กรุงเทพฯ--6 ต.ค.--กรมส่งเสริมการส่งออก
จีซีซีรับน้องใหม่จอร์แดน-โมรอคโค ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี รวมกลุ่มเป็นตลาดกว่า 80 ล้านคน ทูตพาณิชย์ชี้ส่งผลดีเรื่องภาษี-การเข้าตลาด-ลดต้นทุนโลจิสติกส์ เผย 8 เดือนปีนี้ ส่งออกเพิ่มขึ้นกว่า 10% การค้ารวมกว่า 2.2 หมื่นล้านเหรียญฯ
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยว่า กลุ่มประเทศจีซีซี (The Cooperation Council for the Arab States of the Gulf) ประชุมเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าเป็นสมาชิกของประเทศจอร์แดน และโมรอคโค ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาถึงแนวทางการให้ความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจ แก่สมาชิกใหม่ทั้งสองประเทศ โดยร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะ 5 ปี สำหรับจอร์แดนและโมรอคโค มีเป้าหมายว่า จะนำร่างแผนฯ ดังกล่าว เข้าสู่การประชุมสุดยอดของจีซีซีในช่วงเดือนธันวาคม 2554 เพื่อพิจารณาอนุมัติวงเงินช่วยเหลือในการดำเนินการตามร่างแผนฯ
“ที่ประชุมฯ ยังได้จัดตั้งคณะทำงานศึกษาขั้นตอนการเข้าเป็นสมาชิกจีซีซี แต่ไม่มีการกำหนดกรอบเวลาที่แน่นอน สำหรับการเข้าเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ เนื่องจากยังต้องหารือในรายละเอียดอย่างต่อเนื่อง”นายศิวะลักษณ์ กล่าวและว่า การเพิ่มประเทศสมาชิกจะทำให้จีซีซีมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นจากเดิม 45 ล้านคน เป็น 83 ล้านคน (ตัวเลขปี 2553) ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ----Nominal GDP ขยายตัวขึ้นร้อยละ 12.2 จากเดิม 1,075.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น 1,206.70 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ตัวเลขปี 2553) นายศิวะลักษณ์ นาคาบดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเจดดาห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย กล่าวว่า ในภาพรวมจีซีซีใหม่ น่าจะส่งผลดีต่อการค้าการส่งออกของไทยไปประเทศในกลุ่มนี้ จากระบบภาษีที่มีเอกภาพมากขึ้น ขั้นตอนระเบียบการนำเข้าที่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน สินค้าที่นำเข้าจากประเทศไทยสามารถที่จะเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศสมาชิกได้อย่างเสรี ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ส่งออกไทยมีภาระค่าใช้จ่ายในการส่งออกไปประเทศในจีซีซีลดลง ทั้งนี้ไทยส่งออกไปจอร์แดน และโมรอคโค ทั้งสิ้น 115 และ 121 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ
ทั้งนี้ช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ (มกราคม-สิงหาคม 2554) ไทยและกลุ่มจีซีซีมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 22,672 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ร้อยละ 7.29 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย) จำแนกเป็นการนำเข้า 18,143 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และส่งออก 4,529 ล้านเหรียญสหรัฐฯ การส่งออกขยายตัวถึงกว่า 10 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และในปี 2555 คาดว่าการส่งออกจะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 12 % ประเทศสมาชิกจีซีซีที่ไทยส่งสินค้าออกไปมากที่สุด ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีมูลค่า 1,995 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซาอุดีอาระเบีย 1,570 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โอมาน 426 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คูเวต 230 ล้านเหรียญสหรัฐฯ กาตาร์ 216 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และบาห์เรน 92 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
สินค้าที่จีซีซีนำเข้าจากไทยมากที่สุด 5 อันดับแรก ใน 8 เดือนแรกปี 54 ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน เครื่องประดับอัญมณี และสินค้าเครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และชิ้นส่วน
ในปี 2553 ประเทศไทยและจีซีซีมีมูลค่าการค้า ระหว่างกัน 25,724 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.6 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย) จำแนกเป็นการนำเข้า 19,524 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และส่งออก 6,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าที่ไทยนำเข้าเกินกว่าร้อยละ 80 คือ น้ำมัน และแก็สธรรมชาติ สินค้าที่ไทยส่งออกไปจีซีซี ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และชิ้นส่วน เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ เหล็กและผลิตภัณฑ์ ตามลำดับ
อนึ่ง จอร์แดน และโมรอคโค เป็นประเทศที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง แต่อยู่ในทวีปแอฟริกา ทั้งสองประเทศไม่มีทรัพยากรน้ำมัน จอร์แดนผูกติดค่าเงิน (pegged) กับเงินเหรียญสหรัฐฯ โมรอคโคอิงค่าเงิน (euro-dominated basket) กับเงินยูโร ผู้เชี่ยวชาญบางคนให้ความเห็นว่า การรับสมาชิกใหม่นี้ ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ แต่อยู่บนพื้นฐานทางด้านการเมือง จอร์แดนและโมรอคโค ปกครองโดยระบบกษัตริย์เช่นเดียวกับจีซีซี นอกจากนี้จอร์แดน มีความเชี่ยวชาญทางด้านการทหาร หากเกิดปัญหาความไม่สงบในกลุ่มประเทศสมาชิก จอร์แดนสามารถเข้ามาช่วยเหลือได้อย่างเต็มที่
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit