พม.จัดงานวันรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ ประจำปี ๒๕๕๔ เดินหน้าป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบ

06 Jun 2011

กรุงเทพฯ--6 มิ.ย.--พม.

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่าย ทุกภาคส่วน จัดงานวันรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ ประจำปี ๒๕๕๔ “รวมพลังคนไทยทั้งชาติ ร่วมต่อต้านขบวนการค้ามนุษย์” เพื่อรณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนักและกระตุ้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการเฝ้าระวังและป้องกันแก้ไขปัญหาการ ค้ามนุษย์ โดยมีนายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีเปิด ณ ห้องควีนส์ปาร์ค ๑-๒ ชั้น ๒ โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ ปาร์ค กรุงเทพฯ

นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า การค้ามนุษย์เป็นภัยร้ายแรงและเป็นอาชญากรรมข้ามชาติที่ทั่วโลกให้ความสำคัญและกำลังจับตามอง รัฐบาลจึงถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินงานป้องกันและปราบปรามอย่างจริงจังและเด็ดขาด ทั้งนี้ ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นกฎหมายที่บังคับใช้กับการค้ามนุษย์เป็นการเฉพาะ โดยมีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองบุคคลที่เป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และปราบปรามองค์กรอาชญากรรมที่แสวงหาประโยชน์จากมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งตลอด ๓ ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการระดับชาติ ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในรูปแบบต่างๆ และปัญหาที่เชื่อมโยงกับการค้ามนุษย์มาอย่างต่อเนื่อง โดยยึดประโยชน์ของผู้เสียหายเป็นสำคัญ เพื่อให้ทันกับรูปแบบของการค้ามนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ และมีกลวิธีใหม่ๆ ในการล่อลวงให้เหยื่อตกเข้าสู่กระบวนการโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้แรงงาน ทั้งในรูปแบบการค้าแรงงานประมง การล่อลวงแรงงานโดยเก็บค่านายหน้าที่สูงเกินไปจนเกิดหนี้สิน การบังคับใช้แรงงานเด็ก เป็นต้น และเมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งได้เกิดกรณีหญิงต่างด้าวสัญชาติเวียดนาม ถูกกักขังและบังคับ ขู่เข็ญ จากแก๊งผู้ต้องหาชาวไต้หวันให้ทำงานรับจ้างตั้งครรภ์ให้บุคคลอื่น(อุ้มบุญ) จำนวน ๑๕ ราย ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ให้การช่วยเหลือและส่งหญิงผู้เสียหายชาวเวียดนาม พร้อมบุตรที่เกิดจากการรับจ้างอุ้มบุญ กลับภูมิลำเนา โดยขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเร่งดำเนินการในส่วนของคดี เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดและเรียกร้องสิทธิให้แก่ผู้เสียหายต่อไป

นายอิสสระ กล่าวต่อว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงฯ ในฐานะหน่วยงานหลักในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ได้จัดงานวันรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ ขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนได้รับทราบและตระหนักถึงภัยของการค้ามนุษย์ สร้างการมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ รวมทั้งให้หน่วยงาน องค์กร ทุกภาคส่วนได้รวมพลังกันแสดงเจตนารมณ์ และความมุ่งมั่นในการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการ ค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรม สำหรับปี ๒๕๕๔ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “รวมพลังคนไทยทั้งชาติ ร่วมต่อต้านขบวนการค้ามนุษย์” โดยกิจกรรมภายในงานวันนี้ จัดให้มีพิธีมอบรางวัลบุคคลและหน่วยงานดีเด่นด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ประเภทบุคคล จำนวน ๗ คน ประกอบด้วย ด้านการผลักดันให้เกิดนโยบายและกลไกการดำเนินงาน ได้แก่ ดร. สายสุรี จุติกุล และนายวันชัย รุจนวงศ์ (รองอธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด) ด้านการดำเนินคดี ได้แก่ พลตำรวจโท ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ (ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ) และนางสาวศิริวรรณ ว่องเกียรตไพศาล (หัวหน้าสำนักงานกฎหมายเอส อาร์) ด้านการป้องกัน นางกุสุมาลย์ ราชวงศ์ (ผู้ประสานงานโครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ) ด้านการคุ้มครองช่วยเหลือ ได้แก่ นางสาวลัดดา เบญจเตชะ (ผู้อำนวยการสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านเกร็ดตระการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) และนางสาวเดือน วงษา (ผู้จัดการโครงการหน่วยประสานงานเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ภาคเหนือตอนบน ประเทศไทย) ประเภทหน่วยงาน จำนวน ๕ หน่วยงาน ประกอบด้วย ด้านการดำเนินคดี ได้แก่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ด้านการป้องกัน ได้แก่ มูลนิธิผู้หญิง ด้านการคุ้มครองช่วยเหลือ ได้แก่ มูลนิธิกระจกเงา, มูลนิธิปวีณาหงสกุล

เพื่อเด็กและสตรี และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน รวมทั้งมอบรางวัลและโล่เกียรติคุณแก่ผู้ชนะการประกวดการออกแบบมาสคอตและหนังสั้น รณรงค์ต่อต้านขบวนการค้ามนุษย์ และรางวัลศิลปินเยาวชนที่ให้ความร่วมมือรณรงค์ต่อต้านขบวนการค้ามนุษย์ ได้แก่ แชมป์ พีรพล เอื้ออารียกูล และวิว พงศ์ชนก กันกลับ นอกจากนี้ ยังมีการสัมภาษณ์พิเศษบุคคลและหน่วยงานดีเด่นด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ การเสวนาจากกลุ่มเยาวชนเครือข่ายภูมิภาค และชมผลงานหนังสั้นรางวัลชนะเลิศ เป็นต้น

“การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความพยายามและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของ สังคม เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในทุกมาตรการ ทั้งเรื่องการป้องกัน การดำเนินคดี การคุ้มครองช่วยเหลือ การพัฒนากลไกเชิงนโยบาย รวมทั้งการพัฒนาและบริหารข้อมูลให้เห็นผลเป็นรูปธรรมต่อไป” นายอิสสระ กล่าว