กรุงเทพฯ--3 พ.ย.--อพท.
จังหวัดเลย เมืองที่โอบล้อมด้วยภูเขาท่ามกลางสายหมอกปกคลุมเหนือยอดภู มีสถานที่ท่องเที่ยวที่ทุกคนรู้จักกันดี คือ ภูกระดึง แหล่งที่มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ชุกชุม นักท่องเที่ยวนิยมนอนกางเต็นท์เพื่อดื่มด่ำกับธรรมชาติและเดินสำรวจสภาพป่าที่มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นระยะตลอดการเดินสำรวจ จากป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา จนถึงทุ่งหญ้าป่าสนเขาอันกว้างใหญ่ ภูหลวง ถูกยกย่องให้เป็น “มรกตแห่งอีสาน” เป็นแหล่งพืชพรรณไม้ในที่สูงมีกล้วยไม้ป่ามากกว่า ๑๖๐ ชนิด มีพืชหายากหรือมีที่ภูหลวงเพียงแห่งเดียว มีทุ่งดอกไม้ป่าบานสะพรั่ง แต่ป่าที่โดดเด่นที่สุดบนภูหลวงคือ ป่าสนสองใบ สนสามใบ
ภูเรือ รูปพรรณภูเขามีชะโงกผายื่นออกมาคล้ายเรือสำเภาขนาดใหญ่ โดยที่ราบบนเขามีลักษณะคล้ายท้องเรือ ความหนาวเย็นบนภูเรือทำให้น้ำค้างบนยอดหญ้าจับตัวเป็นเกล็ดน้ำแข็งที่เรียกว่า “แม่คะนิ้ง” ทุกปีในช่วงหน้าหนาวจะคึกคักไปด้วยสีสันจากเสื้อกันหนาวของบรรดานักท่องเที่ยวที่แห่กันมาทดสอบความหนาวเย็น และไม่นานมานี้ อบต.ลาดค่าง ได้เปิดพื้นที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่คือ ล่องแก่งลำน้ำสานชมธรรมชาติงามที่ภูเรือ ให้ผู้ที่ชอบความท้าทายได้ชุ่มฉ่ำกับกระแสน้ำ และในช่วงวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ นักท่องเที่ยวจะพากันมาชมเทศกาลดอกไม้เมืองหนาว ณ สนามที่ว่าการอำเภอภูเรือ ภายในงานได้จัดให้มีลีลาศโต้ลมหนาวและราตรีแม่คะนิ้งสุดแสนจะโรแมนติค ภูลมโล พื้นที่ที่มีอากาศหนาวที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอนุสรณ์สถานเทิดพระเกียรติบ้านหมากแข้ง เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ที่ทรงบัญชาการการสู้รบเพื่อปราบปรามกลุ่มคอมมิวนิสต์ และทุ่งดอกพญาเสือโคร่ง (ดอกซากุระสีชมพู)ที่บานสะพรั่งบนพื้นที่กว่า ๑,๒๐๐ ไร่ และการเที่ยวชมรอยเท้าไดโนเสาร์กินเนื้อ การนอนเต็นท์ชมดาวบนฟากฟ้า
จังหวัดเลย มีประเพณีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งได้แก่ งานนมัสการพระธาตุศรีสองรัก ประเพณีบุญหลวง และการละเล่นผีตาโขน งานบุญแห่ต้นดอกไม้ งานประเพณีบุญข้าวจี่ การเดินสัมผัสวิถีชุมชนเก่าแก่ ๑๐๐ ปีเชียงคานซึ่งมีสถาปัตยกรรมเรือนไม้แถวอายุร้อยปี และการสักการะพระพุทธรูปศิลปะล้านช้างที่วัดศรีคุณเมือง ที่รอคอยนักท่องเที่ยวมาสัมผัสเมืองแห่งขุนเขาและดินแดนมหัศจรรย์แห่งนี้ แม้ว่า“เลย”จะมีความเพรียบพร้อมด้วยทรัพยากรการท่องเที่ยวที่หลากหลาย แต่ที่ผ่านมายังประสบปัญหาการขาดการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวน้อย จากข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่ศึกษาสถิติการท่องเที่ยวในช่วงเวลา ๙ ปี (พ.ศ. ๒๕๔๒-๒๕๕๐) พบว่า นักท่องเที่ยวมักจะใช้เวลาท่องเที่ยวในจังหวัดเลยไม่เกิน ๓ วัน/คน/ครั้ง ซึ่งสะท้อนถึงการประชาสัมพันธ์และการเสริมสร้างกิจกรรมการท่องเที่ยว ที่ยังไม่สามารถจูงใจนักท่องเที่ยวให้เพิ่มวันพักผ่อนใน จังหวัดเลย
โดยที่ผ่านมา องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้ทำการรวบรวมปัญหาเกี่ยวกับการท่องเที่ยวใน จังหวัดเลย พบว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดคือ การขาดแผนแม่บทการท่องเที่ยวระดับจังหวัด ระดับอำเภอและระดับตำบล เพื่อใช้เป็นกรอบการประสานงานระหว่างภาคีที่เกี่ยวข้องให้มีการบูรณาการและมีเอกภาพในการบริหารการพัฒนาการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังขาดหน่วยงานที่ทำหน้าที่ประสานงานกลางด้านการท่องเที่ยวโดยรวมของจังหวัด และขาดงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานด้านการท่องเที่ยวที่ต่อเนื่องและเพียงพอต่อการพัฒนา
นายประเสริฐ กมลวัทนนิศา รองผู้จัดการพื้นที่พิเศษเลย อพท. (สพพ.๕) กล่าวว่า พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวในจังหวัดเลย ส่วนใหญ่มักจะเป็นแบบที่เรียกว่า “ทัวร์ชะโงก” โดยเน้นมาไว ไปไว ขาดการมีส่วนร่วมกับชุมชนท้องถิ่น ทำให้ขาดโอกาสดื่มด่ำกับธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่น เนื่องจากใช้เวลาท่องเที่ยวน้อย แต่กลับสร้างปัญหาในระยะยาว เช่น การขนเอาขยะเข้ามาในพื้นที่ท่องเที่ยว ทำลายสิ่งแวดล้อม
ในขณะที่แหล่งท่องเที่ยวแต่ละแห่งอยู่ห่างไกลกัน เส้นทางการเดินทางค่อนข้างซับซ้อนทำให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล และเหมารถตู้มาเที่ยวหลงทางและเสียเวลาในการเดินค่อนข้างมาก เนื่องจากขาดบริการรถยนต์สาธารณะเพื่อการท่องเที่ยวที่จะสามารถเชื่อมโยงจากแหล่งท่องเที่ยวหนึ่งไปสู่อีกพื้นที่หนึ่ง นอกจากนี้จังหวัดเลยยังขาดรูปแบบการพัฒนาโฮมสเตย์ระดับมาตรฐานเพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยว จึงเกิดคำถามว่า จะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวเข้าใจว่า จังหวัดเลยเที่ยวได้ทุกฤดูกาล และสามารถอยู่พำนักได้ยาวนานไม่แพ้จังหวัดอื่น ๆ ของเมืองไทย
“ผมว่าชาวบ้านเขาไม่รู้ว่าตนเองมีของดีอยู่กับตัว ดังนั้น อพท.จะต้องสะกิดเขา บอกวิธีที่จะดึงจุดเด่น จุดดี โชว์ออกมาให้คนอื่นเห็น รวมทั้งบูรณาการแหล่งท่องเที่ยวในตัวจังหวัดเลยให้มีความเชื่อมโยง จัดแบ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีรสนิยมและความต้องการต่างกันให้สามารถเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างสะดวก เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถกำหนดการท่องเที่ยวและจำนวนวันในการท่องเที่ยวได้ง่าย เปลี่ยนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ชอบชะโงกทัวร์ มาท่องเที่ยวแบบสร้างสรรค์ ดื่มด่ำกับธรรมชาติและวัฒนธรรม และดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติให้พำนักระยะยาวเพื่อท่องเที่ยวในเขตพื้นที่พิเศษ จังหวัดเลย โดย อพท.ต้องประสานให้เกิดการบูรณาการการบริหารการพัฒนาพื้นที่ที่มีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่ทรงคุณค่า ให้คำแนะนำ เสนอแนะ และร่วมแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่พิเศษ” รองผู้จัดการพื้นที่พิเศษเลย กล่าว
ปัจจุบันจังหวัดเลยได้ถูกประกาศเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเรียบร้อยแล้ว โดย อพท.อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดเลยอย่างบูรณาการ
นายดำรงค์ แสงกวีเลิศ รองผู้อำนวยการ อพท. (พื้นที่พิเศษ) กล่าวว่า อพท.ได้จัดตั้งสำนักงานพื้นที่พิเศษเลย โดยจะมีสำนักงานชั่วคราวตั้งอยู่ที่ศาลากลางจังหวัดเลย เบื้องต้นจะมีบุคลากร ๗ คน ปฏิบัติงานในฐานะหน่วยประสานงานกับหน่วยงานราชการและภาคเอกชนในพื้นที่ในการบูรณาการแผนแม่บทในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเลย รวมทั้งมีแผนปฏิบัติการและแผนรายปี เพื่อให้จังหวัดเลยบรรลุเป้าหมายการเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตามภารกิจของอพท. เนื่องจากระยะที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานต่างปฏิบัติงานภายใต้แผนของตนเอง ไม่ประสานงานกันทำให้รูปแบบการพัฒนาการท่องเที่ยวขาดความชัดเจน
การที่ประชาชนและหน่วยงานท้องถิ่นยอมรับให้ อพท.เข้ามาช่วยจังหวัดเลย ในการแก้ไขข้อจำกัดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่ระยะเวลาของนักท่องเที่ยวมักจะใช้เวลาท่องเที่ยวไม่เกิน ๔ เดือน ส่วนอีก ๘ เดือนไม่ค่อยมีคนไปเที่ยว ดังนั้น การพิจารณากิจกรรมการท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่ให้สามารถสร้างการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวทั้งในฤดูและนอกฤดูกาลท่องเที่ยวให้มีผู้คนเดินทางมาท่องเที่ยวได้อย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นประเด็นที่สำคัญเกี่ยวกับข้อมูลที่จะนำมาใช้ในการจัดทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการพัฒนาพื้นที่พิเศษเลยต่อไป
“ช่วงฤดูท่องเที่ยวหน้าหนาวมีเพียง ๔ เดือน ทำอย่างไรจึงจะสามารถช่วยให้อีก ๘ เดือน ให้มีคนมาเที่ยว รวมทั้งต้องหาทางให้นักท่องเที่ยวเพิ่มวันพำนักให้ยาวนานมากขึ้น ในระยะแรกนี้การดำเนินการของ อพท.จะลงพื้นที่หารือและประสานการพัฒนาจากระดับพื้นที่ชุมชน เป็นการจัดทำแผนท่องเที่ยวชุมชนจากแผนระดับอำเภอมาสู่แผนระดับจังหวัด ซึ่งพบว่ามีข้อมูลที่เป็นทั้งข้อจำกัดและโอกาสของแต่ละพื้นที่ เช่น ภูกระดึง นักท่องเที่ยวไม่นิยมพักบนภูกระดึงและใช้เวลาเที่ยวเพียง ๑ วันก็เดินทางกลับ เที่ยวไม่ครบ ทำให้ผู้ประกอบการรีสอร์ทเลิกกิจการกันหมด ควรสร้างกิจกรรมให้เขาอยากจะเดินทางมาพัก ๑-๒ คืน ภูเรือ ช่วงฤดูหนาวมีเทศกาลดอกไม้สวยงาม อากาศเย็นสบายน่าเที่ยว ฤดูฝนจะมีกิจกรรมล่องแก่งน้ำสานที่น่าตื่นเต้นและมีสินค้าโอท็อปอย่างเห็ดหอมที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ เป็นต้น” รองผู้อำนวยการ อพท. (พื้นที่พิเศษ) กล่าว
ความคืบหน้าการจัดทำแผนฯ อยู่ระหว่างการลงพื้นที่หารือกับนายอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนราชการในพื้นที่และภาคประชาชน รวมทั้งหมด ๙ อำเภอ คือ อ.ด่านซ้าย อ.เชียงคาน อ.ท่าลี่ อ.นาแห้ว อ.เมืองเลย อ.หนองหิน อ.ภูหลวง อ.ภูเรือ และ อ.ภูกระดึง เพื่อให้ประชาชนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าใจในบทบาทของ อพท.ที่ถูกต้องในการผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เพื่อจัดรูปแบบการท่องเที่ยวที่เหมาะสมและตอบสนองความจำเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรที่มีคุณค่าอย่างสมเหตุสมผล สามารถรักษาเอกลักษณ์ของธรรมชาติ วัฒนธรรม เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๔ อพท. โดย สพพ.๕ ได้หารือกับนายอำเภอด่านซ้ายและได้ร่วมประชุมคณะกรรมการการท่องเที่ยวอำเภอด่านซ้าย ที่ อบต.กกสะทอน มีผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุม ๖๐ คน ผลการหารือมีมติให้ สพพ.๕ เป็นกรรมการในคณะกรรมการท่องเที่ยวอำเภอด่านซ้าย และให้ปลัดอำเภอร่วมกับ สพพ.๕ ร่วมกันจัดทำแผนท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอำเภอด่านซ้าย โดยที่ประชุมเสนอให้เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่ภูลมโลเพื่อชมดอกพญาเสือโคร่งและทิวทัศน์พื้นที่ ๓ จังหวัด โดยเร่งเตรียมการประชาสัมพันธ์ให้ทันเปิดงานในปลายปีนี้และให้จัดเป็นประจำทุกปี การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวได้แก่ พระธาตุศรีสองรัก วัดป่าเนรมิตวิปัสนา วัดโพนชัย หอพระบรมสารีริกธาตุ การส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชีวิตชาวม้ง การล่องน้ำหมาน และการมีหน่วยงานรับผิดชอบในการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวในภาพรวมอำเภอด่านซ้าย
ที่อำเภอเชียงคานและอำเภอท่าลี่ เมี่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๔ ทาง สพพ.๕ ได้หารือกับนายอำเภอเชียงคาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนราชการในพื้นที่และภาคประชาชน ที่อำเภอเชียงคาน ผู้เข้าร่วมประชุม ๑๘ คน ผลการประชุมสรุปว่า อำเภอเชียงคานขาดการบริหารจัดการ สำหรับทิศทางการพัฒนาเชียงคานควรพัฒนาการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม วิถีชีวิตคนเชียงคานและคนไทดำ เมืองเชียงคานควรเป็นเมืองที่สงบ เป็นเมืองสุขภาพ การกำหนดการใช้พื้นที่ในอนาคตเป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งปลัดอำเภอจะจัดประชุมทำแผนท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอำเภอเชียงคานในครั้งถัดไป
สำหรับอำเภอท่าลี่ นายอำเภอท่าลี่ได้ให้แนวคิดการพัฒนาการท่องเที่ยวว่าควรเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพราะท่าลี่เป็นเมืองปิดและมีการค้าขายกับประเทศ สปป.ลาว มีวิถีชีวิตภูมิปัญญาไทย เช่น หัตถกรรมหวายและผ้าทอมือพื้นเมืองที่บ้านนากระเซ็ง งานประเพณีสงกรานต์ไทย-ลาว การจัดงานแห่ดอกไม้ การนมัสการพระธาตุสัจจะ การชมสะพานมิตรภาพน้ำเหืองไทย-ลาว การสืบค้นตัวตนของคนท่าลี่ซึ่งเป็นคนไทลื้อ ซึ่งอำเภอจะนัดประชุมหน่วยงานราชการและผู้นำท้องถิ่นเพื่อจัดทำเวทีประชาคมและหารือการจัดทำแผนท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของอำเภอท่าลี่ต่อไป
การประชุมหารือกับนายอำเภอนาแห้ว ส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๔ พร้อมผู้เกี่ยวข้องรวม ๑๗ คน ได้ข้อสรุปว่า อำเภอนาแห้วมีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย เช่น อุทยานแห่งชาติภูสวนทราย น้ำตกธารสวรรค์ น้ำตกตาดเหือง วัดโพธิ์ชัยนาพึงมีพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองตั้งแต่สมัยอยุธยา จิตรกรรมฝาผนังพุทธประวัติและวรรณกรรมท้องถิ่นที่ไม่เคยพบที่ใดมาก่อน บ้านแสงนภามีรูปทรางคล้ายวัดเชียงทองเมืองหลวงพระบาง พระธาตุดินแทน เทศกาลทำบุญแห่ต้นดอกไม้วันสงกรานต์ ซึ่งหากส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวมาพักบ้านพักโฮมสเตย์ และพานักท่องเที่ยวไปเที่ยวพื้นที่นาแห้วร่วมกับพื้นที่หล่มสักจะช่วยให้การท่องเที่ยวคึกคักมากขึ้น และต้องแก้ไขปัญหาสภาพถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อ ลาดชันการขาดเจ้าภาพในการจัดการการท่องเที่ยวและไม่มีการประชาสัมพันธ์แก่นักท่องเที่ยว โดยที่ประชุมมีมติให้ อบต.แต่ละพื้นที่และผู้แทนดำเนินการจัดทำแผนท่องเที่ยวส่งให้ปลัดอำเภอทำการรวบรวม หลังจากนั้นจะเรียกประชุมจัดทำแผนท่องเที่ยวโดยจะเชิญ สพพ.๕ เข้าร่วมจัดทำแผนด้วย
อำเภอหนองหิน ได้มีการหารือกับนายอำเภอหนองหิน ส่วนราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๔ มีผู้เข้าร่วมประชุม ๑๔ คน ประเด็นการหารือที่ประชุมต้องการให้เกิดการพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะหนองหินเป็นพื้นที่มีอากาศบริสุทธิ์และมีต้นกำเนิดแม่น้ำหลายสาย มีธรรมชาติที่แปลกตา ได้แก่ สวนหินผางาม น้ำตกเพียงดิน ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวตลอดทั้งปี แต่ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา ถนนเข้าแหล่งท่องเที่ยวทรุดโทรม การดำเนินการควรต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่ ทั้งด้านการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว การจัดบ้านพักโฮมสเตย์ การพัฒนามัคคุเทศก์นำทาง ที่ประชุมมีมติให้ อบต.จัดทำแผนท่องเที่ยวในแต่ละ อบต. และจัดประชุมเวทีประชาคมเพื่อขอความคิดเห็นและส่งให้อำเภอ เพื่อบูรณาการแผนพัฒนาการท่องเที่ยวอำเภอหนองหิน และจัดประชุมร่วมกับ สพพ.๕ อีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๔
ส่วนอำเภอภูหลวง สพพ.๕ ได้ร่วมประชุมกับนายอำเภอภูหลวงและผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อสรุปว่า นายอำเภอภูหลวงมีแนวคิดจัดกิจกรรมเที่ยวภูหอชมปากภูเขาไฟที่ดับแล้ว ชมน้ำตกห้วยเลาในวนอุทยานน้ำตกห้วยเลา ชมบ่อน้ำพุด การมีส่วนร่วมในศูนย์กสิกรรม การท่องเที่ยวปีนเขาขึ้นยอดภูหอเพื่อนอนชมดาวนับล้านดวงและความรู้เกี่ยวกับดวงดาว ซึ่ง สพพ.๕ ได้แนะนำให้อำเภอเป็นผู้ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ไปก่อนจนกว่าชุมชนในพื้นที่จะเข้มแข็งพอที่จะดำเนินการได้เอง และนายอำเภอภูหลวงจะมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการการท่องเที่ยวอำเภอภูหลวง และจะนำประเด็นต่าง ๆ ให้คณะกรรมการพิจารณาก่อนที่จะจัดทำแผนท่องเที่ยวอำเภอภูหลวงต่อไป
ระหว่างนี้…ใครที่เครียดกับปัญหาน้ำท่วมสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวที่จังหวัดเลยได้นะคะ เพราะการสัมผัสวิถีชีวิตชาวบ้าน เยี่ยมชมศิลปวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงาม จะช่วยให้จิตใจแจ่มใสขึ้นค่ะ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit