กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--บรอดคาซท์ วิตามิน บี
“เราต้องเห็นเพื่อนบ้านและญาติสนิทหลายคนเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งอย่างไร้สาเหตุ ซึ่งคนเหล่านั้นไม่มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง แต่เมื่อช่วยกันระดมความคิด จึงพบว่า ข้าวปลา อาหาร และสิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวัน มีสารเคมีเป็นส่วนประกอบแทบทุกชนิด”
นี่คือข้อสรุปสำคัญที่เกิดจากการระดมความคิดและค้นหาต้นเหตุของสถานการณ์ ที่สมาชิกของ ชุมชนบ้านหัวลำภู ตำบลหัวไทร อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ล้มป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งมากถึง 5 ราย ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี ซึ่งข้อสรุปนี้ได้สะท้อนถึงวิถีชีวิตที่ดำเนินไปบนความสุ่มเสี่ยงมาโดยตลอด ทั้งแนวทางการประกอบอาชีพและรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันของสมาชิกในชุมชน
ด้วยเหตุนี้แกนนำชุมชนที่รวมตัวกันในนาม “กลุ่มรวมพลคนรักหัวลำภู” จึงได้จัดทำโครงการ “คลินิกชุมชนคนรักสุขภาพ” ขึ้น เพื่อให้สมาชิกทุกคนในชุมชนได้รับรู้ถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนใกล้ตัว และร่วมกันศึกษาหาทางออกของปัญหา ด้วยการสร้างกระบวนการเรียนรู้ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แล้วนำมาประยุกต์ใช้กับการดำรงชีวิตเพื่อสร้างค่านิยมใหม่ในการบริโภคอาหารปลอดสารเคมี ซึ่งจะเป็นวิธีสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายปลอดภัยจากโรคร้ายต่างๆ โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นางภูษณิศา แก้วเนิน หัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า สถานการณ์การเจ็บป่วยและเสียชีวิตในปี 2551 ของชาวบ้านหัวลำภู มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ และมะเร็งเต้านม จำนวน 5 คน ถือเป็นสถิติที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนสมาชิกที่มีประมาณ 1,000 คน ทำให้คนในชุมชนเริ่มหวาดวิตกกับภัยโรคมะเร็งที่คืบคลานเข้ามาใกล้ตัว เพราะผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งตับและมะเร็งกระเพาะอาหาร ต่างไม่มีพฤติกรรมการดื่มสุราแม้แต่น้อย
“เมื่อคนใกล้ตัวพากันจากไปด้วยโรคมะเร็ง ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ หลายคนที่ยังมีชีวิตอยู่จึงเริ่มกังวลว่าตนเองเป็นโรคมะเร็งอยู่หรือไม่ หรืออยู่ในภาวะเสี่ยงเพียงใด ทางแกนนำชุมชนจึงร่วมกับ อสม. ออกสำรวจข้อมูลเรื่องสุขอนามัยของแต่ละครัวเรือน และเก็บข้อมูลเรื่องรูปแบบการดำเนินชีวิต พบว่า ทุกครัวเรือนบริโภคอาหารที่ซื้อจากนอกบ้าน ทั้งแบบที่ซื้อกลับบ้านเพื่อปรุงเองและอาหารสำเร็จรูป รวมถึงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมส่วนใหญ่ยังนิยมใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงในกระบวนการผลิต โดยผลจากการตรวจสุขภาพและเจาะเลือดพบว่า คนในชุมชนหลายรายมีปริมาณสารเคมีในเลือดสูง ดังนั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการอุปโภคและบริโภค จึงเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด โดยการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวทางในการดำรงชีวิต” นางภูษณิศากล่าว
ด้าน นายสุทัศน์ พูลเสน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหัวไทร อธิบายว่า อาชีพหลักของคนหัวไทรกว่า 80 เปอร์เซ็นต์คือการทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำนาปลูกข้าวและทำสวนผักที่มีปริมาณผลผลิตต่อวันหลายสิบตัน เพื่อส่งขายทั้งในจังหวัดนครศรีธรรมราช กรุงเทพฯ ไปจนถึงประเทศมาเลเซีย ซึ่งในอดีตมีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตอย่างแพร่หลาย เนื่องจากต้องการเร่งเพิ่มปริมาณผลผลิตให้ทันต่อความต้องการของตลาด โดยไม่รู้เท่าทันภัยจากการใช้สารเคมีที่จะสะสมอยู่ในร่างกาย
“สมัยก่อนที่ออกตรวจเยี่ยมชุมชนพบว่า เกษตรกรจะขายผลผลิตทั้งข้าวและพืชผักให้แก่พ่อค้าคนกลางจนหมดโดยไม่เก็บไว้รับประทานเอง แล้วหันไปซื้อหาอาหารจากตลาดแทน ซึ่งไม่อาจรู้ได้ว่าอาหารที่ซื้อมานั้นมีกระบวนการผลิตอย่างไร หรือมีการปรุงที่ถูกสุขลักษณะหรือไม่ ทางอบต.จึงกำหนดยุทธศาสตร์การดูแลสุขภาพของประชาชน ด้วยการส่งเสริมความรู้เรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ และการดูแลสุขภาพเบื้องต้น ในขณะเดียวกันได้ร่วมกับโรงเรียนหัวไทรบำรุงราษฎร์ ซึ่งสอนตั้งแต่ระดับมัธยมที่1-6 จัดอบรม “อย.น้อย” เพื่อให้เด็กเป็นนักสืบช่วยตรวจสอบความปลอดภัยในอาหาร” นายสุทัศน์กล่าว
เมื่อ “อย.น้อย” ตรวจพบว่าแผงค้าใดขายสินค้าที่มีสารเคมีตกค้าง ก็จะส่งข้อมูลให้แก่สาธารณสุขจังหวัดได้เข้ามาร่วมสืบหาแหล่งที่มาของอาหารที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งถือเป็นนโยบายเชิงป้องกันที่ได้ผล แต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคือวิธีการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพที่สุด “กลุ่มรวมพลคนรักหัวลำภู” จึงสร้างกระบวนการเรียนรู้เรื่องการดูแลสุขภาพให้แก่คนในชุมชน ผ่านกิจกรรมการออกกำลังกายที่สนุกสนานที่ชื่อว่า “ชวนลูกหลานรำพรานโนราห์” ซึ่งประยุกต์มาจาก “รำโนราห์” ซึ่งเป็นศิลปะพื้นเมืองของภาคใต้ โดยประยุกต์จากท่ารำที่งดงามอ่อนช้อย เป็นท่าออกกำลังกายที่เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย
ทั้งนี้เนื่องจากชาวใต้มีความผูกพันกับศิลปวัฒนธรรมประจำถิ่นอย่างลึกซึ้งในสายเลือด เพียงได้ยินเสียงจังหวะจากฉิ่ง ทับ และกลอง ก็สามารถร่ายรำตามจังหวะได้แม้ไม่เคยร่ำเรียนมาก่อน ทางแกนนำกลุ่มรวมพลคนรักหัวลำภูจึงได้นำท่ารำของ “ตัวพราน” มาประยุกต์เป็นท่าออกกำลังกาย ซึ่งมีลักษณะท่ารำแบบย่อ-ยืดขา เหยียดแขน และก้าวย่างอย่างช้าๆ เหมาะให้ผู้สูงวัยใช้เป็นท่าออกกำลังกายเพื่อสร้างเสริมสุขภาพกายและใจ
นางหนูพันธ์ บุญคงมาก วัย 78 ปี และ นางผิ้น กวนซัง วัย 73 ปี กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ชื่นชอบการออกกำลังด้วยการรำพรานโนราห์เป็นอย่างมาก เพราะรู้สึกคุ้นเคยกับจังหวะดนตรีมาตั้งแต่วัยเด็ก และเคยดูการแสดงมาก่อน จึงออกท่าทางตามได้ไม่ยาก อีกทั้งท่าทางออกกำลังกายก็ช่วยขับเหงื่อและลดอาการปวดเมื่อยได้ดี ช่วยให้หลับสบาย และมีความสุขที่ได้ร่วมออกกำลังกายกับเพื่อนๆ และลูกหลาน
“คนแก่มักจะถูกทิ้งให้อยู่กับหลานตัวเล็กๆ ไม่ค่อยได้ออกนอกบ้านไปพบปะผู้คน เพราะไม่รู้จะออกไปทำอะไร แต่เมื่อมีการรวมกลุ่มรำพรานโนราห์ ช่วยให้ได้ออกกำลังกายและได้พบปะเพื่อนๆ วัยเดียวกัน และยังได้พูดคุยเรื่องราวเก่าๆ ให้หายเหงา และลูกหลานยังได้ร่วมรำพรานโนราห์ เพื่อจะได้สืบทอดวัฒนธรรมพื้นบ้านด้วย” นางหนูพันธ์กล่าว
“การรำพรานโนราห์ เป็นกิจกรรมการออกกำลังกายที่เป็นเครื่องมือให้คนในชุมชนได้เกิดการพบปะสังสรรค์และพูดคุยกัน ซึ่งจะทำให้เกิดเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันโดยอัตโนมัติ ช่วยให้การสอดแทรกองค์ความรู้เรื่องต่างๆ เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนและนำไปปฏิบัติตามได้โดยง่าย และกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดจากการพูดคุยกัน ช่วยให้ทุกคนเกิดความคิดและวางแผนต่อยอดใช้กับการประกอบอาชีพและการดำเนินชีวิตของได้ เช่นถามว่าวันนี้กินข้าวกับอะไร ก็จะเกิดการพูดคุยถึงวัตถุดิบที่ใช้ปรุงอาหาร เชื่อมโยงไปถึงที่มาของวัตถุดิบ และคำทักท้วงเรื่องสารเคมีตกค้างในพืชผักเพียงคำเดียว ก็จะทำให้คนหมู่มากที่กำลังพูดคุยกัน ได้ฉุกคิดถึงสุขภาพร่างกายของตนเอง ถือเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง” นางภูษณิศา กล่าวสรุป
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit