กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์
ใครจะคาดคิดว่าสัตว์ตัวจิ๋วอย่าง “ไรฝุ่น”ภัยใกล้ตัวที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้สำหรับใครต่อใครหลายคน วันนี้กลับมีประโยชน์มหาศาล หลังนักวิจัยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลยกระดับภูมิคุ้มกันจับไรฝุ่นมาผลิตเป็น “วัคซีน”สู่ภาคอุตสาหกรรม ก่อประโยชน์ต่อวงการแพทย์ไทย ช่วยสร้างมูลค่าและลดอัตราการเกิดผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ในประเทศไทยได้อีกด้วย
โรคภูมิแพ้เป็นภาวะภูมิไวเกิน (Hypersensitivity) ที่ร่างกายแสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมที่เรียกว่า สารก่อภูมิแพ้ ซึ่งอาการที่แสดงมีหลายรูปแบบ อาทิ เยื่อจมูกอักเสบ ผิวหนังอักเสบ และหอบหืด เป็นต้น ซึ่งจากการวิจัยพบว่าสาเหตุสำคัญของบ่อเกิดในโรคภูมิแพ้มาจากสัตว์ตัวจิ๋วที่ชื่อว่า "ไรฝุ่น(House Dust Mite)"
จากการวิจัยพบว่า ไรฝุ่น คือสาเหตุสำคัญอันดับหนึ่งในการก่อโรคภูมิแพ้ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าปัจจุบันผู้ป่วยโรคภูมิแพ้มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่น้ำยาสกัดสารภูมิแพ้จากไรฝุ่นที่สั่งนำเข้าจากต่างประเทศจัดเป็นน้ำยาที่มีราคาแพงมากที่สุดในกลุ่มน้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้ชนิดต่างๆ
ทีมวิจัยจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งประกอบด้วย ศ.พญ.นวลอนงค์ วิศิษฏสุนทร ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์แพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ศ.เกียรติคุณ พญ.ฉวีวรรณ บุนนาค ภาควิชาโสตนาสิกลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์แพทยศาสตร์ศิริราช รศ.วรรณะ มหากิตติคุณ ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์แพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล รศ.ดร.พญ.อัญชลี ตั้งตรงจิตร ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์แพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ดร.นิทัศน์ สุขรุ่ง สถานส่งเสริมการวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และผศ. ดร.ณัฐ มาลัยนวล ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์แพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้คิดค้นวัคซีนรักษาโรคภูมิแพ้จากไรฝุ่นขึ้นภายใต้ “โครงการพัฒนาการผลิตวัคซีนโรคภูมิแพ้จากไรฝุ่นที่ได้มาตรฐานของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล” ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับการคัดเลือกจากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้รับรางวัล “นักเทคโนโลยีดีเด่น ประจำปี 2554”
รศ.ดร.พญ.อัญชลี ตั้งตรงจิตร ภาควิชาปรสิตวิทยา หนึ่งในทีมวิจัย คณะแพทยศาสตร์แพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เปิดเผยว่า ทีมวิจัยได้ผลิตน้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้และวัคซีนสำหรับตรวจและรักษาโรคภูมิแพ้ เพื่อใช้เองมานานกว่า 30 ปีแล้ว โดย ศ.นพ.บุญเจือ ธรณินทร์ และ ศ.พญ.ฉวีวรรณ บุญนาค และตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลศิริราชสามารถเพาะเลี้ยงไรฝุ่นได้ปริมาณมาก โดยเฉพาะไรฝุ่นในสายพันธุ์ Dermatophagoides pteronyssinus หรือ Dp และ Dermatophagoides farinae หรือ Df ซึ่งพบมากในประเทศไทย โดยนำไรฝุ่นสายพันธุ์ดังกล่าวนำมาผลิตน้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้และวัคซีนสำหรับตรวจและรักษาโรคภูมิแพ้ โดยสามารถผลิตไรฝุ่นและเก็บเกี่ยวให้บริสุทธิ์ได้สูงกว่า 99 เปอร์เซ็นต์
“การนำไรฝุ่นมาผลิตวัคซีนถือเป็นการต่อยอดนวัตกรรมทางการแพทย์ เหมือนกับการที่เราปลูกข้าวแล้วเอามาแปรรูปทำเป็นขนมปัง โดยในส่วนของการผลิตวัคซีนทางทีมวิจัยจะควบคุมมาตรฐาน ด้วยการใช้ ไรฝุ่นบริสุทธิ์ ซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนที่เราต้องการว่ามากน้อยเพียงใด รวมถึงการศึกษาผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ขณะเดียวกันการที่โรงพยาบาลศิริราช ผลิตน้ำยาสกัดและวัคซีนจากไรฝุ่นเพื่อใช้ในประเทศไทยได้ เป็นการลดค่าใช้จ่ายในการตรวจรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ในประเทศ และทำให้สามารถตรวจรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น”
รศ.ดร.พญ.อัญชลี กล่าวต่อว่า ขณะนี้วัคซีนที่คณะวิจัยผลิตได้ยังเป็นที่ต้องการของประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วย เนื่องจากมีราคาถูกกว่าวัคซีนที่ผลิตจากประเทศในแถบสหรัฐอเมริกาและยุโรป ส่วนงบประมาณการใช้วัคซีนโรคภูมิแพ้จากไรฝุ่นเพียงชนิดเดียวพบว่า ถ้าประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนโรคภูมิแพ้จากไรฝุ่นได้ในราคาถูกกว่าการนำเข้าร้อยละ 50 ก็จะสามารถประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายได้ราว 36 ล้านบาท ถึง 360 ล้านบาทต่อปี
“ไทยคือ 1 ใน 4 แห่งของโลกที่ได้ทำการผลิตไรฝุ่นเชิงพาณิชย์ (Pure mite production)โดยมีเทคโนโลยีเป็นของตนเองในการแยกไรฝุ่นบริสุทธิ์ให้ปนเปื้อนจากอาหารเพาะเลี้ยงให้น้อยที่สุด ขณะที่ในส่วนของการผลิตวัคซีนไรฝุ่นในระดับอุตสาหกรรม (Mite vaccine production) โรงพยาบาลศิริราช ได้มีการผลิตน้ำยาสกัดและวัคซีนเพื่อใช้ในประเทศและกลุ่มประเทศอาเซียน ร่วมกันระหว่างภาครัฐกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อการพึ่งพาตนเอง ซึ่งโครงการนี้ถือเป็นโครงการแรกในภูมิภาคเอเชียในการพัฒนาเวชภัณฑ์ชีววัตถุ และที่สำคัญยังช่วยป้องกันและลดอัตราการเกิดผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ในประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้นด้วย” ปัจจุบันศูนย์บริการและวิจัยไรฝุ่น ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้มีการจดสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญาอุปกรณ์และวิธีการผลิตไรฝุ่นบริสุทธิ์แล้ว 7 รายการ และได้มีการจำหน่ายไรฝุ่นเชิงพาณิชย์ เพื่อนำไปผลิตเป็น Siriraj mite allergen vaccine และให้นักวิจัยทั้งในและต่างประเทศนำไปใช้เป็นแอนติเจนในงานวิจัยด้านวิทยาภูมิคุ้มกันและอณูชีววิทยาได้อย่างแพร่หลาย
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net