สสว. จับมือ TMB และสภาผู้ส่งออกฯ เผยสถานการณ์ SMEs หลังภัยธรรมชาติ

08 Apr 2011

กรุงเทพฯ--8 เม.ย.--ธนาคารทหารไทย

สสว. จับมือ TMB และสภาผู้ส่งออกฯ เผยสถานการณ์ SMEs ต้นปี 54 ยังคงดีขึ้นต่อเนื่องผลจากการส่งออกเพิ่มสูง โดยเฉพาะ ก.พ.54 ขยายตัวถึงร้อยละ 32.63 ส่วนการจัดตั้งกิจการใหม่และการสิ้นสภาพทำสถิติดีที่สุดนับตั้งแต่ปี 2549 ขณะที่ต้นทุนการผลิต อัตราดอกเบี้ย จะเป็นปัจจัยสำคัญของธุรกิจในปีนี้ ส่วนผลจากสึนามิญี่ปุ่น สงครามลิเบีย และน้ำท่วม 8 จังหวัดภาคใต้ อาจฉุดเศรษฐกิจประเทศโดยคาดการณ์ทั้งปี GDP SMEs ชะลอตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.2

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยในงานรายงานสถานการณ์ SMEs รายไตรมาส เรื่อง “ผลกระทบและทางออก SMEs ไทย หลังเหตุการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติ” จัดโดย สสว. ร่วมกับ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สภาผู้ส่งออกฯ หรือ TNSC) ว่า สถานการณ์ SMEs ในช่วงต้นปี 2554 ยังคงมีแนวโน้มที่ดี เห็นได้จากการส่งออกของ SMEs ในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 มีมูลค่า 177,558.4 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกันเดือนเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 32.63 ซึ่งประเทศคู่ค้าหลักของ SMEs ไทย ได้แก่ ฮ่องกง สวิสเซอร์แลนด์ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย และออสเตรเลีย สินค้าหลักของไทยที่ส่งออก ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ยางและของที่ทำด้วยยาง พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก

“ไตรมาส 1 ของปี 2554 คาดว่าการส่งออกจะขยายเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 14.8 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 474,256.6 ล้านบาท ขณะที่การส่งออกของ SMEs ในปี 2553 คิดเป็นมูลค่ารวม 1,753,804.3 ล้านบาท โดยที่ญี่ปุ่นยังคงเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของ SMEs ไทย ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 10.1 รอลงมาคือตลาดจีน และ ฮ่องกง ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 9.8 และ 9.5 ตามลำดับ” ผอ.สสว. กล่าว

ในด้านการจัดตั้งและสิ้นสภาพกิจการนิติบุคคลของ SMEs ในปี 2554 ในเดือนมกราคม และ กุมภาพันธ์ 2554 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา พบว่า มีกิจการการจัดตั้งใหม่สูงสุด รวม 10,396 กิจการ ส่วนการยกเลิกกิจการ ก็นับว่ามีจำนวนต่ำสุด รวม 1,767 กิจการ ขณะที่ทั้งปี 2553 พบว่า มีกิจการจัดตั้งใหม่จำนวน 50,776 ราย โดยกิจการที่จัดตั้งใหม่สูงสุด 5 ลำดับแรก บริการนันทนาการ ก่อสร้างอาคารทั่วไป อสังหาริมทรัพย์ บริการด้านธุรกิจอื่น และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการ ส่วนการยกเลิกกิจการ มีจำนวน 16,004 ราย กิจการที่ยกเลิกสูงสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป อสังหาริมทรัพย์ บริการด้านธุรกิจอื่น ตัวแทนการท่องเที่ยว ขายส่งเครื่องใช้ไฟฟ้า

สำหรับ SMEs ในภาคการค้าและบริการ เมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นด้านการลงทุนและการจ้างงาน พบว่ามีแนวโน้มความเคลื่อนไหวสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน โดยดัชนีด้านการลงทุนจะอยู่ในระดับเหนือกว่าค่าฐานที่ 100 เล็กน้อย และดัชนีด้านการจ้างงานทรงตัวอยู่ในระดับค่าฐาน ซึ่งค่าดัชนีดังกล่าวปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ธ.ค.53 - ม.ค.54 แต่ปรับตัวลดลงในเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม และปริมาณการผลิตปรับตัวลดลง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการ ยังคงมีความเชื่อมั่นด้านการลงทุนและการจ้างงานในระดับที่ดีแม้จะอยู่ในอัตราที่ลดลง

ในส่วนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม SMEs ในเดือนมกราคม 2554 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน พบว่า ดัชนีผลผลิตทั้งมูลค่าผลผลิตและมูลค่าเพิ่ม ดัชนีการส่งสินค้า และดัชนีอัตราการใช้กำลังการผลิต ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 96.76 117.78 120.78 และ 49.92 จากระดับ 96.48 114.39 120.38 และ 49.29 ตามลำดับ ขณะที่ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง ดัชนีอัตราส่วนสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง ดัชนีแรงงานในภาคอุตสาหกรรม และดัชนีผลิตภาพแรงงานอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลง ซึ่งแสดงให้เห็นภาคการผลิตมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นรวมทั้งสินค้าที่ผลิตได้ สามารถกระจายไปในตลาดเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ดีผลจากภัยธรรมชาติ ทั้งการเกิดสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น และน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SMEs และเศรษฐกิจของประเทศ โดยการเกิดสึนามิญี่ปุ่น ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของ SMEs ไทยในบางธุรกิจ ทำให้การผลิตอาจต้องหยุดชะงักในระยะสั้น เช่น กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ อิเลคทรอนิกส์ และกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าปริมาณนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นทั้งขาออกและขาเข้าประเทศไทยจะลดลง 100,000 คน ในด้านการนำเข้าสินค้าของ SMEs ไทย จากประเทศญี่ปุ่น ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะกลุ่มอาหาร พืชผักและปลาทะเล อย่างไรก็ดีในด้านการลงทุนจากญี่ปุ่นในประเทศไทย จะส่งผลดีในระยะยาว โดยเริ่มจากในปลายปีนี้ อาจจะเห็นธุรกิจที่เป็น SMEs ของญี่ปุ่น เข้ามาดำเนินกิจการในไทยมากขึ้น

ส่วนวิกฤติน้ำท่วมในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี ตรัง ชุมพร สงขลา กระบี่ พังงา ได้ส่งผลกระทบต่อ SMEs รวม 36,580 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตร ทั้งเพาะปลูกปาล์ม ยางพารา สวนผลไม้ การเพาะเลี้ยงกุ้ง ซึ่งได้รับความเสียหายคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท รวมทั้งภาคการค้า และภาคการท่องเที่ยวในพื้นที่ท่องเที่ยวหลัก ซึ่งเห็นได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทยชะลอการจองห้องพักประมาณร้อยละ 80 คิดเป็นซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าความเสียหายประมาณ 800-900 ล้านบาท

“วิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะที่ประเทศญี่ปุ่นและสงครามที่ลิเบีย จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของโลกทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมถึงประเทศไทยโดยเฉพาะภาคการส่งออก ซึ่งคาดว่า ในปี 2554 เศรษฐกิจประเทศจะขยายตัวในทิศทางที่ลดลง โดยอัตราการขยายตัวของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของประเทศ จะขยายตัวร้อยละ 4 ขณะที่ GDP SMEs จะขยายตัวร้อยละ 4.2 “ ผอ.สสว. กล่าว นายสยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB กล่าวว่า สถานการณ์และแนวโน้มต้นทุนการผลิตที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น จากราคาน้ำมัน วัตถุดิบ ค่าจ้างแรงงานและดอกเบี้ย เป็นหนึ่งปัจจัยเสี่ยงและอุปสรรคสำคัญของภาคธุรกิจไทยในปีนี้ โดยต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นในแต่ละด้านจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมภาคต่างๆในระดับที่แตกต่างกัน เช่น หากต้นทุนด้านพลังงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ก็จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตโดยรวมสูงขึ้นร้อยละ 2.2 ในด้านวัตถุดิบ หากมีการปรับตัวของราคาวัตถุดิบพื้นฐาน เช่น เหล็ก ซีเมนต์ และสินค้าเกษตร ก็จะส่งผลโดยตรงต่ออุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องใช้วัตถุดิบดังกล่าวในการผลิต และในด้านต้นทุนแรงงาน ก็ได้รับผลกระทบจากนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการ SMEsที่ใช้แรงงานด้อยฝีมือเป็นหลักมีต้นทุนสูงขึ้น

จากแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อในปีนี้ ทาง TMB ประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นไปที่ระดับร้อยละ 3.25 ณ สิ้นปี ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นต้นทุนทางการเงินหลักของผู้ประกอบการ SMEs สูงขึ้น ทั้งนี้เราพบว่า ผู้ประกอบการที่มีผลการดำเนินงานที่ดีต่อเนื่อง จะเป็นผู้ประกอบการที่มีการจัดการต้นทุนทางการเงินได้ดี โดยมีสัดส่วนภาระดอกเบี้ยต่อกำไรสุทธิที่ต่ำ ในทางกลับกัน ธุรกิจที่ประสบปัญหาต่อเนื่องนั้น มีสัดส่วนภาระดอกเบี้ยต่อกำไรที่สูงกว่าโดยเฉลี่ยถึง 4 เท่า ส่วนปัจจัยอื่นๆ เช่น สถานการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในประเทศญี่ปุ่น นั้น นายสยามกล่าวว่า จะส่งผลกระทบต่อSMEsเพียงในระยะสั้นและในบางอุตสาหกรรมเท่านั้น เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และท่องเที่ยว และสำหรับเหตุการณ์น้ำท่วมในภาคใต้ ขณะนี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคใต้ โดยมีภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และประมง ภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ เช่น เฟอร์นิเจอร์ไม้ การแปรรูปไม้ยางพารา ภาคบริการได้รับผลกระทบมากกว่าปีก่อน เนื่องจากหลายจังหวัดที่ถูกน้ำท่วมเป็นจังหวัดที่สร้างรายได้ท่องเที่ยวให้กับภาคใต้ เช่น กระบี่ สตูล ภูเก็ต และพังงา อย่างไรก็ดีการท่องเที่ยวในภาคใต้ มีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวในปลายไตรมาสที่ 3 ในมุมของ SMEs พบว่า จากปัจจัยต่างๆข้างต้นรวมถึงข้อจำกัดด้านการบริหารจัดการ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การขาดแคลนเงินทุน ตลอดจนการไม่ได้เป็นผู้ควบคุมราคาสินค้า สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนไหวที่ค่อนข้างสูงต่อความเสี่ยงด้านต้นทุนการผลิต ซึ่งจะส่งผลต่ออัตรากำไร (Margin) ที่อาจปรับลดลง อย่างไรก็ตาม TMB ประเมินว่า อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี ยังคงอยู่ในกลุ่มของอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตดีปานกลาง ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม การก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง และท่องเที่ยว ส่วนอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนและการแข่งขันที่สูง ได้แก่ เครื่องประดับ และอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น เซรามิก เฟอร์นิเจอร์ไม้ เครื่องหนัง และเครื่องแต่งกาย

นางสาวกัญญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ กรรมการสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สภาผู้ส่งออกฯ) กล่าวว่า ก่อนสถานการณ์สินามิในเดือนมีนาคม การส่งออก-นำเข้า ระหว่าง ไทยและญี่ปุ่น มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องนับแต่ปลายปี 2553 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ทราบตัวเลขอย่างแน่ชัดในขณะนี้ แต่เชื่อว่ามูลค่าการส่งออก-นำเข้า ระหว่าง ไทยและญี่ปุ่น จะลดลงในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นผลกระทบจากการขาดแคลนไฟฟ้าย่อมทำให้กำลังการผลิตของญี่ปุ่นลดลงในระยะแรก แต่เมื่อญี่ปุ่นสามารถนำเข้าน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาเข้าไปชดเชยได้มากขึ้น เชื่อว่ากำลังการผลิตจะเริ่มใกล้เคียงกับปกติภายใน 3 เดือนข้างหน้า

สินค้าที่ได้รับผลกระทบทางตรงมากที่สุด ประกอบไปด้วย กลุ่มยานยนต์ เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เหล็กและเหล็กกล้า เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์พลาสติก เนื่องจากมีการส่งออก-นำเข้าวัตถุดิบและส่วนประกอบระหว่างกันเป็นจำนวนมาก และเมื่อสภาพการผลิตและความต้องการสินค้าชะงักงัน ย่อมส่งผลกระทบต่อการผลิตและการวางแผนในกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องของผู้ประกอบการไทย สำหรับสินค้าอาหารของไทยอาจได้รับผลกระทบเชิงบวกจากคำสั่งซื้อที่มากขึ้น และการต่อรองราคาที่ไม่มากเท่าสถานการณ์ปกติ ส่วนสินค้าทั่วไป (นอกเหนือไปจากอาหาร) จากความกังวลด้านความปลอดภัยของสินค้าญี่ปุ่น จะทำให้การบริโภคสินค้าที่ผลิตในญี่ปุ่นลดลงในระยะแรก ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมีผู้ผลิตในประเทศอื่นๆ ที่สามารถผลิตสินค้าประเภทเดียวกัน เพื่อรองรับความต้องการได้อย่างเพียงพอ ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นจึงอาจส่งผลกระทบในทางจิตวิทยาให้มีการปรับราคาสินค้าสำเร็จรูปขึ้นบ้างเล็กน้อย แต่ในส่วนของวัตถุดิบสำหรับการผลิตบางรายการอาจมีการปรับราคาลง เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับยอดขายสินค้าสำเร็จรูปที่ลดลง

สินค้าที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมอาจเป็นวัตถุดิบบางรายการ อาทิ ยางพารา ที่ส่งไปยังประเทศจีน เพื่อผลิตเป็นสินค้า อาทิ ยางรถยนต์ และส่งต่อไปยังประเทศญี่ปุ่น เพื่อประกอบและส่งขายในตลาดโลกในระยะยาว ภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นจะเริ่มเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยงจากปัญหาแผ่นดินไหวภายในประเทศ เนื่องจากประเทศไทยมีความพร้อมในการรองรับการลงทุนในเทคโนโลยีระดับสูงมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

ในส่วนของผู้ประกอบการไทยเอง จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงทางการค้า โดยการสร้างแผนสำรองหรือทางเลือกทางการตลาด แหล่งวัตถุดิบ รวมถึงช่องทางการชำระเงินระหว่างประเทศ เพื่อลดความเสี่ยง และทำให้การทำธุรกิจสามารถเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง และจากกรณีกัมมันตภาพรังสี ซึ่งทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของสินค้าจากญี่ปุ่นและมีการแบนสินค้าหลายรายการ ถือเป็นประสบการณ์ และตัวอย่างที่สำคัญของผู้ประกอบการไทย ที่ต้องเตรียมรับมือ เพื่อมิให้สินค้าที่อยู่ในตลาดเดิมได้รับผลกระทบตามไปด้วย

ท้ายที่สุดคือข้อกังวลด้านพลังงานของประเทศในระยะยาว ซึ่งผลกระทบจากการรั่วไหลของกัมมันตรังสีของโรงไฟฟ้า ได้ส่งผลให้การต่อต้านในประเทศไทยมีมากขึ้น และหากไม่สามารถพัฒนาแหล่งผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอในอนาคตอันใกล้ จะทำให้เป็นข้อจำกัดสำคัญของภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนจากต่างประเทศ

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit