กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
TCELS ร่วมกับโรงพยาบาลรามาธิบดี จับมือศูนย์พันธุกรรมมนุษย์ มหาวิทยาลัยโตเกียว จัดประชุมระดับนานาชาติด้านเภสัชพันธุศาสตร์ สร้างภาคีเครือข่ายในระดับเอเชีย หวังให้เกิดการบริการในภาพใหญ่ พร้อมเชิญนักวิจัยชื่อก้องทั่วเอเชียมาเปิดเผยถึงนวัตกรรมยืดชีวิตมนุษย์ เผยไทยมีผลงานการทดสอบพันธุกรรมมนุษย์ต่อการตอบสนองของยาในอันดับต้นของโลก
นายสุริยัน ปานเพ็ง ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (TCELS) กล่าวว่า TCELS ร่วมกับ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และศูนย์พันธุกรรมมนุษย์ มหาวิทยาลัยโตเกียว จัดการประชุม 1st Meeting South East Asian Pharmacogenomics Research Network เพื่อเปิดโอกาสให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักเทคนิคการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ นักศึกษาทางด้านชีววิทยาศาสตร์ และนักวิจัยในประเทศไทย ได้เข้าร่วมประชุม ระหว่างวันที่ 2-3 กุมภาพันธ์ นี้ ที่โรงแรมสยามซิตี้ พิธีเปิดจะมีขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เวลา 9.00 น. โดย นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ
นายสุริยัน กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ผู้เข้าร่วมประชุมจะได้รับทราบถึงข้อมูลทางวิชาการด้านเภสัชพันธุศาสตร์และการรักษาเฉพาะบุคคลที่เป็นปัจจุบัน ทั้งทางคลินิกและการศึกษาวิจัยของของในและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้นักวิจัยในประเทศมีเวทีแสดงผลงานการวิจัยทางด้านเภสัชพันธุศาสตร์ สร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และข้อมูลในการดำเนินงานวิจัยทางด้านเภสัชพันธุศาสตร์ มีความรู้และเข้าใจถึงเทคนิค เทคโนโลยี การอ่านผลการตรวจหาตัวบ่งชี้ และการแปลผลทางเภสัชพันธุศาสตร์ ตลอดจนการปรับขนาดยาที่จำเป็น เข้าใจถึงวิธีการส่งตัวอย่างเพื่อตรวจหาตัวบ่งชี้ทางเภสัชพันธุศาสตร์ ตลอดจนเข้าใจในกระบวนการที่เกิดขึ้นในห้องปฏิบัติการและสามารถนำความรู้และข้อมูลที่ได้จากการฝึกอบรมไปใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างถูกต้องและเหมาะสม
นายสุริยัน กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยนั้นทีมนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณของ TCELS มีความก้าวหน้าด้านการค้นคว้าวิจัยด้านเภสัชพันธุศาสตร์ในระดับโลกหลายโครงการ อาทิ การค้นพบยีนแพ้ยาต้านไวรัสเอดส์ เนวิราปิน สตาร์วูดิน เป็นครั้งแรก จนเป็นที่ยอมรับผลงานในระดับนานาชาติ ทั้งนี้ในการประชุมได้เชิญวิทยากรสถาบันทั้งในและต่างประเทศอาทิ ศูนย์เภสัชพันธุศาสตร์ สถาบันสุขภาพเด็กมหาราชินี สถาบันราชนุกูล ศูนย์พันธุกรรมมนุษย์ ประเทศญี่ปุ่น คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงมหาวิทยาลัยชั้นนำในระดับเอเชีย อาทิ Tokyo University ,Genetic Research Center, Yarsi University, Jakarta, Indonesia , University of Malaya, Kuala Lumpur, Malaysia, Pharmacogenomics Research Center, College of Medicine, Inje University , Korea, ฯลฯ
ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-6445499 หรือที่ www.tcels.or.th
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit