กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงคณะผู้บริหารของบริษัทที่มีประสบการณ์สูงในธุรกิจสินเชื่อรถยนต์มือสอง รวมถึงความคืบหน้าในการพัฒนากระบวนการขั้นตอนการปฏิบัติงานและระบบบริหารความเสี่ยง อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงผลประกอบการทางการเงินที่ปรับตัวดีขึ้นและสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งขึ้นหลังจากได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านธุรกิจและการเงินจากผู้ถือหุ้นใหญ่คือธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) โดยธนาคารนครหลวงไทยได้ควบรวมกิจการกับธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ อันดับเครดิตของบริษัทยังได้รับการยกระดับเพิ่มขึ้นจากสถานะอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทโดยตรงเนื่องจากปัจจุบันบริษัทเป็นบริษัทลูกที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจการเงินของธนาคารธนชาตภายใต้กฎเกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่มของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่ง ณ ต้นเดือนพฤศจิกายน 2554 ธนาคารธนชาตได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทเป็น 65.2% อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนลงจากประเด็นกังวลเกี่ยวกับการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงและปัญหาคุณภาพสินเชื่อของบริษัทจากการที่ปัจจุบันบริษัทมุ่งเน้นให้สินเชื่อสำหรับรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์ ส่วนแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าประสบการณ์ของผู้บริหารตลอดจนประสิทธิภาพการปฏิบัติงานที่ปรับตัวดีขึ้นและการสนับสนุนจากบริษัทแม่จะช่วยให้บริษัทสามารถขยายสินเชื่อในผลิตภัณฑ์และตลาดที่ตั้งเป้าหมายไว้ นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะสามารถควบคุมและรักษาคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ อีกทั้งการสนับสนุนจากธนาคารแม่ยังคาดว่าจะมีอยู่อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนสำหรับการขยายธุรกิจ
ทริสเรทติ้งรายงานว่า หลังการปรับโครงสร้างเงินทุนในปลายปี 2549 บริษัทราชธานีลิสซิ่งมีสถานะเป็นบริษัทร่วมของธนาคารนครหลวงไทย ส่งผลให้สถานะทางการตลาดของบริษัทปรับตัวดีขึ้น บริษัทสามารถใช้ประโยชน์จากฐานทุนที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นและการกู้ยืมจากธนาคารนครหลวงไทยเพื่อเป็นเงินทุนในการขยายสินเชื่อของบริษัท สินเชื่อคงค้างของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยปรับเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ย 53% ในช่วงปี 2549-2553 สินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นจาก 1,775 ล้านบาทในปี 2549 เป็น 10,404 ล้านบาทในปี 2553 สินเชื่อยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2554 โดยปรับเพิ่มเป็น 11,879 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน เมื่อเปรียบเทียบกับการเป็นบริษัทเดี่ยวทั่วๆ ไปแล้ว สถานะการเป็นบริษัทร่วมของธนาคารพาณิชย์ช่วยให้บริษัทได้รับการสนับสนุนทั้งทางด้านธุรกิจและการเงินที่ดีกว่าจากธนาคารแม่
ทริสเรทติ้งกล่าวว่าโครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทได้รับผลกระทบจากการควบรวมระหว่างธนาคารนครหลวงไทยและธนาคารธนชาต โดยธนาคารธนชาตถือหุ้น 99.2% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของธนาคารนครหลวงไทยหลังจากซื้อหุ้นจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินในเดือนเมษายน 2553 และจากนักลงทุนผ่านการเสนอซื้อหุ้นในเดือนมิถุนายน 2553 นอกจากนี้ ธนาคารธนชาตยังประสบความสำเร็จตามแผน Entire Business Transfer (EBT) ซึ่งแผนดังกล่าวเป็นการโอนสินทรัพย์และหนี้สินของธนาคารนครหลวงไทยไปยังธนาคารธนชาตเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2554 ส่งผลให้ธนาคารธนชาตเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 48.4% ของบริษัทโดยตรง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 ธนาคารธนชาตเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อรถยนต์รายใหญ่ที่สุดด้วยสินเชื่อรถยนต์คงค้างประมาณ 270 พันล้านบาท ณ ต้นเดือนพฤศจิกายน 2554 บริษัทได้ทำการปรับโครงสร้างทุนโดยการขายหุ้นเพิ่มทุนแก่ผู้ถือหุ้นเดิมซึ่งธนาคารธนชาตได้ใช้สิทธิทั้งหมดของตนในการซื้อหุ้นของบริษัท ในขณะที่มีผู้ถือหุ้นอื่นไม่กี่รายที่ใช้สิทธิ ส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทโดยธนาคารธนชาตเพิ่มขึ้นเป็น 65.2% ดังนั้น บริษัทจึงเปลี่ยนสถานะเป็นบริษัทลูกของธนาคารธนชาต ซึ่งปัจจุบันธนาคารธนชาตได้จัดให้บริษัทเป็นหนึ่งในบริษัทลูกที่อยู่ในกลุ่มควบรวมแบบ Full Consolidation ตามกฎเกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่มของธนาคารแห่งประเทศไทย
แม้ว่าธุรกิจหลักของบริษัทคือธุรกิจสินเชื่อรถยนต์จะทับซ้อนกับธุรกิจของธนาคารธนชาต ทว่าบริษัทและธนาคารก็มีตลาดเป้าหมายที่ต่างกัน การเพิ่มทุนล่าสุดจากธนาคารธนชาตสื่อให้เห็นว่าธนาคารธนชาตมีความตั้งใจที่จะให้บริษัทเน้นกลุ่มตลาดที่ธนาคารธนชาตยังเข้าไม่ถึง ในช่วงปีที่ผ่านมา ธนาคารธนชาตได้ให้ความช่วยเหลือบริษัทในการพัฒนากระบวนการอนุมัติสินเชื่อและการจัดเก็บหนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน มีการนำนโยบายการบริการความเสี่ยงด้านต่างๆ มาใช้ในบริษัทเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของธนาคารธนชาต บริษัทยังได้รับการแนะนำและกำกับดูแลจากธนาคารแม่และธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลธนาคารแม่ด้วย การแข่งขันที่รุนแรงในตลาดสินเชื่อรถยนต์ทั่วๆ ไปได้ผลักให้บริษัทขนาดเล็กเช่นบริษัทราชธานีลิสซิ่งต้องแสวงหาผลิตภัณฑ์และตลาดใหม่ๆ โดยบริษัทได้หันไปเน้นการให้บริหารสินเชื่อรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2549 โดยสินเชื่อในกลุ่มนี้คิดเป็น 52% ของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์คงค้างของบริษัท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 บริษัทพยายามชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากลูกค้ากลุ่มนี้ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การคิดอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น การเรียกเก็บเงินดาวน์ที่เพิ่มขึ้น และการให้ชำระเช็คลงวันที่ล่วงหน้า แม้ว่าคุณภาพสินเชื่อสำหรับรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์ยังอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ แต่บริษัทก็ยังคงมีความท้าทายในการดำรงผลตอบแทนในระยาวให้มีเสถียรภาพหลังจากหักเงินกันสำรองสำหรับหนี้สงสัยจะสูญแล้ว อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมถัวเฉลี่ยปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 5.9% ในปี 2551 เป็น 2.8% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 อัตราส่วนดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 3.0% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 การปรับตัวที่ดีขึ้นของอัตราส่วนคุณภาพสินเชื่อส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายฐานสินเชื่ออย่างมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทริสเรทติ้งยังคงมีความกังวลกับคุณภาพของสินเชื่อประเภทใหม่นี้เนื่องจากความเชี่ยวชาญของบริษัทคือสินเชื่อสำหรับรถยนต์นั่งและรถกระบะ
การแข่งขันที่รุนแรงในตลาดสินเชื่อรถยนต์มือสองส่งผลกดดันความพยายามของบริษัทในการปรับเพิ่มอัตราผลตอบแทนจากดอกเบี้ยแม้ว่าสินเชื่อสำหรับรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์จะให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นก็ตาม โดยบริษัทมีอัตราดอกเบี้ยรับอยู่ที่ระดับ 9.5% ในปี 2551 และปี 2552 ลดลงจาก 10% ในปีก่อน ๆ อัตราดังกล่าวลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 9.4% ในปี 2553 อย่างไรก็ตาม เงินทุนต้นทุนต่ำจากธนาคารแม่ช่วยทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทปรับเพิ่มขึ้น โดยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มเป็น 4.3% ในปี 2553 จาก 4.2% ในปี 2552 และ 3.4% ในปี 2551 สำหรับปี 2554 แม้ว่าต้นทุนของแหล่งเงินทุนจะปรับลดลงเป็น 5.6% (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีแล้ว) สำหรับช่วงเวลา 3 ไตรมาสแรกของปี ทว่าอัตราดอกเบี้ยรับในช่วงเวลาเดียวกันกลับปรับลดลงเป็น 8.7% (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีแล้ว) ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยปรับลดลงเป็น 3.1% ตั้งแต่ปี 2551 บริษัทได้รับประโยชน์จากปัจจัยหลัก 2 ประการคือ การเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการบัญชีเกี่ยวกับการตัดจำหน่ายค่าใช้จ่ายคอมมิชชั่นและประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด ปัจจัยทั้ง 2 ประการดังกล่าวช่วยปรับปรุงผลการดำเนินงานของบริษัทให้ดีขึ้น โดยบริษัทมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวมอยู่ที่ระดับ 26.7% ในปี 2552 ลดลงจากอัตราที่สูงกว่า 30% ในช่วงหลายปีก่อนปี 2551 อัตราส่วนดังกล่าวลดลงต่อไปอีกเป็น 24.9% ในปี 2553 และลดลงเป็นอย่างมากมาอยู่ที่ระดับเพียงแค่ 12.8% สำหรับช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2554 ส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรปรับตัวดีขึ้น
บริษัทรายงานผลกำไรสุทธิ 204 ล้านบาทในปี 2553 เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจาก 109 ล้านบาทในปี 2552 กำไรสุทธิสำหรับ 3 ไตรมาสแรกของปี 2554 อยู่ที่ระดับ 191 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 30.1% จากช่วงเดียวกันในปี 2553 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยก็ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2.5% ในปี 2553 จาก 1.9% และ 1.8% ในปี 2552 และปี 2551 อัตราส่วนดังกล่าวรักษาระดับอยู่ที่ 2.4% (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีแล้ว) ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2554 ฐานทุนของบริษัททรุดลงจากการระดมทุนเชิงรุกโดยการกู้ยืมเพื่อขยายสินเชื่อแม้ว่าจะมีการเพิ่มทุนจากการใช้สิทธิตามใบรับรองสิทธิในการซื้อหุ้นของธนาคารนครหลวงไทยในปลายปี 2552 และการปรับตัวดีขึ้นของผลประกอบการในปี 2552 และปี 2553 แล้วก็ตาม อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมลดลงจาก 31.4% ในปี 2550 เป็น 13.4% ในปี 2553 และ 12.2% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 การปรับโครงสร้างทุนในเดือนพฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมาทำให้ฐานทุนของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นเป็นประมาณ 18% ณ สิ้นปี 2554 ระดับดังกล่าวถือว่าเพียงพอต่อการขยายสินเชื่อในอีก 2-3 ปีข้างหน้าภายใต้การคาดการณ์ของทริสเรทติ้ง ปัจจุบันบริษัทมีความยืดหยุ่นทางการเงินมากขึ้นหลังจากมีสถานะเป็นบริษัทในเครือของธนาคารหลวงไทยซึ่งปัจจุบันคือธนาคารธนชาต ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 ประมาณ 80% ของเงินกู้ยืมรวมของบริษัทเป็นการกู้ยืมจากธนาคารแม่ ทริสเรทติ้งกล่าว
บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (THANI)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit