กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--สหมงคลฟิล์ม
หลังจากความสำเร็จของ “ชั่วฟ้าดินสลาย” แล้ว อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้ทำเรื่อง “อุโมงผาเมือง” ต่อทันที
“อุโมงค์ผาเมือง” จริงๆ แล้วก็เกิดจากคุณเสี่ยเจียงอีกเหมือนกัน หลังจากที่ “ชั่วฟ้าดินสลาย” ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง คุณเจียงก็ถามว่า ในใจมีหนังอะไรที่อยากจะทำหรือเปล่า ตัวเราเองก็นึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาในหลายๆ เหตุผล เหตุผลแรกเราคิดจะทำหนังเรื่องนี้มาสิบกว่าปีก่อน เตรียมงานแล้ว เขียนบทแล้ว คิดโปรดักชั่นแล้ว แต่ด้วยสถานการณ์หลายๆ อย่างในตอนนั้นก็ทำให้ต้องหยุดโครงการนี้ไป มาปีนี้ก็เหมือนกับว่านำโครงการนี้ขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่ มันเลยเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือปีนี้เป็นปีที่ครบรอบ 40 ปีของบริษัทสหมงคลฟิล์ม และบังเอิญเรื่อง “อุโมงค์ผาเมือง” นี้ เราได้ดัดแปลงเรื่องราวมาจากละครเวทีเรื่อง “ประตูผี” โดย ฯพณฯ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้แปลจากละครเวทีเอาไว้ ตัวเราเองเคยก็กำกับเป็นละครเวทีเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ที่มณเฑียรทองเธียเตอร์ และออกแสดงตั้ง 3 เดือน ครั้งนั้นก็ถือว่าเป็นละครเวทีที่ประสบความสำเร็จมาก ก็เลยลองเอามาปัดฝุ่นใหม่
และพอได้คุยได้ปรึกษากับคุณเจียงก็ชอบเรื่องนี้และอยากทำ จริงๆ แล้วโดยความสัตย์จริงพอเสร็จเรื่อง “ชั่วฟ้าดินสลาย” ก็ยังไม่ได้มีโครงการใดๆ เลย และก็ยังไม่ได้คิดที่จะทำภาพยนตร์ต่อ แต่บังเอิญพอเล่าเรื่องนี้ให้คุณเจียงฟัง คุณเจียงก็ชอบมากและอยากให้ทำภายในทันที เหมือนดวงจะต้องทำเพราะทุกอย่างก็ได้เตรียมมาแล้วเมื่อ 10 ปีที่แล้ว การคัดเลือกนักแสดงก็เป็นความคิดเห็นของคุณเจียงซะส่วนใหญ่ที่จะนำเอา อนันดา, มาริโอ้, หม่ำ, พงษ์พัฒน์ มาแสดงในเรื่องเดียวกัน จะพูดไปโครงการนี้ก็เป็นเหมือนเรื่องที่แล้ว คือเป็นโครงการส่วนตัวของคุณเจียงซึ่งมีส่วนสำคัญในการคัดเลือกนักแสดง ต่างๆ นานา ท่านก็มีส่วนออกความคิดเห็นมาก ตัวเราเองยังไม่คิดว่าคุณเจียงจะชอบเรื่องนี้ด้วยซ้ำไปเพราะจะบอกว่ามันเป็นแนวตลาดก็ไม่ใช่เลย มันก็เป็นเรื่องแนวใหม่มากสำหรับยุคนี้แต่จริงๆ ก็ไม่ได้ใหม่มากนัก และก็ประกอบกับการที่เป็น 100 ปีของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช คือท่านอายุครบ 100 ปีพอดี เราคิดว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่จะเฉลิมฉลองในอัจฉริยภาพในการประพันธ์เชิงวรรณกรรมของท่าน พร้อมกับการเฉลิมฉลองครบ 40 ปีของบริษัทสหมงคลฟิล์ม โดยทีมงานทุกคนก็ทุ่มเทกันเต็มที่ ก็โชคดีที่ได้ทีมงานที่มีประสิทธิภาพมากคือ ทีมศิลปกรรมก็เป็นทีมที่ทำแต่หนังฝรั่งไม่ได้ทำหนังไทยเลย ทุกๆ คนก็อยากจะทำหนังเรื่องนี้กัน ทีมงานเทคนิคก็ได้ทีมงานที่มีความสามารถจาก Hollywood มาร่วมสร้างสรรค์กันทุกๆ ฝ่าย รวมทั้งนักแสดงก็ส่วนใหญ่ก็เป็นสานุศิษย์ทั้งนั้น มาช่วยกันทำให้งานชิ้นนี้ออกมาสมบูรณ์ที่สุด แต่ว่าในแง่ส่วนตัวแล้ว ในแง่เป็นผู้กำกับเป็นคนเขียนบท
นอกเหนือจากการที่เฉลิมฉลอง 100 ปีของคุณคึกฤทธิ์และ 40 ปีสหมงคลฟิล์มแล้ว เรามาศึกษาบทภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างละเอียดก็ได้เห็นว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้มีคุณค่าทางศีลธรรมสูงมาก คือแก่นของเรื่องพูดถึงพระสัจธรรมโดยพระสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ตัวเราเองก็ตั้งใจด้วยจิตแน่วแน่ว่าจะทำภาพยนตร์เรื่องนี้ให้เป็นพุทธบูชา เพื่อที่จะอุทิศส่วนกุศลให้กับม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และที่สำคัญคืออากิระ คุโรซาวา และริวโนะสุเกะ อะคุตะงะวะ ซึ่งอะคุตะงะวะท่านเป็นผู้เขียนเรื่องสั้นเรื่องราโชมอน และอากิระ คุโรซาวา นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เอเชียเรื่องแรกที่ไปสู่ตลาดโลก ได้รับการยกย่องว่าเป็นครูแห่งศาสตร์ภาพยนตร์ ทั้งคู่เป็นบรมครูที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้กำกับหนังใหม่ๆ ของโลกมากมาย
ก็คือบทละครเวทีเรื่องนี้ซึ่งแต่เดิม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านไม่ได้ดัดแปลงจากภาพยนตร์ของอากิระ คุโรซาวา แต่ท่านได้ไปชมละครเวทีเรื่อง “ราโชมอน” ที่นิวยอร์ก แสดงโดยฝรั่งนะแต่เล่นเป็นญี่ปุ่นหมด และท่านก็ได้บทมาก็นำมาแปลเป็นภาษาไทยอย่างเดียว แต่ก็เล่นเป็นญี่ปุ่นนะ โดยท่านเองก็เล่นเป็นสัปเหร่อ, ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ เล่นเป็นคนดัดฟืน โดยมี สุพรรณ บูรณพิมพ์ เล่นเป็นเมียซามูไร, อาคม มกรานนท์ เล่นเป็นโจร คือแสดงหน้าพระที่นั่งถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ ซึ่งเราตอนนั้นยังเด็กมากและโชดดีที่ได้ดูติดตาติดใจจนถึงปัจจุบันนี้ เราก็คิดว่าถ้าเกิดครั้งหนึ่งได้ทำเรื่องนี้เป็นภาพยนตร์และแปลงเป็นไทย ก็คงจะเป็นอะไรที่ท้าทายความสามารถ โครงการนี้เลยเกิดขึ้นมา
เวอร์ชั่นบทละครเวทีของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เป็นอย่างไร
ในแง่ของท่านก็มีการตีความใหม่ คือท่านบอกว่าการแปลเรื่องนี้ การเขียนเรื่องนี้ของละครเวทีเรื่องนี้ มันไม่ใช่ในเชิงความสนุกของท่าน ท่านไม่ได้เน้นกายกรรม ท่านเน้นวจีกรรม การใช้ภาษาที่แหลมคม และมีความหมายลึกซึ้ง ความสนุกจะอยู่ที่การฟังภาษา ฟังบทพูดของตัวละครว่ามีความหมายอย่างไร และเชือดเฉือนอย่างไร เน้นตรงนี้ ซึ่งตัวเราเองก็ยึดถือเอาเป็นหลักในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยที่บทสนทนา 95 % ของเรื่องเป็นภาษาของท่าน โดยที่ไม่มีการแก้ไขใดๆ มี 5 % ที่เราแก้ไขในตอนต้นๆ เรื่องแค่นั้นเองนิดหน่อยที่เพิ่มความเป็นภาพยนตร์ให้มากขึ้น แต่ว่าในเชิงการตีความ ในเชิงความหมายของเรื่อง ความสนุกได้รสชาติล้วนมาจากการตีความของท่านเอง
แล้วในเวอร์ชั่นของหม่อมน้อยเองมีความเหมือนหรือแตกต่างจากฉบับละครเวทีหรือหนังอย่างไร
มันไม่เหมือนกันนะ คือมันเป็นพล็อตเรื่องเดียวกัน ตัวละครเดียวกัน คล้ายคลึงกัน แต่ว่าคุณคึกฤทธิ์ท่านมองในเชิงคนไทย รสนิยมอย่างคนไทย คืออาจจะพูดได้ว่ามีการทำให้ดูง่ายขึ้น ในการมองแบบรสนิยมแบบคนไทย ส่วนของอากิระ คุโรซาวา มีความเป็นญี่ปุ่นมาก และปรัชญาพุทธของคุโรซาวาก็เป็นเซน แต่เราไม่ได้มีวัฒนธรรมแบบนั้น ในตัวพระในเรื่องที่แสดงโดยมาริโอ้ก็เป็นพระไทย แต่เราก็ย้อนไปเมื่อเกือบ 500 ปีที่แล้วซึ่งเกิดจากในอาณาจักรล้านนา และในยุคนั้นได้กลายเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรอังวะ คือพม่า ก็คือการล่มสลายของอาณาจักรล้านนาในยุคต้น ในยุคที่พม่าเข้ามาปกครอง เพราะฉะนั้นวัฒนธรรมอิทธิพลต่างๆ ก็จะมีความเป็นพม่าสูงมาก
ย้อนกลับไปขั้นตอนเตรียมงาน คือโครงการนี้เหมือนหยิบมาปัดฝุ่นใหม่ ข้อมูลมีอยู่แล้วทำให้ด้านงานสร้างเร็วและง่ายขึ้นไหม
ใช่ เพราะเนื่องจากมีการค้นคว้าข้อมูลไว้อย่างละเอียดเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เลยทำให้การเตรียมงาน การทำงานก็เร็ว หลายคนตกใจว่า อ้าว ทำเสร็จแล้วเหรอ ทำไมทำเร็วขนาดนี้ เพราะตอนที่ยากที่สุดและการทำงานที่ยากที่สุดมันไม่ใช่ตอนถ่ายทำ มันอยู่ที่การศึกษาหาข้อมูลมากกว่า แต่เราได้เตรียมไว้หมดแล้ว เพียงแต่เอามาปัดฝุ่น แล้วก็แทบจะไม่ต้องศึกษาอะไรเพิ่มเติมเลย เราทำกันมาอย่างละเอียดลออหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยของเรื่องที่เกิดในยุคสมัยไหน ไม่ว่าจะเป็นด้านงานศิลปะ งานเครื่องแต่งกาย หรือแม้แต่ปรัชญา ความคิดหรือไอเดียในการนำเสนอภาพผ่านการทำงานกันอย่างละเอียดมาแล้ว มันก็เลยเร็วมาก
เรื่องราวของ “อุโมงค์ผาเมือง”
คือมันเป็นเรื่องของคดีที่ขุนศึก (อนันดา) กับภรรยา (พลอย เฌอมาลย์) เดินทางไปในป่าแล้วก็ได้พบกับโจรป่า (ดอม เหตระกูล) และขุนศึกก็โดนโจรป่ามัด และข่มขืนเมียต่อหน้า แล้วท้ายสุดตัวขุนศึกก็ตายไป และโจรป่าก็โดนจับได้ โจรป่าต้องไปให้การในศาล ตัวเมียขุนศึกก็ต้องไปให้การในศาล ก็มีการเข้าทรงวิญญาณของขุนศึก และต่างคนก็ต่างให้การต่างๆ กัน และเรื่องก็ดำเนินผ่านพระหนุ่ม (มาริโอ้ เมาเร่อ) ซึ่งเป็นผู้เห็นขุนศึกและภรรยาเข้าป่าไปเป็นคนสุดท้าย และตัวคนตัดฟืน (หม่ำ จ๊กมก) ก็เป็นคนพบศพ และสองคนก็ต้องให้การในศาลด้วย พระหนุ่มได้เห็นว่าทั้งสามคนก็ให้การคนละทิศคนละทางเลย ทุกคนได้รับสารภาพว่าตนเองนั้นได้เป็นคนฆ่าขุนศึก ทั้งโจรก็รับสารภาพว่าตนเป็นคนฆ่า ตัวเมียขุนศึกก็บอกว่าเมื่อโจรข่มขืนตนเสร็จก็ได้ออกไปเลย ทิ้งเธอและเขาไว้สองคนในป่าและเธอเป็นคนฆ่าสามี และส่วนขุนศึกก็ให้การว่าเมื่อโจรข่มขืนเมียเสร็จ เมียก็หลงรักโจร บอกให้โจรฆ่าตัว โจรก็ฆ่า และก็เห็นความร้ายกาจของผู้หญิงคนนี้ ก็จะฆ่าผู้หญิงคนนี้ แต่ก็หนีไปได้ ตัวโจรเองก็เลยตัดเชือกขุนศึก ไว้ชีวิตขุนศึก ขุนศึกก็ทนความเสื่อมเสียเกียรติยศไม่ได้สุดท้ายก็ฆ่าตัวตาย
ตัวพระหนุ่มซึ่งบวชได้พรรษาเดียว ก็เป็นพระที่เคร่งในวินัย แล้วก็ได้เจอเหตุการณ์ก็เลยตัดสินใจว่าจะสึก ตัวเขาเองรู้สึกว่าไม่สามารถเข้าใจมนุษย์ได้ เรื่องเริ่มต้นด้วยตรงนี้ ก็เดินทางออกจากวัดเพื่อจะไปสึกที่บ้านเกิด ก็มีพายุฝนและก็ไปติดอยู่ที่อุโมงค์ผาเมือง ซึ่งอุโมงค์ผาเมืองเราถูกสมมติให้เป็นกำแพงเมืองเก่า ใต้กำแพงมีอุโมงค์ที่ไว้สำหรับนักรบที่จะไปหลบอยู่ใต้นั้นในการต่อสู้กับศัตรู ในอุโมงค์ก็มีพระพุทธรูปมากมายเป็นที่สักการะของพวกทหารสมัยโบราณ แต่ว่าตัวอุโมงค์เองก็ถูกทิ้งจนน่ากลัว พระก็เศียรขาด อุโมงค์ก็รกร้าง เป็นที่อยู่ของบรรดาสัตว์ร้ายต่างๆ หมาป่า, หนู, ค้างคาว ทุกคนก็เลยคิดว่าตรงนี้เป็นที่ผีดุ เพราะว่ามีคนเอาศพมาทิ้ง ระหว่างที่พระหนุ่มท่านจะเดินทางกลับบ้านเกิด ก็มีพายุและตัวคนตัดฟืนก็วิ่งตามมาพอดี ทั้งสองคนก็เลยไปหลบฝนอยู่ในนั้นทำให้เจอกับสัปเหร่อ (พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง) ความเป็นจริงต่างๆ ก็เปิดเผยขึ้นม ในอุโมงค์ผาเมือง
การแคสติ้งทีมนักแสดงในสมัยก่อนกับสมัยนี้แตกต่างกันอย่างไร
พูดไปแล้วในแง่ของการแคสนักแสดงก็ยากเพราะทุกคนต้องเล่นถึง 3-4 คาแร็คเตอร์ การเลือกสรรนักแสดงเมื่อ 10 ปีที่แล้ว คนที่รับบทเป็นโจรป่าคือพงษ์พัฒน์ ก็อายุประมาณ 30 กลางๆ ส่วนพระหนุ่มคืออนันดา อายุแค่ 19 ก็มีการคัดเลือกไว้แล้ว มีการซ้อมแล้วด้วย ซึ่งพอกลับมาทำเรื่องนี้ ตอนนี้ด้วยวัยก็ไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นการเลือกนักแสดงในยุคนี้จริงๆ แล้วคือคุณเจียงนะ ก็ได้มีการคุยปรึกษากันแล้วตัวสัปเหร่อต้องพงษ์พัฒน์ ซึ่งอ๊อฟเองเมื่อรู้ว่าเราทำหนังเรื่องนี้ก็มาขอเล่นเป็นตัวนี้ บอกว่าตอนที่เล่นละครเวทีเป็นโจรป่าเมื่อ 20 ปีก่อน เห็นบทสัปเหร่อก็เป็นอีกบทหนึ่งที่เขาอยากเล่นมาก ความฝันก็เป็นจริง 20 ปีผ่านไปเขาได้เล่นบทนั้นด้วยวัยที่เหมาะสม ด้วยฝีมือการแสดงที่เหมาะสม ส่วนอนันดาจะเอามาเล่นเป็นพระหนุ่มก็ไม่เหมาะแล้วเพราะก็ 29-30 แล้วก็เลยกลายเป็นมาริโอ้ แล้วอนันดาเองก็อยากจะร่วมกับโปรเจ็คต์นี้ เขาก็บอกขอเล่นเป็นขุนศึกก็ได้ ก็เหมาะเขาก็แสดงความสามารถออกมาได้ดี
ส่วนตัวเมียขุนศึกในยุคสมัยนี้จะหานักแสดงหญิงเจ้าบทบาทที่ต้องแสดง 3-4 คาแร็คเตอร์ในภาพยนตร์เรื่องเดียวกันเท่าพลอย เฌอมาลย์ไม่ได้ ก็คิดว่าเป็นแคสที่ลงตัว ส่วนพระหนุ่มก็ความใส ความจริงใจ ความเป็นพระที่ดูแล้วเป็นกลางๆ ไม่มีเพศ งามเหมือนพระพุทธรูป จะหานักแสดงคนไหนที่วัยสมเท่ามาริโอ้ไม่ได้ ส่วนคนตัดฝืนแสนซื่อก็คิดถึงหม่ำ ประเด็นนี้ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจว่า หม่ำกับหม่อมน้อยเนี่ยจะมาเจอกันในภาพยนตร์เรื่องเดียวกันได้ยังไง แต่เราเห็นความซื่อ ความจริงใจของตัวหม่ำจริงๆ และเป็นหนแรกจริงๆ ล่ะมั้งที่เขาต้องเล่นภาพยนตร์ที่ไม่ตลกเลย ก็ต้องท่องบทซึ่งปกติเขาจะเล่นสด อันนี้ก็เป็นหนแรกที่หม่ำเขามาร่วมงาน ส่วนตัวโจรป่าก็ได้แคสนักแสดงหลายคนเหมือนกัน แต่ท้ายที่สุดคุณเจียงก็เลือก ดอม เหตระกูล ซึ่งก็เป็นความคิดเห็นเดียวกันกับเรา นี่ก็เป็น 6 ตัวละครหลักของเรื่องนี้ แปลกมากที่ความเห็นของเรากับคุณเจียงตรงกันไปหมด และตัวนักแสดงที่พอเรียกมาคุยแล้วทุกคนก็ยินดีทุ่มเทหมด เป็นบทภาพยนตร์ที่คลาสสิก เหมาะแก่การศึกษา มีความหมายมากรวมทั้งมีความเข้มข้นในตัวเรื่องของเขาอยู่แล้ว ทุกคนก็ยินดีทำกันเต็มที่
พูดถึงช่วงการเตรียมงานใช้เวลาในการเตรียมงานมากน้อยแค่ไหน
ต้องสารภาพว่าโลเกชั่นส่วนใหญ่มันโดนเลือกมาแล้วเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เพราะฉะนั้นเพียงแค่เป็นการไปดูอีกครั้งหนึ่งแค่นั้นเองว่ามันคงสภาพเดิมอยู่หรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นวัดอุโมงค์, วัดถ้ำหลวงเชียงดาว, พระธาตุลำปางหลวง, น้ำตกหมอกฟ้า หลายๆ ที่ก็ยังคงสภาพเดิมอยู่ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เราศึกษาค้นคว้าไว้ตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่ทุกอย่างยังคงสภาพเดิมหมด อย่างตัวอุโมงค์ที่เราสมมติขึ้นว่าเป็นกำแพงเมือง ก็ใช้โลเกชั่น 2 ที่ภายนอกเราใช้ที่วัดอุโมงค์ที่เชียงใหม่ ส่วนภายในที่เป็นถ้ำ เราก็ใช้ที่วัดถ้ำหลวงเชียงดาว แต่ว่าก็ต้องสร้างอะไรเพิ่มเติมมากมายอยู่เหมือนกัน การเตรียมงานค่อนข้างเร็ว ประกอบกับได้ผู้กำกับฝ่ายศิลป์ คือ “คุณแป๊ะ พัฒน์ฑริก มีสายญาติ” ซึ่งแต่เดิมเมื่อ 10 ปีที่แล้วตัวคุณแป๊ะเองก็ได้ศึกษามาแล้วเรียบร้อย รู้อย่างละเอียดแล้ว เมื่อมีการนำมาทำใหม่ ก็เหมือนได้ทำการบ้านกันมาพร้อมอยู่แล้ว มันก็เลยง่ายในแง่ศิลปกรรม ในแง่บท บทก็เสร็จแล้ว ตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ก็ไม่ต้องเขียนบทใหม่ มีเพียงแก้เล็กน้อย 5-10% เท่านั้นเอง มันเหมือนกับว่าทุกอย่างได้เตรียมไว้หมดแล้ว ก็อาจจะบอกได้ว่าเตรียมงานมาทั้งหมดคือ 10 ปีแล้ว (ยิ้ม) มันก็เลยเร็วกว่าปกติมาก
ในช่วงเตรียมงาน เราก็ต้องให้ทุกฝ่ายเดินทางไปที่เชียงใหม่ ที่ถือว่าเป็นศูนย์กลางของการทำงาน เป็นจุดเซ็นเตอร์ของการเตรียมงานทั้งหมดก่อน ทุกฝ่ายก็ไปหมดเลย เพื่อที่จะไปศึกษาข้อมูลอีกหนึ่งครั้ง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายกล้อง ฝ่ายภาพคุณกบ ผู้กำกับภาพที่เคยร่วมงานกันจากเรื่องที่แล้ว คุณแคนฝ่ายซีจีกับทีมทุกคนจะต้องไปสถานที่จริงหมดเลย ก็ไปค้นคว้ากันช่วงหนึ่ง รวมทั้งฝ่ายดนตรีด้วยคุณป้อ (ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์) ก็ไปด้วย คือไปให้มีความเข้าใจและเห็นเป็นรูปธรรมเหมือนกัน แล้วค่อยกลับมาประชุมกัน เลือกสรรสิ่งที่ดีที่สุดออกมาให้กับภาพยนตร์
รวมถึงเรื่องนี้ยังมีคิวบู๊คิวแอ็คชั่นอยู่ด้วย เราได้มือหนึ่งทางด้านนี้อย่าง คุณพันนา ฤทธิไกร มาร่วมงานออกแบบฉากต่อสู้ที่สมจริง แปลกใหม่สวยงามให้ด้วย ซึ่งเป็นอกีฉากหนึ่งที่ออกมาพอใจเรามาก ไม่มีใครคาดคิดว่าพันนากับหม่อมน้อย หรือ หม่ำกับหม่อมน้อยจะโคจรมาเจอกันได้ ก็ได้มาทำงานร่วมกันแล้วในเรื่องนี้ ก็เป็นสีสันอีกอย่างหนึ่งของเรื่องนี้เลยก็ว่าได้
ในส่วนของบทภาพยนตร์ใช้เวลาเขียนอยู่นานเท่าไร
ก็นานเหมือนกันนะ ก็ใช้เวลา 2-3 เดือน คือเวลาเขียนอย่างเดียว ในแง่การสร้างการเขียนบทจริงๆ จะเร็วมาก แต่เวลาคิด กว่าจะรวบรวมความคิด กว่าจะสรุปมันได้ ก็เป็นปีๆ นะ
ทีมงานฝ่ายเสื้อผ้า
ฝ่ายเสื้อผ้า ก็ได้ “โต้ง นพดล เตโช” ที่ร่วมงานกันมาตลอดตั้งแต่โบราณกาล ไม่ว่าจะเป็นละครเรื่องสี่แผ่นดิน, ในฝัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ก็ใช้โต้งอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นงานนี้โต้งก็ศึกษาเรื่องนี้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว และยิ่งวัฒนธรรมล้านนาที่ย้อนกลับไปเมื่อ 500 ปีที่แล้ว ก็ไปศึกษาค้นคว้ามา เขาก็เป็นมืออาชีพทางด้านนี้อยู่แล้ว คือทุกฝ่ายในภาพยนตร์เรื่องนี้ถือว่าเป็นมืออาชีพทุกคน เป็นเรื่องที่เป็นความถนัดของตัวเองหมดเลย เป็นผู้เชี่ยวชาญ เพราะฉะนั้นทุกอย่างมันก็เลยเร็วมาก ด้วยการค้นคว้า เนื่องจากด้วยยุคนั้นเป็นยุคที่พม่าเป็นผู้ปกครอง เรื่องเสื้อผ้าของพลอยและอนันดาก็ออกมีกลิ่นไอของความเป็นพม่าอยู่ แล้วก็มีการย้อนกลับไปก่อนที่พม่าปกครอง ที่พระยังเป็นเด็ก กลิ่นของพม่าก็ยังไม่มี ก็ต้องศึกษาชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในสมัยนั้น ที่เป็นช่วงก่อนที่พม่าจะมาปกครอง หลังจากที่พม่ามาปกครอง ก็มีการศึกษาสถาปัตยกรรมในตอนนั้น เพื่อไม่ให้ผิดเพี้ยน หรือว่าลักษณะของคนทรงที่แสดงโดย รัดเกล้า อามระดิษ ก็ได้มีการดูผีมดผีเม็ง ทุกคนก็ได้ไปศึกษาว่าในพิธีกรรมของผีมดผีเม็งของชาวล้านนาเป็นอย่างไร และเอามาประยุกต์ใช้ในแบบที่มีความทันสมัยหน่อย แต่ยังคงมีความเป็นวัฒนธรรมเดิมของเขาอยู่ คือจริงๆ แล้วโต้งก็เชี่ยวชาญอยู่แล้วเป็นมืออาชีพด้านนี้มากๆ
ทีมเมคอัพ
ฝ่ายเมคอัพก็ต้องเลือก “อาจารย์ขวด มนตรี วัดละเอียด” เลย และท่านก็เป็นมือหนึ่งของประเทศนี้ เพราะว่ามันมีหลายอย่างที่จะต้องมีสร้างสรรค์กันใหม่ เช่น หน้าของสัปเหร่อซึ่งจะเป็นชายแก่ อายุเกิน 60 ที่เคยผ่านสงครามมาแล้วและโดนไฟไหม้คอกครึ่งตัว เป็นพิการด้วย ก็ต้องมีการแปลงโฉมพงษ์พัฒน์ให้เหมาะสมกับบทบาท ของมาริโอ้ซึ่งต้องเล่นเป็นพระ ซึ่งโกนหัวจริงๆ ไม่ได้เพราะติดงานอื่น ก็ต้องมีการสั่งวอลแค็ปมาจากฮอลลีวู้ดมาสวมทับ แต่ก็มีปัญหาเพิ่มนิดหน่อย เพราะศีรษะของมาริโอ้โครงสร้างหัวเขาเล็กมาก เพราะฉะนั้นก็เอาไม่อยู่ ก็เลยต้องใช้ซีจีช่วย ก็ต้องเป็น “คุณแคน” (อาทยา บุญสูง - Visual Effects Supervisor) ซีจีมือหนึ่งของประเทศไทยที่เคยทำงานให้ฮอลลีวู้ด เป็นมืออาชีพทางซีจีโดยตรงมาอยู่ในกองถ่ายในทุกๆ ซีน ก็มาช่วยกันแก้ปัญหาว่า เราจะแก้กันยังไง ที่ซีจีต้องมีบทบาทมากในภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็ต้องมีการพูดคุยประชุมกันทุกคนเป็นมืออาชีพกันอยู่แล้ว พอเป็นเรื่อง อุโมงค์ผาเมือง ขึ้นมา ทุกคนก็ตั้งใจทำกันอย่างเต็มที่
เรื่องเทคนิคซีจี ใช้มากน้อยแค่ไหน
ก็มากพอสมควรอยู่ จะว่าไปสภาพอากาศ สภาพภูมิประเทศภาคเหนือเปลี่ยนไปเยอะมาก เพราะฉะนั้นมันต้องมีการวาดอะไรหลายๆ อย่างขึ้นมาเพื่อให้ดูสมจริงและดูเหมือนอยู่ในยุคเมื่อ 500 ปีที่แล้ว หรือแม้แต่ฉากที่พายุฝนมาก็ต้องทำจากซีจี มีหลายฉากที่พลอย เมียขุนศึก เล่นผีเสื้ออยู่ในลานผีเสื้อ ตรงนั้นก็ต้องมีการสร้างสรรค์ตลอด เล่นกับผีเสื้อจริงคงเป็นไปไม่ได้ ฉากต่อสู้กันเลือดกระจาย หรือฉากลานประหารชีวิตตัดสินตัดคอ ซึ่งเป็นฉากแรกของเรื่อง ก็ต้องทำเยอะทีเดียวแต่ทั้งหมดทั้งมวลที่ใช้ก็เพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ด้านภาพ แต่ที่หนักอยู่ก็คือการแก้ศีรษะมาริโอ้ อย่างที่ทุกคนก็รู้กันอยู่ว่ามันค่อนข้างยาก แต่ก็จะพยายามทำให้ดีที่สุดแล้วว่าเราจะเจอกับอะไร
ด้านดนตรีประกอบก็มีความสำคัญมากๆ
คือเนื่องจากเรื่องนี้มัน จริงๆ แล้วเป็นเรื่องสมมติ คือเมืองผาเมืองไม่มีจริง เพียงแต่เราสมมติว่าเกิดเมื่อ 500 ปีในอาณาจักรล้านนา ดนตรีที่จะมาเสริมในเรื่องนี้ แล้วภาพยนตร์ก็อกมาค่อนข้างแปลก ทั้งในแง่ภาพ เป็นภาพที่ไม่ค่อยได้เห็น แปลกออกไปจากที่เคยทำมา มันจะเป็นแนวกราฟฟิคแต่ก็เป็นพีเรียด จะมีความทันสมัยเข้ามา ดนตรีประกอบก็จะแปลก โดยมีกลิ่นของดนตรีเหนือด้วย ก็เป็นอะไรที่สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ เป็นอะไรที่แปลกออกไปจากหนังเรื่องอื่นๆ เพราะว่าเนื่องจากเป็นเรื่องสมมติมันก็สามารถทำอะไรที่แปลกๆ ออกไปได้ และที่สำคัญก็คือเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอารมณ์ของมนุษย์ด้วย กิเลสของมนุษย์ บาปของมนุษย์ และมีศีลธรรมอยู่ในนั้นด้วย ดนตรีประกอบก็จะออกมาทางแนวๆ นี้
คาแร็คเตอร์ 6 ตัวหลักของเรื่อง
ก็เริ่มที่ตัว “พระหนุ่ม” (มาริโอ้ เมาเร่อ) ก่อน เพราะเรื่องนี้ก็จะดำเนินเรื่องโดยพระหนุ่มที่เพิ่งบวชได้เพียงพรรษาเดียวและท่านก็ไปพบการให้การที่ไม่เหมือนกันเลย ทั้งเจ้าทุกข์ที่ตายไปแล้ว ก็บอกว่าตัวเองฆ่าตัวตาย ตัวเมียก็บอกว่าตัวเองเป็นคนฆ่าสามีตัวเอง ตัวโจรป่าก็บอกว่าตัวเองเป็นคนฆ่าขุนศึก คราวนี้ในการนำเสนออุโมงค์ผาเมืองเรื่องทั้งหมดจะผ่านมุมมองของพระหนุ่ม เพราะฉะนั้นตัวเดินเรื่องจริงๆ ก็จะเป็นพระหนุ่มองค์นี้ที่แสดงโดยมาริโอ้ คาแร็คเตอร์ก็คือ ก่อนบวชจะเป็นลูกเศรษฐีทำกระจก ซึ่งหลงใหลในพระศาสนาตั้งแต่ยังเด็ก ก็มาเริ่มด้วยการที่เขาต้องบวชลูแก้วตามประเพณีล้านนา ก็รู้สึกศรัทธา รู้สึกอยู่วัดแล้วก็รู้สึกสบาย รู้สึกชอบทางธรรมตั้งแต่เด็ก ผิดกับพี่ชายซึ่งเป็นทางโลกมากเป็นนักค้าขายที่ดีเป็นคนที่ประสบาความสำเร็จทางโลก มีเมียมีลูกที่ดี เป็นลูกรักของพ่อมาก ด้วยการค้าขาย ส่วนตัวน้องชายก่อนจะบวชนอกจากจะศรัทธาทางศาสนา และเป็นช่างฝีมือการแกะสลัก และส่วนใหญ่ก็จะแกะสลักถวายวัด เขามีความละเอียดอ่อนไปทางธรรม ส่วนพ่อก็เป็นเศรษฐีทำกระจก มีลูกชายคนโตที่ค้าขายเก่ง ลูกชายคนเล็กก็แกะสลักกระจก ก็คิดว่าครอบครัวต้องร่ำรวย แต่ที่ไหนได้คือลูกชายคนเล็กอยากบวช พ่อไม่ให้บวชอยากจะให้แต่งงาน ตามคอนเซ็ปต์ของมนุษย์ทั่วไป มีเมียมีลูก มีครอบครัวที่สมบูรณ์ แต่ตัวพระก็ไม่อยาก เผอิญแม่มาตาย ตายในวันเดียวกับที่พี่สะใภ้คลอดลูก เขาก็ได้เห็นการเกิด แก่เจ็บ ตาย ในวันเดียวกัน และก็ยิ่งทำให้รู้สึกซาบซึ้งในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เลยขอพ่อบวชเพื่อทดแทนบุญคุณมารดา ในวันที่ตัวเองบวชก็ได้อธิษฐานจิตถวายตัวเป็นพุทธบูชาแด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขณะบวชอยู่ พ่อก็ป่วย พี่ชายก็ขอให้สึกไปช่วยกิจการ พระก็บอกว่าเขาได้ถวายตัวเป็นพุทธบูชาเรียบร้อยแล้ว และก็จะต้องเดินทางจากบ้านเดิมที่อยู่เชียงคาน ไปศึกษาธรรมะต่อที่นครผาเมือง ซึ่งนี่ก็เป็นการเริ่มต้นเรื่อง คือนครผาเมืองมีวัดพระธาตุหลวงซึ่งเคร่งศาสนาอยู่บนยอดเขา ซึ่งมีเจ้าอาวาสและพระอาจารย์ (ชาย ชาตโยดม) เป็นพระอาจารย์ของตัวมาริโอ้ ซึ่งตัวพระหนุ่มเป็นคนที่เคร่งในพระธรรมวินัยสูงมาก ต่อมาเจ้าอาวาสก็ได้เห็นและก็รู้สึกได้ว่าพระองค์เนี่ยจะเป็นพระที่เป็นเกจิอาจารย์ในอนาคต จะมาแทนตัวเองได้ เมื่อพระหนุ่มได้ไปพบกับเหตุการณืในศาลในวันนั้น ทำให้ตัวเองคิดได้ว่าตัวเองไม่เข้าใจในมนุษย์ ไม่คิดว่ามนุษย์จะโกหกพร้อมกัน 3 คนในเวลาเดียวกัน ก็เลยคิดว่าตัวเองโง่และก็เลยจะสึก เพราะฉะนั้นการเลือกนักแสดงที่จะมาสวมวิญญาณเป็น “อานนทภิกขุ” คนที่เหมาะที่สุดในยุคนี้ก็ต้องเป็น “มาริโอ้ เมาเร่อ” ด้วยลักษณะที่เขามีใบหน้าสวยงาม เหมือนพระพุทธรูป ที่ไม่มีเพศ ที่เน้นเป็นความงาม และพอมาลองแต่งเป็นพระดู โอ้ก็กลายเป็นงามนะ พอเขาไม่มีผมหน้าเขาจะเด่นมากประกอบกับเมื่อใส่ผ้าเหลืองเขาดูมีออร่า มีราศี เกิดมาเพื่อเล่นบทนี้จริงๆ คงไม่มีใครเหมาะสมเท่า และประกอบกับที่แกอยากร่วมงานกับเรามากนะ สอนแกมา 3 ปีแล้วแต่ไม่เคยร่วมงานกันเลย เป็นงานแรกที่เป็นการได้ร่วมงานกับตัวเรา และได้ร่วมงานกับอนันดาซึ่งถือเป็นไอดอลของเขานะ เขาก็มีความสุขและทุ่มเทให้กับการทำงานมาก
“คนตัดฟืน” (หม่ำ จ๊กม๊ก) เป็นตัวละครสำคัญอีกคนหนึ่งในการเดินเรื่อง เป็นคนที่ดูแล้วเป็นที่น่าเอ็นดูและเป็นคนซื่อ เป็นคนที่จะไม่ทำผิดศีลธรรม เราเห็นได้ในตัวหม่ำ เห็นแล้วก็เหมาะกับตัวหม่ำมากน่าเอ็นดูในดวงตา อันนี้ลักษณะการแสดงนะไม่ได้ดูลักษณะภายนอก มองตัวจริงเขานะ ดูว่าหม่ำที่คนดูเห็นในรายการหรือภาพยนตร์ต่างๆ ที่เขาเล่น เราไม่ได้เลือกหม่ำที่ตรงนั้น เราเลือกหม่ำจากตัวจริงของเขา และที่สำคัญคือตัวละครตัวนี้จะรักครอบครัว มีจิตใจที่บอบบางละเอียดอ่อนมาก ซึ่งตัวหม่ำเองก็เป็นเช่นนั้น ที่ทำงานหนักมาทั้งหมดก็เพราะเขารักครอบครัวมาก คิดว่าเราก็เลือกคนไม่ผิด แต่ก็กลัวอยู่เหมือนกันว่าทุกคนจะติดภาพการแสดงที่หม่ำเป็นตลก บางคนก็เอาไปเปรียบเทียบกับการแสดงของเขาว่าไม่เวิร์ค เราไม่ได้มองตรงนั้น เรากลับเห็นตัวตนของหม่ำเอง ในหม่ำตัวจริงๆ โดยที่ปราศจากการแสดงใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งตัวหม่ำเองก็หนักใจมาก เขาก็ไม่มั่นใจและกลัวทำหนังหม่อมเสีย เราก็บอกเขาว่าไม่ต้องกลัว ให้แสดงจากตัวตนของเขาเองจริงๆ ซึ่งเขาก็ทำได้ดีมาก เราก็ปลื้มใจเขามาก เรารู้สึกศรัทธาในการทำงานของเขามาก เขาทุ่มเทจริงๆ ในสิ่งที่เขาไม่เคยสัมผัสเลย เขาไม่เคยเล่นแบบนี้เลย เขาพยายามทิ้งลักษณะการแสดงที่เขาทำมาตลอดทั้งชีวิต เพื่อที่จะทำแบบนี้ให้ดีที่สุด ปลื้มมาก เห็นความพยายามในตัวของเชามาก พยายามที่จะแสดงให้เป็นธรรมชาติที่สุด เข้าถึงตัวละครที่สุด เห็นว่าเขาตั้งใจทำงานมากๆ น่าเอ็นดูมากๆ โกรธตัวเองเวลาตัวเองจำบทไม่ได้ ก็พยายามบอกเขาว่าไม่ต้องซีเรียส สบายๆ ซึ่งสุดท้ายเขาก็ทำออกมาได้ประทับใจที่สุด เรารู้สึกเป็นเกียรติมากนะที่เขามาเล่นภาพยนตร์ให้เรา
ในด้านการทำงานกับ หม่ำ จ๊กม๊ก การกำกับมีความยากง่ายอย่างไร
เรารู้สึกว่าไม่ยากเลย เพราะเราพยายามให้เขาสบายๆ เป็นธรรมชาติที่สุด ด้วยความที่เขาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ด้วย เขากลับช่วยเราได้เยอะมาก เขาเข้าใจมากในกรณีที่กองถ่ายมีปัญหา เช่น แสงกำลังจะหมดไป เราถ่ายในป่าบนเขา เพราะฉะนั้นพระอาทิตย์จะลับเหลี่ยมเขาเร็วกว่าปกติ จะมืดเร็ว เพราะฉะนั้นเขาจะเข้าใจมากว่าในโมเม้นต์นี้แสงกำลังสวย และทุกอย่างต้องรีบ เขาจะช่วยเหลือมาก เขาจะเข้าใจวิธีการทำงานภาพยนตร์ และก็หลายต่อหลายครั้งที่มีปัญหา เช่น ถ่ายในวัดอุโมงค์ มีพระมายืนดูซึ่งก็เข้ามาในเฟรม ปกติก็ไม่เป็นไรเพราะเราก็ไปลำบากท่าน แต่หม่ำก็บอกว่า “หลวงพี่ครับ ขอหน่อยครับ” เราก็ได้ยินเสียงหลวงพี่ตอบกลับมาว่า “ไม่เป็นไร เพื่อหม่ำอาตมาทำได้” เขามีน้ำใจนะ รู้เลยว่าปัญหาที่กองถ่ายเป็นยังไง ก็สมกับเขาเป็นซูเปอร์สตาร์จริงๆ ทำการบ้านมาก อย่างถ่ายในวัดถ้ำหลวงเชียงดาว มารู้ตอนหลังแล้วว่าแกกลัวที่แคบแก กลัวที่ลึก ที่อ๊อกซิเจนน้อย ซึ่งก็รู้ว่าแกทนมาก พอรู้อย่างนั้นเราก็บอกว่าเราก็เป็นเหมือนหม่ำ เราก็กลัว แต่การทำงานก็ต้องโฟกัสให้กับงาน แกก็ไม่บ่นอะไรเลย แต่รู้ว่ากลัว ที่ถ่ายมันลึกมากพอสมควร ก็เลยต้องมีขวดอ๊อกซิเจนในกองถ่ายเผื่อไว้ รู้สึกประทับใจในการทำงานของเขามาก กลายเป็นตัวละครที่เรานึกไว้ได้จริงๆ ใจจริงอยากให้เขาได้รางวัลนะ เพราะว่าหม่ำเป็นคนที่พรสวรรค์ในการทำงานมาก เพราะว่าการเป็นตลกมันไม่ใช่เรื่องที่จะสอนกันได้ เป็นเรื่องที่ต้องมีพรสวรรค์อย่างสูง และก็ทำให้เราได้เห็นหม่ำเล่นบทชีวิตได้ ถ้าแกได้รางวัลแกก็จะมั่นใจว่าแกเล่นอย่างอื่นได้เหมือนกัน ไม่ใช่ตลกอย่างเดียว
มาถึงตัวสัปเหร่อ
ก็อย่างที่บอกไว้แล้วว่า “อ๊อฟ พงษ์พัฒน์” เมื่อ 20 ปีที่แล้วเขาเคยเล่นเป็นโจร และบทที่เขาจ้องอยู่นอกจากโจรก็เป็นตัวสัปเหร่อที่เขาอยากเล่นมาตั้งแต่ตอนนั้นละ แต่ตอนนั้นเขาก็ยังหนุ่มอยู่ แต่ตอนนี้ด้วยวัยของเขา ฝีมือการแสดงของเขา ไม่มีใครเหมาะเท่าอ๊อฟ และเขารักบทนี้อยู่แล้ว เขาอยากเล่นบทนี้อยู่แล้ว มันก็เลยเป็นการง่ายที่เขาจะเข้าถึงมัน เวลาว่างก็จะซ้อม นักแสดงทุกคนเหมือนกัน พอเวลาว่างเขาก็จะมาซ้อมกัน ให้คิวมาซ้อมกันอย่างเต็มที่ กับอ๊อฟก็ยิ่งสบายเพราะกับเราก็เคยทำงานด้วยกันมาแล้วตั้งแต่เขายังหนุ่มทั้งละครเวที ทั้งภาพยนตร์ เคยทำงานกันมาแล้วมันก็เข้าทางกัน ก็ไม่มีปัญหาอะไรเลย ถึงจะต้องเมคอัพมากขนาดไหนก็ไม่มีปัญหาเลย ตอนแรกเราก็กลัวเหมือนกันเพราะคนที่เมคอัพยากมากเลยคือพงษ์พัฒน์กับมาริโอ้ต้องตื่นตี 4 ใช้เวลาแต่งหน้า 3-4 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นเราก็กลัวเหมือนกัน เราก็เกรงใจเหมือนกัน อ๊อฟปกติไม่ตื่นเช้าขนาดนั้น แต่ว่าเขาก็ตื่นตี 4 ได้ และก็ไม่บ่นอะไร เพราะเขาก็รู้ว่ามันจำเป็นมาก ทั้งมาริโอ้ก็เหมือนกัน ต้องตื่นตี 4 หมด เพื่อให้ถ่าย 7 โมงเช้าให้ได้ เพราะเราทำงานค่อนข้างเช้า ก็คิดว่าอ๊อฟเขาก็แสดงออกมาได้เป็นตัวละคร ก็ถือว่าเป็นอีกงานหนึ่งที่เป็นชิ้นโบว์แดงของเขา หรือของนักแสดงแทบทุกคน
ตัวละครตัวต่อไปคือ ตัวขุนศึก
ทีนี้ก็มาตัวขุนศึกที่เป็นบทของ “อนันดา เอเวริงแฮม” ขุนศึกเป็นตัวละครที่เราคิดว่าเล่นยากที่สุด เพราะว่ามีบทพูดน้อยมากต้องถ่ายทอดออกผ่านดวงตา มีบทพูดน้อยไม่พอยังต้องโดนปิดปากในตอนที่เขาโดนจับมัด เป็นฉากที่สำคัญทั้งนั้นเลย ทั้งฉากที่ภรรยาโดนข่มขืนและก็โดนโจรมาถากถางอะไรต่อมิอะไร รวมทั้งฉากที่ภรรยาฆ่าตัวอีก ทุกฉากของเขาเล่นยากมาก เพราะว่าโดนมัดอยู่กับต้นไม้ไม่พอ เขาใช้ภาษากายในการสื่อสารไม่ได้เลย คำพูดสื่อสารไม่ได้เลย ก็เลยใช้ดวงตาได้อย่างเดียว เพราะฉะนั้นสำหรับเราคิดว่าบทที่คิดว่าเล่นยากที่สุดคือบทนี้ อนันดาก็ขอเล่นบทนี้ด้วย และเราก็เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่อนันดาจะต้องมาผ่านความยากอีกครั้งในบทนี้ ด้วยความที่ทำงานด้วยกันมาตลอด ก็จะรู้ว่าจะพาอนันดาไปถึงตรงไหนได้ และตัวอนันดาเองก็ทุ่มเทมากและก็ทำออกมาได้ดี
ตัวละครแม่หญิงของพลอย เฌอมาลย์
สำหรับ “พลอย เฌอมาลย์” ในบท “แม่หญิงคำแก้ว” หรือเป็นเมียขุนศึกเนี่ย เป็นบทผู้หญิงที่ยากที่สุดที่เคยมีมาสำหรับภาพยนตร์ เพราะบทละครเรื่อง “ราโชมอน” ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย นักเรียนที่เรียนดราม่า หรือเรียนการละครของโลก เขาเอาบทนี้ไว้สอบกัน สำหรับตัวผู้หญิงนะ เพราะบทนี้มีหลากหลายอารมณ์มาก พูดเยอะ ไดอะล็อกเยอะมาก และก็พูดคนเดียวเยอะมาก มันต้องฝีมือในการแสดงสูงมาก และที่สำคัญคือเขาต้องเล่นเป็น 4 คาแร็คเตอร์ในคนเดียวกัน คือในการให้การของโจรเขาก็ต้องเล่นอย่างหนึ่ง การให้การของตัวเองก็จะเล่นอย่างหนึ่ง การให้การของขุนศึกที่ผ่านตัวคนทรงก็ต้องเล่นอีกอย่างหนึ่ง และในส่วนของคนตัดฝืนที่แอบเห็นอยู่ ก็ต้องเล่นให้ขาดมาก 4 เรื่องในเรื่องเดียวกัน เราไม่เห็นนักแสดงคนไหนมีความสวยแบบพลอย ซึ่งเขาไม่ได้สวยแบบเดียว เขาเป็นยังไงก็ได้เ สวยสง่าเป็นเจ้าหญิงก็ได้ จะสวยแบบเย้ายวนก็ได้ เขาจะสวยแบบคนใช้ก็ได้ เขาต้องเล่นเป็นหลายคาแร็คเตอร์มาก หรือสติเสียก็ได้ คือมันเยอะมาก และพลอยเขาก็เป็นได้ทุกอย่างในการเล่าของโจร ที่นั่งเสลี่ยงมาเป็นเจ้าหญิง เป็นแม่หญิงคำแก้ว เมียขุนศึกเจ้าหล้าฟ้าแห่งนครเชียงคำ พอตอนที่ตัวเองเล่าเขาต้องบอกว่าเขาเป็นคนใช้มาก่อนเขาก็เล่นได้ และส่วนตรงที่วิญญาณขุนศึกเล่าว่าผู้หญิงคนนี้กาลีเหลือเกิน โหดเหี้ยมเหลือเกิน ร้ายเหลือเกิน ใจอำมหิต เขาก็ทำได้ หรือในฉากสุดท้ายที่เขาต้องเสียสติเขาก็ทำได้ คิดว่าไม่มีใครเหมาะกับบทนี้เท่าพลอย จริงๆ สงสารเขามาก เพราะเขาไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจมาเล่นบทนี้เลย เพราะงานเขาเยอะมาก ตอนแรกเขาปฏิเสธซะด้วยซ้ำ เขาก็บอกว่าเขาเล่นในเรื่อง ชั่วฟ้าฯ” บทก็หนักแล้ว และในเรื่องที่เขาเล่นเป็นน้ำหวานอะไรนั่นอีก คือมีแต่บทหนักๆ อยากจะรับอะไรเบาๆ บ้าง เขาอยากจะรับอะไรที่มันสบายๆ เขาก็หนักมาทั้งปีแล้วเมื่อปีที่แล้ว เราก็เลยบอกนะเพื่อชาตินะพลอย อีกสักครั้งหนึ่งเถอะ ทั้งที่งานเขาแน่นมาก แต่เจ้าตัวก็เล่นบทนี้ถ่ายทอดออกมาอย่างเต็มที่ อย่างเต็มฝีมือ ทำให้หลายๆ คนที่มีความรู้ด้านการแสดงก็ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พลอยได้ก้าวขึ้นไปอีกระดับแล้วในฝีมือการแสดง ศิลปะการแสดง ในเมื่อปีที่แล้วบท ยุพดี ก็ถือว่าสมบูรณ์แบบที่สุดแล้ว ในความเป็นนักแสดงหญิงของเมืองไทย ครั้งนี้เขาก็ข้ามอีกสเต็ปหนึ่งแล้วที่สามารถเล่นเป็นคน 4 คนได้ในภาพยนตร์เรื่องเดียวกัน ซึ่งฝีมือก็คือเป็นอินเตอร์ไปแล้ว เขาได้พิสูจน์ตัวเองได้อย่างสมภาคภูมิในภาพยนตร์เรื่องนี้
มาถึงตัวโจรป่า
“โจรป่า” เนี่ยมีการคิดอยู่หลายคนเหมือนกันว่าใครจะเหมาะ เพราะว่ารูปลักษณ์ต้องดูเป็นโจรที่โหดเหี้ยมมากจริงๆ เป็นโจรที่โหดเหี้ยมแต่ในขณะเดียวกันก็มีความซื่อและโง่อยู่ในนั้น คือถ้าไม่โง่ เขาคงไม่โดนจับได้ และมีความเป็นโจรที่เก่งและมีความตลกอยู่ในนั้น ขณะเดียวกันจะดูเท่ ดูโหดร้ายก็เป็น มีหลายคาแร็คเตอร์มากอีกเหมือนกันในตัว ไม่ใช่โหดเหี้ยมอย่างเดียว มีความซื่อ มีความท้อแท้กับชีวิตมันต้องเผชิญกับความตาย มันกล้าหรือไม่กล้ามีหลากหลายอารมณ์ แต่ที่สำคัญมันจะมีความตลกนิดๆ อยู่ในนั้น ซึ่งก็ได้มองหลายๆ คน และนี่ก็เป็นครั้งแรกที่ลองเรียก “ดอม เหตระกูล” มาดู เพราะดอม เราก็ไม่ค่อยได้เห็นงานเขาสักเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นหนังไทยหรือละครโทรศัศน์ ไปเห็นเขาเล่นในหนังฝรั่ง ได้เห็นแล้วก็เอ๊ะ ทุ่มเทมากเขาเล่นดีจังเลยเป็นธรรมชาติ อยากจะได้มาออดิชั่น และเขาก็ได้ในรูปลักษณ์ และก็มีความตลกอยู่นิดๆ ในตัว ซึ่งในตัวละครตัวนี้มันมีมิติ แล้วก็ปรึกษากับคุณเจียง ก็มีความเห็นว่าดอมน่าจะเหมาะที่สุด ซึ่งเขาก็เหมาะจริงๆ เขาตั้งใจมาก ซ้อมเยอะ จนเสียงแหบแห้ง บางทีก็สงสารแกเหมือนกันเพราะแกเป็นคนเดียวที่นุ่งผ้าเตี่ยวในขณะที่อุณหภูมิ 4 องศา ไม่มีอะไรช่วยแกเลยซึ่งก็สงสารมาก พอสั่งคัททีก็ต้องเอาไฟ ถ่าน กระป๋องน้ำร้อนมาช่วยแก แกก็ทำงานออกมาได้น่าพอใจ เพราะว่ามันก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง มันเป็นการเล่นเป็นโจรที่มีมิติของตัวละคร คิดว่าเลือกคนได้ถูกต้อง
บทคนทรงวิญญาณขุนศึกก็เป็นอีกหนึ่งบทสำคัญ
บทของ “รัดเกล้า อามระดิษ” คือตัวคนทรงที่วิญญาณของขุนศึกมาสิงเนี่ย เราเลือกรัดเกล้า ซึ่งน้อยคนนักที่จะรู้ว่าเธอเป็นนักแสดง คือเธอจบอักษรศาสตร์ จุฬา ศิลปะการละครด้วย ภาพลักษณ์ส่วนใหญ่เธอจะเป็นนักร้องอย่างเดียว จริงๆ แล้วเธอเป็นนักแสดงที่มีคุณภาพมาก เป็นนักบัลเล่ต์ด้วย เพราะฉะนั้นการนำเสนอของคนทรงเราจะนำเสนอในรูปแบบที่เป็นสากลหน่อย คือมีการผสมผสานกันระหว่างการร่ายรำของวัฒนธรรมล้านนากับโมเดิร์นแดนซ์ผสมกัน ในขณะเดียวกันต้องเล่นไปด้วยซึ่งอันนี้ยากมาก นักแสดงที่ไม่ได้โดนเทรนนิ่งทางการเคลื่อนไหวอย่างเชี่ยวชาญ บทนี้จะยาก เพราะฉะนั้นรัดเกล้าก็เหมาะที่สุด การใช้เสียงของเขา การใช้ร่างกายของเขาทำให้บทนี้มีสีสันดูน่ากลัวมีมิติ และก็มีพลังมาก ขณะที่ถ่ายทำเขาสามารถตรึงคนเป็นร้อยคนบนยอดเขาให้เงียบได้ทั้งกองถ่าย บางคนคิดว่าแบบมีวิญญาณมาเข้าจริงๆ ซึ่งอันนี้เราคิดว่าคนดูจะรู้สึกประทับใจในฝีมือของรัดเกล้า ซึ่งแสดงในเพียงฉากเดียวแต่ว่า โอ้โห มันเต็มไปด้วยศิลปะการแสดงที่สูงมาก ทั้งอารมณ์ ทั้งการเคลื่อนไหว การใช้เสียงทุกอย่างสามารถทำให้เราเชื่อได้ว่ามีวิญญาณสิงอยู่จริงๆ
ช่วงโปรดักชั่น-การถ่ายทำใช้เวลานานแค่ไหน
ถ้านับเป็นเดือนก็เดือนกว่าๆ ใช้ 18 คิวถ่าย 18 วันถ่าย ก็ไม่ถือว่าเร็วกว่าปกติ ไม่รู้สึกอย่างนั้น มันอาจจะเป็นเพราะว่าเราเตรียมงานกันเยอะมาก ประกอบกับเรื่องนี้มันไม่ยาว “ชั่วฟ้าดินสลาย” ความยาวมันยาวกว่าเยอะมาก เต็มเหนี่ยวกันจริงๆ ก็ 3 ชั่วโมง 15 นาที แต่เรื่องนี้ไม่ยาวนักไม่เกิน 2 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นก็เป็นไปตามความยาวของหนัง และก็ประกอบกับจริงๆ แล้วไม่ได้คิดว่าจะถ่ายเร็วถ่ายช้า แต่เป็นเพราะอย่างว่าล่ะ ซูเปอร์สตาร์มารวมกันขนาดนี้แต่ละท่านก็มีงานเต็มซะเหลือเกิน คิวถ่ายมันก็โดนจำกัดโดยนักแสดงให้มา ซึ่งเขาก็เคลียร์เต็มที่ อย่าง “หม่ำ” ก็หยุดงานมา 5 วันเพื่อถ่ายเรื่องนี้ ซึ่ง 5 วันนั้นก็ทำงานกันอย่างเต็มที่หมด เรามีการเตรียมพร้อม มีการซ้อมมาเป็นอย่างดีแล้ว การทำงานมันก็เลยค่อนข้างราบรื่น “พงษ์พัฒน์” เองก็เวลาจำกัดด้วย เพราะตัวเขาเองก็เป็นผู้กำกับด้วย เขาก็มีงานของเขาเยอะมาก 18 วันนี้มันก็ไม่ได้เหนื่อยเกินไป หรือว่าเบาเกินไป มันไม่ได้บีบคั้นเกินไปด้วย มันก็ทำงานกันอย่างสบายๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นก็จะเป็นบังเอิญที่โลเกชั่นที่เราใช้ถ่ายทำมันมีมรสุมเข้า นั่นละที่ทำให้มีปัญหาเกิดขึ้น ในเดือนมีนาคมอากาศก็หนาวผิดปกติ มีฝนตกตลอดเวลา โดยเฉพาะบนเขาม่อนแจ่มที่เราสร้างเป็นลานหลวง ซึ่งพอพายุเข้าฉากก็พังหมด ที่ตั้งเอาไว้ก็พังลงมา เละเป็นโคลนหมด และก็ลมแรงเหลือเกิน ไม่สามารถสร้างอะไรได้เพราะมันอยู่บนยอดเขาจริงๆ ฟ้าผ่าอีกต่าหาก คือทีมศิลปกรรมไม่สามารถขึ้นไปทำอะไรได้เลย มันอันตรายมาก แค่เดินทางขึ้นไปก็อันตรายอยู่แล้วนี่ก็กลายเป็นโคลนเป็นเลนไปหมด ตรงนั้นที่เป็นปัญหา แล้วก็เรื่องปัญหาม้าที่สวยมากแต่ไม่ได้ถูกฝึกมาเพื่อการแสดง และเขาก็เจออากาศแบบนั้น ต้องไปแก้ปัญหากันแต่ก็สำเร็จลุล่วงได้เป็นอย่างดี เพราะก็นึกอยู่ในใจตลอดเวลาว่าไม่ได้ทำเรื่องเพื่ออย่างอื่นนอกจากเป็นพุทธบูชา
เรื่องสภาพอากาศคือปัญหาเดียวที่เจอ
ใช่ เป็นปัญหาเดียวที่มี ประกอบกับฉากสุดท้ายของหนัง ฉากสุดท้ายมีแผ่นดินไหวมาอีกต่างหาก ทุกคนจะบอกทำไมหนังเรื่องนี้มันเฮี้ยนเหลือเกิน กำลังจะปิดกล้องก็แผ่นดินไหว ระหว่างการถ่ายก็ต้องวิ่งออกจากโลเกชั่น เป็นแผ่นดินไหวที่ค่อนข้างแรงมากนะ ที่เชียงใหม่จะแรงมาก ก็เกิดมาไม่เคยเจอแผ่นดินไหวอะไรแรงขนาดนั้นในฉากสุดท้ายที่ถ่ายทำที่ดาราเทวี เชียงใหม่
โลเกชั่นที่ใช้ถ่ายทำ
การถ่ายทำเราก็เลือกโลเกชั่น 3 จังหวัดเลย ที่เชียงใหม่ก็ถ่ายที่ถ้ำหลวงเชียงดาว, วัดอุโมงค์, น้ำตกหมอกฟ้า บนดอยม่อนแจ่ม ม่อนล่อง ซึ่งบางที่ก็เดินทางค่อนข้างยากเล็กน้อย และก็ที่ลำปางถ่ายที่พระธาตุลำปางหลวง เชียงรายก็ถ่ายที่เวียงป่าเป้า เดินทางยากลำบาก เดินทางไปในที่ๆ ไม่เคยมีใครขึ้นไปถ่ายเลย ซึ่งสวยงามมากก็ถ่ายเยอะนะ เพราะตอน “ชั่วฟ้าดินสลาย” ก็ถ่ายแค่เชียงใหม่, เชียงราย เรื่องนี้โลเกชั่นก็แตกออกไปอีกมากมายและตัวละครเยอะกว่า และมีฉากที่ต้องสร้างเยอะกว่า มันก็ค่อนข้างจะยุ่ง และทีมงานก็เยอะกว่า แต่ก็เป็นไปได้ด้วยดี ทุกอย่างก็ราบรื่นเป็นไปตามที่เป้าหมายวางเอาไว้ แม้กระทั่งมีพายุฝนก็ตาม ตอนแรกคิดว่าจะต้องมีการเลื่อนกำหนดปิดกล้องไปอีก แต่นับว่าเป็นบุญ ทุกอย่างก็สำเร็จไปได้ตามที่ใจปรารถนา
ฉากในถ้ำเชียงดาวที่ 3 ตัวละครหลักเล่าเรื่องราว มันมีความสำคัญอย่างไรบ้าง
คือเรามองว่าเซ็ตหรือฉากอุโมงค์ผาเมืองนอกจากเป็นกำแพงเมืองที่มีอุโมงค์อยู่ข้างใต้ ความหมายที่ลึกซึ้งไปกว่านั้นคือเหมือนภาพยนตร์เรื่องนี้พาคนดูเข้าไปในอุโมงค์ เข้าไปถึงจิตใจของมนุษย์ พาเข้าไปรู้จักสัมผัสกับจิตใจของตัวเอง ถ้าดูภาพยนตร์เรื่องนี้ดีๆ มันคือมีฉากที่พระหนุ่มได้เจอกับคนตัดฟืน และต้องเข้าไปอยู่ในอุโมงค์ผาเมืองด้วยกัน เพราะมีพายุฝน ซึ่งก็เป็นการทำให้คิดได้ว่า พระพุทธเจ้า พระเจ้า หรือพระพรหมก็ได้ เป็นผู้ที่ทำให้เกิดขึ้น เพื่อที่พระหนุ่มจะได้เข้าไปถึงจิตใจของอีกคนหนึ่ง ได้เจาะลึกถึงจิตใจ สังเกตดีๆ ว่าภาพจะทำให้เห็นว่า เมื่อเข้าไปในอุโมงค์ มันก็จะลึกลงๆ และไปสัมผัสอะไรที่มันน่ากลัว ก็เหมือนกับสมองของมนุษย์ มีหลายฉากที่จะเห็นสัปเหร่อ เห็นพระ เห็นคนตัดฟืน ตัวเล็กๆ และมีไฟ ทำให้ดูเหมือนว่าอยู่ในถ้ำอุโมงค์ที่ใหญ่ๆ เหมือนกับพาคนดูเข้าไปในจิตใจ เบื้องลึกของมนุษย์ทุกคน และในตอนจบพระท่านก็ได้พบสัจธรรม และเดินออกมาจากอุโมงค์สู่ความสว่าง และเกิดมีการกำเนิดใหม่ของท่าน การเริ่มต้นของท่าน ท่านพ่ายแพ้ชีวิต ท่านพ่ายแพ้ตัวเอง ท่านคิดมากหน้าเศร้าตลอดเวลา แต่ตอนท้ายเรื่องหน้าท่านสว่างไสวราวกับดอกบัว และก็เดินออกไปสู่ความสว่าง เพราะฉะนั้นการเลือกโลเกชั่นเนี่ย ก็ต้องมองว่าวัดที่ไหนเป็นอุโมงค์ ก็วัดที่เชียงใหม่ มีซากปรักหักพัง และคล้ายกำแพงเมือง ส่วนในถ้ำเชียงดาวมันจะเป็นการพาลึกเข้าไปในอุโมงค์ ลึกลงไปในถ้ำซึ่งมีโถงใหญ่ มีพระเก่าประดิษฐานอยู่ ซึ่งพระหนุ่มท่านไปที่ไหนท่านก็เจอแต่พระ และพระที่เศียรขาด ไม่มีใครทำนุบำรุงเหมือนกับจิตใจของมนุษย์ที่นับวันก็ยิ่งเสื่อมลง เหมือนกับคำสอนของพระที่บอกไว้ว่า ตอนสร้างอุโมงค์ผาเมืองแต่ก่อนก็สร้างไว้อย่างใหญ่โตและแข็งแรงดี นานเข้าก็เสื่อมโทรมไปเหมือนใจคน คือสะท้อนให้เห็นถึงสภาพจิตใจมนุษย์ในยุคที่เสื่อมที่สุดเมื่อมนุษย์ยึดแต่วัตถุ เงินทอง และทำอะไรก็ได้ให้ตัวเองดูดี มีความสุข คือความเห็นแก่ตัวนั่นเอง ความเห็นแก่ตัวก็ก่อให้เกิดปัญหาระดับประเทศชาติเราก็ได้เห็นๆ กันมา เพราะฉะนั้นจะบอกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้สอนเพียงศีลธรรมอย่างเดียวก็ไม่ใช่ มันก็สอนให้คนดูได้รู้ว่าชีวิตคืออะไร เรากำลังเผชิญอยู่กับอะไร และเราควรจะแก้มันอย่างไร การเลือกโลเกชั่นอุโมงค์ผาเมืองก็คิดกันหนักมาก ก็มองหาเยอะไปหมด ก็มาลงตัวที่วัดอุโมงค์และวัดถ้ำหลวงเชียงดาว ซึ่งก็เป็นสถานที่ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธ์ทั้งสองที่ ทุกสถานที่ที่เราใช้ถ่ายทำเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทุกที่ เราก็จะต้องทำพิธีการไว้ก่อนเสมอ ขอขมาทุกครั้งก่อนการถ่ายทำ
ฉากประหารที่ลานหลวง
คือเรามองว่าให้ดูดีๆ ว่าภาพทำไมต้องอยู่บนเขา ฉากข้างหลังก็เป็นภูเขาที่ซับซ้อน และให้การบนเวที เห็นไหมว่าแต่ละคนดูใหญ่กว่าธรรมชาติ โดยมีภูเขาสลับซับซ้อนอยู่ ทุกตัวละครจะรู้สึกว่าตัวเองยิ่งใหญ่กว่าธรรมชาติ เหนือธรรมชาติ โดยเฉพาะโจรป่าและเมียขุนศึก แต่จริงๆ แล้วมนุษย์พ่ายแพ้ธรรมชาติ ซึ่งผิดกับที่เราไปถ่ายที่บนยอดเขาที่เวียงป่าเป้า ที่เห็นพระหนุ่มเดินออกจากวัด และดูพระองค์เล็กนิดเดียว ในขณะที่ธรรมชาติดูใหญ่มโหฬาร มนุษย์ก็แค่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติก็แค่นั้นเอง แต่เรามักจะคิดว่าเราเหนือธรรมชาติ จะพูดไปเมื่อมีแผ่นดินไหวที่ไหนอย่างไรเรายังพ่ายแพ้ หรือสึนามิที่ญี่ปุ่นเราก็พ่ายแพ้หมดเลย นึกว่าตัวเองสูงส่งกว่า โดยเฉพาะเจ้าหลวงเองก็ยังสร้างปะรำพิธียาวอย่างกับเป็นสวรรค์อยู่บนยอดเขา และจะมีการใช้ Long Shot มากที่จะทำให้เห็นความเวิ้งว้าง เกิดมาแล้วก็เวิ้งว้าง เหมือนตายคนเดียวและต้องเผชิญชะตากรรมอันยิ่งใหญ่มาก มีทหารคอยเฝ้า มีกฎเกณฑ์ของสังคมมาล้อมกรอบตัวละครอยู่หมดเลย ตัวเจ้าหลวงก็เหมือนผู้ที่เสวยสุขกับวัตถุกับเครื่องแต่งกายกับรอบกายที่มีข้าทาสบริวาร เสวยแต่ความสุข แม้กระทั่งว่าตัวเองกำลังให้การพิพากษาอยู่นะ แต่ก็ยังเสวยสุขกับเกียรติยศ ที่มันเป็นกิเลสทั้งหลาย เราจึงจำเป็นต้องสร้างฉากลานหลวงให้เกิดขึ้นบนยอดเขา เพื่อให้ได้ความรู้สึกนี้
ฉากป่าสน สถานที่เกิดเหตุนั้นสะท้อนภาพอะไร
ฉากเกิดเหตุที่เลือกป่าสน จะเห็นได้ชัดเลยว่าโจรป่าเนี่ยหลงความงามของผู้หญิงคนนี้ พอนั่งเสลี่ยงแล้วม่านเปิดออกมาได้เห็นความงาม มันกลายเป็นว่าเป็นความงามธรรมชาติที่น่าหลงใหล ตัวโจรก็ลุ่มหลงผู้หญิงคนนี้ ส่วนตัวขุนศึกก็หลงอยากได้ดาบด้ามทองในป่า เพราะฉะนั้นป่าแถบนั้นมันเลยกลายเป็นป่าที่สวยงามดูลึกลับเหมือนกรง ก็จะเห็นได้ว่าเหมือนตัวละครพวกนี้กำลังเข้ามาอยู่ในกรง ตั้งแต่พระเข้ามาเห็น ก็เหมือนเข้าไปในอุโมงค์อีกอุโมงค์หนึ่ง เหมือนกรงต้นสนที่เรียงกันมันเหมือนเป็นกรง และต้นไผ่ที่ดูเหมือนกรงเช่นกันในตอนที่โจรพาเดินไป มันไม่ใช่แค่ขุนศึกที่ติดกรง แต่มันก็ทั้ง 3 คนนั่นแหละ พอเริ่มมีกิเลสก็เหมือนติดกรง ติดกับกันเองเพราะกิเลสตัณหา
ส่วน “น้ำตกหมอกฟ้า” ก็แสดงให้เห็นว่าแต่ละครั้งที่คนเล่ามันอยู่คนละที่กันหมดเลย แล้วแต่คนปรุงแต่ง ตอนโจรให้การมันดันไปเกิดขึ้นตรงน้ำตกทำให้ดูใหญ่เพราะตัวเองเป็นเจ้าป่าสะท้อนให้เห็นคาแร็คเตอร์ของตัวละครตัวนี้ ดูเป็นเจ้าเพราะตรงนั้นเหมือนท้องพระโรงกว้างๆ ใหญ่มโหฬาร ความงามของน้ำตกซึ่งน้ำตกก็มีความหมายหลายอย่างมาก ดูตัวโจรเป็นผู้ยิ่งใหญ่ตัวใหญ่ จะเห็นคนอื่นเหลือตัวเล็กนิดเดียว ส่วนตอนที่แม่หญิงเล่าก็เป็นตอนที่เกิดในป่าไผ่ เหมือนว่าตัวเองเป็นนกน้อยที่ติดอยู่ในกรง เป็นกรงของต้นไผ่เหมือนตัวเองโดนติดกับ และสุดท้ายตนเองก็ติดกับนั้นเอง อยู่ในวังวนนั้นและทำอะไรไม่ได้นอกจากฆ่าสามี ส่วนตรงที่วิญญาณของขุนศึกมาเล่าก็เกิดขึ้นตรงน้ำตกแต่ก็ห่างออกมา และมีลำธารซึ่งมีความหมายเป็นน้ำตากับโลหิตที่ขุนศึกเห็นเมียนอกใจอยู่ มันไม่ใช่น้ำตาเพียงอย่างเดียว อนันดาเล่นร้องไห้นิดเดียวที่ตาแต่ใจเขาเนี่ยเหมือนน้ำตกที่ไหลอยู่ตรงหน้า และค่อยๆ ตกลงไปทีละชั้นๆ เหมือนจิตตก และเวิ้งว้างมาก แต่ตอนฆ่าตัวตายก็ยังคงความยิ่งใหญ่มาก กับน้ำตกที่สูงมากและใหญ่มาก ตรงโคลนหินเหมือนเป็นอนุสาวรีย์ อยากให้คนชื่นชมตัวเอง เหมือนวีรบุรุษ สังเกตดีๆ ท่าตายหรือที่ๆ ยืนอยู่มีลักษณะเหมือนรูปปั้นอนุสาวรีย์ อยากให้คนอื่นพูดถึงเขาด้วยความศรัทธา ด้วยความยิ่งใหญ่
เนี่ยเป็นความหมายของแต่ละโลเกชั่น ส่วนที่ดาราเทวีที่เป็นคุ้มของขุนศึกกับแม่หญิง ตรงนั้นก็เป็นการให้การของแม่หญิง จะเป็นปราสาทราชวังที่สวยงามยิ่งใหญ่เกินความเป็นจริง เพราะก็เป็นการแต่งแต้มเติมสีเข้าไปเวลาเราเล่าที่เราอยากจะเล่าให้มันดีๆ เราก็มักจะเล่าให้มันโอเวอร์เสมอ มักจะเกินจริงออกมาเสมอ ซึ่งจริงๆ แล้วคุ้มของขุนศึกจริงๆ อาจจะไม่ได้ใหญ่ขนาดนั้นแต่ก็เล่าให้ใหญ่ขนาดนั้นได้ ทุกอย่างก็มีความหมายหมด
แก่นแท้ของภาพยนตร์เรื่องนี้
คือเนื่องจากว่าบรรยากาศของเรื่องนี้ถูกสมมติขึ้นให้เกิดเมื่อ 500 ปีที่แล้วในยุคที่มนุษย์ให้ความสำคัญกับวัตถุมากกว่าจิตใจให้ความสำคัญกับเงินทองมากกว่าศีลธรรม คือเรียกได้ว่าเป็นยุคที่เสื่อมที่สุด อันนี้สมมตินะ เป็นการสมมติว่าในตอนนั้นนครผาเมืองคือมนุษย์เสื่อมมาก จนกระทั่งในช่วงนั้นก็เกิดมีแผ่นดินไหว มีโรคระบาดเกิดขึ้นในเมือง ไฟไหม้เมือง มีผู้คนล้มตายกันมากมาย จิตใจมนุษย์ก็ยิ่งเสื่อมโทรม ไม่นับถือพุทธศาสนา คนก็ละทิ้งให้ไม่ให้ความสำคัญกับพระพุทธศาสนาเลย จะเห็นได้ชัดในฉากตอนต้นๆ ของเรื่องผู้คนเดินอยู่ในตลาดแต่ไม่มีใครไหว้พระเลยสักคนเดียว ต่างคนก็ต่างยุ่งกับธุรกิจส่วนตัว พระเดินก็เดินไป อีกอันที่จะเห็นได้ชัดคือหน้าอุโมงค์ผาเมือง พระโดนตัดเศียรไปขาย โดนทิ้งราวกับเป็นกองขยะ แม้กระทั่งพระพุทธรูปในอุโมงค์ผาเมืองเอง น้อยองค์ที่จะคงสภาพปกติ นอกนั้นก็จะเป็นซากปรักหักพัง อยากให้เห็นถึงจิตใจของมนุษย์ที่ห่างไกลพระพุทธศาสนามาก ซึ่งจะพูดไปก็ทันสมัยมากไม่ใช่หรือ ยุคนี้ก็ใกล้ๆ กับยุคนั้น จริงๆ เรื่องนี้ก็เป็นภาพจำลองของยุคปัจจุบัน ทุกวันนี้พระท่านเดินอยู่ที่ตลาดมีใครไหว้ท่านไหม ไม่เห็นมี จริงไม่จริง? ศาสนาก็ทำบุญไปงั้นๆ อ่ะ ทุกคนก็อยู่กับธุรกิจส่วนตัวตั้งหน้าตั้งตาหาเงิน เงินคือพระเจ้า แผ่นดินไหวไม่ต้องพูดถึง สึนามิไม่ต้องพูดถึง โรคระบาดอีกล่ะ คือมันก็เป็นกันทั้งโลก ไม่ใช่ประเทศเรา ตอนนี้มันเหมือนกับเป็นยุคเสื่อมที่สุดของโลก
จริงๆ แล้วเรื่อง “อุโมงค์ผาเมือง” ก็เป็นเรื่องจำลองของโลกในยุคปัจจุบันนี้เอง คือเมื่อมนุษย์เป็นทาสวัตถุ ทาสเงิน และเป็นทาสเกียรติยศ และก็มีอัตตาสูงคือยึดตัวตนเท่านั้นเป็นเรื่องสำคัญ ปากท้องเท่านั้นที่เป็นเรื่องสำคัญโดยไม่นึกถึงการให้ซึ่งกันและกัน ไม่เคยคิดถึงการบริสุทธิ์ของจิตใจ อะไรฉกฉวยได้ฉกฉวยเอา ซึ่งมันก็เป็นแก่นของภาพยนตร์เรื่องนี้ว่าทำไมตัวละครทั้ง 3 ถึงให้การว่าตัวเองเป็นผู้ผิดหมด
มันก็ง่ายๆ คือทุกคนก็อัตตาสูง โจรที่เคยโดนจับมาแล้วก็จะบอกว่าตัวเองเป็นคนฆ่าขุนศึก เพราะยังไงตัวเองก็ต้องตายอยู่ดี เพราะฉะนั้นยังไงตัวเองก็ต้องเก่ง ภาพของโจรจะเป็นโจรที่เก่งมากทำให้ผู้หญิงหลงรัก ตัวเมียขุนศึกที่โดนข่มขืนก็เหมือนให้ใจก็เหมือนสมยอม คือพูดในเชิงที่ตัวเองเป็นพระเอก ว่าตัวเองเก่ง แต่จริงๆ แล้วขุนศึกเก่งกว่า เพราะฉะนั้นการมองภาพลักษณ์ของตัวเองก็เหมือนเป็นคนเก่งกว่าคนอื่นเสมอ
ตัวแม่หญิงเองก็บอกว่าตนเองเป็นคนฆ่าสามีตัวเอง เพราะหลังจากโดนข่มขืนแล้วสามีมองตัวเองอย่างเหยียดหยามมาก ซึ่งในยุคเมื่อ 500 ปีที่แล้วคงเป็น สามีเกิดขยะแขยงเมียที่โดนโจรข่มขืน และตัวเองก็ทนภาพนั้นไม่ได้ที่สามีมองอย่างเหยียดหยาม และไม่พูดด้วยราวกับว่าตัวเองเป็นคนใช้ในบ้าน แกก็บอกว่าฉันไม่ใช่คนใช้อีกแล้วเพราะฉันเป็นเมียเธอ แต่สามีก็ไม่ให้อภัยก็เลยฆ่าสามีเพื่อรักษาเกียรติของตัวเอง รักษาการเป็นผู้หญิงเอาไว้ ว่าผู้ชายมาดูถูกเช่นนี้ไม่ได้ และตัวเองก็เหมือนวีรสตรี น่าสงสาร มันก็เปรียบได้กับในโลกปัจจุบันที่เราก็เห็นได้ชัดๆ อยู่ การให้การในศาลในเรื่องนี้มันก็เหมือนการออกสื่อ ทุกคนก็ต้องรักษาภาพพจน์ของตัวเอง คดีบางคดีเราไม่รู้ว่าความจริงความเท็จเป็นยังไง ทุกคนก็พูดถึงตัวเองในเชิงที่ดีที่ถูกหมด หรือแม้กระทั่งที่จะต้องพูดถึงตัวเองในเชิงลบว่าฉันเป็นคนไม่ดีเองฉันผิดเอง มันก็เพื่อผลประโยชน์ในเชิงบวกไม่ใช่หรือ
หรือแม้แต่ตัววิญญาณของขุนศึกว่าตัวเองฆ่าตัวตาย ก็เพื่อรักษาเกียรติและศักดิ์ศรีของตัวเองไว้ไม่ใช่หรือ จะว่าตัวเองเป็นขุนศึกแต่ไม่สามารถช่วยอะไรเมียตัวเองไว้ได้เลย โดนมัดเมียโดนข่มขืนอยู่ตรงหน้า แถมเมียยังบอกโจรให้ฆ่าตัวเองอีก โจรก็ไม่ฆ่าอีก แต่จะฆ่าผู้หญิงด้วยซ้ำไป แต่ผู้หญิงก็หนีไปได้ และโจรก็ตัดเชือกตัวเองให้และบอกว่าเราได้พ้นจากผู้หญิงกาลีคนนั้น แต่ตัวเองเป็นถึงขุนศึกแกร่งกล้าแต่ไม่สามารถรักษาอะไรไว้ได้เลย โจรมีเกียรติกว่าเพราะฉะนั้นตัวเองจะอยู่ในโลกนี้เพื่ออะไร ก็ฆ่าตัวตายเพื่อที่จะรักษาเกียรติ อย่างน้อยฉันก็มีความยิ่งใหญ่ ฉันแพ้ ฉันหมดเกียรติ ฉันก็ฆ่าตัวตาย ก็คือการสร้างภาพลักษณ์นั่นเอง
ก็ไม่แตกต่างอะไรจากมนุษย์ในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในวงการบันเทิงไม่ใช่หรือที่ออกสื่อ ออกงานอีเว้นต์ต่างๆ เพื่อพูดถึงภาพลักษณ์ตัวเองในแง่ที่ตัวเองอยากจะให้คนอื่นเห็นตัวเองเป็นเช่นไร ใช่หรือไม่ใช่? ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องผิดคนทุกคนก็เป็น ตัวเราเองก็เป็น เวลาที่เราอยู่กับคนที่เราไม่รู้จักเราก็พรีเซ้นต์ส่วนที่ดีออกมา มนุษย์เรามันมีความดีอย่างเดียวอย่างนั้นหรือ ก็ไม่ใช่ มนุษย์เราก็มีทั้งดีและไม่ดี ภาพยนตร์เรื่องนี้พูดถึงความไม่สมบูรณ์ของมนุษย์ มนุษย์ชอบมองตัวเองว่าอยากจะสมบูรณ์ เป็นคนที่สมบูรณ์แบบเป็นฮีโร่ ให้ทุกคนกล่าวขวัญถึงไม่ว่าจะทางใดทางหนึ่ง คุณเป็นคนเก่ง คุณเก่งมาก หรือรวยมาก รวยที่สุด หรือมีอำนาจมาก ขอให้เป็นคนพิเศษของประเทศเข้าว่า เขาจะมีความสุขในเบื้องหลังในความพิเศษเหล่านั้น จะปฏิเสธไม่ได้ว่ามีตั้งหลายเรื่องที่เราบกพร่อง จริงไม่จริง? เราไม่มีใครในโลกนี้สมบูรณ์สักคนเดียว
แม้กระทั่งพระในเรื่อง พระหนุ่มซึ่งท่านเองก็หลงในพระบรมศาสนา แต่ท่านเองก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวท่านเองก็ติดกับผ้าเหลือง ท่านก็นึกว่าท่านวิเศษกว่าคนอื่น ยิ่งตอนที่เจอสัปเหร่อ ท่านรู้สึกว่าท่านเหนือกว่า ยังไงฉันก็มีความเป็นพระนั่นก็คือการยึดอัตตาหรือการยึดภาพลักษณ์ จริงๆ แล้วเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าพระเองก็ไม่แตกต่างอะไรจากโจร แม่หญิงหรือตัวขุนศึกเลย คนที่ไม่มีภาพลักษณ์เลย คนที่น่าเกลียดน่ากลัวที่สุด ดูหยาบบคาย ถ่อย คือตัวสัปเหร่อ กลายเป็นคนที่เข้าใจในชีวิตมากที่สุด หรือตัวคนตัดฝืนเองซึ่งก็ติดภาพลักษณ์ของความเป็นคนซื่อ พยายามแสดงให้ทุกคนเห็นว่าฉันเป็นคนซื่อถึงแม้จะไม่ใช่คนร่ำรวยหรือมีชาติตระกูล หรือเป็นโจรที่แกร่งกล้า แต่คุณสมบัติของฉันคือเป็นคนซื่อ เป็นคนดี เช่นเดียวกับพระที่ท่านก็คิดว่าท่านเป็นนักบวชเหนือกว่าคนอื่น
การชมภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เห็นว่าการเกิดเป็นคน ไม่มีใครสมบูรณ์ แต่เราอยากจะสมบูรณ์ และความสมบูรณ์เป็นไปได้แค่ความคิดฝันเท่านั้น ในความเป็นจริงมันเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสมมติขึ้น การเล่าแต่ละครั้งเป็นเรื่องคิดฝันของตัวละครแต่ะละตัวที่อยากจะให้ตัวเองเป็นแบบนั้น อยากให้คนอื่นมองตัวเองเป็นเช่นนั้น ในบทบาทที่ตัวเองต้องการ นี่คือวิธีดูภาพยนตร์เรื่องนี้ การดูภาพยนตร์เรื่องไม่มีพระเอกนางเอก ไม่ใช่ “ชั่วฟาดินสลาย” ไม่ใช่ชีวิตของส่างหม่อง หรือ ยุพดี ไม่ใช่เช่นนั้นเลย แต่เป็นการนำความเป็นจริงในชีวิตมานำเสนอในแต่ละฉาก คือไม่ต้องคิดเยอะ ไม่ต้องไปดูว่ามันยากลึกซึ้ง คือดูด้วยว่าหนังกำลังพูดอะไรกับเราในนาทีนี้เท่านั้น ไม่ต้องไปคิดว่าอะไรมันจะเกิดขึ้น คือตราบใดที่คุณดูหนังเรื่องนี้แบบนี้จะเป็นหนังที่สนุก แต่ถ้าดูด้วยค่านิยมของหนังของฮอลลีวู้ด หรือความเคยชินในการดูหนังตลาดทั่วๆ ไปว่าอะไรจะเกิดต่อไป แบบนี้ไม่สนุกเลย และคุณจะไม่เข้าใจอรรถรสของมันเลย คุณไม่ต้องคิดอะไรมากเลย ดูไปเฉยๆ
อีกประเด็นหนึ่งคือต้องฟัง มันเป็นหนังไดอะล็อก เราทำมาจากบทละครเวทีของคุณคึกฤทธิ์ เพราะฉะนั้นความคมของไดอะล็อก ความลึกซึ้งความหมายที่คมเข้าใจง่ายๆ ไม่ได้ยากเย็นเข็ญใจอะไร แต่ในความคม คือถ้าฟังก็จะสนุกกับบทสนทนา ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยศิลปะหลายๆ ด้านมาประกอบกัน ไม่ใช่ศิลปะภาพยนตร์ที่พูดกันด้วยภาพเพียงอย่างเดียว บทสนทนาก็มีความหมาย สีก็มีความหมาย บรรยากาศก็สื่อความหมาย ศิลปะการแสดงที่สูงส่ง ที่มีทั้งธรรมชาติและไม่ธรรมชาติก็มีความหมาย คือเหมือนเป็นศิลปะชิ้นหนึ่งที่ไม่ต้องคิดมากนัก แค่นี้ก็จะดูหนังสนุก และก็มีหลากหลายรสชาติ สนุก ตลก ตื่นเต้น บู๊ รัญจวนจิต มีทุกอารมณ์ในภาพยนตร์เรื่องนี้ จะพูดไปหนังเรื่องนี้ก็เป็นหนังที่ดูได้ทุกเพศทุกวัยนะ อ้อ ยกเว้นเด็กเล็กจะดูไม่ได้เพราะมันจะมีฉากรุนแรง ข่มขืน ฉากฆ่ากัน อาจจะแรงไปหน่อย อย่าง “ชั่วฟ้าดินสลาย” เด็กไม่ควรดูเลย แต่ครั้งนี้ไม่ใช่ ไม่ต้องมีการศึกษามาก ทุกคนก็ดูเข้าใจ อย่าคิดเยอะเท่านั้นเอง คนที่เป็นปัญญาชนอาจจะไม่ชอบ เพราะเป็นหนังที่ดูสบายๆ กลับไปบ้านไม่ต้องคิดให้ปวดหัว เพียงแต่ว่าเมื่อดูแล้ว ให้ถามตัวเองว่าฉากแต่ละฉากกำลังพูดอะไร เช่น ถ้าคุณดูฉากพระที่เดินอยู่ในตลาด ถ้าคุณมองเผินๆ ก็แค่พระที่เดินในตลาด แต่ถ้าคุณมองให้ละเอียด สังเกตเห็นไหมว่า ไม่มีใครไหว้พระเลย คุณก็จะเข้าใจทันที พระก่อนที่จะบวชก็ได้เห็น การเกิด แก่ เจ็บ ตายในเวลาเดียวกัน แล้วเหตุการณ์นั้นสะท้อนอะไรกับตัวละคร มันดูแล้วไม่ยาก แต่คุณเป็นคนช่างสังเกตหรือเปล่า ถ้าคุณมัวดูแต่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นคุณจะไม่ได้อะไรจากมันเลย แต่สำหรับเราในแง่คนที่ทำภาพยนตร์เรื่องนี้ คนที่ได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้รู้สึกว่าอยากเข้าวัด อยากทำบุญ แค่นี้เราก็ถือว่าการทำหนังของเราประสบความสำเร็จแล้ว
การทำหนังเรื่องนี้เป็นการสะท้อนด้านพระพุทธศาสนา
ก็เป็นการสะท้อนธรรมชาติของมนุษย์นี่เอง ธรรมะ ก็แปลว่าธรรมชาติ ความเป็นจริง สัจธรรมของโลก ของจักรวาร ของมนุษย์ คือพวกเราไปเข้าใจธรรมะอีกแบบหนึ่งมั้ง ธรรมะเป็นสิ่งน่าเบื่อ เป็นการสอนให้คนทำดีได้ดี แต่อันนั้นคือคิดตื้นเขินเกินไปหรือเปล่า ซึ่งจริงๆ แล้วธรรมะอยู่ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ อยู่ในการใช้ชีวิตของเราทุกคนอยู่แล้ว ทุกๆ อย่างที่คุณสัมผัส จะบอกว่าภาพยนตร์สอนศีลธรรมมันก็ไม่ใช่ แต่ถ้าบอกว่าใช่ก็คงจะใช่ คือเราชอบสูตรสำเร็จ เราชอบหาคำมาสรุปว่างานนั้นเป็นแบบนั้น งานนี้เป็นแบบนี้ โดยที่ไม่เคยมองธรรมชาติของงานเลย สิ่งหนึ่งคือเราต้องรู้ว่าธรรมชาติของภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเช่นไร หรืออาจจะเป็นเพราะภาพยนตร์ที่ฉายอยู่ในทุกวันนี้มันไม่ใช่ธรรมชาติ เลยทำให้เราคิดว่าความที่ไม่เป็นธรรมชาตินั้นคือความเป็นธรรมชาติ ใช่หรือไม่ใช่? และภาพยนตร์ต้องดูแบบนั้นใช่ไหม
เพราะฉะนั้นวิธีการดู ถ้าเป็นการดูพล็อต เราจะไปเสียเงินสร้างฉากอย่างนั้นทำไม เพราะคุณมานั่งโฟกัสกับแค่พล็อต เพราะฉะนั้นเราก็ไม่ต้องไปนั่งทำอย่างนั้นหรอก เราก็ทำแต่พล็อตเรื่องไป เราจะไปเหนื่อยยากเสียเงินทำไมหลายแสนหลายล้าน ก็ไม่ต้องลงทุนมาก ถ้าจะดูแต่พล็อตก็ทำได้มัน ก็ถ่ายแค่ในกรุงเทพฯ เนี่ยแหละ มั่วๆ ซั่วๆ และคุณไม่คิดเหรอว่าทำไมต้องทำถึงขนาดนี้ เหนื่อยก็เหนื่อย มันไม่ใช่ว่าเราทำเอาสะใจตัวเอง เราพ้นการทำหนังเพื่อความสะใจของตัวเองมาตั้ง 20 ปีแล้ว เราไม่ใช่เด็กๆ แล้ว เราไม่ได้ทำอะไรเพื่อความเอามันหรือสะใจเข้าว่า จะทำไปให้มันเหนื่อยทำไม ใช่ไหม ถ้าเป็นอย่างนั้นเราอยู่บ้านเฉยๆ สอนหนังสือดีกว่า ไม่ต้องไปเหนื่อยยากขนาดนั้น
ถือได้ว่าหม่อมทำหนังมาเยอะแล้ว สำหรับหนังเรื่องนี้ หม่อมยังมีความคาดหวังอยู่ไหม
ก็อย่างที่พูดไปแล้ว เพียงแค่คนดูรู้จักเข้าวัดบ้างก็นั่นล่ะ คือสิ่งที่คาดหวัง ถ้าถามว่าเป็นเรื่องเงินทอง เรื่องนั้นก็ไม่ใช่เรื่องของเรานะ เราไม่ได้ทำเรื่องนี้เพราะอยากได้เงิน เราไม่ได้ทำหนังเรื่องนี้เพราะอยากได้รางวัล คือเรื่องเงินก็แค่ไม่ให้ขาดทุนก็ดีแล้ว คุณเจียงเองท่านก็พูดเองกับหนังเรื่องก็ไมได้ทำเพื่อเงินคือเป็นหนังที่ชอบ แค่ไม่ขาดทุนได้กำไรเพียงเล็กน้อยก็ดีแล้ว คือถ้าได้เงินเยอะมันก็ดีอย่างหนึ่งคือว่า คนทำหนังรุ่นใหม่ก็จะได้กล้าทำหนังแบบนี้บ้าง ผลประโยชน์อยู่ที่ตรงนั้นนะ ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้ 100 ล้าน เราคิดว่าถ้าคุณเจียงหวังเรื่องนั้นก็คงไม่ให้เราทำหนังเรื่องนี้หรอก มันไม่ใช่อย่างนั้นนะ เพราะความคาดหวังคือคนดูดูแล้วได้คิดหรือเปล่า เห็นตัวเองในนั้นหรือเปล่า คุณได้เข้าใจตัวเองอย่างในหนังนั้นหรือเปล่า เท่านั้นก็คงพอ
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit