กรุงเทพฯ--20 ม.ค.--ธนาคารกรุงเทพ
เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2555 สมาคมธนาคารไทยได้จัดการประชุมระหว่างธนาคารสมาชิก เพื่อพิจารณาผลกระทบจากร่าง พ.ร.ก. ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555 ซึ่งจากข่าวที่ปรากฏในสื่อมวลชน และจากการหารือกับทางการสรุปสาระสำคัญได้ว่า วัตถุประสงค์ของ พ.ร.ก. ฉบับนี้ก็เพื่อแก้ไขหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จำนวน 1.14 ล้านล้านบาท โดยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์นำส่งเงินให้กองทุนฯ ตามอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด โดยเมื่อรวมอัตราเพิ่มเติมดังกล่าวกับอัตราที่ธนาคารนำส่งสถาบันคุ้มครองเงินฝากในปัจจุบันร้อยละ 0.4 แล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปีของยอดถัวเฉลี่ยของบัญชีที่ได้รับการคุ้มครอง
สมาคมธนาคารไทยมีความเห็นว่า การแก้ไขหนี้ซึ่งคั่งค้างมาเป็นเวลานานจำนวนนี้ ให้เกิดความชัดเจนเป็นสิ่งที่ดี และหนี้จำนวนนี้ควรถือเป็นภาระของประเทศที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องให้ความร่วมมือในการแก้ไข จึงจะสำเร็จลุล่วงไปได้ ในส่วนของสมาคมธนาคารไทยนั้น ธนาคารสมาชิกต่างก็มีความเต็มใจที่จะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทั้งนี้จะต้องดำเนินการโดยคำนึงถึงเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และจะต้องดำเนินไปด้วยความเป็นธรรม
การที่ร่าง พ.ร.ก. กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์นำเงินส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ รวมกับที่นำส่งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ไม่เกินร้อยละ 1 ของยอดเงินฝาก โดยมิได้ระบุว่าจะมีแหล่งเงินอื่นใดเข้ามาร่วมรับผิดชอบด้วย แต่กำหนดให้ธนาคารต่างๆ รับภาระเพียงฝ่ายเดียว สมาคมฯ เห็นว่าไม่ยุติธรรม และจะเป็นผลเสียกับประเทศในระยะยาว ด้วยเหตุผลดังนี้
1. ความเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 จำนวน 1.4 ล้านล้านบาท กับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายของทางการในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ หากพิจารณาด้วยความเป็นธรรมจะเห็นว่า ธนาคารที่เปิดดำเนินการอยู่ในขณะนี้ มิได้มีส่วนในการสร้างความเสียหายดังกล่าว แม้ว่าจะมีบางธนาคารได้รับความช่วยเหลือจากทางการในช่วงเวลานั้น แต่ในที่สุดแล้ว ทางการก็ได้รับชำระคืนในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งจากมูลค่าหลักทรัพย์ที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น จากการนำเงินส่งกองทุนฟื้นฟูฯ และสถาบันคุ้มครองเงินฝากมาโดยตลอด รวมทั้งภาษีเงินได้ นอกจากนี้ ธนาคารยังมีบทบาทสำคัญในการระดมเงินฝากและอำนวยสินเชื่อแก่ธุรกิจต่างๆ ซึ่งช่วยทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับคืนมาได้
สำหรับธนาคารส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดที่เปิดดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ต่างก็แก้ไขปัญหาของตนเองโดยมิได้ขอรับความช่วยเหลือจากทางการ ทั้งโดยการเพิ่มทุนจากแหล่งเงินทุนต่างๆ โดยการขายทรัพย์สินอื่นๆ เพื่อนำมาเพิ่มทุน หรือโดยการขายหุ้นให้แก่ผู้ลงทุนจากต่างประเทศ ธนาคารพาณิชย์มิได้มีส่วนร่วมในการสร้างความเสียหายดังกล่าวแต่อย่างใด
ดังนั้น การกำหนดให้มีการเรียกเก็บเงินนำส่งเพิ่มเติมจากธนาคารเพื่อนำไปชำระหนี้ด้วยเหตุผลที่ว่า เนื่องจากธนาคารที่เปิดดำเนินการอยู่ในขณะนี้เป็นผู้ก่อหนี้ขึ้น หรือเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากหนี้ดังกล่าว จึงไม่เป็นความจริง และไม่ยุติธรรม
2. ในปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์ในไทยต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝากในอัตราร้อยละ 0.4 อยู่แล้ว ซึ่งนับเป็นอัตราที่อยู่ในระดับสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจโลก และสูงสุดในภูมิภาคอาเซียน ผลของการเรียกเก็บเงินในอัตราที่สูงอยู่แล้วเช่นนี้ หากมีการเรียกเก็บเพิ่มเติมขึ้นอีกให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย จะเป็นการซ้ำเติม และสร้างความอ่อนแอให้กับธนาคารพาณิชย์ของไทยในระยะยาว ซึ่งจะทำให้ต้องเสียเปรียบสถาบันการเงินในต่างประเทศมากขึ้น
และยิ่งในช่วงต่อไป ระบบการเงินในอาเซียนจะมีการเปิดเสรีมากขึ้นภายใต้ AEC เงินนำส่งดังกล่าว จะเป็นอุปสรรค เป็นภาระสำคัญที่ทำให้สถาบันการเงินของไทยไม่สามารถแข่งขันได้เต็มที่ทั้งในประเทศ ในเวทีภูมิภาค และในเวทีโลก
3. การเรียกเก็บเงินนำส่งจากธนาคารพาณิชย์เพิ่มเติมโดยธนาคารแห่งประเทศไทย จะทำให้สภาพการแข่งขันของระบบสถาบันการเงินในไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันระหว่างธนาคารพาณิชย์เอกชนและสถาบันการเงิน (เฉพาะกิจ) ของรัฐ จะมีความเหลื่อมล้ำ ได้เปรียบเสียเปรียบกันมากขึ้น เพิ่มความบิดเบือนในระบบ เนื่องจากในปัจจุบัน การที่สถาบันการเงิน (เฉพาะกิจ) ของรัฐ ไม่มีภาระต้องนำส่งเงินคุ้มครองเงินฝาก ทำให้มีความได้เปรียบ และสามารถเสนออัตราดอกเบี้ยเงินฝากแก่ประชาชนในอัตราที่มากกว่าธนาคารพาณิชย์เอกชน ด้วยเหตุนี้ ฐานเงินฝากของสถาบัน (เฉพาะกิจ) ของรัฐ จึงสามารถเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา และมีการอำนวยสินเชื่อที่มิใช่ภารกิจหลักของตนแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์อย่างไม่เป็นธรรม
ความเหลื่อมล้ำและความบิดเบือนที่จะเพิ่มขึ้นนี้ จะสร้างความไม่เป็นธรรม บั่นทอน ทำลายการแข่งขันในระบบ และทำให้ระบบสถาบันการเงินไทยไม่สามารถสนับสนุนการพัฒนาประเทศได้อย่างเต็มศักยภาพ ในระยะยาว
ด้วยเหตุผลดังกล่าว สมาคมธนาคารไทย จึงมีความเห็นว่า การทิ้งปัญหาหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ โดยมิได้มีการจัดการอย่างชัดเจน จะเป็นผลเสียต่อเสถียรภาพของระบบการเงินการคลังของประเทศ ดังนั้น จึงสนับสนุนให้มีการแก้ไขโดยเร็ว แต่การแก้ไขปัญหาหนี้เป็นจำนวนมากเช่นนี้ จะต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบและเป็นธรรม ว่าจะมีแหล่งเงินใดบ้าง และจะแบ่งเบาภาระความรับผิดชอบระหว่างภาคส่วนต่างๆ อย่างเป็นธรรมอย่างไร จึงจะเกิดผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาว ทั้งนี้ สมาคมธนาคารไทยมีความยินดีที่จะมีส่วนร่วมรับภาระกับภาคส่วนอื่นในการแก้ไขปัญหาหนี้ดังกล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit