กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--BRAINASIA COMMUNICATION
ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกเมล็ดพันธุ์รายใหญ่ ในภูมิภาคเอเชีย และเป็น 1 ใน 10 ของประเทศที่ส่งออกเมล็ดพันธุ์พืชไร่รายใหญ่ ด้วยปริมาณการส่งออกในปี 2553 มูลค่าการส่งออก 20,400 ตัน มีมูลค่า 7,287 ล้านบาท โดยประเทศไทยส่งออกเมล็ดพันธุ์ไปประเทศเวียดนามมากเป็นอันดับแรกด้วยปริมาณ 9,500 ตัน มีมูลค่า 1,300 ล้านบาท คิดเป็น 18% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด โดยเมล็ดข้าวโพดเป็นพืชที่ส่งออกมาที่สุด รองลงมาเป็นพืชตระกูลแตง พริก และมะเขือเทศ เป็นต้น ส่วนเมล็ดพันธุ์ที่มีการส่งออกมากที่สุด 10 อันดับแรก คือ 1.ข้าวโพด 2.ผักบุ้ง 3.ข้าวโพดหวาน 4.แตงโม 5.ถั่ว 6.มะเขือเทศ 7.สร้อยไก่ฟ้า 8.ถั่วฝักยาว 9.แตงกวา 10.เมล็ดพันธุ์อื่น ๆ ส่วนภาวะตลาดเมล็ดพันธุ์ในปี 2554 มีแนวโน้มเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย (THASTA) มีข้อแนะนำการดูแลจัดเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ เพื่อให้ผลผลิตการเกษตรดีมีคุณภาพ
นายพาโชค พงษ์พานิช นายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย (THASTA) กล่าวว่า เมล็ดพันธุ์ที่ดี มีส่วนสำคัญที่นำไปสู่คุณภาพของผลผลิตการเกษตรที่ดี ช่วยพัฒนานวัตกรรมการเกษตรของไทยทั้งในด้านคุณภาพและประสิทธิภาพ นับเป็นหนึ่งยุทธศาสตร์สำคัญของความมั่นคงทางอาหาร ( Food Security )และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย เมล็ดพันธุ์ เป็นต้นธารของคุณภาพและปริมาณผลผลิตการเกษตรที่นำไปสู่อุตสาหกรรมอาหารที่หล่อเลี้ยงประชาชนและปศุสัตว์ เมล็ดพันธุ์จึง มีบทบาทในการ ช่วยเสริมสร้างประเทศไทยให้เป็น ครัวของโลกที่มีคุณภาพและความปลอดภัยจากฟาร์ม...สู่โต๊ะอาหาร
ปัจจัยที่มีผลต่อการเสื่อมสภาพของเมล็ดพันธุ์ขึ้นอยู่กับ 1.ชนิดของพืช 2.พันธุกรรมของพืช 3.ความชื้นในเมล็ดพันธุ์ซึ่งถ้ามีความชื้นสูงจะเสื่อมสภาพเร็ว 4.อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้เกิดขบวนการหายใจและการทำงานของเอนไซม์เพิ่มขึ้น ทำให้อัตราการเสื่อมเร็วขึ้น 5.ประวัติการเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ที่ดีสามารถช่วยชะลอการเสื่อมของเมล็ด เพื่อให้คงคุณภาพความงอกนำไปเพาะปลูกต่อได้
เมล็ดพันธุ์ที่ดี เป็นที่ต้องการของตลาด , มีความสม่ำเสมอในสายพันธุ์ , ทนทานต่อโรคและแมลง , ให้ผลผลิตสูงหรือให้คุณลักษณะเด่น เช่น ดอกสวย ดอกใหญ่ ในดอกไม้ ผลดกในแตงกวา มะระ เป็นต้น เมล็ดพันธุ์ดีมาจากการค้นคว้าวิจัยปรับปรุงพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ดี จะมีลักษณะ 1.ตรงตามพันธุ์ ที่ระบุไว้ 2.สะอาด ปราศจากสิ่งเจือปน 3.ปราศจากโรคและไข่แมลง 4.มีอัตราเปอร์เซ็นต์ความงอกสูง 5.มีความแข็งแรงสูง
เมล็ดที่มีความตรงตามพันธุ์ ดูจากเมล็ดนั้นยังบอกไม่ได้บอกได้เฉพาะคุณภาพทางกายภาพ ต้องปลูกแล้วจึงจะทราบ หรือจากความเชื่อมั่นในผู้ผลิต พันธุ์ดีปลูกแล้วต้องมีการเจริญเติบโตที่สม่ำเสมอ พันธุ์ดีให้ผลผลิตสูง พันธุ์ดีให้ผลผลิตมีคุณภาพที่ตลาดต้องการ พันธุ์ดีให้คุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด
การดูเมล็ดพันธุ์ดีจากสภาพภายนอกเมล็ดพันธุ์ดี ควรมีสีสดใส , เมล็ดเก่า จะมีสีขุ่นมัว คล้ำ , ไม่ควรมีเศษผง เมล็ดแตกหัก , ปราศจากโรคและแมลงติดมา ,ไม่มีรอย รูเจาะของแมลง ซึ่งมักพบมากในถั่ว ผักบุ้ง ข้าวโพด หากเป็นเมล็ดพันธุ์ที่เคลือบสี Coated Seeds สีสวยแต่บอกไม่ได้ว่าเป็นเมล็ดใหม่และดีหรือเปล่า โดยส่วนใหญ่มักจะไม่เคลือบเมล็ดที่มีคุณภาพต่ำเพราะไม่คุ้มกับการลงทุน
การพิจารณาเมล็ดพันธุ์ดีจากลักษณะภายใน เมล็ดพันธุ์ดี จะมีความชื้นในเมล็ดต่ำ, มีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูง และมีความแข็งแรงสูง ความแข็งแรงของเมล็ด(seed vigor)เป็นคุณสมบัติภายในเมล็ดที่ทำให้เมล็ดนั้น เก็บรักษาได้นาน , ทนทานต่อโรคและแมลง , งอกเร็วและสม่ำเสมอ , ให้ผลผลิตสูง ส่วนเมล็ดพันธุ์อ่อนแอ (Low vigor) เป็นพันธุ์ไม่ดี สังเกตได้ว่าเมล็ดเก่า เมล็ดลีบ/ไม่เต่ง หรือเป็นหมดอายุ หรือเมล็ดอ่อน ไม่ทนโรคและแมลง งอกช้าและไม่สม่ำเสมอ เก็บรักษาได้ไม่นาน (ไม่ทนอุณหภูมิและความชื้น)
บรรจุภัณฑ์สำหรับเมล็ดพันธุ์ ส่วนใหญ่นิยมบรรจุในภาชนะ 5 แบบซึ่งมีคุณสมบัติแตกต่างกันไป ได้แก่ 1.ถุงพลาสติกสาน ป้องกันน้ำแต่ไม่ป้องกันความชื้น 2.ถุงพลาสติกบางหรือถุงซิป ไม่สามารถป้องกันความชื้นได้ 3.กระป๋อง ที่ปิดสนิทสามารถป้องกันน้ำและความชื้นได้ 4.ซองอลูมินั่ม ฟอยด์ ( Aluminum foil ) ป้องกันน้ำและความชื้นได้ และ 5.ขวดโหลปิดสนิท ถ้าฝาปิดสนิทจะป้องกันน้ำและความชื้นได้ ระยะการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของการใช้งาน ได้แก่ ระยะสั้น 1-2 ปี เพื่อการจำหน่าย , ระยะปานกลาง ไม่เกิน 3-5 ปี สำหรับเมล็ดพันธุ์หลัก ,ระยะยาว 10 ปีขึ้นไป สำหรับเชื้อพันธุกรรม
ปัจจัยที่มีผลต่อระยะเวลาการเก็บรักษาปัจจัยภายในเมล็ดพันธุ์ ได้แก่ ชนิดพืช , ความแข็งแรง/ความงอกเริ่มต้น , ความชื้นเริ่มต้นในเมล็ด ส่วนปัจจัยสภาพแวดล้อม ได้แก่ ความชื้นสัมพัทธ์%ในอากาศ , อุณหภูมิ , สุขอนามัยในโรงเก็บ ความสะอาด
เมล็ดพืชที่มีอายุการเก็บรักษานาน ประมาณ 1 -2 ปี ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ถั่วเขียว พืชผักบางชนิด , ส่วนเมล็ดพืชที่มีอายุการเก็บรักษาสั้น น้อยกว่า 1 ปี (มีน้ำมันอยู่ในเมล็ดมาก) ได้แก่ ดอกไม้ต่างๆ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง เมล็ดทานตะวัน มะระ แตงกวา
ผลของความชื้นในเมล็ดต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์ ความชื้นในเมล็ดยิ่งสูง เมล็ดยิ่งเสื่อมคุณภาพเร็วขึ้น ความชื้นที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1 % จะลดอายุการเก็บรักษาลง 1 เท่าตัว
อุณหภูมิ เป็นอีกตัวแปรต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์ อุณหภูมิที่สูงจะเร่งการเสื่อมอายุของเมล็ดพันธุ์ให้เร็วขึ้น , การลดอุณหภูมิลงทุกๆ 5-6 องศาเซลเซียส จะช่วยยืดอายุการเก็บรักษาอีก 1 เท่าตัว
หลักการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ เก็บเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดีเท่านั้น โดยมีความชื้นต่ำ และมีอัตราความงอกและความแข็งแรงสูง เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ในสถานที่แห้ง เนื่องจากความชื้นในเมล็ดที่ลดลงทุกๆ 1 % จะช่วยยึดอายุการเก็บรักษาได้อีก 1 เท่าตัว ควรเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ในสถานที่เย็น อุณหภูมิอากาศที่ลดลงทุกๆ 5 ? C ช่วยยึดอายุการเก็บอีก 1 เท่าตัว
สถานที่และข้อควรคำนึงในการเก็บเมล็ดพันธุ์ เลือกสถานที่ที่แห้งและเย็น โรงเก็บแบบปรับอากาศ (ควบคุมอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์) โรงเก็บแบบธรรมดา (ไม่ปรับอากาศ) ห้องที่มิดชิด กันน้ำ และแสงแดดได้ ,
สถานที่ควรเป็นสัดส่วน ไม่ปะปนกับวัสดุอื่นๆ เช่น ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ สารกำจัดศัตรูพืช วัสดุและเครื่องมือการเกษตรอื่นๆ (กระสอบ เครื่องมือการเกษตร ฯลฯ) ,
การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ในร้านจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ นิยมทำกัน 2 แบบ คือ การวางเมล็ดพันธุ์ในร้านค้าเพื่อการจำหน่าย และการเก็บเมล็ดพันธุ์ในห้องเก็บเมล็ดพันธุ์ ข้อควรระวังในการวางเมล็ดพันธุ์ไว้ในร้านค้าเพื่อการจำหน่าย ไม่ว่างปะปนกับปุ๋ยและสารเคมี กระสอบ หรือวัสดุการเกษตรอื่นๆ ,ไม่วางให้เมล็ดสัมผัสกับพื้นโดยตรง , ไม่วางในสถานที่ที่แสงแดดส่องถึง หรือสัมผัสกับความร้อน , ไม่วางในบริเวณที่ใกล้กับความชื้น (ละอองฝน) ส่วนการเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ในห้องเก็บรักษา ควรเป็นห้องที่ไม่ชื้น อับ , ควรเป็นห้องที่เย็น และมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก , เป็นห้องที่สะอาด ปลอดจากแมลงรบกวน , ไม่ปะปนกับปุ๋ยและสารเคมี
การวางตำแหน่งกองเมล็ดในโรงเรือน ควรห่างจากกำแพงอย่างน้อย 1 เมตรทุกๆด้าน , ความสูงของกองเมล็ดพันธุ์ในโรงเก็บ ควรมีระยะห่างจากหลังคาไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร การควบคุมความชื้นภายในโรงเก็บเมล็ดพันธุ์ เมื่ออากาศภายนอกมีความชื้นสูงกว่าภายใน ให้ปิดช่องลมไม่ให้ความชื้นเข้ามา
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit