ซีพีเอฟ ชูไก่บ้านสีทอง-ไก่ไทยซีพี สัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ ส่งเสริมเกษตรกรเลี้ยง สร้างรายได้งาม

26 Apr 2011

กรุงเทพฯ--26 เม.ย.--ซีพีเอฟ

นายสมบัติ ปิยะพันธุ์ ผู้แทน บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ปัจจุบันไก่พื้นเมืองหายาก ทำให้ปริมาณในตลาดลดลงและไม่สม่ำเสมอ จึงมีราคาสูง ขณะที่ผู้บริโภคยังมีความต้องการบริโภคไก่ ที่มีเนื้อนุ่ม เหนียว แน่น ไขมันน้อย รสชาติดี โดยเฉพาะในงานเทศกาลสำคัญๆ อย่างตรุษจีน และสาร์ทจีน ที่มักนิยมใช้ไก่บ้านในพิธีไหว้ ซีพีเอฟเห็นความสำคัญของตลาดดังกล่าว ทางกิจการโครงการพิเศษ กลุ่มธุรกิจไก่-เป็ด จึงริเริ่มแนวคิดการเพาะพันธุ์และเลี้ยงไก่พื้นเมือง ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตของตลาดสูงและสามารถพัฒนาเป็นธุรกิจได้ โดยอาศัยเทคโนโลยีด้านการปรับปรุงพันธุ์ของซีพีเอฟ เพื่อให้ได้ไก่ไทยปริมาณมากพอกับความต้องการของผู้บริโภค ด้วยการส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยให้เลี้ยงไก่ทั้งไก่บ้านสีทอง และไก่ไทยซีพี

ปัจจุบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีอยู่ราว 100 ราย เพื่อผลิตไก่บ้านสีทอง และไก่ไทยซีพี ป้อนตลาดทั้งที่จำหน่ายใน CP.Fresh Mart Tops supermarket Big C Supercenter Makro และ Carrefour รวมทั้งจำหน่ายให้กับร้านอาหารในส่วนภูมิภาค ซึ่งมีความต้องการของตลาดมีค่อนข้างสูง ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปีที่ซีพีเอฟทำการพัฒนาไก่ไทยซีพีเป็นธุรกิจให้กับเกษตรกรนั้น ถึงวันนี้พิสูจน์ได้แล้วว่าสามารถทำได้ และเป็นธุรกิจที่มีอนาคต ที่สาคัญเกษตรกรที่ร่วมโครงการมีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจริง ยิ่งเมื่อรวมกับความมุ่งมั่นและความใส่ใจของเกษตรกรแล้วก็จะทำให้ประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก

สำหรับการเลี้ยงไก่บ้านสีทองและไก่ไทยซีพี จะเลี้ยงในฟาร์มระบบปิด ด้วยโรงเรือนเปิด ซึ่งมีวิธีการเลี้ยงและการจัดการที่ไม่ยุ่งยาก โดยเริ่มจากการรับลูกไก่อายุ 1 วัน เข้าเลี้ยง ซึ่งต้องเตรียมโรงเรือนด้วยการปูพื้นด้วยแกลบใหม่ที่สะอาด ให้มีความหนา 3-5 นิ้ว พร้อมเตรียมหัวกกแก๊ส เพื่อให้ความอบอุ่นเป็นเวลา 14 วัน รวมถึงเตรียมถังน้ำและถาดอาหาร โดยให้อาหารไก่พื้นเมือง เบอร์ 1 ตั้งแต่อายุ 1 วัน-3 สัปดาห์ แล้วเปลี่ยนเป็นเบอร์ 2 จนถึงจับออกที่อายุประมาณ 9-10 สัปดาห์ ไก่จะมีน้ำหนักประมาณ 1.2-1.3 ก.ก. ส่วนการดูแลไก่ที่เลี้ยงในฟาร์มระบบปิด ในโรงเรือนเปิดนี้ก็ไม่ยุ่งยาก หากอากาศร้อนก็มีพัดลมและสปริงเกอร์น้ำบนหลังคาเพื่อลดความร้อน ถ้าหนาวจะมีผ้าม่านเพื่อปรับอุณหภูมิภายในเล้า ทั้งนี้ เกษตรกรที่จะร่วมโครงการจะต้องเข้าอบรมและฝึกปฏิบัติในฟาร์มของบริษัทก่อน ขณะที่พนักงานของซีพีเอฟก็จะให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดและติดตามการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรมีผลผลิตที่มีคุณภาพดี และมีอัตราสูญเสียต่ำที่สุด

ด้านสื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ CPF โทร. 02-625-7343-5, 02-631-0641, 02-638-2713 / e-mail : [email protected]