“ปิ๊งส์” สสส.ประกาศสุดยอดผลงาน “ดีไซน์ปิ๊งส์ชุมชนปิ๊งส์” เผยใช้ทำจริง เพื่อปรับเปลี่ยนชุมชนเป็นต้นแบบ ก่อนขยายผลทำต่อทั่วประเทศ

03 Oct 2011

กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--สสส.

เมื่อวันที่ 24 กันยายน ที่ผ่านมา โครงการปิ๊งส์ โดยแผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ สสส. ร่วมกับ นิตยสาร art4D เปิดตัว 10 ผลงานในโครงการประกวดออกแบบชุมชนดีไซน์ฮีโร่ ตอน “ดีไซน์ปิ๊งส์ ชุมชนปิ๊งส์” พร้อมประกาศผลมอบรางวัลสุดยอดผลงานฝีมือจากเยาวชนคว้าเงินรางวัลกว่าแสนบาทเพื่อนำไปพัฒนาและทำเป็นโครงการจริงให้เกิดขึ้นในชุมชน สร้างจุดเปลี่ยน ดึงความสนใจเกิดเป็นอัตลักษณ์ นำไปสู่การสร้างงาน สร้างเงิน เกิดเป็นชุมชนเข้มแข็งต่อไป

ซึ่งนายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ สสส. กล่าวว่า โครงการประกวดออกแบบชุมชนดีไซน์ฮีโร่ ตอน “ดีไซน์ปิ๊งส์ ชุมชนปิ๊งส์” ที่ทาง สสส. สนับสนุนในครั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนที่มีใจรักการออกแบบได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาอัตลักษณ์ของชุมชน จากการออกแบบ สร้างสรรค์ พัฒนาองค์ความรู้หรือสิ่งที่มีอยู่แล้วภายในชุมชน ให้เกิดเป็นจุดเปลี่ยนในการทำให้สิ่งที่มีอยู่เดิมมีความน่าสนใจ มีมูลค่าและความสามารถในการพัฒนาอย่างยั่งยืน และนำไปสู่การกระตุ้นแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนในชุมชนด้วยกระบวนการจิตอาสาที่อยากจะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ดีให้กับชุมชนนำไปสู่การเป็นชุมชนที่เข้มแข็งได้ต่อไป

“โดยทั้ง 10 ผลงานที่ผ่านเข้ารอบในครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นผลงานที่น่าสนใจทั้งสิ้น อาทิ ทีมหวด ด้วยผลงานที่ชื่อว่าโครงการออกแบบหนังสือแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวเขตบางกอกใหญ่และบางกอกน้อย ทำในเขตชุมชนและสถานที่สำคัญในเขตบางกอกน้อยและบางกอกใหญ่ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ทีมสำรวม ด้วยผลงานที่ชื่อว่าสวรรค์น้อยๆ ทำในเขตชุมชนอิสลามพัฒนาการ38 (ชุมชนเจริญพัฒนาการ) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ทีมอำเภอหนึ่งของสุพรรณ ด้วยผลงานที่ชื่อว่าเหลือมาแลก ทำในเขตตลาดสดทั่วไป จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ทีมฮีโร่(แอนเดอะแก๊งค์)โตไวไว ด้วยผลงานที่ชื่อว่า RE-USE-SPACE ทำในเขตชุมชนตรอกสลักหิน หัวลำโพง จากเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, ทีมเพชรพระราม ด้วยผลงานที่ชื่อว่าการปรับภูมิทัศน์และประโยชน์ใช้สอยพื้นที่ว่างริมทางรถไฟชุมชนเพชรพระราม ทำในเขตชุมชนเพชรพระราม จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ทีมวิ๊งค์ ด้วยผลงานที่ชื่อว่าเดินดินถิ่นมอญ ทำในเขตชุมชนโอ่งอ่าง (เกาะเกร็ด) จาก ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, ทีมกระต่ายตื่นเต้น ด้วยผลงานที่ชื่อว่าดอนกระต่ายวาไรตี้ ตอน ผลิตภัณฑ์จากขยะรีไซเคิล ทำในเขตชุมชนร่วมรัฐสามัคคี (ดอนกระต่าย) ซ.ประชาอุทิศ54 จากม.เกษมบัณฑิต, ทีมLike สาระ ด้วยผลงานที่ชื่อว่าลานประสานใจ ทำในเขตชุมชนซอยจอมสมบูรณ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และม.ศิลปากร, ทีมใหญ่ สาย คิดเยอะ ด้วยผลงานที่ชื่อว่าปิ๊ป ปิ๊ง ปิ๊ง ทำในเขตชุมชนโรงคราม (ย่านกะดีจีน) จากม.ศิลปากร, รร.โพธิสารพิทยา และทีมเยาวชนเกสรลำพู ด้วยผลงานที่ชื่อว่าแผนที่คนเดิน ทำในเขตชุมชนบางลำพู 4 ชุมชน จากมรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา, ม.หอการค้าไทย, มรภ.ธนบุรี โดยทั้ง 10 ผลงานนี้ เป็นผลงานที่ใช้การออกแบบเข้าไปสร้างสรรค์ ปรับปรุง พัฒนา เปลี่ยนแปลง หรือแก้ปัญหาชุมชนด้วยชุดความคิด ความรู้ การมีส่วนร่วมที่ทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งสิ้น จึงได้รับเลือกให้ผ่านเข้ารอบมา” นายดนัย หวังบุญชัย กล่าว

ด้านนายมงคล พงศ์อนุตรี กรรมการผู้จัดการ คอร์ปอเรชั่น โฟร์ดี จำกัด กล่าวว่า 10 ผลงานที่ผ่านเข้ารอบมาในครั้งนี้นี้เป็นผลงานที่มีแนวโน้มของความยั่งยืนทั้งสิ้น แต่สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลสุดยอดผลงานการออกแบบในโครงการประกวดออกแบบชุมชนดีไซน์ฮีโร่ ตอน “ดีไซน์ปิ๊งส์ ชุมชนปิ๊งส์” ครั้งนี้เป็นผลงานที่น่าสนใจคิดว่าเมื่อนำไปทำกับพื้นที่จริงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตามโจทย์ได้ ซึ่งที่ผ่านมาเยาวชนทั้ง 10 ทีมนั้นจะมีทีมพี่เลี้ยงจาก art4d เป็นที่ปรึกษาและคำแนะนำเกี่ยวกับการทำงาน การพัฒนางานตลอดเวลา เชื่อว่าความรู้และประสบการณ์ เทคนิคต่างๆ ที่เยาวชนทั้ง 10 ได้รับนอกจากจะนำไปพัฒนางานแต่ละชิ้นต่อแล้ว จะเป็นความรู้ติดตัวไปเพื่อพัฒนาออกแบบงานชิ้นใหม่เพื่อสังคมต่อไปได้อย่างมีหลักการเพิ่มขึ้นแน่นอน

ทั้งนี้นายดนัย หวังบุญชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับรางวัลในการประกวดการออกแบบเพื่อชุมชน ในหัวข้อเวิร์กช็อปดีไซน์ฮีโร่ ตอน ‘ดีไซน์ปิ๊งส์ชุมชนปิ๊งส์’ ในปีนี้นั้นมี 4 รางวัล ซึ่งแบ่งออกเป็นรางวัลขวัญใจในด้านต่างๆ 3 รางวัล รับประกาศนียบัตรพร้อมเงินรางวัล 10,000 บาท และรางวัลชนะเลิศหรือสุดยอดผลงานอีก 1 รางวัล โดยรางวัลชนะเลิศนี้จะได้รับประกาศนียบัตรพร้อมเงินรางวัลเพื่อนำไปพัฒนาชุมชนเป้าหมายจำนวน 100,000 บาท และ 20,000 บาทเพื่อเป็นขวัญกำลังใจการเสียสละทำงานเพื่อสังคม ซึ่งรางวัลแรกคือ รางวัลขวัญใจกรรมการและพี่เลี้ยง ได้แก่ ทีมเยาวชนเกสรลำพู ด้วยผลงานที่ชื่อว่าแผนที่คนเดิน ทำในเขตชุมชนบางลำพู 4 ชุมชน จาก มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา, ม.หอการค้าไทย, มรภ.ธนบุรี 2.รางวัลขวัญใจด้านสื่อรณรงค์และผลิตภัณฑ์ ได้แก่ทีมอำเภอหนึ่งของสุพรรณ ด้วยผลงานที่ชื่อว่าเหลือมาแลก ทำในเขตตลาดสดทั่วไป จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3.รางวัลขวัญใจด้านการออกแบบภูมิทัศน์ทีมใหญ่ สาย คิดเยอะ ด้วยผลงานที่ชื่อว่าปิ๊ป ปิ๊ง ปิ๊ง ทำในเขตชุมชนโรงคราม (ย่านกะดีจีน) จากม.ศิลปากร, รร.โพธิสารพิทยา และรางวัลที่เป็นสุดยอดผลงานได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ทีมLike สาระ ด้วยผลงานที่ชื่อว่าลานประสานใจ ทำในเขตชุมชนซอยจอมสมบูรณ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และม.ศิลปากร

โดยนางสาวภควดี ประพันธ์บัณฑิต ตัวแทนจากทีมLike สาระ กล่าวว่า ผลงานของทีมที่ชื่อว่า “ลานประสานใจ” เป็นโครงการที่เน้นการออกแบบผลิตภัณฑ์ กิจกรรม ปรับปรุงพื้นที่ เพราะที่ผ่านมาชุมชนนี้มี“ลานศาลเจ้าพ่อหลังตลาด” เป็นพื้นที่สาธารณะในการทำกิจกรรมหนึ่งเดียวของชุมชน และเมื่อเวลาผ่านไปไม่ได้มีการทำกิจกรรมอะไรจึงถูกลบเลือนไปตามกาลเวลา อีกทั้งยังถูกทอดทิ้งให้สกปรก เพื่อช่วยประสานความคึกคักในอดีตของชุมชนจอมสมบูรณ์ให้กลับมาอีกครั้ง กิจกรรมกระชับความผูกพันและสร้างความรักให้งอกงามในหัวใจของชาวบ้านร้านตลาด รวมทั้งการปรับปรุงพื้นที่ตลาดให้เป็น “ลาน” เพื่อให้ทุกคนในชุมชนมาทำกิจกรรมร่วมกัน เพราะในความเป็นจริงแล้วชุมชนนี้มีจุดแข็งก็คือ การเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง มีอาหารอร่อย มีน้ำยาชีวภาพที่เป็นภูมิปัญญาของชุมชน การนำกระบวนการการทำงานออกแบบดีไซน์ที่ทีมนำลงไปเพื่อปรับเปลี่ยนก็คือ การนำของดีทั้งหมดที่มีในชุมชนมาผสมผสานกับกิจกรรมแล้วใช้ลานที่ถูกลืมนั้นมาสานสัมพันธ์คนในชุมชนขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งเชื่อว่าถ้าได้มีการทำงานอย่างจริงจัง ชุมชนซอยจอมสมบูรณ์แห่งนี้จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ผู้จัดการแผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ สสส. กล่าวว่า ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดในครั้งนี้จะถูกนำไปทำจริงในพื้นที่เป้าหมายซึ่งความ ในปีนี้นั้นเรามุ่งเน้นทดลองนำร่องครั้งแรกเฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเท่านั้น แต่สำหรับแนวโน้มปีถัดไป สสส. ตั้งใจว่าจะมีการขยายไปทั่วทั้งประเทศแน่นอน โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการนี้ ได้ที่ www.PINGs.in.th และ www.facebook.com/sponsorship.th แล้วคุณจะรู้ว่า ความคิดเล็กๆ สามารถสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ให้สังคมให้ชุมชนได้

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net