มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. จัดโครงการ "น้ำใจสู่เด็กชายแดนใต้"

27 Oct 2011

กรุงเทพฯ--27 ต.ค.--นิวส์ เพอร์เฟค

มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. จัดโครงการ “น้ำใจสู่เด็กชายแดนใต้

เชิญชวนผู้มีจิตเมตตาร่วมช่วยเหลือเด็กกำพร้าจากเหตุความไม่สงบ

มูลนิธิสงเคราะห์เด็กยากจน ซี.ซี.เอฟ.ฯ จัดโครงการ “น้ำใจสู่เด็กชายแดนใต้” เชิญชวนผู้มีจิตเมตตาร่วมบริจาคช่วยเหลือเด็กและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบใน จังหวัดชายแดนภาคใต้

ดร.กรรณชฎา พิริยะรังสรรค์ ผู้อำนวยการมูลนิธิสงเคราะห์เด็กยากจน ซี.ซี.เอฟ.ฯ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีเด็กที่ได้รับผลกระทบและมีชีวิตที่เสี่ยงกับเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น และมีเด็กอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องกำพร้าพ่อ แม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา มีเด็กกำพร้าจากเหตุการณ์ความไม่สงบในชายแดนใต้ถึง 4,455 ราย (ข้อมูลจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ) มีผู้เสียชีวิตถึง 4,766 ราย และมีผู้บาดเจ็บสูงถึง 7,808 ราย (ข้อมูล ณ 30 มิถุนายน 2554 โดย ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้) ปัจจุบันยังคงมีเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในแต่ละวันอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีเด็กกำพร้าและครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบเพิ่มจำนวนขึ้น มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. จึงได้จัดโครงการ น้ำใจสู่เด็กชายแดนใต้ เพื่อให้การช่วยเหลือเด็กในด้านต่างๆ

“โครงการ น้ำใจสู่เด็กชายแดนใต้ เป็นกิจกรรมเพื่อการบำบัดฟื้นฟูเด็กที่มีบาดแผลทางจิตใจในพื้นที่ภาคใต้ ช่วยสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนได้ทำกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อรับมือกับความเครียดที่ต้องอยู่อาศัยในพื้นที่สถานการณ์ความรุนแรง โดยผู้มีจิตเมตตาสามารถบริจาคเพื่อให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ดังนี้ ช่วยฝึกอบรม พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือครู เรื่องการให้ความช่วยเหลือเด็กเพื่อรับมือกับปัญหาที่มาจากความบอบช้ำทางอารมณ์ ช่วยให้เด็กได้รับอาหารเสริม อาหารแห้ง ยารักษาโรค และของใช้ที่จำเป็น มอบอุปกรณ์เสริมทักษะการเรียนรู้สำหรับเด็ก เป็นทุนการศึกษาสำหรับเด็กกำพร้า เพื่อช่วยให้เด็กสามารถศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง ปรับปรุงซ่อมแซมบ้านเรือนอาคารเรียนที่ได้รับความเสียหาย โดยผู้มีจิตเมตตาสามารถบริจาคได้ที่โทรศัพท์ 0-2747-2600 หรือดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.ccfthai.or.th”

มูลนิธิสงเคราะห์เด็กยากจน ซี.ซี.เอฟ.ฯ มีความมุ่งมั่นทุ่มเทในการดูแลและพัฒนาเด็กมาเป็นเวลากว่า 36 ปี โดยมีความปรารถนาให้เด็กไทยได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน 4 ประการ อันได้แก่ 1. สิทธิในการมีชีวิตอยู่รอด และได้รับการดูแลเอาใจใส่ 2.สิทธิในการได้รับการปกป้องคุ้มครองจากภัยต่างๆ 3.สิทธิที่จะได้รับโอกาสในการพัฒนาในทุกๆ ด้าน และ 4.สิทธิที่จะได้รับการมีส่วนร่วม