สองทีมเยาวชนตัวแทนประเทศไทย พร้อมชิงชัยกับ 17 ประเทศในการแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติ ABU Robocon 2011

05 Aug 2011

กรุงเทพฯ--5 ส.ค.--อสมท./p>

หลังจากขับเคี่ยวกันในสนามการแข่งขันหุ่นยนต์ ABU ชิงชนะเลิศประเทศไทย ประจำปี 2554 เมื่อช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยทีม”ลูกเจ้าแม่คลองประปา The Limited” จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ คว้าแชมป์ประเทศไทยประจำปี 2554 ไปครองเป็นสมัยที่ 3 เฉือนทีม “ซุ้มกอ” จากวิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชรแบบหวุดหวิดกลายเป็นนาทีช็อคโลก สร้างสีสันความสนุกสนานให้กับกองเชียร์รอบสนามมาแล้ว---- วันนี้ทั้งสองทีมจึงได้รับภารกิจสำคัญ ในการเป็นตัวแทนเยาวชนไทยเข้าร่วมแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติ ABU Asia-Pacific Robot Contest 2011 , Bangkok ครั้งที่ 10 หรือ ABU Robocon 2011, Bangkok ซึ่งปีนี้ อสมท ในนามประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน โดยมีทีมตัวแทนเยาวชนจากอีก 17 ประเทศพร้อมเดินทางมาเข้าร่วมชิงชัย ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 28 สิงหาคมศกนี้ ณ อิมแพคอารีนา เมืองทองธานี

นายพรชัย ปิยะเกศิน ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ ทีวี หนึ่งในสมาชิกสหภาพวิทยุและโทรทัศน์แห่งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (Asia-Pacific Broadcasting Union - ABU) และเป็นตัวแทนโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทีวีพูล) ในการหมุนเวียน เป็นเจ้าภาพการแข่งขันหุ่นยนต์ ABU Asia-Pacific Robot Contest หรือ ABU Robocon และส่งทีมตัวแทนประเทศไทยไปเข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขันกับประเทศต่างๆ ซึ่งจัดขึ้นทุกปีนับตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา

“การแข่งขันหุ่นยนต์ ถือเป็นวิทยาการขั้นสูงของการพัฒนาเทคโนโลยีด้านต่างๆ สอดคล้องกับบทบาทของ อสมท ในฐานะที่เป็นองค์กรด้านการสื่อสารที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการสื่อสารอยู่ตลอดเวลา กิจกรรมการแข่งขันหุ่นยนต์ ABU Robocon จึงเป็นกิจกรรมหลักของบริษัท ในการขับเคลื่อนโครงการซีเอสอาร์ ตอกย้ำภาพลักษณ์ "สังคมอุดมปัญญา" ของ อสมท ให้เด่นชัดมากขึ้น รวมทั้งช่วยเสริมภาพลักษณ์องค์กร ด้านการส่งเสริมนวัตกรรม สร้างภาพลักษณ์องค์กรทันสมัยได้อีกทาง"

สำหรับการแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติ ABU Asia-Pacific Robot Contest 2011 หรือ ABU Robocon 2011 ในโอกาสครบรอบปีที่ 10 ของการแข่งขัน ประเทศไทยได้รับเกียรติ ให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน จึงได้นำเอา ประเพณีลอยกระทง จากโบราณประเพณีอันงดงาม บางส่วนได้ถูกประยุกต์ให้เหมาะสมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ คือหุ่นยนต์ ภายใต้ชื่อการแข่งขัน "จุดประกายแห่งความสุขด้วยมิตรภาพ (Lighting Happiness with Friendship) ผู้ใดเอาชนะใจตนเอง และเอาชนะใจผู้อื่นได้ ผู้นั้นจะเป็นผู้ชนะตลอดกาล ซึ่งเป็นหัวใจของเกมการแข่งขันนี้

“ ประเทศไทยเคยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเมื่อปี 2003 ซึ่งผมมีโอกาสได้เข้าชมการแข่งขันในปีนั้นด้วย และยังประทับใจถึงวันนี้เพราะเป็นเกมส์การแข่งขันที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน ตื่นเต้นเร้าใจ และทีมตัวแทนเยาวชนไทยก็สามารถคว้าแชมป์มาครอง ในปีนี้ผมเชื่อว่าการแข่งขันจะเต็มไปด้วยสนุกสนาน ตื่นเต้นเร้าใจไม่แพ้ปี 2003 อย่างแน่นอน จึงขอเชิญชวนคนไทยมาร่วมเชียร์และเป็นกำลังใจให้กับน้องๆ ทีมตัวแทนประเทศไทยทั้งสองทีม ให้สามารถคว้าแชมป์มาครองได้สำเร็จอีกครั้ง สำหรับผู้ที่ไม่สามารถเดินทางมาเข้าชมการแข่งขันภายในงานได้ สามารถติดตามชมการถ่ายทอดสด ได้ตั้งแต่เวลา14.15 – 17.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์”

รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ประธานคณะทำงานฝ่ายจัดการแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติ ABU Asia – Pacific Robot Contest 2011 กล่าวถึงกติกาการแข่งขันว่า ทีมที่เข้าแข่งขันแต่ละทีมสามารถใช้หุ่นยนต์ทั้งหมดไม่เกิน 3 ตัว ประกอบด้วย หุ่นยนต์บังคับด้วยมือ (Manual Robot) และ หุ่นยนต์อัตโนมัติ 1 หรือ 2 ตัว (Automatic Robots) หุ่นยนต์บังคับด้วยมือ (Manual Robot) ต้องทำภารกิจแรกให้สำเร็จด้วยการหยิบกระถางธูป จำนวน 3 กระถาง นำไปวางไว้บนเสา ก่อนการทำภารกิจอื่นๆ หลังจากนั้นหุ่นยนต์บังคับด้วยมือ นำ ฐานต้นเทียน ไปวาง ณ จุดตกแต่ง (Decoration Point) หุ่นยนต์บังคับด้วยมือ นำธูปเตรียมไปใช้ในการประกอบกระทง หุ่นยนต์อัตโนมัติ นำกลีบกระทง และดอกไม้ ทำการประกอบกระทง ภายหลังจากที่ ทำภารกิจนี้เสร็จ หุ่นยนต์บังคับด้วยมือ จึงจะสามารถนำ ไปเสียบลงไปในกระทง หลังจากนั้น หุ่นยนต์อัตโนมัติ ยกกระทงที่ประกอบเสร็จ นำไปปล่อยลงใน ในฝั่งของตนเอง โดยห้ามมิให้ชิ้นส่วนใดๆของหุ่นยนต์ทุกตัวสัมผัสกับแม่น้ำ

ท้ายสุด หุ่นยนต์อัตโนมัติ เพียง 1 ตัว จะนำเปลวเทียน ไปปล่อยเพื่อสวมลงบนต้นเทียนบนกระทง ที่ลอยอยู่ในแม่น้ำ (River Surface) โดยห้ามมิให้ชิ้นส่วนใดๆของหุ่นยนต์ทุกตัวสัมผัสกับแม่น้ำ และกระทง ที่ประกอบเสร็จเแล้ว ทีมใดที่สามารถปล่อยเปลวเทียน ลงบนต้นเทียน ได้สำเร็จก่อน ทีมนั้นเป็น ฝ่ายชนะ การแข่งขันจะแบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ สีแดง และ สีน้ำเงิน การแข่งขันจะใช้เวลาทั้งหมด 3 นาที

แต่ทั้งนี้ รศ.ดร.ชิต กล่าวว่า กิจกรรมการแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติ ABU Roboconจัดขึ้นด้วยความมุ่งหวังที่ต้องการให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยี ตลอดจนเชื่อมมิตรภาพที่ดีต่อกัน โดยมีเกมส์การแข่งขันเป็นจุดเชื่อโยง มิได้มุ่งเน้นที่ชัยชนะเพียงอย่างเดียว และในวันนี้มิติดังกล่าวก็ได้เกิดขึ้นแล้ว โดยมีการร่วมมือร่วมใจการพัฒนาเทคโนโลยี ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

โดยปีนี้มีทีมเยาวชนตัวแทนจาก 18 ประเทศ ได้แก่ บรูไน จีน อียิปต์ ฟิจิ ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ลาว มาเลเซีย มองโกเลีย เนปาล รัสเซีย ศรีลังกา ตุรกี เวียดนามและไทย สำหรับประเทศลาว และรัสเซีย เพิ่งเข้าร่วมการแข่งขันในปีนี้เป็นครั้งแรก เตรียมเดินทางมาเข้าร่วมแข่งขัน ซึ่งแต่ละประเทศสามารถส่งทีมตัวแทนได้ประเทศละ 1 ทีม ส่วนประเทศเจ้าภาพ ส่งได้ 2 ทีม รวมทั้งหมด 19 ทีม แต่ละทีมจะประกอบไปด้วยนักศึกษา 3 คน อาจารย์ที่ปรึกษา 1 คน ทั้งหมดต้องอยู่ในสถาบันอุดมศึกษา/อาชีวศึกษาเดียวกันเท่านั้น ทีมเยาวชนตัวแทนประเทศไทย มี 2 ทีม ได้แก่ ทีมลูกเจ้าแม่คลองประปา The Limited” จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ แชมป์ประเทศไทยสมัยที่ 3 ประกอบด้วย นายน้ำเพชร สุขเกษม ,นายสุปรีชา เหมยเป็ง,นายจักรพงศ์ เพ็งแจ่มแจ้ง และดร.ณรงค์เดช กีรติพรานนท์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และ ประกอบด้วย นายประเสริฐ สะมะถะเขตการณ์ ,นายนคร คุยศรี ,นายวุฒิชัย ทิศกระโทก และอ.บัณฑิต ออกแมน เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ด้านการเตรียมความพร้อม ทีมตัวแทนประเทศไทยทั้ง 2 ทีมได้จัดสร้างหุ่นยนต์ สำหรับการแข่งขันขึ้นใหม่ทีมละ 3 ตัวโดยได้รับการสนับสนุนจาก อสมท ทีมละ 500,000 บาท พร้อมส่งมอบให้กับคณะกรรมการจัดการแข่งขันพร้อมกับทุกประเทศแล้วเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ในระหว่างการฝึกซ้อมในโค้งสุดท้ายเพื่อชิงแชมป์ระดับนานาชาติในการแข่งขันที่จะมีขึ้นในวันที่ 28 สิงหาคมศกนี้ นอกจากนี้ทั้ง 2 ทีมยังได้เปิดเผยด้วยว่า ในการจัดสร้างหุ่นยนต์เพื่อใช้ในการแข่งขันครั้งนี้ ยังได้มีการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ดังกล่าวด้วย โดยทางมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และวิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชรได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ทำให้เกิดการพัฒนาหุ่นยนต์ที่มีความสามารถได้ไม่แพ้กับหุ่นยนต์ของประเทศคู่แข่งที่สำคัญอย่างจีน และญี่ปุ่น โดยเฉพาะเรื่องสถิติการทำเวลา ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เปิดเผยว่า สามารถทำสถิติได้เร็วที่สุด 45 -50 วินาทีในหนึ่งเกมส์การแข่งขัน

ดร.ณรงค์เดช กีรติพรานนท์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และอาจารย์ที่ปรึกษาของทีมลูกเจ้าแม่คลองประปา เปิดเผยว่า

“ ทีมมีความพร้อม และกำลังใจเต็มร้อย โดยเฉพาะหุ่นยนต์ชุดใหม่ทั้ง 3 ตัวที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาจากการศึกษาข้อมูลหุ่นยนต์ของประเทศคู่แข่งหลักๆ ได้แก่จีน และญี่ปุ่น โดยนำจุดแข็งของคู่แข่ง และจุดแข็งของตนเองมาพัฒนาขึ้นเป็นหุ่นยนต์ชุดใหม่ จนได้มาตรฐานเป็นที่พอใจอย่างมาก และด้วยประสิทธิภาพของหุ่นยนต์ชุดใหม่ กับประสบการณ์การแข่งขันของทีมที่เป็นจุดแข็ง ตลอดจนแผนการแข่งขัน ผมคิดว่าเราสามารถแข่งขันกับจีน คู่แข่งสำคัญได้อย่างสนุกสนานแน่นอนครับ”

นอกจากนี้ ในฐานะที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ดร.ณรงค์เดช ยังกล่าวด้วยว่า เรามีข้อได้เปรียบมาก อย่างน้อยก็ในสนามแข่งขัน เพราะเคยผ่านการใช้สนามลักษณะนี้มาแล้ว ทำให้เข้าใจคุณสมบัติของอุปกรณ์และสนาม รวมทั้งมีความคุ้นเคยภาษาและกติกาการแข่งขัน ทุกปี ภาษาที่ใช้จะขึ้นกับประเทศเจ้าภาพ ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ ทำให้อาจจะเกิดความไม่เข้าใจในการแข่งขัน ซึ่งปีนี้น่าจะมีความคุ้นเคยมากกว่า ไม่ว่าจะใช้ภาษาไทยหรืออังกฤษ นอกจากนี้ กรณีที่หุ่นยนต์ขัดข้องหรือต้องการอะไหล่จะสามารถหาได้ง่าย เพราะรู้แหล่งการจัดซื้ออยู่แล้วอาหาร และวัฒนธรรม ที่คุ้นเคย ทำให้ไม่ต้องเรียนรู้และปรับตัว ที่สำคัญ แรงเชียร์จากคนไทย ที่จะเป็นกำลังใจและให้การสนับสนุนทีมตัวแทนประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

ด้านอาจารย์บัณฑิต ออกแมน อาจารย์ที่ปรึกษาของทีมซุ้มกอ จากวิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร เปิดเผยเช่นเดียวกันว่า มีความพอใจกับผลงานการสร้างหุ่นยนต์ที่ใช้ในการแข่งขันมาก เพราะได้รับการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและการแนะนำจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนืออย่างมาก ทำให้มีความพร้อมในการเข้าร่วมการแข่งขันย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังได้ฝึกซ้อมทีมแข่งขันเต็มที่เพื่อทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนประเทศไทยให้ดีสุด

“เพื่อเป็นกำลังให้กับตัวแทนประเทศไทยในการแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติ ABU Asia-Pacific Robot Contest 2011 , Bangkok ทั้งสองทีม อสมท ขอเชิญชวนคนไทยร่วมเชียร์ทีมไทยให้สามารถคว้าแชมป์นานาชาติในครั้งนี้ภายในงาน ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 28 สิงหาคมศกนี้ ณ อิมแพคอารีน่า เมืองทองธานี พร้อมชมการถ่ายทอดสดได้ตั้งแต่เวลา 14.15 – 17.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ ติดตามรายละเอียดการแข่งขันได้ทาง www. aburobocon2011.com” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวในที่สุด

ข้อมูลประกอบ

การแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติ หรือ ABU Asia-Pacific Robot Contest (ABU Robocon) เริ่มเมื่อปีพ.ศ. 2543(ค.ศ.2000) โดยประเทศสมาชิก ABU (The Asia-Pacific Broadcasting Union) มีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ที่ประดิษฐ์โดย นักศึกษาของ ภูมิภาค ในระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา เป็นประจำทุก ๆ ปี เพื่อพัฒนาการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ความคิดสร้างสรรค์ และ การพัฒนาทักษะในการประดิษฐ์นวัตกรรมของเยาวชนให้มีความรู้ ความสามารถ และความเข้าใจได้อย่างทัดเทียมกัน ควบคู่ไปกับการเชื่อมความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน

การแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติ ABU Robocon เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2545 (ค.ศ. 2002) ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และประเทศสมาชิกผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเป็นประจำทุกปี คือ ประเทศไทย (2546/2003) เกาหลี (2547/2004) จีน (2548/2005) มาเลเซีย (2549/2006) เวียดนาม (2550/2007) อินเดีย (2551/2008) ญี่ปุ่น (2552/2009) และอียิปต์ (2553/2010)

ปี พ.ศ. 2554 (ค.ศ. 2011) เป็นปีที่ครบรอบทศวรรษของการแข่งขัน ประเทศไทยได้รับเกียรติ ให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันอีกครั้ง ซึ่งในปีนี้ได้นำเอา ประเพณีลอยกระทง จากโบราณประเพณีอันงดงามบางส่วนได้ถูกประยุกต์ให้เหมาะสมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ คือหุ่นยนต์ ภายใต้ชื่อการแข่งขัน "จุดประกายแห่งความสุขด้วยมิตรภาพ (Lighting Happiness with Friendship) ผู้ใดเอาชนะใจตนเอง และเอาชนะใจผู้อื่นได้ ผู้นั้นจะเป็นผู้ชนะตลอดกาล นั่นคือหัวใจของเกมการแข่งขันนี้ โดยจะจัดการแข่งขันขึ้น ในวันที่ 28 สิงหาคม 2554 ที่อิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี

สำหรับทีมที่เข้าแข่งขันนั้น แต่ละประเทศ ส่งตัวแทนได้ ประเทศละ 1 ทีม ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ส่งได้ 2ทีม โดยแต่ละทีม จะประกอบไปด้วยนักศึกษา 3 คน อาจารย์ที่ปรึกษา 1 คน ทั้งหมดต้องอยู่ในสถาบันอุดมศึกษา/อาชีวศึกษาเดียวกัน เท่านั้น

ทีมเข้าแข่งขันแต่ละทีมสร้างหุ่นยนต์ทั้งหมดไม่เกิน 3 ตัว ประกอบด้วย หุ่นยนต์บังคับด้วยมือ (Manual Robot) และ หุ่นยนต์อัตโนมัติ 1 หรือ 2 ตัว (Automatic Robots) หุ่นยนต์บังคับด้วยมือ (Manual Robot) ต้องทำภารกิจแรกให้สำเร็จด้วยการหยิบกระถางธูป จำนวน 3 กระถาง นำไปวางไว้บนเสา ก่อนการทำภารกิจอื่นๆ หลังจากนั้นหุ่นยนต์บังคับด้วยมือ นำฐานต้นเทียน ไปวาง ณ จุดตกแต่ง (Decoration Point) หุ่นยนต์บังคับด้วยมือนำธูปเตรียมไปใช้ในการประกอบกระทง

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายสื่อสารองค์กร บมจ. อสมท 0 – 2201- 6162 สุวิสา สุวรรณลอย(เงาะ) / ปานจิตร แสงอากาศ(อาร์ท) /ภัทสโรฌาฆ์ เจริญพฤกษาชาติ (แจน)

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net