กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--I AM PR
จังหวัดสมุทรสาครมีโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่า 6,000 แห่ง ที่ตั้งอยู่ใกล้ลำคลองสายหลักและคลองซอยที่ไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีน และน้ำเสียจำนวนมากที่ถูกปล่อยจากโรงงานที่ขาดจิตสำนึกลงสู่ลำคลองและแม่น้ำท่าจีน ประกอบกับชุมชนเองก็มีส่วนในการปล่อยของเสียจากครัวเรือนลงสู่แหล่งน้ำคูคลอง ทำให้แม่น้ำลำคลองที่เคยใสสะอาด เปลี่ยนเป็นสีดำส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้ง คุณภาพน้ำเสื่อมโทรม จนอาจกล่าวได้ว่า “จุดที่แม่น้ำท่าจีนเน่าเสียที่สุดอยู่ที่สมุทรสาคร”
ลูกหลานของชาวสมุทรสาคร เป็นความหวังสำคัญในการรับหน้าที่ฟื้นคืนแม่น้ำท่าจีนตอนล่างให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง เพราะถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่จะต้องกลับมาใช้ชีวิตอยู่ในถิ่นฐานเดิมในอีกไม่ช้า ด้วยเหตุนี้ ชมรมเรารักแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร จึงได้ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร จัดทำโครงการ “ค่ายเยาวชนเฝ้าติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำในแม่น้ำท่าจีนและคลองสาขา หรือ นักสืบสายน้ำ” ขึ้นเพื่อปลูกจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แก่เยาวชน โดยเด็กได้เรียนรู้ถึงสภาพปัญหาแม่น้ำท่าจีนทั้งทางกายภาพและชีวภาพ เพื่อให้เข้าใจถึงแนวทางการแก้ไขที่ถูกต้องพร้อมถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้อื่นได้ และร่วมกันเฝ้าระวังติดตามและตรวจสอบคุณภาพน้ำน้ำท่าจีนและคลองสาขา โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นางนันทวัน เขียวงามดี เลขานุการชมรมเรารักแม่น้ำท่าจีน หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า โครงการค่ายเยาวชนเฝ้าติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำฯ หรือ “นักสืบสายน้ำ” เปิดอบรมรุ่นแรกมาตั้งแต่ปี 2546 โดยมุ่งสร้างจิตสำนึกให้เด็กเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์แม่น้ำท่าจีน และให้เด็กช่วยเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังติดตามดูความเปลี่ยนแปลงของน้ำในแม่น้ำ ลำคลองสายหลักและคลองซอย รวมถึงพฤติกรรมของโรงงานอุตสาหกรรมในท้องถิ่นของตนเองพร้อมเก็บข้อมูลสถานการณ์น้ำส่งต่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ
“นักสืบสายน้ำรุ่นแรกจำนวน 100 คน เป็นตัวแทนจากโรงเรียน 10 แห่ง ที่ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำท่าจีนที่มีสภาพน้ำเน่าเสีย เป็นการปลุกจิตสำนึกแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก่อน เพราะทั้งครูและนักเรียนจะถูกกลิ่นเหม็นเน่ารบกวนตลอดช่วงการเรียนการสอน ในเบื้องต้นทางโรงเรียนจะช่วยเฝ้าระวังพฤติกรรมของโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ใกล้เคียง แล้วแจ้งผ่านทางชมรมฯ เพื่อให้สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 5 ได้เข้าไปตรวจสอบ แต่เนื่องจากสภาพน้ำเน่าเสียบางจุดไม่อาจวิเคราะห์ได้อย่างถูกต้องด้วยสายตา เพราะแม้น้ำจะดูใสสะอาด แต่เมื่อใช้อุปกรณ์ตรวจวัดสารเคมีทดสอบ กลับพบว่ามีค่าความเป็นกรดด่างในระดับที่อันตรายต่อสิ่งมีชีวิต ทางชมรมฯจึงได้ร่วมกับ อบจ.สมุทรสาครและคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดหลักสูตรพิเศษชื่อ “โรงเรียนสิ่งแวดล้อม” ในปี 2551 เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างลึกซึ้งทั้งคุณสมบัติทางกายภาพและชีวภาพ เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกด้วยปัญหาเชิงประจักษ์” นางนันทวันกล่าว
ด้าน นายบรรจง สุทธิพงษ์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า ทางอบจ.สมุทรสาครได้สนับสนุนงบประมาณ 2 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่เด็กๆ ที่สนใจเข้าเรียนในหลักสูตรโรงเรียนสิ่งแวดล้อมที่จัดขึ้นเพียงปีละ 1 ครั้ง โดยมีอาจารย์คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ฝึกสอนให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างลึกซึ้งทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติ
“เด็กหลายคนมักพูดว่า แม่น้ำจะเน่าได้อย่างไร ในเมื่อน้ำยังดูสะอาดใส แต่แท้จริงแล้วคุณภาพของน้ำไม่ได้ดีดังเช่นตาเห็น ดังนั้นโรงเรียนสิ่งแวดล้อมที่เด็กจะได้ร่วมเรียนรู้ตลอด 1 เดือนในช่วงปิดเทอมใหญ่ จะสอนให้เด็กเข้าใจถึงสถานการณ์ปัญหาจริงที่เกิดขึ้น โดยการทดสอบคุณภาพน้ำด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ในห้องทดลอง และออกไปวิจัยนอกห้องเพื่อศึกษาปัญหา โดยเฉพาะสภาวะวิกฤติเรื่องน้ำในแม่น้ำท่าจีน อันเป็นประเด็นสำคัญที่เขาต้องให้ความสำคัญและเรียนรู้ถึงวิธีการแก้ไข” นายบรรจงกล่าว
ปัจจุบันหลักสูตร “โรงเรียนสิ่งแวดล้อม” ได้เปิดสอนถึงรุ่นที่ 4 แล้ว ในขณะที่ “ค่ายนักสืบสายน้ำ” ได้ดำเนินงานมาถึงรุ่นที่ 10 มีนักสืบที่พร้อมสอดส่องความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแม่น้ำท่าจีนในเขตจังหวัดสมุทรสาครรวมกว่า 1,000 คน จาก 40 โรงเรียน โดยรุ่นพี่ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรโรงเรียนสิ่งแวดล้อม จะเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ให้แก่นักสืบหน้าใหม่ โดยเฉพาะการทดสอบคุณภาพน้ำด้วยชุดทดสอบสารเคมี ซึ่งจะช่วยให้รู้ถึงคุณสมบัติทางกายภาพของน้ำในแม่น้ำท่าจีนว่าแท้จริงแล้วอยู่ในสถานะใด ไม่ใช่แค่มองด้วยสายตา
นายพีรพงศ์ กันสี หรือ “น้องบูม” อายุ 19 ปี นักเรียนสิ่งแวดล้อมรุ่นที่ 2 จาก รร.กระทุ่มแบนวิเศษสมุทคุณ วิทยากรค่ายนักสืบสายน้ำบอกว่า ตนเองเกิดและโตที่บ้านริมคลอง ในวัยเด็กเคยกระโดดลงคลองเล่นน้ำกับเพื่อนๆ อย่างสนุกสนาน เมื่อมีโรงงานเกิดขึ้นจำนวนมาก ทำให้แหล่งน้ำทุกสายในสมุทรสาครเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว วิถีชีวิตที่เคยพึ่งพาแหล่งน้ำเพื่อใช้อาบและดื่มกินก็หมดไป
“การที่ได้เป็นนักเรียนสิ่งแวดล้อมทำให้รู้ว่าปัญหาของน้ำเน่าเสียเกิดจากอะไร และจะแก้ไขได้อย่างไร เช่น ของเสียจากโรงงานสารเคมีเกษตรจะทำให้น้ำมีฤทธิ์เป็นด่าง ส่วนของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไปจะทำให้น้ำมีฤทธิ์เป็นกรด ทั้งหมดนี้จะทำให้ค่าออกซิเจนละลายน้ำลดลง สิ่งมีชีวิตอย่างสัตว์น้ำหรือพืชไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ ความรู้เหล่านี้จะถูกถ่ายทอดให้แก่นักสืบสายน้ำหน้าใหม่ต่อไป และเมื่อน้องๆ ได้ลงมือทดสอบคุณภาพน้ำด้วยตัวเอง เขาจะยิ่งเข้าใจถึงเหตุและผลของปัญหา มองเห็นถึงวิธีการแก้ไขและสามารถสร้างแรงกระเพื่อมต่อไปยังคนรอบข้างได้อย่างมีศักยภาพ” น้องบูมกล่าว
ด้าน น.ส.ธันวานุช มณฑารัตน์ หรือ “น้องแนนนี่” นร.ชั้นม.6 จากรร.กระทุ่มแบนวิเศษสมุทคุณ และ นางสาวโกสี วัจนทวีโรจน์ หรือ “น้องจูน” นร.ชั้นม.6 จากรร.สมุทรสาครวิทยาลัย นักสืบสายน้ำรุ่น10 กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ปัญหาน้ำเน่าเสียเป็นเรื่องใกล้ตัว เพราะกลิ่นน้ำเน่าและสารพิษที่แฝงอยู่ในน้ำทำให้สุขภาพเสื่อมโทรม ซึ่งวิถีชีวิตของคนสมุทรสาครต้องพึ่งพาแม่น้ำท่าจีน
“เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องอนุรักษ์ ฟื้นฟู และดูแลแม่น้ำท่าจีนให้มีสภาพดีขึ้น โดยเริ่มจากตัวเองก่อนด้วยการคัดกรองขยะและไม่ทิ้งสิ่งสกปรกลงในน้ำ และบอกต่อเพื่อนๆ ซึ่งบางคนเป็นลูกหลานเจ้าของโรงงาน เขาก็จะไปบอกกับพ่อแม่ว่าอย่าทำลายสิ่งแวดล้อมของแม่น้ำท่าจีน” น้องจูนกล่าว
นักสืบสายน้ำและนักเรียนสิ่งแวดล้อม คือกำลังสำคัญที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่สมุทรสาคร เพราะการบูรณะฟื้นฟูสายน้ำที่เสื่อมโทรม ต้องใช้เวลาความอดทนและความเข้าใจเป็นที่ตั้ง แม้จะไม่เห็นผลสำเร็จทันที แต่วันหนึ่งที่หนุ่มสาวกลุ่มนี้หวนคืนบ้านเกิด จิตสำนึกรักษ์แม่น้ำท่าจีนที่ถูกปลูกฝังไว้ตั้งแต่วัยเรียน จะสัมฤทธิ์ผลอย่างแน่นอนในวันข้างหน้า.
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit