ลูกช้างพลายลืมตาดูโลกในวันแรกของเดือนวันแม่

05 Aug 2011

กรุงเทพฯ--5 ส.ค.--ออป.

วันที่ 1 สิงหาคม 2554 13.50 น. สถาบันคชบาลแห่งชาติองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) จ.ลำปาง ช้างพังอุ้มผาง อายุ 16 ปี ได้ตกลูกช้างพลาย จำนวน 1 เชือก ให้กับศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบันคชบาลแห่งชาติ จ.ลำปาง ต้อนรับวันแรกของเดือนสิงหาคมหรือเดือนวันแม่ ประจำปี 2554 และนับว่าเป็นลูกช้างเชือกแรกของสถาบันคชบาลแห่งชาติ ที่ลืมตาดูโลกซึ่งปีนี้ซึ่งปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 84 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ

นายวรวิทย์ โรจนไพฑูรย์ ผู้อำนวยการสถาบันคชบาลแห่งชาติ ฯ ได้เปิดเผยว่า เมื่อบ่ายวันนี้เวลาประมาณ 13.50 น. ขณะที่ฝนตกพรำๆ จากอิทธิพลของพายุนกเตน นั้น ควาญช้างผู้ดูแลช้างพังอุ้มผาง ได้รายงานให้ทราบว่า ช้างพังอุ้มผางได้ตกลูกช้างแล้ว เป็นลูกช้างเพศผู้ ซึ่งตนพร้อมด้วยทีมสัตวแพทย์และทีมควาญช้าง ได้เข้าไปช่วยดูแลการตกลูก เพราะเป็นท้องแรกของช้างพังวัยสาว เกรงว่าลูกช้างอาจโดนทำร้ายได้ แต่เมื่อไปถึงสถานที่เตรียมคลอดกลางป่าของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยนั้น พบว่า ลูกช้างได้พยายามพยุงตัวลุกขึ้น และใช้งวงควาญหาเต้านมของแม่ช้าง ซึ่งแม่ช้างนั้นก็ได้แสดงอาการหวงลูกโดยไม่ยอมให้ใครเข้าใกล้ลูกช้าง นอกจากควาญผู้ดูแลเท่านั้น ซึ่งเป้นการแสดงสัญชาตญาณของช้างเพศเมีย นับว่าเป็นปรากฎการณ์ที่ดีในวันนี้ ซึ่งเป็นวันแรกของเดือนแห่งวันแม่

ทางด้านนายสัตวแพทย์สิทธิเดช มหาสาวังกุล หัวหน้าฝ่ายโรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ออป. กล่าวว่า เมื่อกลางปี 2552 ช้างพังอุ้มผาง เป็นช้างสาวอายุ 14 ปีในขณะนั้น ซึ่งเป็นช้างลักษณะดี ได้ผสมพันธุ์กับช้างสีดอโจโจ้ ขณะนั้นอายุ 19 ปี เป็นช้างพ่อพันธุ์ แข็งแรงมาก โดยผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ และตั้งท้อง ซึ่งสุขภาพร่างกายของช้างพังระหว่างตั้งท้องนั้นมีสุขภาพดีมาก ซึ่งพอใกล้กำหนดคลอดก่อนล่วงหน้าประมาณ 6 เดือน ได้แยกแม่ช้างออกมาเพื่อเตรียมตัวตกลูกและพักงานการแสดงและให้บริการฝึกขี่ช้าง ในเบื้องต้นโดยภาพรวมจากการสังเกต ทั้งลูกช้างและแม่ช้างมีสุขภาพดี และแม่ช้างก็สามารถดูแลลูกได้ดีมากทั้งที่เป็นท้องแรกและท้องสาว ซึ่งปกติแล้วจะต้องหาช้างเพศเมียที่มีประสบการณ์คลอดลูกมาแล้วมาเป็นแม่รับให้ ซึ่งเป็นธรรมชาติของการช่วยเหลือช้างที่ตกลูกครั้งแรกหรือช้างที่มีปัญหาการตกลูก แต่สำหรับเชือกนี้ไม่ต้องใช้แม่รับช่วย แต่แม่ช้างยังมีอาการหวงลูกมาก ซึ่งก็ยังไม่สามารถเข้าไปตรวจสุขภาพโดยละเอียดได้ ซึ่งได้กำชับให้ควาญช้างและทีมสัตวแพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิดแล้ว ซึ่งเมื่อแม่ช้างเริ่มคุ้นเคยและมีอาการจากการเจ็บปวดลดลง ก็จะได้เข้าตรวจสุขภาพทั้งแม่ช้างและลูกช้างอีกครั้ง สำหรับการคลอดนั้นเป็นปกติอาจมีผลมาจากสภาพอากาศ ที่มีฝนพรำ และชุ่มเย็น ด้วยและสุขภาพของแม่ช้างสมบูรณ์ด้วยเป็นได้ นายวรวิทย์ โรจนไพฑูรย์ ผอ.สถาบันคชบาลฯ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ถ้าหากลูกช้างแข็งแรง ดีแล้วก็จะย้ายลูกช้างและแม่ช้างไปอยู่ที่คอกบริบาลช้างน้อย ใกล้กับ คอกช้างพังเขลางค์ และให้นักเที่ยวได้เยี่ยมชมและร่วมกันตั้งชื่อลูกช้างต่อไป

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net