มองหลังเลนส์ตากล้องรุ่นเยาว์ เจ้าของรางวัลการประกวดภาพถ่าย “มหัศจรรย์ป่าเมืองไทย”

26 Aug 2011

กรุงเทพฯ--26 ส.ค.--สสวท.

การถ่ายภาพเป็นการเก็บเรื่องราวบันทึกไว้เป็นความทรงจำ เมื่อใดที่นึกถึง เราสามารถนำความทรงจำเหล่านั้นกลับมาทบทวนได้ ความสวยงามของธรรมชาติที่มองเห็นผ่านสายตา บันทึกผ่านเลนส์ ภาพงดงามที่ปรากฏจะช่วยต่อยอดสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ การท่องเที่ยว และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายได้อีกโดยไม่รู้จบ

ปีนี้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดประกวดภาพถ่ายประจำปี 2554 หัวข้อ “มหัศจรรย์ ป่าเมืองไทย” ในโครงการพัฒนาสื่อภาพถ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเหตุเนื่องมาจากองค์การสหประชาชาติ ประกาศให้ปี 2011 เป็น International Year of Forests เพื่อกระตุ้นให้ชาวโลกเห็นความสำคัญของป่า อันเป็นแหล่งกำเนิดของสรรพสิ่ง และเป็นที่พึ่งพิงของสิ่งมีชีวิต ตั้งแต่ พืช สัตว์ ตลอดจนถึงมนุษย์ ทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญในด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อให้คนไทยตระหนักถึง คุณประโยชน์และสนใจในการอนุรักษ์ป่า

การประกวดประเภทนักเรียน นิสิต นักศึกษา มีผู้ส่งภาพเข้าประกวด 65 ราย จำนวน 287 ภาพ ภาพชนะเลิศ ภาพฉัตรเกล้า โดยนายอธิวัฒน์ พงษ์พานิช ภาพรางวัลที่ 2 ภาพโปรยปราย โดยนายธนวิช คำโสภา ภาพรางวัลที่ 3 ภาพสายน้ำแห่งความสมบูรณ์ โดยนายจิรวัฒน์ ผลเพิ่มพูน ภาพรางวัลชมเชย ภาพป่าใส่เสื้อ โดยนางสาววัทนาภรณ์ ศรีคำแหง ภาพคืนจิตสำนึกให้ชายเลน โดยนางสาวรมิดา ธนานวพรรษ ภาพน้ำตกเหวนรก โดยนายธนานนท์ พรมมิ ภาพบ้านปู โดยนายธวัชชัย ไวทยะสิน

นายอธิวัฒน์ พงษ์พานิช (ตูน) ชั้นปีที่ 2 สาขาศิลปะภาพถ่าย คณะศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต เจ้าของรางวัลชนะเลิศ ประเภทนักเรียน นิสิต นักศึกษา บอกว่า เริ่มถ่ายภาพตั้งแต่ชั้น ม. 6 เมื่อ ปีที่ผ่านมา แรงบันดาลใจจากการถ่ายภาพของเขาเกิดจากการไปเที่ยวน้ำตก ชอบถ่ายภาพแนวธรรมชาติ ใบไม้ แมลง หากมีเวลาว่างชอบดูภาพถ่ายของมืออาชีพทางอินเทอร์เน็ตแล้วนำไปพัฒนาตนเอง สำหรับตูน.. ความสุขที่แท้จริงที่ได้จากการถ่ายภาพคือการได้ออกไปเปิดโลกทัศน์ใหม่ ส่วนรางวัลนั้นเป็นเพียงผลพลอยได้ โดยกล่าวว่า … “ภาพฉัตรเกล้าที่ได้รับรางวัลเป็นภาพน้ำตก ต้องการสื่อให้คนดูมองเห็นและชื่นชม หัวใจสำคัญของการถ่ายภาพทำให้ชีวิตได้ออกไปพบเห็นสิ่งใหม่ และช่วยบันทึกความทรงจำดีๆ ได้ส่วนรางวัลเป็นเพียงผลพลอยได้ที่ตามมา”

นอกจากความสามารถด้านการถ่ายภาพแล้ว ตูนยังมีความสามารถทางด้านศิลปะแขนงอื่นๆ โดยเคยได้รับรางวัลจกการออกแบบเกมส์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อีกด้วย

นายธนวิช คำโสภา (ซี) ชั้น ม. 5 โรงเรียนสาธิต “พิบูลบำเพ็ญ” มหาวิทยาลัยบูรพา เจ้าของรางวัลที่ 2 ประเภทนักเรียน นิสิต นักศึกษา เล่าว่า เริ่มถ่ายภาพจริงจังตั้งแต่อายุ 11 ปี ตอนนี้ 17 ปีแล้ว ที่ส่งภาพประกวดเพราะอยากพัฒนาฝีมืออย่างต่อเนื่อง “ภาพถ่าย 1 ภาพสามารถสื่อความหมายแทนคำได้เป็น 1,000 คำ สิ่งนี้จึงทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจที่อยากจะถ่ายทอดเรื่องราวผ่านภาพถ่าย โดยถ่ายภาพได้ทุกแนว ไม่มีแนวใดที่ชอบเป็นพิเศษ เพราะถ่ายเพื่อความสนุก เป็นการพักผ่อน ผ่อนคลาย วิธีการฝึกฝนคือ ออกถ่ายภาพบ่อย ๆ ส่งประกวดบ้าง ให้ผู้มีความรู้และประสบการณ์วิจารณ์ภาพให้”

ภาพโปรยปรายที่ได้รับรางวัลนั้นเป็นภาพของสายฝนที่โปรยปรายลงบนพรรณพืชในป่า สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าในประเทสไทย การถ่ายภาพทำให้ได้ท่องเที่ยวบ่อย ได้เห็นความสวยงามของธรรมชาติและวิถีชีวิตของผู้คนมากมาย น้องซีนั้นได้ส่งภาพถ่ายเข้าร่วมประกวดกับ สสวท. และได้รางวัลทุกปี โดยปีที่แล้ว ปี 2553 ได้รางวัลชนะเลิศจาก สสวท. ไปครอง

นายจิรวัฒน์ ผลเพิ่มพูน (ไผ่) นิสิตคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เจ้าของรางวัลที่ 3 ประเภทนักเรียน นิสิต นักศึกษา เล่าว่าเริ่มถ่ายภาพตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมต้นแบบจริงจังด้วยกล้องฟิล์ม

“การถ่ายภาพทำให้ได้เก็บเรื่องราวบันทึกไว้เป็นความทรงจำ เมื่อใดที่คิดถึงมันเราสามารถนำความทรงจำนั้นกลับมาเปิดดูได้ ผมชอบถ่ายแนว Landscape ประกอบด้วยภาพวิว ทิวทัศน์ และพวกสิ่งมีชีวิตต่างๆ เทคนิคการถ่ายภาพนั้นจะเริ่มจากการจัดองค์ประกอบภาพ มุมมองของภาพนั้น ๆ แล้วตามด้วยแสงและสี ภาพจะดีได้นั้น ต้องอยู่ที่องค์ประกอบ แสง สี และเรื่องราวครับ การถ่ายภาพวิว ควรจะไปทุกที่ ทุกเวลา ประสบการณ์จากการถ่ายภาพ จะทำให้รู้ว่าเวลาใดถ่ายภาพออกมาแล้วภาพสวย”

ภาพสายน้ำแห่งความสมบูรณ์ของไผ่เป็นภาพคลองสองน้ำที่จังหวัดกระบี่ ต้องการสื่อความหมายถึงความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย เพราะคลองสองน้ำเป็นคลองที่มีความหลากหลายมาก มีทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม มีพืชถิ่นเดียวของไทยอยู่ที่นั่น มีสัตว์ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็มอาศัยอยู่ร่วมกัน

ไผ่บอกว่าสำหรับตัวเขานั้นการถ่ายภาพมีประโยชน์ในแง่ของการเก็บเรื่องราว ภาพบางภาพสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางวิชาการได้

ผลงานความภาคภูมิใจของไผ่นอกจากรางวัลครั้งนี้แล้ว ไผ่ยังเคยได้รางวัลรองชนะเลิศประเภทฟิล์มเนกาทีฟของศูนย์ศิลปาชีพอีสานใต้ และรู้สึกภูมิใจทุกครั้งเมื่อภาพที่เขาถ่ายไว้ได้ใช้ประโยชน์ในการตีพิมพ์ทางวิชาการต่าง ๆ

ส่วนผลการประกวด ประเภทประชาชนทั่วไป มีผู้ส่งภาพเข้าประกวด 74 ราย จำนวน 496 ภาพ ภาพชนะเลิศ ภาพ ป่าไทยในความทรงจำ โดยนายสัณหกช เทพโยธิน ภาพรางวัลที่ 2 ภาพพึ่งพิงอาศัย ธรรมชาติเกื้อกูลกัน โดยนายมานิต ลาภลือชัย ภาพรางวัลที่ 3 ภาพมหัศจรรย์ผืนป่าดึกดำบรรพ์ โดยนายสัญชัย ลุงรุ่ง ภาพรางวัลชมเชย ภาพหากิน โดยนางสาวพรสุข ศุภรานนท์รัตน์ ภาพมหัศจรรย์ป่าไม้ไทย โดยนายชนะศักดิ์ ชุมนุมวรรณ ภาพป่าใส่เสื้อ โดยนายนิธิศนันท์ มานัยภาคย์ ภาพน้ำตกเปโต๊ะลอซู โดยนายหรรษา ตั้งมั่นภูวดล

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net