CSR ปี 2555 วาระแห่งการเสริมสร้างความแข็งแกร่ง CSR องค์กร

02 Feb 2012

กรุงเทพฯ--2 ก.พ.--ตลท.

สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เผยทิศทาง CSR ภายใต้แนวคิด CSR & Sustainability ปี 2555 เพื่อเป็นข้อมูลให้ธุรกิจใช้เป็นแนวทางในการเสริมความแข็งแกร่งทางกลยุทธ์ CSR เพื่อสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนแก่องค์กรเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนจากความเสี่ยง วิกฤต และภัยพิบัติในด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2555

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวในงานแถลง CSR & Sustainability ปี 2555 “Reinforcing your CSR” ในวันนี้ (1 ก.พ. 2555) ว่า การที่ธุรกิจมีแผนการดำเนินงาน CSR ที่ดีจะมีบทบาทอย่างมากในการสร้างความแข็งแกร่ง และสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ ซึ่งเห็นได้ชัดจากเหตุอุทกภัยครั้งล่าสุดที่บริษัทจดทะเบียนและองค์กรธุรกิจต่างๆ ต้องปรับแผนการดำเนินงานและแผนงานด้าน CSR เพื่อรองรับกับสถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้น และหลายธุรกิจแสดงให้เห็นว่าการมีแผนและการดำเนินงานด้าน CSR ที่ดี โดยดูแลและช่วยเหลือพนักงาน คู่ค้า ลูกค้า และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้ก่อให้เกิดผลบวกกับองค์กร เพราะได้แสดงให้เห็นว่าองค์กรมีความพร้อมทั้งในสถานการณ์ปกติและพร้อมรับมือเมื่อเกิดวิกฤตได้เป็นอย่างดี ซึ่งในที่สุดย่อมส่งผลดีต่อความยั่งยืนขององค์กร

สำหรับการส่งเสริม CSR แก่บริษัทจดทะเบียน ของสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2555 นี้ จะให้ความสำคัญต่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้บริษัทจดทะเบียนมีเครื่องมือและแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมเทียบเท่ามาตรฐานสากลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการจัดทำและเผยแพร่ Guidelines for Social Responsibility และ Guidelines for CSR Report แก่บริษัทจดทะเบียนและหน่วยงานที่สนใจ โดยที่ Guidelines ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนมีพัฒนาการงานด้าน CSR ทั้งในกระบวนการดำเนินธุรกิจาขององค์กรและการจัดทำรายงานเปิดเผยข้อมูลด้าน CSR สำหรับผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย พร้อมกันนี้ สถาบันธุรกิจเพื่อสังคมมีแผนจัดการอบรมและ Workshop เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนได้เรียนรู้และเข้าใจในการนำคู่มือมาประยุกต์สู่การปฏิบัติจริงในกระบวนการดำเนินงานขององค์กรอีกด้วย อันจะเป็นการเพิ่มคุณค่าองค์กรทำให้ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ลงทุนและสาธารณชน

“นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์อุทกภัย ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัยและภาคสังคมผ่านหลายช่องทาง โดยกิจกรรมหนึ่งที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง คือ การดำเนินงานผ่านกองทุน “ตลาดหุ้นร่วมใจ ช่วยภัยน้ำท่วม” ร่วมกับสภาธุรกิจตลาดทุนไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ และสมาคมนักศึกษาสถาบันวิทยาการตลาดทุนในการระดมความช่วยเหลือสู่ภาคประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ทั้งในด้านการดำรงชีวิต ด้านที่อยู่อาศัย และที่ทำกิน ฯ อันเป็นการเติมเต็มความช่วยเหลือจากภาครัฐ”

นอกจากการช่วยเหลือของกองทุนฯ แล้ว ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ยังได้ร่วมมือกับสถาบันไทยพัฒน์ ในการถอดบทเรียนกรณีความช่วยเหลือของภาคเอกชนกับการฟื้นฟูหลังประสบภัย ด้วยการรวบรวม Good Practices and Business Cases ในการทำงานช่วยเหลือฟื้นฟูของบริษัทจดทะเบียนจำนวน 10 บริษัท และการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์ฯในการช่วยเหลือเยียวยา การฟื้นฟูหลังน้ำลด และการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มีความครอบคลุมทั้งมิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล หรือที่เรียกรวมกันว่า ESG (Environment, Society, and Governance standards) ซึ่งเป็น 3 ประเด็นหลักที่หน่วยงานต้องคำนึงถึงในการดำเนินงานเรื่อง CSR ขององค์กร และคาดว่าจะเผยแพร่ผลการศึกษาได้ในไตรมาสสองของปี 2555 นี้

ด้าน ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เผยผลการศึกษาทิศทาง CSR & Sustainability ในปีนี้ว่า การเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางกลยุทธ์ CSR และ Sustainability ขององค์กร จะเป็นไฮไลท์สำคัญที่ธุรกิจจะหันกลับมาให้ความใส่ใจทั้งในเรื่องแผนงานหรือมาตรการ CSR ในช่วงเผชิญเหตุและฟื้นฟู (Response and Recovery) และในช่วงของการลดความเสี่ยงและการเตรียมความพร้อม (Risk Reduction/Mitigation and Readiness/Preparedness)

แผนการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ เป็นมาตรการที่จำเป็นในการรักษาสถานะการดำเนินงานทางธุรกิจขององค์กรให้คงอยู่ เพราะเมื่อธุรกิจประสบกับวิกฤตหรือภัยพิบัติทั้งจากภัยธรรมชาติและภัยที่มนุษย์ก่อขึ้น จนเป็นเหตุให้ความต่อเนื่องในการดำเนินงานเกิดความชะงักงัน ส่งผลเสียหายต่อผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่ธุรกิจ ไม่เฉพาะแก่คู่ค้าและผู้ส่งมอบ แต่ยังรวมถึงผลกระทบที่มีต่อลูกค้าและผู้บริโภค

“การลดความเสี่ยงและการเตรียมความพร้อม เป็นตัวอย่างของมาตรการที่ควรดำเนินการในบริบทความรับผิดชอบขององค์กรที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียภายในองค์กร (ผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกจ้าง แรงงานรับจ้าง ฯ) และในห่วงโซ่ธุรกิจ (คู่ค้า ผู้ส่งมอบ ลูกค้า ฯ) เพื่อมิให้การดำเนินงานหยุดชะงักจนส่งผลเสียหายต่อองค์กรและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง”

สถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดตั้งข่ายงานทรัพยากรภัยพิบัติสำหรับภาคเอกชน ในชื่อ Thai DRN เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลและทรัพยากรสนับสนุนในการจัดการภัยพิบัติและการฟื้นฟูบูรณะหลังการเกิดภัยพิบัติของภาคเอกชนภายใต้แนวทาง "Build Back Better" โดยเป็นเสมือนแหล่งข้อมูลด้านความรับผิดชอบต่อสังคมในเวอร์ชั่นพิเศษที่คำนึงถึงการดำเนินงาน CSR ผ่านกระบวนงานหลักขององค์กร และประเด็นความยั่งยืนที่ส่งผลกระทบเชิงบวกที่เห็นชัดและวัดได้

แนวโน้มที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งในปีนี้ คือ เศรษฐกิจสีเขียวในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืนและการขจัดความยากจน ที่เป็นวาระสำคัญของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (United Nations Conference on Sustainable Development - UNCSD) หรือที่เรียกว่าการประชุม Rio+20 ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายน ที่เมืองรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล และเป็นที่คาดหมายว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนบทใหม่ รวมถึงโรดแม็ปเศรษฐกิจสีเขียวโลก จะเผยโฉมในเวทีประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนครั้งนี้ สำหรับรายละเอียดการประมวลแนวโน้ม CSR & Sustainability ปี 2555 ในทิศทางอื่นๆ สามารถศึกษาได้จากรายงาน “6 ทิศทาง CSR & Sustainability ปี 2555: Reinforcing your CSR” ซึ่งจัดทำขึ้นโดยสถาบันไทยพัฒน์ สอบถามเพิ่มเติม 0 2930 5227 [email protected] หรือดูรายละเอียดได้ที่ www.thaipat.org

-นท-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net