“พิจิตร” โรงพยาบาลต้นแบบ “ตลาดนัดสีเขียว”พัฒนาระบบอาหารปลอดภัยจาก “ผู้ผลิต”ถึง “ผู้บริโภค”

14 Mar 2011

กรุงเทพฯ--14 มี.ค.--บรอดคาซท์ วิตามิน บี

เกษตรกรส่วนใหญ่ทุกวันนี้มีการนำเอาสารเคมีต่างๆ มาใช้ในการทำการเกษตรมากขึ้น เพราะมุ่งหวังแต่เรื่องของมูลค่าและตลาด การที่ผลผลิตทางการเกษตรซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของห่วงโซ่อาหารปนเปื้อนสารเคมีก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้ผลิตและผู้บริโภค

จากการตรวจหาสารเคมีตกค้างในเลือดของเกษตรกรของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิจิตรระหว่างปี 2548-2553 พบว่ามีปริมาณสูงอยู่ในระดับเสี่ยงและไม่ปลอดภัย โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 25.15 เป็นร้อยละ 33.80 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการตรวจหาสารเคมีตกค้างในกลุ่มผู้บริโภคที่พบว่าอยู่ในระดับเสี่ยงและไม่ปลอดภัย โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 23.33 เป็นร้อยละ 32.85 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิจิตร จึงร่วมกับ เครือข่ายเกษตรปลอดสารพิษ, มูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร จัดทำ “โครงการพัฒนาอาหารปลอดภัยในโรงพยาบาลต้นแบบ” ขึ้นเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรในจังหวัดพิจิตรทำการเกษตรด้วยกระบวนการปลอดสารพิษ และพัฒนาให้โรงพยาบาลเป็นสถานบริการที่มีการดำเนินงานอาหารปลอดภัยอย่างเป็นระบบครอบคลุมทุกห่วงโซ่ของอาหาร โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

โดยร่วมกับโรงพยาบาลนำร่องทั้ง 5 แห่งในจังหวัดพิจิตรประกอบไปด้วย โรงพยาบาลพิจิตร, โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชตะพานหิน, โรงพยาบาลวชิรบารมี, โรงพยาบาลสามง่าม และโรงพยาบาลโพธิ์ประทับช้าง ขยายเครือข่ายเกษตรปลอดสารพิษในพื้นที่ นำผลผลิตจากการเกษตรธรรมชาติใช้ประกอบอาหารให้กับผู้ป่วย และสนับสนุนให้เกิดแหล่งจำหน่ายอาหารปลอดภัยโดยร่วมกับเกษตรกรเครือข่ายจัดทำโครงการ “ตลาดนัดสีเขียว” ขึ้นในโรงพยาบาลแต่ละแห่งเพื่อสร้างกระแสการผลิตและบริโภคอาหารปลอดภัยให้เกิดขึ้นกับประชาชนในจังหวัดพิจิตร

นายแพทย์ประจักษ์ วัฒนะกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิจิตร เผยว่าเกษตรกรทุกวันนี้มีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปคือผลิตเพื่อขาย มองเรื่องการค้าเป็นหลัก จึงต้องเร่งผลิต โดยการพึ่งสารเคมี ใช้ยาฆ่าแมลง เพื่อให้ได้ผลผลิตเยอะๆ พอขายได้เงินแล้วก็ต้องไปซื้ออาหารที่มีพิษกลับเข้ามาสู่ครัวเรือน

“ถ้าเกษตรกรคิดแบบนี้กันทั้งหมด เราก็จะได้รับสารเคมีกันทั้งเมือง เพราะฉะนั้นจึงต้องย้อนกลับมาสู่อดีตก็คือผลิตเพื่อบริโภคเหลือขาย ซึ่งก็จะตรงกับคำสอนของในหลวงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ตรงนี้ก็จะทำให้เราสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง และถ้าโครงการลักษณะนี้ขยายออกไปมากๆ ก็จะยิ่งส่งผลดี การที่เราได้อาหารที่สะอาดปลอดภัยจากสารพิษก็จะทำให้ชาวพิจิตรแข็งแรง มีสุขภาพดีทั้งกายและจิต ปัญหาทั้งในด้านของสุขภาพ และสังคมก็จะลดลงไปด้วย” นพ.ประจักษ์กล่าว

นายสุรเดช เดชคุ้มวงศ์ หัวหน้าโครงการฯ และเลขาธิการมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร เปิดเผยว่าจังหวัดพิจิตรมีการทำนาสูงถึง 2 ปี 7 ครั้ง และจากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขยังว่าคนพิจิตรป่วยด้วยโรคที่เกิดจากการใช้สารเคมีสูงเป็นอันดับสองของประเทศ โดยมีสาเหตุมาจากการรับประทานข้าวและผักที่มีสารเคมี

“คำถามก็คือว่าเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร พิจิตรมีชมรมเกษตรธรรมชาติมีการปลูกข้าวเป็นหลักแล้วก็เริ่มหันมาปลูกผักปลอดสารพิษ คำถามต่อมาก็คือว่าปลูกแล้วจะไปขายที่ไหน เราจึงเริ่มต้นจากตลาดเล็กๆ เป็นตลาดสีเขียวภายในโรงพยาบาล เพราะโรงพยาบาลตั้งอยู่ทุกอำเภอ ซึ่งโครงการนี้ไม่เพียงแต่ว่าจะมีเกษตรกร ผู้บริโภค และโรงพยาบาลมาร่วมมือกันเท่านั้น ตอนนี้เรายังมี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งเข้ามาร่วมมือให้การสนับสนุนด้วย” เลขาธิการมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตรระบุ

โดยล่าสุดทางโครงการได้จัดงาน “มหกรรมโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย” ขึ้นในโรงพยาบาลพิจิตร โดยมีเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดเข้าร่วมจำหน่ายสินค้าและอาหารปลอดสารพิษ พร้อมกับสอดแทรกเรื่องราวความรู้ของการดูแลรักษาสุขภาพจากโรงพยาบาลเครือข่ายทั้ง 5 แห่งไปควบคู่กับการนำเสนอภูมิปัญญาพื้นบ้านในการปลูกพืชผักปลอดสารพิษมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค

นายแพทย์ประจวบ มงคลศิริ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพิจิตร กล่าวว่าจากเก็บข้อมูลด้านสุขภาพของทางโรงพยาบาลพบว่าคนพิจิตรมีสารเคมีต่างๆ ตกค้างอยู่ในเลือดจำนวนมาก ไม่เพียงแค่กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงในกลุ่มผู้บริโภค ถ้าหากปล่อยไว้ในระยะยาวจะเกิดปัญหาด้านสุขภาพกับประชาชนชาวพิจิตรได้ จึงได้เชิญชวนให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชผักหรือผลไม้ที่ไม่ใช้สารเคมีในการผลิต

“การจัดให้มีตลาดสีเขียวในโรงพยาบาลเป็นการส่งเสริมสุขภาพในเชิงรุก โดยจะไปกระตุ้นให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพของตนเองตั้งแต่เรื่องของการส่งเสริมและการป้องกัน โดยใช้ตลาดสีเขียวเป็นเครื่องมือสื่อความรู้ในการดูแลสุขภาพไปยังผู้ผลิตและผู้บริโภค เกษตรกรผู้ผลิตเองก็จะเข้าใจว่าถ้าใช้สารเคมีตัวของเขาเองก็จะได้รับสารเหล่านั้นตกค้างอยู่ร่างกาย แต่ถ้าหันมาทำเกษตรอินทรีย์ก็จะไม่พบสารเคมีต่างๆ เหล่านี้ในกระแสเลือด รวมไปถึงตัวผู้บริโภคเองก็จะปลอดภัยด้วยเช่นกัน” ผอ.รพ.พิจิตรระบุ

นางสำอาง ทับบุญ หรือ “ป้าอิ้ง” เกษตรกรผู้ปลูกผลไม้จากตำบลทับหมัน อำเภอตะพานหินเล่าว่า ผลผลิตทุกชนิดในสวนปลูกและดูแลโดยไม่ใช้สารเคมี เพราะรู้ว่ามีผลเสียต่อสุขภาพของตนเองและผู้ที่ซื้อไปบริโภค โดยทุกวันนี้จะนำผลผลิตในสวนมาจำหน่ายที่ตลาดสีเขียวที่จัดขึ้นที่โรงพยาบาลพิจิตร โรงพยาบาลตะพานหิน และตลาดสีเขียวที่ท่ารถ บขส. ในทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์

“แต่ก่อนต้องนำผลผลิตไปขายให้กับพ่อค้าในตลาดสดประจำอำเภอ แต่เมื่อมีตลาดสีเขียวแล้วก็ไม่ต้องไปส่งอีกเลย ทุกวันนี้จะขายอาทิตย์ละ 3 วันเท่านั้น แต่ก็ขายดีมากขายหมดแทบทุกครั้ง คนที่ซื้อก็รู้ว่าอาหารแบบนี้ดีต่อสุขภาพ ทั้งคนกินและคนปลูกก็แข็งแรงไม่ป่วยบ่อยๆ” ป้าอิ้งกล่าว

“นอกจากการได้อาหารที่ปลอดภัยแล้ว เรายังค้นพบสิ่งที่เหนือความคาดหมายเช่นที่โรงพยาบาลวชิระบารมี มีกลุ่มผู้สูงอายุมารวมตัวกันทำนาโยนในโรงพยาบาล คุณหมอก็ได้มาเรียนรู้วิธีการทำนา มีการปลูกผักให้เจ้าหน้าที่กิน ทุกคนก็รู้สึกมีความสุข ดังนั้นจึงไม่ใช่แค่เรื่องกายแต่ได้เกิดสุขภาพทางสังคมด้วย เมื่อโรงพยาบาลและชุมชนร่วมมือกัน ทุกคนมีรอยยิ้ม มีเสียงหัวเราะ สุขภาพจิตดี มีการแบ่งปัน สิ่งเหล่านี้เป็นสุขภาพทางด้านจิตวิญญาณ หรือที่โรงพยาบาลโพธิ์ประทับช้างได้นำกลุ่มผู้พิการมาร่วมกันปลูกผักเพาะเห็ด ทำให้คนกลุ่มนี้มีรายได้ มีอาชีพ และยังรวมตัวกันเป็นกองทุนผู้พิการ ซึ่งจะเห็นได้ว่าโครงการนี้ไม่ได้เฉพาะแค่สุขภาพกายเท่านั้น แต่ได้ทั้งสุขภาพทางด้านสังคม สุขภาพจิตวิญญาณ และสุขภาพใจที่ดีอีกด้วย” นายสุรเดชกล่าวสรุป.

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ : เหมวดี พลรัฐ

: ดวงเนตร ชีวะวิชวาลกุล

บริษัท บรอดคาซท์ วิตามิน บี จำกัด

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net