แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคตับ ร่วมเผยนวัตกรรมการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ บี เปลี่ยนชีวิตผู้ป่วย เพิ่มโอกาสในการหายจากโรค

14 Oct 2011

กรุงเทพฯ--14 ต.ค.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน

จุดประกายความหวังครั้งใหม่ให้ผู้ป่วยชาวไทย 3.5 ล้านราย ด้วยนวัตกรรมการตรวจและรักษา ตามแนวทางการรักษาเฉพาะบุคคล (Personalised Healthcare) ของโรช

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคตับระดับแนวหน้าของเอเชียแปซิฟิก จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และศิริราชพยาบาล เปิดเผยข้อมูลในงานสัมมนาของบริษัทโรช จัดขึ้นที่กรุงเทพวันนี้ เกี่ยวกับนวัตกรรมล่าสุดในการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบีที่จะเข้ามาเปลี่ยนชีวิตของผู้ป่วย ทั้งนี้ แนวทางการรักษาใหม่จะใช้นวัตกรรมการรักษาควบคู่ไปกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาคนไข้ให้ได้ผลการรักษาที่ดีขึ้นและเพิ่มโอกาสหายจากโรคได้ และยังเป็นความหวังใหม่สำหรับผู้ป่วยชาวไทยซึ่งทุกข์ทรมานจากโรคไวรัสตับอักเสบบีประมาณ 3.5 ล้านรายในปัจจุบัน การรักษาดังกล่าวได้นำมาใช้แล้วในประเทศไทย สอดรับกับแนวคิดการรักษาเฉพาะบุคคล (Personalised Healthcare) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อปรับการรักษาให้เข้ากับผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อให้ได้ประสิทธิผลสูงสุดในการดูแลรักษาผู้ป่วย

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ทวีศักดิ์ แทนวันดี สาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า “นวัตกรรมด้านการตรวจและการรักษาสำหรับโรคไวรัสตับอักเสบ บี ดังกล่าว ทำให้ผู้ป่วยมีความหวังมากขึ้นถึงโอกาสในการหายจากโรค ซึ่งนั่นหมายถึงการปลอดจากโรคนี้ ไม่ต้องรับการรักษาอีก รวมทั้งมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกด้วย”

ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวทางการบำบัดรักษาใหม่นี้

การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบีโดยใช้ยาในกลุ่มเพ็คอินเตอร์เฟอรอน (peginterferon) เป็นหลัก ซึ่งใช้ระยะเวลา 48 สัปดาห์ จะมีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับโรคดังกล่าวในสองแนวทาง นั่นคือการต่อสู้กับไวรัสโดยตรง และในเวลาเดียวกันจะช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน และกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันเข้าจัดการกับเชื้อโรค และเพื่อให้ทราบว่าการรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิผลหรือไม่ แพทย์จะทำการวัด ปริมาณเปลือกของไวรัสหรือ "เอส-แอนติเจน” (HBsAg) ซึ่งการที่เอส-แอนติเจนในกระแสเลือดของผู้ป่วยหายไปถือว่าเป็นการหายจากโรคไวรัสตับอับเสบบี นอกจากนี้ ผลการศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ ยังบ่งชี้ได้ว่าการรักษาผู้ป่วยด้วยยาในกลุ่มเพ็กอินเตอร์เฟอรอน (Peginterferon) ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยที่เอส-แอนติเจนหายไปจากกระแสเลือดได้สูงที่สุดเมื่อเทียบกับการรักษาด้วยวิธีอื่น1

ความสำคัญของการรักษาเฉพาะบุคคล (Personalised Healthcare)

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระ พิรัชวิสุทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคตับ ผู้อำนวยการสถาบันโรคระบบทางเดินอาหารและตับ นันทนา-เกรียงไกร โชติวัฒนะพันธุ์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ กล่าวว่า “การวัดปริมาณเปลือกของไวรัสตับอักเสบ บี (HBsAg) ช่วยให้แพทย์ผู้รักษาสามารถวัดการลดลงของปริมาณเปลือกของไวรัสตับอักเสบ บีได้อย่างแม่นยำ ทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกที่ทำให้แพทย์คาดการณ์ถึงโอกาสในการประสบความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยได้ นอกจากนี้ แพทย์ยังสามารถทราบได้ว่าผู้ป่วยคนใดจะได้รับประโยชน์จากการรักษา และยังสามารถติดตามผลสำเร็จของการรักษาอีกด้วย ดังนั้น ผู้ป่วยจึงมั่นใจได้ว่าตนเองได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง และเหมาะสมที่สุดกับโรคที่ตนเองประสบอยู่”

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระ กล่าวต่อไปว่า “แนวทางการรักษาใหม่นี้สอดคล้องกับแนวคิดด้านการรักษาเฉพาะบุคคล (Personalised Healthcare) ที่มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาในแบบที่เหมาะสมที่สุดกับตัวเอง แทนที่จะใช้แนวทางโดยรวมทั่วไป แนวทางนี้จึงเพิ่มความมั่นใจในผลการรักษาที่ดีขึ้นและยังมีความคุ้มค่าสูงสุดสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยผู้ป่วยจะได้รับการรักษาในแบบที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุดกับตัวเอง ขณะเดียวกันแพทย์ก็จะทราบได้ว่าการรักษาดังกล่าวได้ผลกับผู้ป่วยหรือไม่ แนวทางดังกล่าวนี้จึงช่วยให้มั่นใจว่าจะไม่มีความสิ้นเปลืองจากการจ่ายยาโดยไม่จำเป็น ช่วยประหยัดเวลา นอกจากนี้ หน่วยงานที่ดูแลรักษาผู้ป่วยก็ยังสามารถนำวิธีการรักษานั้นๆ ไว้ใช้กับผู้ป่วยที่จะได้รับประโยชน์เท่านั้น”

ทั้งนี้ แนวทางในการจัดการโรคไวรัสตับอักเสบ บี นี้ ประสบความสำเร็จได้ด้วยนวัตกรรมจากฝ่ายค้นคว้าวิจัยยาและฝ่ายการตรวจวินิจฉัยของโรช ในฐานะที่เป็นหนึ่งในบริษัทเภสัชกรรมรายแรกๆ ที่มุ่งเน้นและทุ่มเทด้านการวิจัยและพัฒนาในการคิดค้นแนวทางการรักษาเฉพาะบุคคล (Personalised Healthcare) บริษัท โรช ไทยแลนด์ จำกัด และโรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จะเดินหน้าต่อไปในการมุ่งพัฒนาวิธีการรักษาอันล้ำหน้า สำหรับการจัดการไวรัสตับอักเสบ บี ซึ่งสามารถปรับให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนได้มากยิ่งขึ้น

เพชฌฆาตร้าย ภัยเงียบที่คร่าชีวิตผู้ป่วย

ไวรัสตับอักเสบ บี เรื้อรัง เป็นที่รู้จักกันว่าเป็นเพชฌฆาตเงียบ โดยข้อมูลในปี 2008 พบว่ามีคนกว่า 350 ล้านคนทั่วโลกติดเชื้อนี้ และในแต่ละปียังมีผู้ป่วยถึง 250,000 รายที่เสียต้องชีวิตจากโรคนี้ ทั้งนี้ ในทวีปเอเชีย มีผู้ป่วยเป็นโรคนี้ในอัตราส่วน 1 ใน 10 และในส่วนของประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี มากถึง 3.5 ล้านรายในปัจจุบัน

ผลการศึกษาในด้านโรคมะเร็งตับแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ บี มักจะมีอาการมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ไม่ได้เข้ารับการบำบัดรักษา ทั้งนี้ เนื่องจากไวรัสตับอักเสบ บี มักไม่แสดงอาการจำเพาะใดๆ และอาการในระยะแรก เช่น ความเหนื่อยล้า และไม่อยากอาหาร มักถูกมองข้ามไปเนื่องจากมีความคล้ายคลึงกับอาการป่วยไข้ที่ไม่ร้ายแรง ดังนั้น จึงเป็นการยากที่จะบ่งชี้ถึงผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี เว้นแต่ว่าจะผู้ป่วยจะได้รับการตรวจเลือด หากผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ บี เรื้อรัง ไม่สังเกตถึงอาการของตนเองและไม่ได้รับการรักษา อาจนำไปสู่การเป็นโรคตับแข็ง และมะเร็งตับได้ และมีอัตราการตายสูง ผู้ป่วยหลายรายมีความรู้น้อยเกี่ยวกับโรคนี้ ไม่ทราบว่าตนเองมีไวรัสตับอักเสบบี และเมื่อรู้ตัวว่าติดเชื้อ จึงสายเกินไปที่จะรับการรักษา

“ความเข้าใจ และความรู้ที่เหมาะสมเกี่ยวกับไวรัสตับอักเสบ บี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องวิธีการติดต่อ วิธีการป้องกันการติดเชื้อ และวิธีการบำบัดรักษาที่มีประสิทธิผล จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับชาวไทย ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้จะช่วยให้ประชาชนสามารถรับมือกับโรคไวรัสตับอักเสบ บีได้อย่างถูกต้อง พร้อมทั้งแสวงหาการรักษาโดยเร็วที่สุด ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการหายจากโรคของผู้ป่วย” รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ทวีศักดิ์ กล่าวสรุป

เกี่ยวกับ โรช

โรช หนึ่งในกลุ่มบริษัทพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพชั้นนำของโลก ที่มุ่งเน้นด้านการค้นคว้าวิจัยยาและการวินิจฉัยโรค มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ เมืองบาเซล ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ในฐานะบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่ใหญ่ที่สุดของโลก และผู้นำนวัตกรรมทางด้านเวชภัณฑ์ยา การตรวจโรค การป้องกัน การวินิจฉัยตลอดจนการรักษาโรคในระยะเริ่มต้น กลุ่มบริษัทโรช มุ่งมั่นดำเนินและพัฒนาธุรกิจเพื่อเสริมสร้างสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คนทั่วโลก

โรช คือผู้นำของโลกในด้านการวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ และยาสำหรับการรักษาโรคมะเร็งและการปลูกถ่ายอวัยวะ นอกจาก นั้นยังเป็นผู้นำตลาดด้านไวรัสวิทยา และมีบทบาทในด้านการรักษาโรคสำคัญอื่นๆ เช่น ภาวะภูมิต้านเนื้อเยื่อตนเอง การอักเสบ ความผิดปกติของระบบเมตะบอลิซึ่ม และโรคที่เกี่ยวกับระบบประสาทส่วนกลาง

โรช ลงนามในข้อตกลงเรื่องการวิจัยและพัฒนายา และเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับนานาคู่ค้าทางธุรกิจ โดยได้ซื้อกิจการของจีเนนเทค รวมทั้งเข้าถือหุ้นใหญ่ในบริษัทชูไก ปัจจุบันบริษัททุ่มงบลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาประมาณ 9 พันล้านฟรังก์สวิสในปี 2553 และมีบุคลากรกว่า 80,000 คนทั่วโลก ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริษัท สามารถค้นได้จากเว็บไซต์www.roche.com.

สื่อมวลชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่:ศรน์โศภิน พุทธชาติเสวี

ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน (ประเทศไทย) จำกัด

โทร: 0-2627-3501 ต่อ 101

อีเมล์: [email protected]

อรชร อิงคานุวัฒน์

โรช ไทยแลนด์ จำกัด

โทร: 0-2792-4010

อีเมล์: [email protected]

1European Association for the study of the liver. EASL Clinical Practice Guidelines: Management of chronic hepatitis B. J Hepatol 2009; 50: 227-42.

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net