TK Band ปฏิบัติการสร้างสรรค์คนดนตรี จะไปต่อหรือไม่ อยู่ที่ใจคุณเอง

11 Jul 2011

กรุงเทพฯ--11 ก.ค.--TK park

เส้นทางสู่การเป็นนักดนตรีไม่ได้จำกัดอยู่แค่เวทีล่าฝัน เข้าบ้านเก็บตัว หรือสิทธิ์ที่คุณจะได้ “ไปต่อ” ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคอมเมนต์เตเตอร์ หรือผลโหวตทางเอสเอ็มเอสอย่างคิด…เพราะชีวิต ความฝัน อยู่ที่คุณตั้งมั่นและสร้างเอง

ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า กลุ่มคนดนตรี “TK Band” พวกเขาไม่ใช่แค่นักร้อง นักดนตรี แต่เป็นกลุ่มคนดนตรีที่มีทั้งคนแต่งเพลง คนทำทำนอง คนเรียบเรียง คนทำดนตรี คนร้อง คนเล่นดนตรี คนกำกับความคิด คนวางแนวคิดดนตรี ออกแบบการแสดง รวมถึงคนทำงานต่างๆ ที่สร้างสรรค์ให้เกิดงานเพลงและการแสดงดนตรีได้ จนเกิดอัลบั้ม “สิ่งที่ถูกมองข้าม” ซึ่งเป็นผลงานเพลงที่ได้รับการพัฒนาและสร้างสรรค์ขึ้นในรูปแบบและสไตล์ของตัวเอง ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park ที่หวังสร้างกลุ่มคนดนตรีคุณภาพที่สามารถนำทักษะความสามารถมาสร้างประโยชน์ต่อตนเองและสังคม รวมถึงก้าวไปสู่การเป็นนักดนตรีอาชีพได้

คุณอัศรินทร์ นนทิหทัย ห้วหน้าฝ่ายกิจกรรม ของ TK park กล่าวว่า “เรารับเด็กๆ ที่สนใจด้านดนตรี โดยไม่ต้องมีพื้นฐานด้านดนตรีโดยเฉพาะ เรียนด้านไหนก็ได้ และเขาอาจไม่ได้เป็นเด็กที่เล่นดนตรีเก่งที่สุด หรือร้องเพลงเก่งที่สุด ขอแค่มีความสนใจเกี่ยวกับดนตรีก็สามารถเข้ารับการอบรม เพิ่มทักษะการแต่งเพลง การทำเพลง พร้อมเก็บเกี่ยวประสบการณ์จริง มีโจทย์จริงให้ลองทำโดยวิทยากรมืออาชีพ ถือเป็นแบบฝึกหัดที่ดีที่จะทำให้น้องๆ ได้เรียนรู้โลกของการทำงานจริง โดยมีเงื่อนไขกรอบระยะเวลาเข้ามากำหนด โดยทุกคนจะได้เรียนรู้กระบวนการกลุ่ม การคิด การสร้างสรรค์ผลงานที่มีหลักคิดการทำงานตามโจทย์ร่วมกับผู้อื่นด้วย”

TK Band กลุ่มคนดนตรี ที่ไม่ใช่วงดนตรี

พี่จุ้ย “ศุ บุญเลี้ยง” คือวิทยากรหลัก หรือครูใหญ่ของโครงการที่ทำหน้าที่อบรมให้ความรู้ เพิ่มศักยภาพให้กับเด็กในทุกด้าน เสริมด้วยนักดนตรี และนักแต่งเพลงมืออาชีพในหัวข้อการเรียนรู้ที่หลากหลายในแต่ละสัปดาห์ อาทิ เปิดโลกทัศน์ในการรู้จักเพลงหลายยุคสมัย โดย มาโนช พุฒตาล, เนื้อร้องทำนองสัมพันธ์กันอย่างไร โดย คุณจุมพล ทองตัน (โกไข่), ศิลปภาษากายและการแสดง โดย คุณทิพย์ธิดา ศรัทธาทิพย์ (ปราณประมูล), ศิลปการบอกความในใจและธุรกิจดนตรีสัมพันธ์กันอย่างไร โดย ฉัตรชัย ดุริยประณีต ฯลฯ ก่อนคัดผู้ที่จะไปร่วมเข้าค่ายนอกสถานที่ และกลับมาทำเพลงของวงในสนามจริง

“เราต้องเข้าใจคำว่า คนดนตรี กับ วงดนตรีให้ได้ก่อน อย่าง TK Band เป็นกลุ่มคนดนตรี ไม่ใช่วงดนตรี และไม่กำหนดว่าจะต้องมีกี่คน” พี่จุ้ย กล่าวในฐานะผู้นำการถ่ายทอด พร้อมอธิบายว่า “คนดนตรี คือ คนที่สนใจดนตรี อยากทำงานด้านดนตรี เพราะมีใจรักดนตรี ซึ่งเขาอาจไม่ใช่นักดนตรีก็ได้ หรือในที่สุดอาจนำไปสู่การทำวงดนตรีก็ได้ เช่น ครูชลธี ธารทอง ผู้ประพันธ์ทั้งคำร้องและทำนองเพลงลูกทุ่ง ที่มีผลงานยอดนิยมมากที่สุดท่านหนึ่งของวงการเพลงลูกทุ่งไทย จนได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดงในปี 2542 ซึ่งท่านก็ไม่ต้อง

มีวงดนตรี เพราะคนดนตรีนั้น มีพื้นที่อยู่ได้มากกว่าวงดนตรี ทั้งเบื้องหลัง เบื้องหน้า หรือเป็นผู้กำหนดแนวดนตรีก็ได้ นี่คือสิ่งที่เรากำลังทำร่วมกับ TK park”

“ขัดเกลาหัวใจ” ไปพร้อมกับฝีมือ

การอบรมภายใต้โครงการนี้ ไม่ได้ต้องการผลิตนักดนตรีหรือนักร้อง เพื่อไปสู่เวทีการประกวด แต่ต้องการพัฒนาความถนัดด้านดนตรีของแต่ละคนออกมาให้เป็นคน “คุณภาพ” ที่รู้ว่าตนเองมีความถนัดทางดนตรีด้านใด มีข้อบกพร่องและควรเติมเต็มในจุดไหน เป็นการเพิ่มความรู้ ความสามารถ และศักยภาพด้านดนตรีให้สูงขึ้น ปฏิบัติการนี้จึงเสมือนเป็นการชี้แนะ “ขัดเกลา” ที่ไม่ได้มุ่งสอนด้านทฤษฏีดนตรี และฝึกฝนการทำดนตรีเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการออกแบบกระบวนการเพื่อสร้างการเรียนรู้ชีวิตควบคู่ไปด้วยตลอดระยะเวลาการอบรมในชั้นเรียนของ TK Park และการจัดค่าย 2 วัน 1 คืน ณ วิกหัวหิน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

“เราเชื่อว่าการสังเกตเป็นคุณสมบัติที่ดีของมนุษย์ ไม่เฉพาะนักดนตรีหรือนักเขียน คนขับแท็กซี่ช่างสังเกต มันก็เป็นประโยชน์ให้เขา เพียงแต่งานของนักเขียนหรือศิลปินหากรู้จักสังเกตก็อาจจะใช้ประโยชน์ได้มากในแง่การสร้างสรรค์ แล้วอะไรละที่จะทำให้เขาสังเกต การเรียนรู้ไม่ใช่ไปบอกให้เขาสังเกต เพราะมนุษย์ไม่ได้เรียนรู้ด้วยการพูด แต่ต้องเรียนรู้ผ่านกระบวนการ ผ่านประสบการณ์ ตรงนี้ถือว่าสำคัญไม่แพ้เรื่องทฤษฎีทางดนตรี ต้องใช้ควบคู่กันไป กิจกรรมค่ายคือตัวอย่างหนึ่งที่ทีมงานช่วยกัน “ออกแบบ” กระบวนการให้หลากหลาย มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยชวนให้ขบคิดตั้งแต่ก้าวแรกที่เคลื่อนพลออกจากกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นอาหารเช้าข้าวเหนียวเห็ดห่อใบตอง น้ำดื่มขวดพลาสติกที่เจ้าตัวจะต้องเก็บรักษาเพื่อใช้เติมน้ำตลอดระยะเวลาสองวันที่อยู่ค่าย เป็นสิ่งเล็กๆ ที่เป็นการบ่มเพาะอุปนิสัยที่ดีได้ถ้าเขารู้จักเก็บเกี่ยว”

โจทย์หิน แบบฝึกหัดก่อนบินด้วยตนเอง

นอกจากกระบวนการสร้างสีสันการใช้ชีวิตในค่ายที่ต้องการให้กลุ่มเยาวชนมีโอกาสได้ทำ คิด และใช้ชีวิตร่วมกัน เพื่อความเป็นทีมมากขึ้น โดยมีกลุ่มคนดนตรี TK Band รุ่นแรกคอยเป็นเสมือนพี่เลี้ยงแล้ว กระบวนการเรียนรู้นี้ยังถูกออกแบบให้น้องๆ รู้จักนำสิ่งรอบตัวมาเป็นข้อมูล หรือแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งาน โดยมีเงื่อนไขของเวลา และโจทย์ที่กำหนดจากความต้องการของผู้อื่น เช่น ในการแต่งเพลงที่แต่ละกลุ่มจะต้องเดินทางไปเก็บข้อมูลจากร้านที่ทีมงานเลือกเฟ้น อาทิ ร้านกรีนแกลลอรี่ ร้านชุบชีวา ร้านริธึม แอนด์ บุ๊คส์ ร้านหัวหิน ร.ศ.126 เพื่อมาแต่งเพลงประจำสถานที่นั้นๆ ตามบุคลิกของเจ้าของร้านหรือโจทย์ที่เจ้าของร้านต้องการ ทำให้แต่ละคนได้ฝึกทักษะต่างๆ อาทิ การสัมภาษณ์ การสังเกต การฟัง นำมาสู่อุปนิสัยและการสร้างหลักในการทำงานที่ดีมากขึ้น

“โดยหลักการเราคิดว่าเขาควรจะถูกกดดันในระดับที่เขาคิดว่าทำไม่ได้ กรอบเวลาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการทำให้มนุษย์รู้จักกับศักยภาพของตัวเองมากไปกว่าที่เขาเชื่อว่าทำได้ ก่อนมาค่ายเขาก็ถูกฝึกมาก่อนแล้ว ไม่ใช่อยู่ดีๆ ถูกจับมาแต่งเพลงในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง อาจมีกดดันบ้างแต่เป็นเวทีที่เขาจะต้องเรียนรู้ หาจุดเด่น จุดด้อย แล้วนำมาเติมเต็มให้แก่ตนเอง เด็กบางคนถามว่า เขาแต่งทำนองได้ แล้วจะไปหาคนแต่งเนื้อร้องที่ไหน เราก็ตอบว่านั่นคือสาเหตุที่คุณต้องมาโรงเรียน ความรู้ไม่ต้องหาที่โรงเรียนก็ได้ ไม่ต้องมาหาที่ค่ายก็ได้ แต่ที่เราต้องมาเรียน กินข้าวพร้อมคนอื่น หิว อิ่ม สนุกไปด้วยกัน เพราะเราจะได้มีเพื่อน ซึ่งจะเชื่อมร้อยไปสู่การทำงานอย่างมีเครือข่าย โดยปีนี้ TK Park จะเพิ่มในส่วนของบริษัทจำลอง TK Band ออกมาด้วย”

ธุรกิจจำลอง เมื่อน้องต้องลองของจริง

ผลความสำเร็จที่ได้จากโครงการ “ปฏิบัติการสร้างสรรค์คนดนตรี TK Band ปี1” ทำให้ในปี 2554 นี้ TK park อยากต่อยอดและพัฒนาเยาวชนคนดนตรีขึ้นอีก โดยปีนี้พิเศษตรงที่การ “ลงมือปฏิบัติในสนามจริง” เพื่อขยายขีดความสามารถและเพิ่มทักษะความสามารถในการบริหารจัดการในรูปแบบของ “กลุ่มธุรกิจจำลอง TK Band” สร้างโอกาสให้กลุ่มคนดนตรีกลุ่มนี้ได้เข้าสู่สนามจริงทางด้านดนตรี หรือมีเครือข่ายไปสู่รูปแบบของธุรกิจดนตรีที่เอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินการ อันนำไปสู่การประกอบอาชีพสายดนตรี แม้กลุ่มเยาวชนที่มาจะมีความหลากหลาย ต่างพื้นฐาน ต่างที่มาด้านดนตรี แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนมีเหมือนกันคือความรัก ความสนใจ ความใคร่รู้ที่จะพัฒนาฝีมือของตน

“เรื่องธุรกิจก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่เราถนัด แต่เรื่องกระบวนการเรียนรู้เราคิดว่าเรามีความอยาก และเราชำนาญ เขาไม่ได้ให้เราไปเปิดบริษัทจริงๆ แต่เขาให้เราสร้างกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับธุรกิจ เราก็ชอบเพราะมันอยู่ในโครงสร้างของการเรียนรู้ ถามว่ายากไหมกับการจัดเด็กที่หลากหลาย คำตอบคือยาก แต่หากมองในมุมกลับกันแล้วคิดว่าการนำคนที่ไม่เก่งกับคนเก่งมาอยู่รวมกัน พวกเขาจะได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน คนเก่งมีหลายแบบ บางคนคิดเก่ง บางคนเขียนเก่ง บางคนร้องเก่ง บางคนทำนองดี แต่เนื้อไม่มีก็ไปไม่ได้ ดังนั้นบริษัทจำลอง TK Band ก็จะนำคนเหล่านี้มาทำงานร่วมกัน”

ค้นหาหลักคิด เติมมิติการทำงาน

“ริบบิ้น” นิชาภา นิศาบดี อายุ 17 ปี เล่าว่า โดยส่วนตัวชอบเล่นดนตรีอยู่แล้ว แต่ไม่เคยแต่งเพลงมาก่อน จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ เพราะอยากเรียนรู้เทคนิคจากนักดนตรีมืออาชีพ เมื่อก่อนเป็นคนเพ้อเจ้อมาก แต่โครงการนี้ทำให้เธอรู้ว่าความเพ้อเจ้อที่เคยคิดว่าไร้ประโยชน์ เมื่อถูกจัดวางอย่างเหมาะสม ก็สามารถนำมาแต่งเพลงดีๆ ได้ ที่นี่ทำให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับการแต่งเพลงว่าควรจะหยิบ จะปั้นอะไร ยิ่งได้มาอยู่กับคนที่ชอบดนตรีเหมือนกัน ก็ได้แชร์ความรู้กัน ทำให้รู้จุดด้อยและเห็นแนวทางการทำงานต่อว่าควรเติมเต็มอะไรให้แก่ตัวเอง สำหรับเธอคงจะเป็นเรื่องการสังเกต และการมองสิ่งรอบข้างอย่างมีประเด็นมากขึ้น

เช่นเดียวกับ “เอิร์ธ” กิตติพศ พรหมประกาย ที่ปกติจะเล่นกีตาร์และเคยแต่งทำนองเพลงมาบ้าง แต่ยังอยากเพิ่มเติมความรู้ให้รอบด้านมากขึ้น เขาบอกว่าค่ายนี้ทำให้เขาได้ฝึกคือการสัมภาษณ์ การเก็บข้อมูล การหาแหล่งวัตถุดิบ ที่สามารถนำไปต่อยอดเรื่องอื่นๆ เช่น การเรียน การวางแผนทำงาน การจัดระบบความคิด ซึ่งจะทำให้การทำงานเขาสะเปะสะปะเหมือนที่ผ่านมา

วันนี้ แม้กลุ่มคนดนตรี TK Band จะผ่านการฝึกปรือวิทยายุทธ์กันมาแล้ว แต่พวกเขายังคงต้องพิสูจน์ตนเองต่อไป ว่าพวกเขามี “พลัง” พร้อมที่จะก้าวไปบนถนนสายนี้แค่ไหน โอกาสที่เขาจะไปต่อ ไม่ต้องรอจากใคร เมื่อหัวใจพร้อม.... เพราะอย่างน้อยก็ยังมีพื้นที่เล็กๆ จากผู้ใหญ่ที่มองเห็นความสำคัญของการสร้าง “คน” ที่ไม่ใช่แค่คนบนเวที

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit