กรุงเทพฯ--16 ก.ย.--มูลนิธิแพทย์ชนบท
มูลนิธิแพทย์ชนบท ประกาศผลและมอบรางวัล แพทย์ชนบทดีเด่น ประจำปี 2553-2554 ซึ่งเป็นการมอบรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติแก่แพทย์ชนบทที่ปฏิบัติงานด้วยความอดทน ตั้งใจ และเสียสละ โดยแพทย์ที่ได้รับรางวัล แพทย์ชนบทดีเด่น ประจำปี 2553 คือ นายแพทย์พัฒนา ตันสกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี และ นายแพทย์สมพงษ์ พัฒนกิจไพโรจน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แพทย์ชนบทดีเด่น ประจำปี 2554 คือ นายแพทย์สันติ ลาภเบญจกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำสนธิ จังหวัดลพบุรี และ นายแพทย์วิบูลย์ศักดิ์ วุฒิธนโชติ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมแพ จังหวัดขอนแก่น
เมื่อเร็วๆนี้ ที่โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ท ศูนย์การค้าเซียร์ รังสิต กรุงเทพฯ มูลนิธิแพทย์ชนบทได้จัดพิธีประกาศผลและมอบรางวัล “แพทย์ชนบทดีเด่น กองทุนนายแพทย์กนกศักดิ์ พูลเกษร ประจำปี 2553-2554 โดยมี ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้มอบรางวัล
ทั้งนี้ปัญหาการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขของภาคชนบท ยังขาดความเสมอภาค คุณภาพบริการและประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับบริการสาธารณสุขในเขตเมือง ทั้งปัญหาด้านการขาดแคลนบุคลากร ภาระงานที่หนัก แพทย์ส่วนใหญ่ไม่สามารถดำรงอยู่ในโรงพยาบาลชุมชนได้นานพอเนื่องจากมีปัจจัยหลายด้านกระทบมาก ส่งผลให้มีแพทย์ที่ทำงานให้บริการแก่ชาวชนบทไม่เพียงพอ เพื่อเป็นกำลังใจแก่แพทย์ที่เสียสละและอุทิศตนทำงานในชนบท มูลนิธิแพทย์ชนบทร่วมกับชมรมแพทย์ชนบท จึงได้มีการคัดเลือกแพทย์ดีเด่นในชนบท เพื่อมอบรางวัลแพทย์ชนบทดีเด่นกองทุนนายแพทย์กนกศักดิ์ พูลเกษร ในงานประชุมวิชาการของชมรมแพทย์ชนบทซึ่งมีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
นายแพทย์พัฒนา ตันสกุล อายุ 52 ปีผู้อำนวยการโรงพยาบาลพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า จะให้ความสำคัญกับการทำงานเชิงรุกในชุมชน การสร้างเสริมสุขภาพชุมชน การป้องกันและควบคุมโรค เช่นเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนนอกจากจะทำงานด้านรักษาพยาบาลแล้ว ในช่วงนอกเวลาราชการ จะลงไปทำงานในชุมชนร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ออกหน่วยสาธารณสุขเคลื่อนที่ไปให้บริการตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อให้เกิดความสนุกสนานก็จะสอดแทรกความบันเทิงเป็นการจูงใจไปด้วย ในช่วงกลางคืนจะมีฉายหนังกลางแปลงให้ความรู้และประชาสัมพันธ์งานสาธารณสุข ปัจจุบันเมื่อต้องรับหน้าที่บริหารด้วยก็ยังเน้นเป้าหมายในการทำงานของโรงพยาบาลเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดีด้วยการจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
“การสร้างเสริมสุขภาพในโรงพยาบาลชุมชนที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปและปัญหาในแต่ละพื้นที่ แต่มีส่วนหนึ่งที่ไม่ค่อยเปลี่ยนคือการทำกิจกรรมต่างๆ โดยใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และให้ชุมชนมีส่วนร่วมเพื่อความต่อเนื่องยั่งยืน บุคลากรสาธารณสุขเองต้องศึกษาปัญหาของชุมชน ร่วมกับชุมชนกำหนดแนวทางแก้ปัญหากิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพเป็นกิจกรรมที่ลงทุนน้อยแต่ได้ผลตามมาอย่างคุ้มค่าทั้งต่อตัวบุคคลและชุมชน เมื่อประชาชนมีสุขภาพอนามัยที่ดี”
นายแพทย์สมพงษ์ พัฒนกิจไพโรจน์ อายุ 42 ปี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ในช่วงที่เริ่มต้นรับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการและแพทย์ประจำโรงพยาบาลชุมชน 30 เตียง มีการเปลี่ยนผ่านจากระบบเดิมเป็นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงและพัฒนาครั้งใหญ่ โดยบริหารจัดการให้การพัฒนางานบริการปฐมภูมิของเครือข่ายการจัดบริการสุขภาพ เน้นเชิงรุกในแนวส่งเสริมป้องกัน ส่งผลให้สามารถลดความแออัดของผู้ป่วยที่โรงพยาบาลแม่ข่ายได้
นอกจากนี้ยังมีผลงานเด่นในการแก้ปัญหาการระบาดของโรคมาลาเรีย ทั้งในส่วนของการระบาดที่เกิดขึ้นในพื้นที่อำเภอบางสะพานน้อยและการแก้ปัญหาในระดับจังหวัด ซึ่งมาลาเรียนับเป็นปัญหาสำคัญของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากพื้นที่ทางด้านทิศตะวันตกของจังหวัดเป็นพื้นที่ติดขอบชายแดนประเทศเมียนมาร์ตลอดแนว มีแรงงานต่างด้าวเคลื่อนเข้าออกตลอด ประกอบกับพื้นที่ส่วนใหญ่ร่มชื้นเหมาะกับการเพาะพันธุ์ยุงก้นปล่อง จึงได้นำเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่คัดกรองและควบคุมโรควิเคราะห์หาสาเหตุและแก้ปัญหาที่ตรงจุด เป็นต้นแบบให้อำเภออื่นๆ นำไปใช้
“ความสำเร็จทั้งหมดจะไม่เกิดขึ้น ถ้าโรงพยาบาลไม่มีเจ้าหน้าที่ที่มีคุณภาพ ความสามารถและเสียสละ ซึ่งผมคิดว่าการมีคนที่มีคุณภาพนั้นมีค่ามากกว่าเงิน เพราะบุคลลากรที่มีคุณภาพจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดรายได้และสูญเสียน้อยที่สุด”
นายแพทย์สันติ ลาภเบญจกุล อายุ 37 ปี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำสนธิ จังหวัดลพบุรี กล่าวว่า อำเภอลำสนธิเป็นอำเภอที่อยู่ไกลที่สุดของจังหวัดลพบุรี ซึ่งที่นี่ทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้ ได้ทำในสิ่งที่รักและเห็นคุณค่านั่นก็คือการทำงานเพื่อผู้ด้อยโอกาสในสังคม เริ่มต้นจากการได้ดูแลเด็กชายพิการคนหนึ่งที่น่ารักและน่าเศร้า ถือเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดความรู้สึกอันละเอียดอ่อนในหัวใจของทีมงานดูแลสุขภาพของโรงพยาบาลลำสนธิ จนนำไปสู่การสร้างระบบงานและการดูแลผู้พิการในอำเภอลำสนธิ
“ที่อำเภอลำสนธิเรามียุทธศาสตร์สำคัญมากเรื่องหนึ่งคือ “ยุทธศาสตร์คนลำสนธิไม่ทอดทิ้งกัน’’ ซึ่งเป็นความร่วมมือทุกภาคส่วน เริ่มตั้งแต่โรงพยาบาล สถานีอนามัย องค์การบริหารส่วนตำบลชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการช่วยเหลือเยียวยาและดูแลผู้ด้อยโอกาสในสังคมได้แก่ กลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองได้น้อย กลุ่มผู้ป่วยจิตเวช เด็กพิการซ้ำซ้อนและกลุ่มเด็กพิการต่างๆ ทำให้เกิดระบบกึ่งอาสาในพื้นที่โดยการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของโรงพยาบาลและอนามัย เป็นการดูแลด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ ทำให้เกิดรูปแบบใหม่ๆ ของกิจกรรมในพื้นที่ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความเข็มแข็งของระบบสุขภาพระดับอำเภอลำสนธิ”
นายแพทย์วิบูลย์ศักดิ์ วุฒิธนโชติ อายุ 53 ปี นายแพทย์เชี่ยวชาญ (กุมารเวชกรรม) รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมแพ จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า เมื่อครั้งที่ยังเรียนอยู่ได้มีโอกาสออกค่าย ทำให้ได้เห็นความเป็นจริงของสังคมไทย สภาพชีวิตคนในชนบทที่ยากต่อการเข้าถึงบริการต่างๆ ของรัฐ จึงมีแนวคิดที่จะช่วยเหลือชาวชนบทให้มีชีวิตและสุขภาพที่ดีขึ้นตั้งแต่นั้น โดยปัจจุบันปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลชุมแพ ผลงานเด่นคือเริ่มการดูแลเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีและเด็กโรคธัลลาสซีเมียแบบองค์รวม (Holistic care) เป็นแห่งแรกในจังหวัดขอนแก่น รวมถึงมีผลงานวิชาการหลายเรื่อง และได้ร่วมจัดตั้งชมรมจริยธรรมเครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอชุมแพ ส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้ป่วยและญาติได้ศึกษาและปฏิบัติธรรม นำมาใช้ในชีวิตและการทำงาน
“ดีใจมากที่มีหลายคนบอกว่านำธรรมะมาใช้ในชีวิตแล้วมีความสุขมากขึ้น ดูแลผู้ป่วยด้วยความเมตตามากขึ้น ผมถือว่าจิตใจที่มีธรรมะและจิตสาธารณะของทุกคนไม่ว่าทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่เป็นความดีงามและเป็นบุญกุศล ได้แบ่งปันความสุขให้กันและกัน เปรียบเสมือนแสงเทียนน้อยๆที่มารวมกันเกิดเป็นพลังที่จะช่วยเยียวยาสภาพสังคมที่กำลังเสื่อมลง”
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit