กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--เอ็มอินเตอร์แอคชั่น
กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย) และบริษัท เอ็มอินเตอร์แอคชั่น จำกัด ในเครือกรุ๊ปเอ็ม ผู้นำการบริหารและจัดการธุรกิจสื่อสารการตลาดอย่างครบวงจรให้กับบริษัทมีเดียเอเยนซี่ในเครือ WPP เช่น มายด์แชร์ มีเดียเอชซีไอเอ มีเดียคอม และแม็กซัสเผยในวันนี้ในงาน groupm FOCAL 2011powered by Google ถึงภาพรวมการสื่อสารการตลาดผ่านสื่อดิจิตอลประจำปี 2554 ว่า นักการตลาดต้องให้ความสนใจกับ 4 แนวโน้มหลักของสื่อดิจิตอล คือ ความนิยมในออนไลน์วีดีโอคอนเทนต์ ความนิยมในสมาร์ทโฟน การใช้งาน search และโซเชียลมีเดียเพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อ และพัฒนาการของข้อมูลอุตสาหกรรมเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาแคมเปญให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
สุภาณี เดชาบูรณานนท์ ประธานกรรมการ กรุ๊ปเอ็ม ประเทศไทย กล่าวถึงที่มาของงาน groupm Focal 2011 ว่า “กรุ๊ปเอ็มในฐานะผู้นำด้านการสื่อสารการตลาดและประชาสัมพันธ์ที่มีเครือข่ายทั่วโลก และมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้สื่อดิจิตอล ตั้งใจจัดงาน groupm FOCAL 2011 ขึ้น ซึ่งคำว่า FOCAL นี้ มีที่มาจากคำว่า FOCAL POINT หรือ จุดรวมแสง เราเชื่อว่า ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วและสับสนวุ่นวาย ทีมงานของเรา กรุ๊ปเอ็มและเอ็มอินเตอร์แอคชั่น จะสามารถทำหน้าที่รวบรวม สรุปประเด็น และชี้แนวทางที่ชัดเจนได้ว่า สิ่งใดที่สำคัญต่อธุรกิจในแต่ละปี และเป็นสิ่งที่ลูกค้า ในฐานะนักการตลาดควรต้องโฟกัส หรือให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ เพื่อประโยชน์ต่อลูกค้า และอุตสาหกรรมการตลาด โฆษณา ประชาสัมพันธ์ของไทยในภาพรวม”
ศิวัตร เชาวรียวงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มอินเตอร์แอคชั่น จำกัดในเครือกรุ๊ปเอ็ม กล่าวถึงแนวโน้มการสื่อสารผ่านสื่อดิจิตอลในปีนี้ว่า “ประเด็นหลักที่นักการตลาดไม่ควรพลาดและสำคัญในปีนี้มีอยู่ 4 ประการซึ่งเป็นแนวทางทางที่จะใช้พัฒนาแคมเปญเพื่อชิงความสนใจจากกลุ่มผู้บริโภคให้รับรู้สารจากแบรนด์
ประเด็นแรกคือ วีดีโอคอนเทนต์ ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นในหมู่ผู้บริโภคในวงกว้าง ไม่ได้กระจุกตัวอยู่ในเฉพาะบางกลุ่มบางคนอีกต่อไป เนื่องจากการแข่งขันที่สูงมากในกลุ่มผู้ประกอบการที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทำให้การเข้าถึงออนไลน์วีดีโอคอนเทนต์สะดวกขึ้นและได้รับความนิยมมากขึ้น เห็นได้จากกลุ่มศิลปินที่นิยมหันมาสร้าง Youtube Channel ของตัวเองมากขึ้น หรือเว็บไซต์ชั้นนำของประเทศอย่าง mthai sanook kapook ต่างนำวีดีโอคอนเทนต์ขึ้นมาจัดวางในตำแหน่งสำคัญในหน้าแรก
ประเด็นที่สองคือ ความนิยมในสมาร์ทโฟนที่สูงขึ้น สร้างโอกาสในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายด้วยรูปแบบใหม่ๆ เช่นการสร้างโมบายล์แอพพลิเคชั่น อย่างไรก็ตามนักการตลาด ควรใช้โมบายล์แอพพลิชั่นดังกล่าวเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ และเพิ่มความถี่ในการติดต่อสื่อสารมากกว่าที่จะหวังขยายฐานลูกค้าเพิ่มจากการใช้สื่ออินเทอร์เน็ต เนื่องจากผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนในปัจจุบันยังเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือทั้งหมด 70 ล้านคน และยังเป็นกลุ่มเดียวกับผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตซึ่งปัจจุบันขยายจำนวนเพิ่มเป็น 24 ล้านคน นอกจากนี้ยังควรศึกษาวิธีการประชาสัมพันธ์แอพพลิเคชั่นผ่านทางเครือข่ายโฆษณาบนมือถือด้วยเช่นกัน
ประเด็นที่สามคือ การใช้งาน Search และโซเชียลมีเดียเพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อ เนื่องจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตมีมากขึ้น ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการต่างๆ ทั้งที่เจ้าของสินค้าเผยแพร่ออกมา และที่ผู้บริโภคแลกเปลี่ยนความเห็นกันในอินเทอร์เน็ตจึงมีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วย การหาข้อมูลโดยใช้ Search และโซเชียลมีเดียเป็นเรื่องที่ทำได้สะดวก โดยจากผลวิจัยพบว่า 56% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกล่าวว่า ความเห็นของบุคคลอื่นๆในโซเชียลมีเดียเปลี่ยนทัศนคติที่เขามีต่อแบรนด์ หรือสินค้านั้นๆ ได้ ทั้งนี้ กระบวนการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคอาจใช้เวลาถึง 60 วัน ในขณะที่จำนวนแหล่งข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตที่ใช้พิจารณาประกอบการตัดสินใจซื้อมีมากถึง 11 แหล่ง นักการตลาดจึงควรให้ความสนใจกับการจัดการข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวกับสินค้า และบริการของตัวเอง และการทำ Search Engine Marketing ให้มากขึ้นเป็นพิเศษ
ประเด็นที่สี่ คือ พัฒนาการของข้อมูลอุตสาหกรรมวงการโฆษณาออนไลน์ ที่ผ่านมาข้อมูลเกี่ยวกับสื่อดิจิตอลในประเทศไทยยังขาดการพัฒนา ทำให้นักการตลาดขาดความมั่นใจในการตัดสินใจ ส่งผลให้งบโฆษณาออนไลน์ยังอยู่ที่ไม่เกิน 2% ซึ่งในปี พ.ศ.2554 นี้จะมีพัฒนาการด้านนี้อย่างเด่นชัด ส่งผลให้นักการตลาดมีความมั่นใจมากขึ้น ลูกค้าบางรายได้ตั้งเป้าใช้เงินโฆษณาออนไลน์สูงขึ้นจากเดิมกว่าสี่เท่าตัว หรือมากกว่างบที่เคยใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550-2553 รวมกัน” คุณศิวัตรกล่าว
ความท้าทายของนักการตลาดยุคดิจิตอลอยู่ที่ การนำ 4 ประเด็นเหล่านี้มาใช้ในแคมเปญการตลาดอย่างเหมาะสมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการสื่อสารกับกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่มากที่สุด
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit