กรุงเทพฯ--12 ก.ค.--โรงพยาบาลปิยะเวท
นพ. ชัยพร นันทรัตนสกุล
แพทย์สถาบันการแพทย์ผสมผสานตรัยยา
โรงพยาบาลปิยะเวท
คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือเริ่มรู้ตัวว่าตั้งครรภ์แล้ว จะเริ่มมีความกังวลในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับลูกในครรภ์ และเรื่องหนึ่งที่คุณแม่ให้ความสำคัญมากคงไม่พ้นเรื่องของอาหารการกิน อันที่จริงการปฏิบัติตัวระหว่างตั้งครรภ์ก็ไม่ต่างไปจากปกติเท่าไรนัก ข้อห้ามต่างๆ ในระหว่างตั้งครรภ์ก็จะมักเป็นเรื่องที่ใช้สามัญสำนึกเอาได้ โดยเฉพาะเรื่องของอาหารการกินที่ผู้ใหญ่รุ่นคุณย่า คุณยาย ให้คำแนะนำต่อๆ กันมาว่าในช่วงตั้งครรภ์ให้รับประทานอาหารน้อยๆ จะได้คลอดง่าย แน่นอนอาจเพราะว่าลูกตัวเล็ก แต่ในสมัยนี้ไม่ใช่เช่นนั้นแล้ว ลูกตัวเล็กก็อาจจะคลอดยากได้ หรือคลอดก่อนกำหนดได้เหมือนกัน ดังนั้นในสมัยนี้จึงแนะนำให้คุณแม่รับประทานอาหารที่มีคุณค่าอาหารเพิ่มมากขึ้นจากเดิม เพื่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ เพราะว่าหากแม่มีภาวะขาดสารอาหารก็จะส่งผลต่อลูกน้อยในครรภ์ได้ เช่น ถ้าแม่ขาดแคลเซียม ลูกก็จะเป็นโรคกระดูกอ่อน หรือถ้าขาดธาตุเหล็ก ลูกก็จะมีภาวะโลหิตจาง เป็นต้น จึงจะเห็นว่าความสมบูรณ์ของทารกในครรภ์ขึ้นอยู่กับภาวะโภชนาการของแม่
โดยให้ได้รับสารอาหารครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการ เพื่อเตรียมร่างกายให้สมบูรณ์พร้อมที่จะเป็นแม่คน ในระหว่างตั้งครรภ์คุณแม่จะมีความต้องการสารอาหารต่างๆ เพิ่มขึ้น ดังนั้นควรคำนึงถึงทั้งปริมาณและคุณภาพด้วย จะเห็นว่าโภชนาการจึงมีความสำคัญสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์มาก เพราะนั่นหมายถึงสุขภาพของลูกน้อยที่กำลังจะเกิดมา
อาหารที่มีประโยชน์ต่อหญิงตั้งครรภ์ได้แก่อะไรบ้าง
จะทราบกันอยู่แล้วคนเราควรได้รับสารอาหารอะไรบ้าง ได้แก่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามินและเกลือแร่ รวมทั้งน้ำ ในปริมาณที่พอเหมาะสำหรับแต่ละวัย
สำหรับหญิงตั้งครรภ์นั้น เราก็จะมากล่าวถึงแต่ละชนิด ดังนี้
1. โปรตีน เป็นสารอาหารที่ทารกในครรภ์ใช้เป็นวัตถุดิบในการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ๆ ให้เป็นตัวเป็นตน ดังนั้นคุณแม่ต้องการอาหารประเภทนี้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ซึ่งได้แก่ อาหารประเภทเนื้อ นม ไข่ และถั่ว เนื้อสัตว์ที่กล่าวนี้หมายถึง หมู ปลา วัว ไก่ เป็ด ได้ทั้งนั้น นอกจากนี้ควรรับประทานตับด้วยสักสัปดาห์ละครั้ง เพื่อที่จะให้ได้ธาตุเหล็กมากหน่อย ส่วนไข่นั้นก็สามารถรับประทานวันละ 1 ฟองได้ นมสดวันละ 2-3 แก้ว ไม่ควรรับประทานนมข้นหวาน เพราะมีโปรตีนน้อย มีแต่ไขมันกับน้ำตาล ถ้าดื่มนมสดไม่ได้ ก็อาจเลี่ยงมาดื่มนมถั่วเหลืองหรือน้ำเต้าหู้บ้างก็ได้
2. คาร์โบไฮเดรต คนปกติ ก็ไม่ควรทานอาหารประเภทนี้มากเกินไปอยู่แล้ว สำหรับหญิงตั้งครรภ์นั้นสมควรได้รับอาหารประเภทนี้น้อยลง เพราะว่าในระหว่างตั้งครรภ์จะเผาผลาญอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลได้น้อยลง ระบบการย่อยก็ไม่ปกติ ถ้ามากบริโภคมากเกินไปก็อาจทำให้เกิดอาการท้องอืดท้องเฟ้อได้ง่าย อาหารประเภทนี้ได้แก่ ข้าว แป้ง น้ำตาล ขนมหวาน เป็นต้น ให้คุณแม่รับประทานแต่พอประมาณ ถ้าหากสังเกตว่าน้ำหนักตัวเพิ่มมากไป ก็ให้เลี่ยงมารับประทานผลไม้ หรือผักดีกว่า ทั้งนี้ผลไม้ก็ควรเป็นชนิดที่มีรสไม่หวานจัดจนเกินไป
3. ไขมัน ก็เป็นอาหารอีกกลุ่มหนึ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เช่น พวกอาหารทอด หรือผัดผักที่ใส่น้ำมันมากๆ ถ้ารับประทานอาหารไขมันในปริมาณมากก็จะทำให้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่น อึดอัด และเพิ่มน้ำหนักตัวของคุณแม่ด้วย และยังสะสมเป็นไขมันจับตามส่วนต่างๆ ของร่างกายคุณแม่ด้วย
4. ผักและผลไม้ เป็นกลุ่มที่มีประโยชน์มาก ช่วยเรื่องระบบขับถ่าย ควรจะรับประทานผลไม้เหล่านี้สลับกันทุกวัน เช่น กล้วย เงาะ มังคุด มะละกอ ส้มเขียวหวาน สับปะรด เป็นต้น
5. วิตามินและเกลือแร่ต่างๆ ถ้ารับประทานอาหารดังกล่าวข้างต้นอย่างครบถ้วน ร่างกายก็จะได้รับแร่ธาตุและวิตามินครบตามที่ร่างกายต้องการอยู่แล้ว
แต่ในชีวิตประจำวัน เราไม่ค่อยสนใจเท่าไรว่าจะได้ครบหรือไม่ ดังนั้นสูติแพทย์ก็มักจะจ่ายยาบำรุงครรภ์ให้ เพื่อป้องกันการขาดสารอาหาร โดยเฉพาะสามเดือนหลังจะต้องการแคลเซียม เหล็ก และฟอสฟอรัสมากขึ้นกว่าระยะแรกๆ คุณแม่ก็ควรจะรับประทานตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อสุขภาพของตนเองและลูกน้อยในครรภ์ สำหรับการใช้เกลือประกอบอาหารสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ควรใช่แต่น้อย เพราะหญิงตั้งครรภ์มีแนวโน้มจะบวมอยู่แล้ว ถ้าในอาหารมีเกลือมากก็จะอุ้มน้ำไว้ในร่างกายมาก จึงควรระวังไม่ควรรับประทานอาหารรสเค็ม
สำหรับประเภทที่ห้ามหรือควรงดหรือหลีกเลี่ยงก็ได้แก่
เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สุรา เบียร์ ถ้าขณะตั้งครรภ์ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มันก็จะเข้าสู่กระแสเลือด ผ่านทางสายสะดือไปสู่ทารก ก็จะกดการเจริญของทารก มีผลต่อสมอง และเกิดความผิดปกติหรือพิการในทารกได้ Fetal Alcohol Syndrome (FAS) เป็นความผิดปกติแต่กำเนิดซึ่งเกิดจากมารดาดื่มแอลกอฮอล์ขณะตั้งครรภ์ เด็กพวกนี้จะมีปัญหาทางด้านสมองและพฤติกรรม สมองเติบโตช้า อาจปัญญาอ่อน หรือมีความพิการ และมีความผิดปกติในระบบหัวใจและหลอดเลือด ตัวเล็ก น้ำหนักตัวน้อยกว่ามาตรฐาน เมื่อโตขึ้นก็จะมีปัญหาเรื่องการเรียนรู้ สมาธิ ความจำ และการแก้ปัญหา การทำงานที่ประสานกันของร่างกาย ปัญหาการออกเสียงและการได้ยิน และ FAS จะเป็นไปตลอดชีวิต ดังนั้นขณะตั้งครรภ์ควรจะหยุดดื่มเพื่อทารกในครรภ์ เช่นเดียวกันกับการสูบบุหรี่ก็จะทำให้ทารกมีน้ำหนักน้อยกว่าปกติ มีอัตราการตายแรกคลอดสูง และการคลอดก่อนกำหนด แท้งได้ง่าย
ผงชูรส วัตถุดิบที่ใช้ผลิตผงชูรสในปัจจุบันก็คือมันสำปะหลังและกากน้ำตาล โดยผ่านกระบวนการทางเคมีหลายอย่าง เมื่อพิจารณาในด้านคุณค่าทางอาหารแล้ว ผงชูรสไม่มีคุณค่าทางอาหารเลย ในความจริงแล้ว การใช้ผงชูรสจะใช้ปริมาณน้อยคือ 0.1-0.6 % หรือไม่เกิน 2 ช้อนชา/วัน ซึ่งจะไม่เกิดโทษ แต่ก็ไม่มีประโยชน์ แต่ถ้าหากได้รับปริมาณมากๆ จะเห็นผลแน่ๆ ว่าจะมีอาการตึง ชา บริเวณในหน้าและหู บางรายมีอาการเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย อาเจียน เหงื่อออก หน้าแดง ร้อนวูบวาบ น้ำตาไหล และคอแห้งกระหายน้ำมาก สำหรับหญิงตั้งครรภ์และทารกนั้นไม่ควรบริโภคผงชูรสเลย เพราะอาจจะเป็นตัวทำลายหรือมีผลต่อการเจริญเติบโตของสมองเด็กได้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โรงพยาบาลปิยะเวท โทร 02-660-2600 ?
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-732-6069-70 maskmedia
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit