คลังมอบรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่น ปีที่ ๔

31 Jan 2012

กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานมอบรางวัลกองทุนหมุนเวียนดีเด่นที่ผ่านเกณฑ์ประเมินผลการดำเนินงานประจำปี ๒๕๕๔ จำนวน ๑๒ กองทุน โดยนายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวต้อนรับ ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพค เมืองทองธานี วันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๕ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจและกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาการดำเนินงานของกองทุนหมุนเวียนให้มีประสิทธิภาพ

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานมอบรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๔ ว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับเงินนอกงบประมาณ โดยเฉพาะประเภททุนหมุนเวียน ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ การติดตามการใช้จ่ายเงินและผลการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ จึงเป็นมาตรการที่ควรสนับสนุนให้เป็นไปด้วยความถูกต้อง เหมาะสม เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการใช้จ่ายเงินของทุนหมุนเวียนก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง และนอกจากการติดตามประเมินผลที่กระทรวงการคลังกำกับดูแลอยู่แล้ว ภาครัฐยังให้ความสำคัญในการติดตามรายงานข้อมูลด้านการรับจ่ายด้วยซึ่งเป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๑๗๐ ที่กำหนดให้เงินรายได้ของหน่วยงานของรัฐใดที่ไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน หน่วยงานนั้นต้องทำรายงานการรับและการจ่ายเงินเสนอต่อคณะรัฐมนตรีทุกสิ้นปีงบประมาณ เพื่อรายงานต่อรัฐสภา เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายด้านการเงินของประเทศ และทุนหมุนเวียนต่าง ๆ ที่สามารถปฏิบัติงานจนมีผลการดำเนินงานดีเด่น จึงเป็นความภาคภูมิใจของรัฐบาลเช่นเดียวกับผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานของทุนหมุนเวียนทุกคนตลอดจน เป็นช่องทางให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ระหว่างผู้ร่วมงาน อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศและการดำเนินงานของทุนหมุนเวียนในภาพรวมต่อไป

นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า ในฐานะที่กำกับดูแลกรมบัญชีกลางได้มอบนโยบายให้มีการพัฒนาระบบการดำเนินงานทุนหมุนเวียนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการแบ่งกลุ่มของทุนหมุนเวียนที่มีความแตกต่างกันทั้งขนาดของทุน และขอบเขตภารกิจของแต่ละทุน ตลอดจนการบูรณาการการรายงานผลการประเมินการดำเนินงานเพื่อแสดงต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และสาธารณชนทั่วไป เพื่อเป็นการแสดงถึงประสิทธิภาพ ความโปร่งใส และธรรมาภิบาลของรัฐในภาพรวม รวมถึงการกำหนดวิธีการสร้างแรงจูงใจทั้งในรูปแบบที่เป็นเงินรางวัล และการผ่อนคลายกฎระเบียบต่าง ๆ โดยเร็วต่อไป

นายวิรุฬ กล่าวต่อว่า เงินนอกงบประมาณประเภททุนหมุนเวียน ซึ่งปัจจุบันมี ๑๐๘ ทุน มีสินทรัพย์รวมประมาณ ๒.๖๘ ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๒๕ ของ GDP ในปี ๒๕๕๔ หรือ ร้อยละ ๑๒๙ ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๕๔ ที่ผ่านมาได้พยายามผลักดันและหามาตรการเพื่อให้ส่วนราชการต่าง ๆ สามารถบริหารงานของทุนหมุนเวียนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เนื่องจากเงินของทุนหมุนเวียนต่าง ๆ

ส่วนหนึ่งเป็นเงินงบประมาณที่รัฐได้สนับสนุนในเบื้องต้น และมีวัตถุประสงค์ที่มีความหลากหลายในแต่ละกองทุน เช่น กองทุนหลักประกันสุขภาพ กองทุนประกันสังคม กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เป็นต้น

“การมอบรางวัลทุนหมุนเวียนปีนี้เป็นปีที่ ๔ แล้ว โดยการพิจารณาจากคะแนนประเมินผลประจำปี ๒๕๕๓ ซึ่งครอบคลุมผลการดำเนินงานทั้งด้านการเงิน ด้านการปฏิบัติการ ด้านการสนองประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และด้านการบริหารพัฒนาทุนหมุนเวียน ซึ่งนำหลักการ Balanced Scorecard : BSC มาประเมิน โดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษาภายนอกซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินผล มากำกับดูแลและติดตามประเมินผล ซึ่งมีทุนหมุนเวียนที่เข้าสู่ระบบประเมินผล จำนวน ๘๑ ทุน ผ่านการประเมินผลและรับรางวัลจำนวน ๑๒ รางวัล แบ่งการพิจารณารางวัลออกเป็น ๓ ประเภท ได้แก่ รางวัลผลการดำเนินงานดีเด่น รางวัลประสิทธิภาพเฉพาะด้านดีเด่น และรางวัลการพัฒนาดีเด่น โดย

  • ประเภทรางวัลผลการดำเนินงานดีเด่น จำนวน ๓ รางวัล ได้แก่ เงินทุนหมุนเวียนโรงงานในอารักษ์ เงินทุนหมุนเวียนการแสดงเหรียญกษาปณ์และเงินตราไทย และกองทุนหลักประกันสุขภาพ และชมเชย ๒ รางวัล ได้แก่ กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย และกองทุนกีฬามวย
  • ประเภทรางวัลประสิทธิภาพเฉพาะด้านดีเด่น ด้านการเงิน ได้แก่ เงินทุนหมุนเวียนเพื่อจัดทำ แผ่นป้ายทะเบียนรถ ด้านการสนองประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ เงินทุนหมุนเวียนการผลิต เหรียญกษาปณ์และการทำของ
  • ประเภทรางวัลการพัฒนาดีเด่น จำนวน ๓ รางวัล ได้แก่ กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุข กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และกองทุนประกันสังคม และชมเชย ๒ รางวัล ได้แก่ กองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย และกองทุนคุ้มครองเด็ก โดยหวังว่ารางวัลที่ได้รับในครั้งนี้จะเป็นความภาคภูมิใจในการปฏิบัติงานแก่ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานของทุนหมุนเวียน และเป็นแรงจูงใจสำหรับทุนหมุนเวียนอื่น ๆ ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อเป็นแนวทาง การบริหารงานและพัฒนาการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้นต่อไป” นายวิรุฬ กล่าว