ปภ.แนะระวังภัยจากพายุฤดูร้อน และฟ้าผ่า

21 Apr 2011

กรุงเทพฯ--21 เม.ย.--ปภ.

เดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคมอยู่ในช่วงปลายฤดูร้อน ซึ่งจะมีลักษณะอากาศแปรวน และมักเกิดพายุฤดูร้อน โดยมีลักษณะพายุฝนฟ้าคะนอง ฟ้าผ่า ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก เพื่อป้องกันอันตรายจากภัยธรรมชาติที่มักเกิดในช่วงดังกล่าว กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอแนะวิธีตนปฏิบัติอย่างถูกต้องและปลอดภัย ดังนี้

พายุฤดูร้อน

ก่อนเกิดพายุฤดูร้อน ติดตามรับฟังข่าวพยากรณ์อากาศอย่างสม่ำเสมอ หากมีประกาศแจ้งเตือนให้เก็บสิ่งของที่สามารถปลิวไปตามลมได้ไว้ในที่มิดชิด ตรวจสอบบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง โดยเฉพาะป้ายโฆษณา หากพบว่าอยู่ในสภาพที่ไม่ปลอดภัย ให้แจ้งเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาดำเนินการรื้อถอนหรือปรับปรุงแก้ไขโดยด่วน รวมถึงตัดแต่งกิ่งไม้บริเวณรอบบ้าน เพื่อป้องกันการโค่นล้มทับบ้านเรือนได้รับความเสียหาย ส่วนเกษตรกรให้จัดทำที่ค้ำยันต้นไม้หรือที่กำบัง เพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายขณะเกิดพายุฤดูร้อน เข้าไปหลบในอาคารหรือบ้านเรือนที่มั่นคงแข็งแรง ปิดประตูหน้าต่างให้สนิท เพื่อป้องกันแรงลมกระแทกประตูหน้าต่างหรือพัดสิ่งของเข้ามาในบ้านเรือน หลีกเลี่ยงการหลบพายุใต้ต้นไม้ ใกล้ป้ายโฆษณาหรือเสาไฟฟ้า เพราะอาจถูกล้มทับได้

ฟ้าผ่า

กรณีอยู่ในที่โล่ง หากอยู่กลางแจ้งในบริเวณที่อาจเกิดฟ้าผ่า และไม่สามารถหาที่หลบได้ ให้นั่งยองๆ เก็บมือทั้ง 2 ข้างแนบติดกับเข่า ซุกศีรษะเข้าไประหว่างขาให้ร่างกายมีลักษณะกลม และเขย่งปลายเท้า เพื่อให้ร่างกายสัมผัสกับพื้นดินน้อยที่สุดห้ามหมอบหรือนอนราบไปกับพื้น เพราะหากเกิดฟ้าผ่าในบริเวณใกล้เคียง น้ำบนพื้นจะเป็นตัวนำกระแสไฟฟ้า ห้ามเข้าไปหลบพายุฝนใกล้วัตถุที่มีความสูงโดดเด่น เช่น ป้ายโฆษณา ต้นไม้สูง เป็นต้น ไม่สวมใส่เครื่องประดับประเภทเงิน ทองคำ นาก ทองแดง หรือสัมผัสกับวัตถุที่เป็นโลหะ ไม่ใช้ร่มที่มีด้ามด้านบนเป็นเหล็กแหลม เนื่องจากเป็นสื่อนำที่ทำให้เกิดฟ้าผ่าได้ ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือและโทรศัพท์สาธารณะ แม้โทรศัพท์จะไม่ใช่สื่อล่อฟ้า แต่ฟ้าผ่าจะเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าเข้ามาในมือถือทำให้แบตเตอรี่ลัดวงจรและระเบิด ส่งผลให้ผู้ถูกฟ้าผ่าได้รับบาดเจ็บรุนแรงมากขึ้น ที่สำคัญ ให้หลีกเลี่ยงการประกอบกิจกรรมกลางแจ้ง โดยเฉพาะในจุดเสี่ยงต่างๆ เช่น ทุ่งนา สนามกีฬา สระน้ำ ชายหาด เป็นต้น เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า

กรณีอยู่ในอาคาร ให้หลบในอาคารที่มีสายล่อฟ้า ไม่ขึ้นไปอยู่บนดาดฟ้า มุมตึก ระเบียงด้านนอกอาคารหรืออยู่ใกล้หน้าต่างที่เป็นโลหะ งดใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดทั้งโทรทัศน์ วิทยุ อินเตอร์เน็ท คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์แบบมีสาย เครื่องทำน้ำอุ่น รวมถึงถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะฟ้าอาจผ่าลงมาภายนอกอาคาร ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้ากระชากและวิ่งมาตามสายไฟ สายโทรศัพท์ เสาอากาศ ส่งผลให้เครื่องใช้ไฟฟ้าเสียหาย และผู้ที่กำลังใช้งานอยู่ได้รับอันตราย

กรณีอยู่ในรถ ปิดประตูและกระจกหน้าต่างรถให้มิดชิด ถ้าฟ้าผ่าบริเวณรอบรถ ห้ามออกจากรถเด็ดขาด เนื่องจากห้องโดยสารรถเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่สุด เพราะกระแสไฟฟ้าจะไหลไปตามผิวโลหะของตัวถังรถลงสู่พื้นดิน ไม่จอดรถใต้ต้นไม้ใหญ่เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าการเรียนรู้วิธีป้องกันและปฏิบัติตนอย่างถูกต้องและปลอดภัยจากพายุฤดูร้อน และฟ้าผ่าจะช่วยให้การดำเนินชีวิตท่ามกลางภัยธรรมชาติในช่วงฤดูฝนเป็นไปด้วยความปลอดภัย