กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--บรอดคาซท์ วิตามิน บี
“บางคล้า” มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมายาวนานในเรื่องของแหล่งผลิตผลไม้รสเยี่ยมโดยเฉพาะมะม่วง และปัจจุบันบางคล้าเริ่มเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมากขึ้น จากตลาดน้ำบางคล้า ประกอบกับบางคล้าตั้งอยู่ใกล้กับนิคมอุตสาหกรรม ทำให้ตำบลบางคล้าและตำบลใกล้เคียงขยายตัวและพัฒนาเป็นชุมชนเมืองอย่างรวดเร็ว
ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาคือ ชุมชนขาดการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และขาดความสามัคคี เนื่องจากหันไปให้ความสำคัญกับการประกอบอาชีพ เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้แก่ตนเองและครอบครัว โดยละเลยปัญหาของชุมชนอันเป็นถิ่นที่อยู่ของตนเอง หากสถานการณ์ดังกล่าวยังดำเนินต่อไป ประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าของตำบลบางคล้าอาจเลือนหายไป กลายเป็นเพียงที่ท่องเที่ยวใกล้เมืองแต่ขาดเรื่องราวที่เป็นอัตลักษณ์
ชมรมบางคล้าอยู่สุข อันเกิดจากการรวมตัวกันของลูกหลานคนบางคล้าตัวจริง ที่มีผลงานการรวมพลังต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าที่ตำบลเสม็ดเหนือได้จนเป็นสำเร็จ ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพความเข้มแข็งและความสามัคคีที่ยังฝังลึกอยู่ในใจของคนในชุมชน จึงร่วมกับ “เทศบาลตำบลบางคล้า” และ “ชมรมขี่จักรยานเพื่อสุขภาพคลองสวน” จัดทำโครงการ “ร่วมสร้างบางคล้าให้น่าอยู่เพื่อสุขภาวะที่ยั่งยืน” เพื่อจัดกิจกรรมที่จะเป็นสื่อกลางให้คนในชุมชนได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เกิดการเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและชุมชน ต่อยอดไปสู่การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน จนเกิดเป็นความสามัคคีของคนในชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
โดย “จักรยาน” ถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในกิจกรรมเพื่อสานสัมพันธ์ของคนในชุมชนตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ สีสันและความสดใสของจักรยานคันน้อยใหญ่ที่เด็กๆและผู้สูงวัยปั่นไปบนถนนเส้นเล็กๆ เรียกความสนใจจากคนในชุมชน แม่ค้าและผู้ที่สัญจรไปมาได้เป็นอย่างดี
นายกัญจน์ ทัตติยกุล แกนนำชมรมบางคล้าอยู่สุข อธิบายถึงเหตุผลที่ใช้การขี่จักรยานเป็นเครื่องมือหนึ่งเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมของโครงการฯ เกิดจากผลสำรวจที่พบว่าชาวบางคล้าร้อยละ 70 มีจักรยานใช้ในครอบครัว และแทบทั้งหมดมีการถีบจักรยานอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน เมื่อมีการจัดกิจกรรมที่ใช้จักรยานเป็นพาหนะ โดยให้เด็กตัวเล็กๆ ช่วยกันปั่นไป ก็จะได้รับความสนใจจากชุมชนมากเป็นพิเศษ
“เด็กที่ชวนไปขี่จักรยานจะอยู่ในวัย 10-12 ปี ซึ่งเป็นวัยที่ง่ายต่อการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม โดยเด็กจะต้องสมัครใจมาเอง ไม่ใช่ถูกบังคับจากโรงเรียน ไม่เช่นนั้นเด็กจะไม่เกิดการเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์ เพราะการขี่จักรยานแต่ละครั้งเด็กๆ จะได้รับโจทย์จากพี่เลี้ยงให้ค้นหาข้อมูลในสถานที่สำคัญต่างๆ อาทิ ความเป็นมาของสถูปพระเจ้าตากสินฯ อันเป็นสถานที่ศักสิทธิ์ที่ผู้คนให้ความเคารพบูชา หรือแม้แต่การศึกษาพันธุ์ไม้น้ำที่ขึ้นอยู่ริมคลองใกล้ป่าชายเลนว่ามีต้นอะไรบ้าง นอกจากจะได้ความรู้แล้วเด็กยังได้รับคำชื่นชมจากผู้ใหญ่ที่ร่วมขี่จักรยานไปด้วยกัน ทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจ สัมผัสได้ถึงความรักและเมตตา ทำให้เด็กสนใจทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์มากกว่าการเล่นเกมหรือดูโทรทัศน์” นายกัญจน์อธิบาย
การขี่จักรยานเพื่อศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตของท้องถิ่น ยังเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้เกิดการใช้เวลาว่างร่วมกันระหว่างคน 3 วัย ได้แก่ เด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ ซึ่งเด็กๆ ยังได้รับการถ่ายทอดเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของท้องถิ่นอันเก่าแก่ และคำสั่งสอนที่ดีจากรุ่นสู่รุ่นอีกด้วย
นายสายัณห์ จรพิภพ วัย 64 ปี และ นายสายันต์ เชื้อปัญญา วัย 65 ปี ซึ่งรับอาสาเป็นพี่เลี้ยงร่วมขี่จักรยานไปกับเด็กๆ บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ในอดีตคนบางคล้าส่วนใหญ่นิยมปลูกผักทำสวนผลไม้และกินอยู่อย่างพอเพียง หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่าในตำบลบางคล้ามีธนาคารอยู่หลายแห่งทั้งที่เป็นตำบลเล็กๆ นั่นเป็นเพราะคนบางคล้าชอบเก็บออมเพื่อมอบให้เป็นสมบัติของลูกหลาน เด็กรุ่นใหม่จึงมักถูกส่งไปเรียนที่โรงเรียนขนาดใหญ่ในตัวเมือง ในขณะที่พ่อแม่ประกอบอาชีพแบบพออยู่พอกิน
“พ่อค้าแม่ขายที่ทำมาหากินอยู่ในบางคล้าส่วนใหญ่มาจากต่างถิ่น การมีคนหลากเชื้อชาติหลากวัฒนธรรมเข้ามาอยู่ในพื้นที่โดยขาดการดูแลที่เข้มงวด ทำให้เด็กและเยาวชนเสี่ยงต่อการระบาดของยาเสพติด และการไม่เคารพท้องถิ่นของคนนอกพื้นที่ ทำให้สิ่งแวดล้อมที่เคยสะอาดและอุดมสมบูรณ์ถูกใช้เพื่อตักตวงผลประโยชน์จนเสื่อมโทรม การปลูกฝังเด็กๆ มีคุณธรรมและจริยธรรม และให้เด็กรู้จักคุณค่าของความเป็นบางคล้า จึงเป็นเหมือนเกราะป้องกันที่จะค่อยๆ แข็งแกร่งขึ้นเมื่อเขาเติบโต” นายสายัณห์ระบุ
โดยแนวทางที่สำคัญประการหนึ่งที่จะปลูกฝังให้เด็กๆ ได้รู้ถึงตัวตนและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของตำบลบางคล้ามากยิ่งขึ้นคือ การให้เด็กช่วยกันทำ “ข้อมูลชุมชน” ด้วยการขี่จักรยานไปสอบถามและขอข้อมูลจากผู้สูงอายุในท้องถิ่น ทั้งประวัติความเป็นมาของสถานที่สำคัญทางศาสนา ร้านค้า และบ้านเรือน เพื่อให้ประวัติศาสตร์ด้านต่างๆ ซึ่งแสดงถึงเอกลักษณ์ของชุมชนได้รับการถ่ายทอดส่งต่อไปสู่ลูกหลานรุ่นต่อไปได้อย่างถูกต้อง
นางลัดดา ไมตรีวงศ์ เลขานุการชมรมบางคล้าอยู่สุข กล่าวว่า การที่เด็กและผู้ใหญ่ได้ร่วมขี่จักรยานไปด้วยกัน ทำให้สายสัมพันธ์ของคนทุกวัยเกิดความเหนียวแน่นและสามัคคีกลมเกลียวกันมากขึ้น จากที่ได้ร่วมพูดคุยหลอกล้อระหว่างการค้นหาข้อมูลในสถานที่ต่างๆ หรือแม้แต่การฝึกทำน้ำหมักจุลินทรีย์ชีวภาพจากเศษผลไม้ น้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม และรับประทานข้าวร่วมกันก่อนแยกย้ายกลับบ้าน กิจกรรมเหล่านี้คือกุญแจสำคัญที่ทำให้ทุกคนเกิดความรู้สึกดีๆ ต่อกัน เด็กได้สนุกสนานจากการขี่จักรยาน มีความรู้ใหม่ๆ ไปเล่าให้เพื่อนฟัง ผู้สูงอายุก็ได้ถ่ายทอดสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ให้แก่เด็กๆ ด้วย
“ที่ผ่านมาทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในบางคล้าเอาแต่สนใจเรื่องของตัวเอง หลงลืมวิถีชีวิตแบบไทยๆ ไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง ทั้งการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกัน เมื่อมีการจัดกิจกรรมที่เหมาะสมกับบริบทของชุมชน เช่น การขี่จักรยาน การปลูกต้นไม้ การเก็บขยะ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดการสอบถาม พูดคุย เห็นอกเห็นใจ นำไปสู่การช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน ก่อเกิดเป็นสายสัมพันธ์และความสามัคคีได้ในที่สุด เมื่อคนในชุมชนมีสุขภาพกายแข็งแรง สุขภาพจิตดีมีความสุข ก็พร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญของท้องถิ่นในการร่วมกันทำสิ่งดีๆ เพื่อให้ชุมชนบางคล้ามีความน่าอยู่ได้อย่างแน่นอน” นางลัดดากล่าวสรุป
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit