กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--francomasia
สหภาพยุโรป (อียู) และกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่องกฎแหล่งกำเนิดสินค้าใหม่ภายใต้ สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ของอียู เพื่อให้ข้อมูลแก่ภาคธุรกิจของไทย กลุ่มประชาสังคม สถาบันการศึกษาและหน่วยงานรัฐบาล
งานสัมมนาดังกล่าวจัดขึ้นในช่วงต้นเดือนสิงหาคมเป็นเวลา 3 วัน ดังนี้
งานสัมมนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก มร. เกิร์ท ฟาน สไปเกอร์ และมิสมารี-ลูอิส วิลเลมเซน สองผู้เชี่ยวชาญจากศุลกากร เนเธอร์แลนด์ มาให้ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับกฎระเบียบใหม่ว่าด้วยแหล่งกำเนิดของสินค้าภายใต้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร ของอียู เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจไทยได้เกิดความเข้าใจ และสามารถดำเนินการตามกฏใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้องและโปร่งใส การจัดสัมมนาในครั้งนี้ยังมุ่งให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหมู่ภาคธุรกิจต่างๆ และกระตุ้นให้เกิดการถ่ายโอนและแบ่งปันความรู้ด้านหลักปฏิบัติที่ดีของอียูไปยังประเทศคู่ค้าอีกด้วย
มร. มิกาเอล ซามี เลขานุการเอกด้านการค้าและเศรษฐกิจ คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า “การจัดสัมมนาครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อที่จะสร้างความเข้าใจเรื่องกฎข้อบังคับใหม่ว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าที่ได้รับสิทธิ GSP จากอียู ซึ่งได้รับการปรับเปลี่ยนแก้ไขให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ และสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาได้ดีกว่าเดิม ผู้ผลิตสินค้าในไทยที่จะใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษด้านภาษีศุลกากรของอียู จะต้องสามารถพิสูจน์ได้ว่าสินค้าของตนนั้นมีแหล่งกำเนิดในประเทศไทยจริง ด้วยเหตุนี้เอง ผู้ส่งออกในประเทศไทยจึงจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจในกฏใหม่นี้ จะได้ปฏิบัติตามกฎได้อย่างถูกต้อง และมีเอกสารและข้อมูลยืนยันแหล่งกำเนิดสินค้าครบถ้วนและถูกต้อง”
“นอกจากนี้ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรปได้มีการจัดทำข้อเสนอเพื่อปรับปรุงระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ของอียูใหม่ ซึ่งจะเน้นไปที่กลุ่ม “ประเทศที่กำลังพัฒนาที่ต้องการความช่วยเหลือ” และคาดว่าระบบ GSP ใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้ราวต้นปี 2557 เป็นอย่างช้า ซึ่งหากระบบ GSP ใหม่ได้มีการประกาศใช้ตามที่ได้
นำเสนอในขณะนี้ จำนวนประเทศที่ได้รับสิทธิประโยชน์จะลดลงเหลือเพียง 80 ประเทศจาก 176 ประเทศ โดยพิจารณาระดับรายได้ของประเทศและเกณฑ์อื่นๆ
ถึงแม้ว่าประเทศไทยและอีกหลายๆ ประเทศจะยังได้รับประโยชน์จากระบบ GSP ต่อไปหลังจากระบบใหม่นี้เริ่มบังคับใช้ แต่สิทธิพิเศษต่างๆ ก็อาจจะลดลง ตามขีดความสามารถในการแข่งขันของแต่ละภาคธุรกิจ และระดับรายได้ของประเทศ
ภายใต้บริบทนี้ อียูจึงเปิดการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่ค้าหลักๆ โดยเสนอให้มีการใช้โครงสร้างอัตราภาษีและระเบียบข้อบังคับที่ยั่งยืนและคาดการณ์ได้ ปัจจุบันทางอียูกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาความตกลงดังกล่าวกับหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน อาทิ สิงคโปร์และมาเลเซีย ทั้งนี้ อียูมีความสนใจที่จะเริ่มการเจรจาความตกลงการค้าเสรีแบบทวิภาคีกับประเทศไทย เพื่อนำมาซึ่งประโยชน์มหาศาลแก่ทั้งสองฝ่ายในการเข้าสู่ตลาดได้ดียิ่งขึ้น ครอบคลุมทั้งในด้าน สิทธิทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานต่างๆ การจัดซื้อจัดจ้าง การลงทุน และอื่นๆ อีกมากมาย” มร. ซามี กล่าวเพิ่มเติม สหภาพยุโรปเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของประเทศไทย รองจากกลุ่มประเทศอาเซียน ในปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้ส่งออกสินค้าคิดเป็นมูลค่ากว่า 721,000 ล้านบาท (17,000 ล้านยูโร) ไปยังอียู อันเป็นผลให้ประเทศไทยได้เปรียบด้านดุลการค้าเป็นมูลค่าราวกึ่งหนึ่งของมูลค่าสินค้าที่ไทยนำเข้าจากอียู นอกจากนี้ ไทยยังเป็นประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษจากระบบ GSP ของอียูสูงสุดเป็นอันดับสอง รองจากประเทศอินเดียอีกด้วย
สหภาพยุโรปให้การสนับสนุนการจัดสัมมนาครั้งนี้ ผ่านกรอบโครงการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและสหภาพยุโรป ระยะที่ 2 หรือ TEC II โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแบบยั่งยืน และสนับสนุนบทบาททางเศรษฐกิจของประเทศไทยบนเวทีโลก ความช่วยเหลือภายใต้โครงการนี้แบ่งออกเป็นสองรูปแบบด้วยกัน ส่วนแรกคือทุนสนับสนุนที่มอบให้แก่มหาวิทยาลัย องค์กรเอกชน หรือองค์กรภาคธุรกิจ เพื่อจัดทำโครงการต่างๆ ส่วนที่สองคือการสนับสนุนการหารือด้านนโยบาย (PDSC) ได้แก่ การให้ความช่วยเหลือทางวิชาการง การจัดสัมมนา การศึกษาวิจัย และการรณรงค์เพื่อกระตุ้นให้เกิดการหารือด้านนโยบายระหว่างประเทศไทยและสหภาพยุโรป
ข้อมูลเบื้องต้น
ในเดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2554 คณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกระเบียบใหม่ว่าด้วยเรื่องแหล่งกำเนิดสินค้าสำหรับสินค้าที่นำเข้าภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ซึ่งกฎฉบับใหม่นี้ได้มีการผ่อนปรนและลดความซับซ้อนของข้อบังคับและกระบวนการต่างๆ ลง เพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศที่กำลังพัฒนาสามารถขอรับสิทธิพิเศษทางการค้าจากอียูได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยที่ยังคงมีการควบคุมที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการฉ้อโกง กฎแหล่งกำเนิดสินค้าใหม่นี้ ได้เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2554 เป็นต้นมา กฎฉบับใหม่นี้ได้คำนึงถึงลักษณะเฉพาะของแต่ละภาคการผลิตและข้อกำหนดเฉพาะในกระบวนการผลิต โดยมีการผ่อนปรนในเรื่องของกฎเกณฑ์มูลค่าเพิ่ม (ระหว่างร้อยละ 30-50) และการสะสมถิ่นกำเนิดในภูมิภาคเดียวกันที่อนุญาตให้นำวัตถุดิบที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศอื่นในอาเซียนมาใช้ได้เสมือนวัตถุดิบนั้นมีแหล่งกำเนิดในประเทศไทย และในบางกรณีสามารถนำวัตถุดิบมาจากประเทศในกลุ่ม SAARC (อินเดีย บังคลาเทศ ภูฎาน มัลดีฟส์ เนปาล ปากีสถาน ศรีลังกา)
นอกจากนี้ ระเบียบนี้ยังเสนอขั้นตอนการออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าใหม่ให้ความรับผิดชอบอยู่ที่ผู้ส่งออกมากกว่าเดิม ด้วยการให้ผู้ส่งออกเป็นผู้ออกใบรับรองด้วยตนเองนับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: คุณกุลวดี สุมาลย์นพ โทร. 02 305 2600 ต่อ 2644 อีเมล: [email protected] คุณวันดี เลิศสุพงศ์กิจ โทร. 02 233 4329-30 ต่อ 19 อีเมล: [email protected]
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit