กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท
"ฟันผุ" …เรื่องเล็กน้อย บางคนเมื่อพบว่าฟันผุแล้วก็ยังปล่อยทิ้งไว้จนเป็นรูลึกไปถึงโพรงประสาท เมื่อรู้สึกเสียวฟันจนทนไม่ไหวแล้วจึงค่อยไปพบทันตแพทย์
เหงือกอักเสบกับภาวะหัวใจวาย
จากงานวิจัยพบว่า ผู้ที่ฟันผุจนเป็นรูเข้าไปในโพรงฟัน หรือบางคนรุนแรงจนถึงขั้นเหงือกอักเสบจะเสี่ยงต่อหัวใจวายเพิ่มขึ้น 2 เท่า น.พ.อิทธิชัย วัชรีคุปต์ แพทย์สาขาอายุรกรรมทั่วไป โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท ( แผนกผู้สูงอายุ ) กล่าวว่า “ เมื่อฟันผุจนถึงขั้นเหงือกอักเสบ เชื้อพี จินจิวาลิส ( P.Gingivalis ) ที่อาศัยอยู่ในบริเวณเหงือกที่อักเสบ อาจสามารถเข้าสู่กระแสเลือดได้ ซึ่งจะทำให้ผนังหลอดเลือดแดงหนาตัว เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงหัวใจได้ไม่สะดวก หรืออาจทำให้เกิดการอักเสบที่ผนังหลอดเลือดหัวใจ และอาจส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจวายได้"
คุณหมอกล่าวต่อไปว่า “ ถึงแม้จะแค่ฟันผุธรรมดา ก็ยังอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวายได้ เนื่องจากเชื้อสเตร็ปโตค็อคไค ( Streptococci ) และแลคโตบาซิไล ( Lactobacilli ) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียตัวหลักที่ก่อให้เกิดฟันผุ และจะอาศัยอยู่ตามเศษคราบอาหารที่ติดอยู่บนฟัน เชื้อเหล่านี้จะกินอาหารประเภทน้ำตาล เช่น กลูโคส ฟรุคโตส ซูโครส และแป้ง เมื่อกินแล้วจะขับถ่ายออกมาเป็นกรดแลคติกซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดลิ่มเลือดในกระแสเลือด และถ้าลิ่มเลือดไปอุดตันเส้นเลือดหลักที่ไปเลี้ยงหัวใจ อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย นอกจากเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวายแล้ว ยังอาจเสี่ยงต่อโรคเส้นเลือดสมองตีบหรือตันด้วยเนื่องจากลิ่มเลือดอาจลอยไปตามกระแสเลือดไปอุดบริเวณใดก็ได้ ซึ่งถ้าไปอุดตันที่เส้นเลือดหลักที่ไปเลี้ยงสมองก็อาจก่อให้เกิดเป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ได้
และภาวะเสี่ยงอีกประการคือโรคลิ้นหัวใจรั่ว หากมีเชื้อสเตร็บโตคอคไคสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะเชื้อดังกล่าวอาจเข้าสู่กระแสเลือดแล้วไปกระตุ้นให้หัวใจทำงานหนักขึ้นจนลิ้นหัวใจอักเสบ เมื่อลิ้นหัวใจอักเสบแล้วจะทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย และทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจได้น้อยลง ”
คุณหมออิทธิชัยแนะนำว่า “ควรตรวจสุขภาพฟันปีละ 2 ครั้ง และควรรีบไปพบทันตแพทย์ทุกครั้งเมื่อพบว่าฟันผุ เพื่อป้องกันภาวะเสี่ยงดังกล่าว ”
นอกจากการไปพบทันตแพทย์เป็นประจำแล้ว ควรจะแปรงฟันให้ถูกวิธี และแปรงครั้งละ 2 นาทีขึ้นไปจะช่วยป้องกันฟันผุและเหงือกอักเสบได้ ถึงแม้จะพบว่าเริ่มเป็นโรคเหงือกอักเสบ แต่การแปรงฟันที่ถูกวิธีจะช่วยให้อาการดีขึ้นได้
นอกจากการแปรงฟันเป็นประจำหลังมื้ออาหารแล้ว
1. ควรเลือกแปรงที่หัวกลมมน และนิ่ม
2. ควรเปลี่ยนแปรงสีฟัน 3 เดือน / 1 ครั้ง เนื่องจากเป็นแหล่งสะสมเชื้อแบคทีเรีย และหัวแปรงจะสึกไปตามการใช้งาน
3. ควรเลือกยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์เพื่อช่วยป้องกันผิวเคลือบฟัน
4. ควรใช้ไหมขัดฟันวันละ 1 ครั้ง เนื่องจากไหมขัดฟันช่วยขจัดทั้งคราบอาหาร และคราบแบคทีเรียที่อยู่ระหว่างซอกฟันออกไปด้วย
5. หลีกเลี่ยงการรับประทานขนมขบเคี้ยว ขนมเหนียว ๆ โดยเฉพาะที่มีน้ำตาล และพยายามลดปริมาณน้ำตาลที่ได้รับในแต่ละวัน
6. รับประทานอาหารที่มีแคลเซี่ยมสูง เช่น บร็อคเคอรี่ ปลาซาร์ดีน นม งาดำ กะปิ ฯลฯ
7. ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ ช่วยลดความเป็นกรดในช่องปาก
8. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาล
9. หลังการดื่มน้ำผลไม้ เบียร์ หรือเครื่องดื่มที่มีรสหวาน ควรบ้วนปากหลาย ๆ ครั้งทันที
10. ไม่ควรแปรงฟันภายใน 1 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหาร นม หรือเครื่องดื่มที่มีรสเปรี้ยว หรือเป็นกรด เช่น น้ำอัดลม ของดอง อาหารรสเปรี้ยว ฯลฯ เนื่องจากกรดทำให้สารเคลือบฟันอ่อนตัว การแปรงฟันจะทำให้สารเคลือบฟันบางลง
“ เพียงใส่ใจสุขภาพฟัน ก็จะมีสุขภาพที่แข็งแรงกันไปนาน ๆ นะครับ ” คุณหมออิทธิชัยกล่าวอย่างอารมณ์ดี
โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท ( แผนกผู้สูงอายุ )
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2399-4259-63 รพ.กล้วยน้ำไท ( แผนกผู้สูงอายุ )
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit