กรุงเทพฯ--31 ส.ค.--กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เตือนระวังโรคฉี่หนูในช่วงน้ำท่วม กำชับกลุ่มเกษตรกรและประชาชนหลีกเลี่ยงการแช่ในน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน และระมัดระวังอย่าให้น้ำ เข้าจมูก ปาก และบาดแผล เพราะอาจได้รับเชื้อ พร้อมเตรียมการด้านการตรวจวินิจฉัยโรค โดยเฉพาะชุดทดสอบตรวจโรคเลปโตสไปโรซิสหรือโรคฉี่หนูที่ใช้ง่ายและช่วยในการวินิจฉัยโรคเบื้องต้นได้ ทำให้แพทย์สามารถรักษาผู้ป่วยได้ทันท่วงที
นายแพทย์ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีหลายจังหวัดที่ประสบอุทกภัย ทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภัยต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคที่ระบาดในช่วงน้ำท่วม ได้แก่ โรคเลปโตสไปโรซิสหรือโรคฉี่หนู ซึ่งมีแนวโน้มของการระบาดในหลายจังหวัด และที่น่าเป็นห่วงคือโรคฉี่หนู ผู้ป่วยจะมีอาการไข้คล้ายโรคอื่นอีกหลายชนิด เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้สมองอักเสบ เป็นต้น จึงทำให้ ยากต่อการตรวจวินิจฉัยโรคจากอาการของผู้ป่วย ด้วยเหตุนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้เตรียมความพร้อมในการตรวจวินิจฉัยโรค โดยเฉพาะชุดทดสอบตรวจวินิจฉัยโรคฉี่หนู ที่ใช้งานง่ายและสะดวก ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจวินิจฉัยโรคขั้นต้นได้ ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาจากแพทย์ได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที
ชุดทดสอบตรวจวินิจฉัยโรคฉี่หนูที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนาขึ้นมา จำนวน 2 ชุด คือ ชุด Leptospira IgM และ ชุด Leptospira Ab ซึ่งช่วยในการตรวจวินิจฉัยโรคในขั้นต้น โดยชุดทดสอบดังกล่าวเป็นชุดน้ำยาสำเร็จรูปสำหรับตรวจหาแอนติบอดีในซีรัมของผู้ป่วยสงสัยเป็นโรคฉี่หนู ซึ่งให้ผลแม่นยำเทียบเท่ากับชุดทดสอบที่นำเข้า จากต่างประเทศ โดยชุด Leptospira IgM ตรวจหาแอนติบอดีชนิด IgM ให้ความไว 100 % ความจำเพาะ 97 % ส่วนชุด Leptospira Ab ตรวจหาแอนติบอดีชนิด IgG ให้ความไว 100 % ความจำเพาะ 95 % สามารถรายงานผลการตรวจวิเคราะห์ได้ ในเวลา 1-15 นาที ใช้งานง่ายและสะดวก เจ้าหน้าที่สามารถตรวจโดยหยดซีรัมและน้ำยา Sample running buffer ลงในตลับทดสอบ แล้วดูผลของแถบสีชมพูม่วง ถ้าพบ 2 แถบแสดงว่าเป็นโรคฉี่หนู ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจวินิจฉัยโรคขั้นต้นได้ และแพทย์สามารถรักษาผู้ป่วยได้ทันท่วงที
รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคเลปโตสไปโรซิส หรือ โรคฉี่หนู เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย รูปร่างเป็นเกลียว เป็นโรคติดต่อจากสัตว์มาสู่คน ซึ่งเชื้อ จะถูกขับออกมากับปัสสาวะสัตว์และกระจายอยู่ในดินและในน้ำ เชื้อจะเข้าสู่คนทางบาดแผล ที่ผิวหนัง ตา จมูกและปาก ทำให้เกิดอาการไข้สูง ตาแดง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณน่อง ถ้าไม่รีบทำการรักษาอาจมีอาการแทรกซ้อน บางรายจะมีเลือดออก ตามผิวหนัง ตาเหลือง ปัสสาวะน้อย เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ตับและไตวาย และเสียชีวิตได้ สำหรับการป้องกันคือ หลีกเลี่ยง การเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือการแช่น้ำนานๆ ถ้ามีบาดแผลตามร่างกาย หรือรอยถลอก รอยขีดข่วน ควรงดลงน้ำ เนื่องจากเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายได้ หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ แนะนำให้สวมรองเท้าบู๊ทเพื่อป้องกันน้ำไม่ให้น้ำถูกแผล หลังจากเสร็จภารกิจแล้วให้รีบอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดเช็ดตัวให้แห้ง สำหรับบริเวณ น้ำท่วมสูงผู้ที่แช่น้ำนานๆ ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ถ้ามีอาการไข้ให้รีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 025822965 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit