“อาสามาแชร์ปี 2 เพื่อนชวนเพื่อนมาช่วยเพื่อน” รวมพลคนหัวใจสีเขียว...เพื่อผู้ประสบภัยธรรมชาติ

19 Jan 2012

กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--เวิรฟ

โครงการหลังคาเขียวเพื่อมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก จัดกิจกรรม “อาสามาแชร์ปี 2 - เพื่อนชวนเพื่อนมาช่วยเพื่อน” ชวนกลุ่มอาสาหลังคาเขียวฯ และคนรักษ์สิ่งแวดล้อมจากทั่วสารทิศ ตบเท้าเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการจัดเก็บกล่องเครื่องดื่มยูเอชทีใช้แล้วนำมาบริจาคเพื่อผลิตเป็น “แผ่นหลังคา” มอบให้กับมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทยนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั่วประเทศ

นางกลอยตา ณ ถลาง ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและสิ่งแวดล้อม บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า หลังจากที่ “โครงการหลังคาเขียวเพื่อมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก” ได้ดำเนินโครงการมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2553 โดยตลอดระยะเวลาหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมา โครงการฯ ได้สร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่องการรีไซเคิลกล่องเครื่องดื่ม จูงใจผู้บริโภคให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ร่วมมือกันลดปริมาณขยะและสนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม โครงการหลังคาเขียวฯ ได้พิสูจน์ให้เห็นพลังของกลุ่มผู้บริโภคที่มีจิตอาสา โดยดูได้จากปริมาณกล่องเครื่องดื่มยูเอชทีที่ได้รับบริจาคเพิ่มมากขึ้นและการที่โครงการฯ ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นจากประชาชนทั่วประเทศ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนร้านค้าทั่วไปที่มาเข้าร่วมสมัครเป็น “อาสาหลังคาเขียวฯ” ด้วยจิตอาสา ซึ่งกลุ่มอาสาฯ เหล่านี้ ถือเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้โครงการฯ สำเร็จได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยในปีที่ผ่านมามูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ได้ทยอยส่งหลังคาเขียวจำนวนกว่า 18,000 แผ่น ติดตั้งให้กับโครงการ “บ้านชีวิตใหม่ บ้านถาวรเพื่อผู้ประสบภัย” ในพื้นที่ประสบภัยทางภาคใต้ได้ถึง 150 หลัง และยังได้ร่วมสนับสนุนหลังคาเขียวให้กับบ้านผู้ประสบภัยในจังหวัดอุตรดิตถ์อีก 80 หลัง รวมถึงบ้านของผู้ประสบภัยและศูนย์การเรียนรู้เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ครอบคลุมเก้าจังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี กระบี่ สงขลา สุโขทัย อุตรดิตถ์ อ่างทอง สิงห์บุรี และลพบุรี

“ด้วยจำนวนของ “อาสาหลังคาเขียวฯ” ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีนับตั้งแต่เปิดตัวโครงการฯ ในฐานะผู้ดำเนินโครงการฯ เต็ดตรา แพ้ค เล็งเห็นว่า สิ่งสำคัญของการทำกิจกรรมอาสา คือ การร่วมแรงร่วมใจ การแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์การทำงานร่วมกัน ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของกิจกรรม “อาสามาแชร์” ซึ่งเปิดโอกาสให้เหล่าอาสาหลังคาเขียวฯ จากที่ต่างๆ ได้มาพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ วิธีการจัดการ ตลอดจนแนวคิดต่างๆ โดยทางโครงการฯ ได้เชิญกลุ่มอาสาหลังคาเขียวฯ ประกอบด้วยอาสาเก็บกล่อง อาสาตั้งกล่อง และอาสาเครือข่าย จากทั่วประเทศที่ร่วมกิจกรรมกับโครงการฯ ผ่านช่องทางเฟสบุ๊ค “www.facebook.com/thaigreenroof” ที่ปัจจุบันมีกลุ่ม fanpage กว่า 7,200 คนและเว็บไซต์ www.greenroof.in.th ที่มีผู้สมัครร่วมเป็นอาสาหลังคาเขียวกว่า 3,000 คน” นางกลอยตา กล่าว

“ปีนี้นับเป็นปีที่สองที่จัดกิจกรรมขึ้น โดยใช้ชื่อกิจกรรมว่า “อาสามาแชร์ ปี 2 เพื่อนชวนเพื่อนมาช่วยเพื่อน” โดยเราต้องการสื่อให้กับอาสาหลังคาเขียวฯ ทุกคนได้ทราบถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้น จากพลังจิตอาสาของทุกคน ซึ่งทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนสีเขียวที่จะช่วยลดมลพิษต่อโลกและสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเรา และยังเป็นการช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนจากภัยธรรมชาติ ด้วยการผลิตแผ่นหลังคาเขียว นำส่งมอบให้กับมูลนิธิฯ อีกด้วย” นางกลอยตา กล่าวเสริม

สำหรับกิจกรรม “อาสามาแชร์ปี 2 เพื่อนชวนเพื่อนมาช่วยเพื่อน” ที่จัดขึ้นในปีนี้ได้รับความสนใจจากกลุ่มอาสาหลังคาเขียวฯ และผู้สนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก โดยบรรยากาศภายในงานได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนอาสาฯ จากกลุ่มต่างๆ มาร่วมพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ และแนวทางใหม่ๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ขั้นตอนการจัดเก็บกล่องเครื่องดื่มใช้แล้ว ตลอดจนเกร็ดความรู้ต่างๆ ที่ได้รับจากการเป็นอาสาหลังคาเขียวฯ พร้อมร่วมรับฟังการถ่ายทอดเรื่องราวความรู้สึกของผู้ประสบภัยธรรมชาติที่ได้รับการช่วยเหลือจากโครงการฯ ผ่านการนำ “แผ่นหลังคาเขียว” มาใช้เป็นส่วนประกอบในการสร้างบ้านชีวิตใหม่ฯ รวมถึงการถ่ายทอดความซาบซึ้งใจของเหล่าอาสาฯ ที่ได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยดังกล่าว ลงบนการ์ดข้อความ เพื่อนำไปส่งต่อเป็นกำลังใจให้แก่ผู้ประสบภัย พร้อมด้วยกิจกรรมให้ความรู้ และเกมต่างๆ มากมาย นอกจากนั้น ฝันดี-ฝันเด่น จรรยาธนากร นักแสดงที่มีจิตอาสาได้มาเข้าร่วมทำกิจกรรมและสร้างสีสันให้กับผู้ร่วมงาน อาทิ การสาธิตการแกะ-ล้าง-เก็บ เทคนิคการพับกล่องเครื่งดื่มที่ง่ายต่อการนำไปรีไซเคิล ฯลฯ ด้วย

นางศุภลักษณ์ ชูเพชร อาจารย์ประจำวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตัวแทนอาสาตั้งกล่อง พูดถึงประสบการณ์ในการเป็นอาสาหลังคาเขียวฯ ว่า “ได้รู้จักโครงการฯ นี้จากในเว็บไซต์ และเมื่อรู้ถึงรายละเอียดแล้ว จึงได้นำไปต่อยอดด้วยการให้นักศึกษาในวิทยาลัยฯ ทำโครงการ “แกะ-ล้าง-เก็บ” พร้อมทั้งรณรงค์ให้โรงเรียนและชุมชนบริเวณรอบวิทยาลัยฯ ร่วมกันเก็บกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วนำมาส่งที่จุดรับกล่องในวิทยาลัย โดยมอบหมายให้นักศึกษาเป็นผู้ให้รายละเอียดแก่ชุมชน ซึ่งทำให้เกิดการขยายเครือข่ายอาสาฯ มากขึ้น การได้เข้าร่วมกิจกรรม “อาสามาแชร์ ปี 2” จึงเป็นเหมือนจุดศูนย์กลางที่ช่วยเชื่อมเครือข่ายอาสาหลังคาเขียวจากแต่ละพื้นที่ให้มีความเหนียวแน่นมากยิ่งขึ้น”

นายณัฐพล ทิพย์กุล ผู้ประสบภัยจากอำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ ซึ่งได้รับบ้านชีวิตใหม่ ที่ใช้ “แผ่นหลังคาเขียว” ในการติดตั้งหลังคา เล่าความรู้สึกที่ได้รับการช่วยเหลือจากโครงการฯ ว่า “วันแรกที่ได้เห็นบ้านชีวิตใหม่ฯ บ้านที่ได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิฯ เสร็จสมบูรณ์ รู้สึกตื้นตันอย่างบอกไม่ถูก และเมื่อได้ทราบว่าหลังคาที่ใช้มุงเป็นหลังคาที่ทำมาจากกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วที่คนทั่วประเทศช่วยกันบริจาค ยิ่งทำให้รู้สึกซาบซึ้งใจจริงๆ ครับ วันแรกที่เข้าไปอยู่ในบ้าน ทำให้ได้รู้ว่าหลังคาเขียวช่วยให้บ้านเย็นสบายกว่าหลังคาทั่วไป ด้วยคุณสมบัติเฉพาะตัวของวัสดุที่ใช้ผลิตที่ไม่น่าเชื่อว่าจะมาจากกล่องเครื่องดื่มธรรมดาที่ดื่มหมดแล้ว”

ร้อยโท ราเชนทร์ เมฆหมอก ผู้บังคับหมวดก่อสร้างทั่วไป กองพันทหารช่างที่ 302 กองพลพัฒนาที่ 3 จังหวัด พิษณุโลก ถ่ายทอดประสบการณ์การสร้างบ้านให้กับผู้ประสบภัย โดยใช้หลังคาเขียวในการมุงหลังคา ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ให้ฟังว่า “การช่วยเหลือฟื้นฟูด้านที่อยู่อาศัยให้กับผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆ ยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดได้ดำเนินการสร้างบ้านให้กับผู้ประสบภัย ในพื้นที่บ้านน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งแล้วเสร็จไปแล้วจำนวน 33 หลัง โดยทุกหลังใช้ “หลังคาเขียว” ในการมุงหลังคา ซึ่งจากประสบการณ์การติดตั้งทำให้เห็นว่าหลังคาเขียว มีคุณสมบัติเด่น คือ มีความคงทน และความยืดหยุ่นสูง วิธีการติดตั้งไม่ซับซ้อน ในครั้งนี้ได้มีโอกาสร่วมกิจกรรม “อาสามาแชร์ ปี 2” ทำให้เห็นถึงความตั้งใจจริงในการช่วยกันเก็บกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วมาบริจาคเพื่อนำไปทำหลังคาเขียวส่งให้กับชาวบ้านที่เดือดร้อน ในฐานะของผู้ปฏิบัติงานต้องขอขอบคุณจากใจจริงๆ ครับ”

ฝันดี-ฝันเด่น จรรยาธนากร แขกรับเชิญในกิจกรรมอาสามาแชร์ ปี 2 กล่าวว่า “ได้มาร่วมกิจกรรม อาสามาแชร์ ปี 2 นี้ ทำให้รู้ว่า จิตอาสา กับ คนไทย เป็นของคู่กันจริงๆ ครับ ยิ่งถ้าเป็นเรื่องการให้ความช่วยเหลือแล้ว คนไทยไม่เคยทิ้งกันเลยครับ สำหรับโครงการหลังคาเขียวฯ สิ่งที่จำเป็นและมองเห็นได้อย่างชัดเจน คือ การสร้างเครือข่ายเพื่อเพิ่มกำลังในการจัดเก็บกล่องเครื่องดื่มให้มากขึ้น ให้เพียงพอต่อการนำไปผลิตหลังคาเขียว และสำหรับกิจกรรมในวันนี้ ทำให้ผมรู้ว่าเครือข่ายอาสาหลังคาเขียวฯ เป็นเครือข่ายที่โยงยาวและเหนียวแน่นจริงๆ สุดยอดมากครับ”

“ภายในงานยังได้รับบริจาคกล่องเครื่องดื่มยูเอชทีใช้แล้วจากประชาชนที่มาร่วมงานอีกเป็นจำนวนเกือบ 13,000 กล่อง ทำให้ยอดบริจาคนับตั้งแต่แนะนำโครงการฯ จนถึงขณะนี้มีจำนวนบริจาคกล่องเครื่องดื่มยูเอชทีใช้แล้วมากเกือบ 30 ล้านกล่อง คิดเป็นน้ำหนักรวมเกือบ 300 ตัน สามารถนำไปผลิตเป็นแผ่นหลังคาได้ถึง 15,000 แผ่นโดยประมาณ แต่เนื่องด้วยในปีนี้หลายพื้นที่ในประเทศไทยได้ประสบกับภัยพิบัติอย่างหนัก ทำให้มีความต้องการใช้แผ่นหลังคาเป็นอย่างมาก บริษัทเต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด จึงได้สนับสนุนหลังคาเขียวเพิ่มเติมไปให้อีกกว่า 3,000 แผ่นตามที่มูลนิธิได้แจ้งความประสงค์มา รวมจัดส่งให้กับมูลนิธิฯ ไปแล้วกว่า 18,000 แผ่น นั่นหมายว่าเรายังคงต้องการแรงอาสาที่จะช่วยกันบริจาคกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วอีกจำนวนมาก โครงการฯ ยินดีที่จะรับกล่องเครื่องดื่มอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปผลิตแผ่นหลังคามอบให้กับผู้ประสบภัยต่อไป” นางกลอยตา กล่าวทิ้งท้าย

ผู้บริโภคที่สนใจร่วมโครงการ “หลังคาเขียวเพื่อมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก” สามารถนำกล่องเครื่องดื่มที่บริโภคแล้วไปบริจาค ณ จุดรับกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วที่ห้างบิ๊กซีทุกสาขาทั่วประเทศ หรือจุดรับกล่องที่มีโปสเตอร์ของโครงการฯ ติดแสดงอยู่ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป หรือสนใจเข้าร่วมเป็นอาสาหลังคาเขียวฯ ได้ที่เว็บไซต์ www.greenroof.in.th สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ข้อมูลโครงการฯ โทร.02 -752 – 8575

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net