กรุงเทพฯ--10 มี.ค.--วีโร่ พับลิครีเลชั่นส์
กองบังคับการปราบปรามและการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) เผยทิศทางการจับกุมองค์กรธุรกิจที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ปี 2554 มุ่งเป้าไปที่โรงงานผลิตสินค้า ธุรกิจด้านการออกแบบ ธุรกิจสถาปนิก และธุรกิจก่อสร้าง เนื่องจากสถิติที่ผ่านมา พบอุตสาหกรรมดังกล่าวมีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์สูง
พ.ต.อ. ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รองผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามและการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก. ปอศ.) กล่าวว่า “จากสถิติการตรวจค้นการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาพบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์สูงที่สุด ได้แก่ โรงงานผลิตสินค้า ธุรกิจด้านการออกแบบ ธุรกิจสถาปนิก และธุรกิจก่อสร้าง ดังจะเห็นได้จาก ในปี 2553 ปอศ.ได้ทำการสืบสวนสอบสวนและเข้าตรวจค้นโรงงานผลิตสินค้าเกือบ 50 แห่ง ที่ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ในการดำเนินธุรกิจ คิดเป็นร้อยละ 38 ของการตรวจค้นการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทั้งหมด และยังมีบริษัทออกแบบและสถาปนิกเกือบ 40 แห่ง ที่ถูกตรวจค้นในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ เนื่องจากประเทศไทยมีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก และยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์กันค่อนข้างมาก จึงทำให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์กันอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด กองบังคับการปราบปรามและการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) เผยทิศทางการจับกุมองค์กรธุรกิจที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ปี 2554 โดยมุ่งเป้าไปที่โรงงานผลิตสินค้า ธุรกิจด้านการออกแบบ ธุรกิจสถาปนิก และธุรกิจก่อสร้าง เนื่องจากมีหลักฐานว่าเป็นอุตสาหกรรมมีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์มากกว่าอุตสากรรมอื่นๆ ดังนั้น จึงขอให้ผู้ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมดังกล่าวได้ดำเนินการตรวจสอบการใช้ซอฟต์แวร์ภายในองค์กร เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ และในปีนี้รัฐบาลมีแผนที่จะผลักดันและบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอันเป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งของเศรษฐกิจไทยอีกด้วย
โดยทาง ปอศ. หวังว่าการมุ่งเป้าไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าว จะช่วยลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยลงได้ ซึ่งถ้าประเทศไทยสามารถลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ลงได้เร็ว จะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศไทยโตเร็วขึ้นอีกด้วย สำหรับผู้ที่ต้องการแจ้งเบาะแสการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ผ่านทางสายด่วนหมายเลขโทรศัพท์ 0-2714-1010 หรือผ่านทางเว็บไซต์ www.stop.in.th มีสิทธิ์ได้รับเงินรางวัลสูงสุดถึง 250,000 บาท ข้อมูลของผู้แจ้งจะถูกเก็บไว้เป็นความลับ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.stop.in.th
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ : อาทิมา ตันติกุล : บริษัท วีโร่ พับลิครีเลชั่นส์ โทร 02-684-1551
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit