ก.พลังงานขับเคลื่อนสู่การบริหารจัดการองค์การที่ดี ชูต้นแบบชุมชนบนวิถีพลังงานทดแทนที่อัมพวา

01 Aug 2011

กรุงเทพฯ--1 ส.ค.--กระทรวงพลังงาน

กระทรวงพลังงานชูต้นแบบชุมชนบนวิถีพลังงานทดแทนที่ ต.ปลายโพงพาง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ที่สามารถขับเคลื่อนนโยบายด้านพลังงานทดแทนสู่ชุมชนด้วยการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ผลิตเป็นพลังงานทดแทนได้อย่างมีประสิทธิผล และนำไปสู่การพึ่งตนเองของชุมชน

นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงกิจกรรม “ต้นแบบชุมชนบนวิถีพลังงานทดแทน” ที่จัดขึ้นที่ ต.ปลายโพงพาง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เมื่อ 29 ก.ค.2554 ว่า เป็นการลงพื้นที่ให้ความรู้ ความเข้าใจ และสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงาน และพลังงานทดแทน ด้วยการประยุกต์วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และวัชพืชในชุมชนมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน และสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนในการบริหารจัดการพลังงานทดแทนที่มีอยู่ในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน รวมทั้งสร้างชุมชนสีเขียวเพื่อลดโลกร้อน

กิจกรรมต้นแบบชุมชนบนวิถีพลังงานทดแทน เป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่งเสริมสนับสนุนนโยบายการบริหารองค์การที่ดี ซึ่งสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์พลังงานสู่วิถีการพึ่งพาตนเองของชุมชนด้วยการให้ความรู้ ความเข้าใจด้านพลังงานทดแทนของชุมชนจากการปฏิบัติจริง และนำไปสู่การยอมรับเทคโนโลยีพลังงานทดแทนที่สะอาดอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งยังเป็นการสร้างทัศนคติและเกิดภาพลักษณ์ที่ดีของชุมชนต่อกระทรวงพลังงาน

สำหรับสถานที่ดำเนินโครงการต้นแบบชุมชนบนวิถีพลังงานทดแทนที่ ต.ปลายโพงพาง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม มีพื้นที่ประมาณ 9,191 ไร่ ประชากร 1,989 ครัวเรือน ประมาณ 9,000 คน ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำสวนมะพร้าว ส้มโอ กล้วย และมีวิสาหกิจชุมชนกระจายอยู่รอบๆ อาทิ โรงงานทำน้ำตาลมะพร้าว โรงงานแป้งร่ำ โรงนึ่ง(ต้ม)ปลาทู ฯลฯ ทั้งนี้ ได้มีการดำเนินกิจกรรมเพื่อใช้พลังงานทดแทนในพื้นที่ โดยการสร้างต้นแบบโรงเรียนในฝันด้านพลังงานทดแทนอย่างเช่นโรงเรียนวัดโคกเกตุ(เสริมสมบูรณ์วงศ์) ด้วยการสร้างความน่าเชื่อถือผ่านการทดลองใช้และเก็บข้อมูลของนักเรียน อาทิ ให้นักเรียนผลิตแท่งเชื้อเพลิงเขียวโดยใช้วัสดุทางการเกษตรในพื้นที่ เช่น ขลุยมะพร้าว กากมะพร้าวที่เหลือจากการคั้นกะทิ ผักตบชวา ซึ่งแท่งเชื้อเพลิงเขียวนี้มีข้อดีเมื่อเทียบกับการใช้ฟืนหรือถ่านแบบเดิมคือ จุดติดไฟได้ง่ายกว่า การเผาไหม้มีประสิทธิภาพสูงดีกว่าฟืนและถ่าน ช่วยลดปัญหามลภาวะ อีกทั้งยังมีต้นทุนถูกกว่าและเป็นการนำวัชพืชที่เหลือใช้ทางการเกษตรมาก่อให้เกิดประโยชน์ได้อีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ กระทรวงฯยังสนับสนุนเตาประสิทธิภาพสูง ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีพลังงานทดแทนที่เหมาะสมต่อชุมชน โดยให้ชุมชนนำไปทดลองใช้ และมีการจัดเก็บข้อมูลเปรียบเทียบให้เห็นอย่างชัดเจนระหว่างการใช้พลังงานของเตาแบบเดิมและเตาประหยัดพลังงาน ว่าแตกต่างกันอย่างไร และนำไปสู่ การยอมรับของชุมชนในที่สุด