“ไทยซ่า”...นักวิทย์รุ่นใหม่หัวใจอาสา

14 Jul 2011

กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--สวทช.

ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช.

นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่รวมพลังอาสาจัดตั้งเครือข่ายในนาม “TYSA:ไทยซ่า” หวังใช้ความรู้ทำงานตอบแทนสังคม ตั้งเป้าถ่ายทอดประสบการณ์ความสำเร็จสู่นักวิทย์ฯรุ่นน้อง ยึดหลัก นักวิจัยต้อง"เก่งและดี" และที่สำคัญต้องสื่อสารวิทยาศาสตร์ในรูปแบบที่ง่ายและเข้าถึงได้สำหรับประชาชน

รศ.ดร.นพ.นรัตถพล เจริญพันธุ์ สังกัดภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และในฐานะประธานร่วมของเครือข่ายไทยซ่า (TYSA) เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นของเครือข่ายไทยซ่านั้นเริ่มจาก ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ และ ดร.วรินธร สงคศิริ ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก(World Economic Forum) ประจำปี 2551 ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และต่อมาในปี 2553 นักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์จากทั่วโลกที่ได้เข้าร่วมงานประชุมดังกล่าวได้มีแนวคิดในการก่อตั้ง The Global Young Academy (GYA) หรือ องค์กรเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ของโลกขึ้น ซึ่งในครั้งนั้น ดร.นิศรา ได้รับเลือกเป็นประธานร่วมองค์กร GYA จากนั้นมาก็ได้เริ่มมีแนวคิดการสร้างเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ของประเทศไทยขึ้น ในนาม Thai Young Scientists Academy หรือ TYSA (ไทยซ่า)

“TYSA คือกลุ่มนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่มารวมตัวกันเพื่อนำความรู้ ความสามารถที่ตนเองมีมาช่วยกันเสริมสร้างกำลังคนทางวิทยาศาสตร์ให้เข้มแข็ง เพื่อสร้างประโยชน์กลับคืนสู่สังคมให้มากขึ้น โดยปัจจุบันไทยซ่ามีสมาชิกแล้วกว่า 20 คน โดยสมาชิกส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกหรือเชิญเข้ามาตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ คือ เป็นนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีอายุไม่เกิน 40 ปี มีความเชี่ยวชาญและมีผลงานวิจัยเป็นที่ยอมรับ และที่สำคัญคือพร้อมที่จะอุทิศตนทำงานเพื่อสังคม ทั้งนี้เพราะเราต้องการนักวิทยาศาสตร์ที่มีใจทำงานด้วยจิตอาสา และมีความต้องการทำเพื่อสังคมจริง ๆ

ส่วนภารกิจหลักของไทยซ่าที่ตั้งเป้าไว้ คือการสร้างเครือข่ายและช่วยเหลือนักวิทยาศาสตร์ตั้งแต่เริ่มต้นเข้าสู่อาชีพ สมาชิกไทยซ่าทุกคนจะคอยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ช่วยเหลือ ดูแล นำความรู้และประสบการณ์ในการทำงานวิจัยที่ผ่านมาถ่ายทอดเป็นแนวทางให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นน้องนำไปใช้แก้ไขปัญหาและก้าวข้ามอุปสรรคที่อยู่ตรงหน้าไปได้ด้วยดี รวมทั้งยังมีการแนะนำวิธีการ เทคนิค หรือเคล็ดลับต่าง ๆ ที่จะช่วยผลักดันให้พวกเขาทำงานได้อย่างมีความสุขและประสบความสำเร็จในสาขาวิชานั้น ๆ

นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่ไทยซ่ามุ่งหวัง คือ การส่งเสริมการทำงานวิจัยสู่สังคม เราอยากปลูกฝังแนวคิดหรือสร้างทัศนคติในการมองโจทย์วิจัยจากสังคมและชุมชนให้มากขึ้น หรือเชื่อมโยงงานวิจัยที่พวกเขาทำอยู่ให้ตรงตามความต้องการของสังคม เช่น มีนักวิจัยคนหนึ่งสนใจศึกษาเรื่องโปรตีนที่อยู่ในกระบวนการสังเคราะห์แสงว่ามีผลต่อการเติบโตของพืชอย่างไร เราก็เข้าไปแนะนำให้ศึกษาเพิ่มเติมว่า โปรตีนนี้มีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการสังเคราะห์แสงให้พืชอาหารอย่างไรได้บ้าง ก็จะเป็นงานวิจัยที่ตอบโจทย์เรื่องของความมั่นคงทางด้านอาหาร และเป็นประโยชน์อย่างมากต่อเทคโนโลยีเกษตรกรรมในอนาคต เป็นต้น”

ด้าน ดร.วรินธร สงคสิริ หน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาวิศวกรรมชีวเคมีและโรงงานต้นแบบ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สวทช. และในฐานะประธานร่วมของกลุ่มไทยซ่า (TYSA) กล่าวว่า การดำเนินงานและกิจกรรมที่ผ่านมา ไทยซ่าได้มีความร่วมมือกับศูนย์ประสานงานนักเรียนทุนรัฐบาลทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเข้าไปช่วยแนะนำให้กับนักวิทยาศาสตร์จบใหม่ ด้วยการเข้าไปอบรม เสริมสร้างความรู้และทักษะที่จำเป็นต้องมีในการทำวิจัย เช่น แหล่งทุนในประเทศไทยมีที่ใดบ้าง การหาทุนต้องทำอย่างไร วิธีการเขียนข้อเสนอโครงการที่น่าสนใจเป็นเช่นไร หรือแม้แต่ทักษะการสื่อสารที่ดีควรเป็นอย่างไร เป็นต้น

“ขณะเดียวกันทางไทยซ่ายังทำหน้าที่ช่วยประสานงาน เชิญนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ มาพบปะ พูดคุยกับเยาวชนและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ชี้ให้เห็นถึงแนวคิด และวิธีการทำงานที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาไทยซ่าได้มีการประสานงานกับทางองค์กรเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ของโลก เชิญ ศ.เดวิด ฮัทชินสัน (Prof. David Hutchinson) นักวิจัยด้านฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยโอตาโก ประเทศนิวซีแลนด์ มาบรรยายพิเศษให้นักเรียน นักศึกษาที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วย

พร้อมกันนี้ทางไทยซ่าได้มีการหารือว่า ในอนาคตจะมีการจัดประชุมประจำปี เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์สมาชิกได้มีโอกาสมารวมตัวกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน และอาจมีการเดินสายจัดกิจกรรม พบปะกับนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ในภูมิภาคต่าง ๆ นอกจากนี้ไทยซ่าเองยังมีแนวคิดในการทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการสื่อสารเชื่อมโยงระหว่างนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างเครือข่ายในการช่วยเหลือแลกเปลี่ยนการทำงานวิจัยมากขึ้น หรือแม้แต่การส่งเสริมเรื่องการสื่อสารวิทยาศาสตร์สู่สังคม พวกเรามีความตั้งใจในการนำงานวิจัยที่มีอยู่มาถ่ายทอดในรูปแบบที่เข้าใจง่าย รวมถึงการให้ข้อมูลด้านวิชาการที่ถูกต้องในโอกาสและวาระต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์มากขึ้น”

อย่างไรก็ตามเป้าหมายสุดท้ายที่กลุ่มไทยซ่าคาดหวังไว้ คือ เราอยากเห็นความเข้มแข็งของกำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ซึ่งเป็นพลังสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศชาติ หากพวกเขาทำงานวิจัยที่ตอบโจทย์สังคมมากขึ้น มีความสุขกับงานที่ทำ และทำงานได้ประสบความสำเร็จ ท้ายที่สุดแล้วสังคมไทยจะได้รับประโยชน์จากงานวิจัยมากขึ้น” ดร.วรินธร กล่าวทิ้งท้าย

บรรยายภาพ

ดร.วรินธร บรรยายให้กับนักวิทยาศาสตร์รุ่นน้องที่จบใหม่

ดร.วรินธร และ ดร.นิศรา กำลังบรรยายให้กับนักวิทยาศาสตร์จบใหม่

นักวิทยาศาสตร์ที่จบใหม่ที่เขาร่วมรับฟังการบรรยาย

นักวิทยาศาสตร์สมาชิกไทยซ่า

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net