มรภ.สงขลา สาธิตศิลปะใต้ ในงานวัฒนธรรมสัมพันธ์ ’54

02 Sep 2011

กรุงเทพฯ--2 ก.ย.--มรภ.สงขลา

ขณะที่คนทั่วไปมองว่าศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ค่อยๆ โรยราไปตามกาลเวลา พร้อมๆ กับการจากไปของคนเฒ่า คนแก่ จนแทบจะหายไปจากวิถีชีวิต แต่คนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่ง กลับเลือกที่จะเรียนรู้ศาสตร์แห่งศิลปวัฒนธรรมภาคใต้ เพื่อต่อลมหายใจแห่งภูมิปัญญาของปู่ย่าตายาย ไม่ให้สูญหายไปกับกาลเวลา

งานวัฒนธรรมสัมพันธ์ ประจำปี 2554 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 - 28 สิงหาคม ที่ผ่านมา เพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น มีการจัดลานบุญโดยอัญเชิญพระพุทธรูปปางต่างๆ ประจำวันเกิด พระพุทธรูปหลวงปู่ทวด อันเป็นที่เคารพบูชาของชาวใต้ มาประดิษฐานให้ผู้ที่เดินเที่ยวชมงาน ได้มีโอกาสทำบุญและสักการบูชา เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตัวเอง ที่สำคัญ มีการจัดทำซุ้มสาธิตศิลปะและหัตถกรรมพื้นบ้านภาคใต้ อาทิ หนังตะลุง มโนราห์ การทำบายศรี เป็นต้น เพื่อให้ความรู้ กระตุ้น และสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์และหวงแหนศิลปะพื้นบ้านแก่กลุ่มเยาวชน โดยได้รับความสนใจอย่างมากจากนักเรียน นักศึกษา ร่วมชมและทดลองทำ

นายเปายี บอตอ “น้องชะเอม” และ น.ส.ธิติมา กสิปาล “น้องไหม” นักศึกษาปี 4 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มรภ.สงขลา ซึ่งเห็นคุณค่าของการทำผ้าบาติก โดยได้เปิดซุ้มให้ความรู้และสาธิตวิธีทำผ้าบาติก กล่าวถึงการทำผ้าบาติกว่า เป็นงานที่สวยงาม มีสีสันที่เป็นเอกลักษณ์ สร้างจินตนาการให้กับผู้ออกแบบ และเป็นงานที่ต้องใช้สมาธิ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ได้มาซึ่งชิ้นงานที่สวยงามและสมบูรณ์ จึงอยากให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจงานผ้าบาติก เพราะเป็นศิลปะประจำท้องถิ่น แต่น่าเป็นห่วงว่าปัจจุบันมีคนเพียงส่วนน้อยที่สนใจ จึงอยากให้ช่วยกันอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของภาคใต้ ตนจะเป็นอีกแรงหนึ่งในการอนุรักษ์ และเผยแพร่ศิลปะดังกล่าว

ในขณะที่ น.ส. ปานระวี บางผึ้ง “น้องปลา” นักศึกษาปี 1 สาขาการออกแบบแฟชั่น คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย กล่าวว่า ตนกับเพื่อนมีโอกาสมาเดินเที่ยวงานวัฒนธรรมสัมพันธ์ และเดินผ่านซุ้มมโนราห์ มีการสาธิตร้อยลูกปัดเป็นเป็นชุดมโนราห์ ซึ่งมีความสวยงามและละเอียดอ่อนมาก จึงอยากศึกษาเรียนรู้ เพื่อจะได้นำไปประยุกต์กับการออกแบบเสื้อผ้า ในสาขาวิชาที่เรียน เพราะศิลปะพื้นบ้านภาคใต้ไม่ว่าจะเป็นการแสดงหรือหัตถกรรมพื้นบ้าน เป็นสิ่งที่มีคุณค่า มีความงดงามอยู่ในตัว สมควรทำนุบำรุงรักษาไว้ให้คงอยู่ตลอดไป

ด.ญ.กนธิชา สุยสุทธิ์ “น้องบีม” นักเรียนชั้น ป.2 โรงเรียนวิเชียรชม จ.สงขลา นักแกะหนังตะลุงตัวน้อย แต่ฝีมือเก่งเกินตัว กล่าวว่า สนใจเรื่องศิลปะมาตั้งแต่เด็กๆ และได้เห็นคุณตานั่งแกะหนังตะลุงเป็นประจำทุกวัน จึงสนใจอยากลองทำบ้าง เลยใช้เวลาหลังเลิกเรียนฝึกแกะหนังตะลุง โดยมีคุณตาเป็นครูสอนให้ การแกะหนังตะลุงฝึกให้ตนเองเป็นมีสมาธิมากขึ้น และที่สำคัญ ยังช่วยอนุรักษ์มรดกของคนใต้ และสืบต่อความตั้งใจของคุณตา ที่ต้องการให้ศิลปะแขนงนี้คงอยู่ไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน

ด้าน นายหนูยุก สุยสุทธิ์ นักแกะหนังตะลุงรุ่นใหญ่ ผู้เป็นทั้งคุณตาและครูของน้องบีม กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากให้สายเลือดชาวใต้ หันมาสนใจงานศิลปะกันมากขึ้น ช่วยกันอนุรักษ์ และสืบทอดมรดกของตายาย ไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา ซึ่งวันนี้เด็กและคนหนุ่มสาวจำนวนหนึ่ง พากันมาฝึกฝนแกะหนังตะลุง ตนดีใจมากที่คนรุ่นใหม่สนใจที่จะอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้ ด้วยเหตุว่า ในอนาคตข้างหน้า คนรุ่นใหม่เหล่านี้จะเป็นฟันเฟืองสำคัญ ในการส่งต่อความรู้ ความรัก และความหวงแหนศิลปวัฒนธรรมของภาคใต้ ไปยังคนรุ่นต่อๆ ไป

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net