขย่งส้นเท้าขึ้น ค้างไว้นับ 1-10 แล้ววางเท้าลง ทำ 5 ครั้ง เช้า เย็น ทุกวัน3. ท่านอนหงาย กระดกปลายเท้า- นอนหงาย ยกขาข้างที่เป็นขึ้นเฉียงประมาณ 45 องศา- กระดกปลายเท้าขึ้น เกร็งค้างไว้ นับ 1-5- กระดกปลายเท้าลง เกร็งค้างไว้ นับ 1-5 แล้วผ่อนออกนอกจากนี้ นางสาวแววใจ ยังได้ให้ข้อแนะนำเพิ่มเติมอีกว่า ช่วงที่มีอาการ ควรหลีกเลี่ยงของแสลง ประเภทหน่อไม้ทุกชนิด และ ข้าวเหนียว เนื่องจากเป็นของย่อยยาก ทำให้ร่างกายมีกรดเพิ่ม ทำให้อาการปวดมากขึ้น ควรรับประทานอาหารที่มีกากใบ ดื่มน้ำมากๆ เพื่อให้ขับปัสสาวะ หรือ ดื่มน้ำตะไคร้ใบเตย ที่มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงไต ใช้ลดอาการบวมจากโรคไต เบาหวาน หรือ บวมไม่ทราบสาเหตุได้ น้ำตะไคร้ใบเตย จะช่วยขับกรดยูริค โดยใช้ส่วนผสมดังนี้ ตะไคร้ 4-5 ต้น ใบเตย 2-3 ใบ ต้มกับน้ำ 1 ลิตร กินต่างน้ำเห็นผลภายใน 3-4 วัน สูตรนี้ได้รับการยืนยันจากคนไข้ที่มารักษากับแพทย์แผนไทย ที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร นำไปต้มดื่มแล้วสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดให้ทุเลา และลดบวมได้จริง แต่อาจมีผลข้างเคียงคือ จะทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้นผู้ที่สนใจสามารถเข้ารับการปรึกษาแพทย์แผนไทยได้ ทุกวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 8.30 - 16.00 น. ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ณ ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร หรือสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โทร 037 211 088 ต่อ 3333 หรือ โทร 037 211 289
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
กส
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit