มติของสังคม (Public Opinion) เป็นปัจจัยส่งเสริมให้บริษัททำกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR activity)

07 Jun 2011

กรุงเทพฯ--7 มิ.ย.--แกรนท์ ธอร์นตัน

รายงานผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติของแกรนท์ ธอร์นตัน ฉบับล่าสุด หรือ The 2011 Grant Thornton International Business Report (IBR) รายงานว่ามีธุรกิจเอกชนจำนวนไม่มากนักที่ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อมโดยไม่คิดหวังผลตอบแทน โดยมีเพียง 36% ของธุรกิจเอกชนทั่วโลกที่มีความกระตือรือร้นที่จะดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมด้วยความตั้งใจที่จะ 'อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม' ซึ่งลดลงจาก 40% เมื่อปี 2008

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจยังคงเล็งเห็นคุณประโยชน์ที่ได้รับจากกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) ในการสร้างแบรนด์ รักษาบุคลากรที่สำคัญของบริษัท และทำให้ได้ลูกค้าใหม่ในอนาคต โดย 56% ของธุรกิจทั่วโลกระบุว่า มติมหาชน/การสร้างแบรนด์ และการจ้างงาน/การรักษาไว้ซึ่งบุคลากร เป็นปัจจัยหลัก (ควบคู่กับการบริหารต้นทุน) ในการกระตุ้นให้เกิดกิจกรรม CSR ในปีนี้

ทั้งนี้ ในขณะที่ธุรกิจในกลุ่มเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วยังคงพยายามรับมือกับเศรษฐกิจที่เติบโตเชื่องช้า ธุรกิจในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (BRIC) นั้นดูเหมือนว่ามีความห่วงใยในสิ่งแวดล้อมมากที่สุด โดย 60% ของประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจ BRIC และ 59% ของประเทศในกลุ่ม ASEAN ระบุว่าการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องผลักดันให้เกิดการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรมมากยิ่งขึ้น เปรียบเทียบกับ 30% ใน EU และ 16% ในอเมริกาเหนือ

เอียน แพสโค กรรมการบริหาร แกรนท์ ธอร์นตัน ประเทศไทย กล่าวว่า "ในโลกธุรกิจที่เต็มไปด้วยคู่แข่งที่มีการพัฒนาตนเองตลอดเวลา ธุรกิจเอกชนมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้นว่าการดำเนินกิจกรรม CSR ที่ครอบคลุมในทุกๆ ด้าน จะช่วยให้บริษัทมีความโดดเด่นในสายตาของบุคลากร ผู้บริโภค และพาร์ทเนอร์ธุรกิจซึ่ง 65% ของธุรกิจในประเทศไทยบ่งชี้ว่าการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้บริษัทดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม”

"นอกจากนี้ เมื่อธุรกิจและผู้บริโภคในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วดิ้นรนต่อสู้กับผลกระทบจากเศรษฐกิจขาลง ความเอาใจใส่ต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติโดยไม่คิดหวังผลตอบแทนจึงกลายเป็นเรื่องรอง เพราะธุรกิจต่างก็ให้ความสำคัญกับงบกำไรขาดทุน และผู้บริโภคก็หาวิถีทางที่จะทำให้รายได้ตนเองเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงเป็นไปตามที่กล่าวไว้ว่าธุรกิจในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่จึงดูเหมือนว่ามีความพร้อมในการริเริ่มกิจกรรม CSR อย่างต่อเนื่อง"

ในขณะเดียวกัน ระดับของการดำเนินกิจกรรม CSR ทางด้านสิ่งแวดล้อม แรงงาน และชุมชนอื่นๆ นั้นมีความแตกต่างกันทั่วโลก ซึ่งธุรกิจในยุโรปตอนเหนือและแอฟริกา รวมถึงอเมริกาเหนือและเอเชีย-แปซิฟิก มีความโดดเด่นในเรื่องการริเริ่มกิจกรรม CSR ในขณะที่ยุโรปยังคงล้าหลังอยู่

เอียน แพสโค กล่าวเสริมว่า "กิจกรรม CSR ในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากธุรกิจต่างตระหนักถึงการส่งเสริมคุณค่าของบุคลากรนอกเหนือไปจากการหวังผลเชิงพาณิชย์ การที่บริษัททำกิจกรรมเพื่อสังคมนั้นจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพไว้”

ในการนี้ การสำรวจดังกล่าวยังเปิดเผยด้วยว่าความคิดเห็นต่อการรายงานการดำเนินกิจกรรม CSR นั้นแบ่งแยกเป็นสองขั้ว โดยหนึ่งในสี่ของธุรกิจทั่วโลกรายงานว่ามีการทำกิจกรรม CSR ในองค์กร (53% ในละติน อเมริกา, 41% ในกลุ่มเศรษฐกิจ BRIC, 17% ในอเมริกาเหนือและ 18% ในกลุ่มเศรษฐกิจ G7) นอกจากนี้ ธุรกิจยังมีความคิดเห็นแตกต่างกันเรื่องการรายงานเกี่ยวกับกิจกรรม CSR ว่าควรรวมอยู่ในรายงานทางการเงินหรือไม่ ซึ่ง 44% เห็นด้วยว่าจะเป็นการดำเนินธุรกิจที่ดีที่สุด ในขณะที่อีก 40% ไม่เห็นด้วยและ 16% ไม่มีความเห็น

เอียน แพสโค กล่าวสรุปว่า "ธุรกิจเอกชนควรจะพิจารณาถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการรายงานกิจกรรม CSR โดยธุรกิจที่แสดงความเป็นผู้นำในการดำเนินกิจกรรม CSR อย่างโปร่งใสจะมีข้อได้เปรียบเหนือคู่แข่งขัน และเพิ่มโอกาสในการดึงดูดและรักษาไว้ซึ่งบุคลากรที่มีคุณภาพ สร้างคุณค่าของแบรนด์ และได้ลูกค้าต่างชาติรายใหม่ๆ ซึ่งมักจะใช้แนวทาง CSR มาใช้ในการพิจารณาคัดเลือกพาร์ทเนอร์ธุรกิจเช่นเดียวกัน"

หมายเหตุ

รายงานผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติของแกรนท์ ธอร์นตัน หรือ Grant Thornton International Business Report (IBR) นำเสนอทัศนคติและความคาดหวังของกว่า 11,000 ธุรกิจจาก 39 กลุ่มประเทศเศรษฐกิจในแต่ละปี โดยเป็นการสำรวจที่มีลักษณะเฉพาะคือมีการนำผลการสำรวจจากปีที่ผ่านๆ มามาจัดทำแนวโน้มข้อมูลซึ่งรวมถึง 19 ปีจากหลายประเทศในยุโรป และ 9 ปีจากหลายประเทศนอกเหนือทวีปยุโรป ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.internationalbusinessreport.com

การเก็บข้อมูลการสำรวจนั้นจัดทำผ่านการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เป็นหลัก ซึ่งใช้เวลาประมาณ 15 นาที ยกเว้นประเทศญี่ปุ่น (จัดทำผ่านทางไปรษณีย์), ฟิลิปปินส์และอาร์เมเนีย (จัดสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว), จีนและอินเดีย (ใช้ทั้งวิธีตัวต่อตัวและทางโทรศัพท์) เนื่องด้วยความแตกต่างทางวัฒนธรรมเป็นองค์ประกอบในการเข้าถึงผู้ร่วมการสำรวจ ทั้งนี้ การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ช่วยให้แกรนท์ ธอร์นตัน สามารถจัดทำการสัมภาษณ์ได้ตามจำนวนครั้งที่ตั้งไว้ และมั่นใจได้ว่าผู้ที่เข้าร่วมการสำรวจส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารที่ทำงานในองค์กรที่อยู่ในเกณฑ์การสำรวจที่กำหนดไว้

การเก็บข้อมูลนั้น บริหารจัดการโดยบริษัทวิจัยที่มีชื่อว่า Experian Business Strategies ซึ่งจัดทำการแปลแบบสอบถามเป็น ภาษาของแต่ละประเทศ โดยนอกเหนือจากคำถามหลักแล้ว แต่ละประเทศสามารถเพิ่มเติมคำถามที่สำคัญหรือเจาะจงเกี่ยวกับประเทศตนเองได้ และจากปี 2011 เป็นต้นไป จะมีการเก็บข้อมูลทุกไตรมาสซึ่งการเก็บข้อมูลแต่ละครั้งจะใช้เวลาราว 1 เดือนครึ่ง

กลุ่มตัวอย่างIBR เป็นการสำรวจทัศนคติของธุรกิจเอกชนที่มีขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ สำหรับผลสำรวจเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมครั้งนี้ได้มาจากการสัมภาษณ์บริษัทกว่า 7,700 รายทั่วโลก ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2553 ถึงเดือนมกราคม 2554

กลุ่มตัวอย่างได้แก่ผู้บริหารในระดับประธานกรรมการบริษัท กรรมการบริหาร ประธาน และผู้บริหารอาวุโส (ชื่อตำแหน่งนั้นอาจแตกต่างกันตามความเหมาะสมในแต่ละประเทศ) จาก 39 กลุ่มประเทศเศรษฐกิจ ใน 5 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ การผลิต (25%), การบริการ (25%), ค้าปลีก (15%) และการก่อสร้าง (10%) โดยอีก 25% เป็นการสำรวจในอุตสาหกรรมอื่นๆ

กลุ่มตัวอย่างในทุกประเทศส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารที่มาจากอุตสาหกรรมข้างต้นที่กล่าวมา แต่ในบางประเทศก็จะมีการนำเสนอข้อมูลสำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่แตกต่างไปโดยมีความเฉพาะเจาะจงมากกว่า ทั้งนี้จำนวนของกลุ่มตัวอย่างต้องมีมากเพียงพอด้วย

เกี่ยวกับ แกรนท์ ธอร์นตัน ประเทศไทย

แกรนท์ ธอร์นตัน ประเทศไทย เป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงธุรกิจในฐานะบริษัทที่ปรึกษาและให้บริการอย่างมืออาชีพระดับแนวหน้าของประเทศไทย ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2534 มีประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาแก่บริษัทต่างๆ ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียปี พ.ศ. 2540 โดยใช้วิธีการปรับโครงสร้างหนี้ การลดค่าใช้จ่าย และการปรับปรุงแผนธุรกิจ รวมถึงดำเนินการช่วยเหลือลูกค้าขยายธุรกิจผ่านการควบรวมและมองหาโอกาสในการขยายกิจการ ทั้งนี้ การให้บริการของแกรนท์ ธอร์นตัน ครอบคลุมถึง การให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ การตรวจสอบบัญชีทั้งภายในและภายนอกองค์กร การให้คำปรึกษาทางภาษีทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ การให้คำปรึกษาด้านการเงิน การปรับโครงสร้างองค์กร การควบรวมกิจการ งานด้านกฏหมายและการสืบสวน การบริหารความเสี่ยง การประเมินราคาทรัพย์สินสุทธิทางการเงินและภาษีก่อนที่จะทำการซื้อขายกิจการ ความช่วยเหลือด้านการโอนเงิน การประเมินมูลค่าสินทรัพย์ การแนะกลยุทธ์ให้บริษัทในการออกจากธุรกิจเพื่อถอนทุนคืน การจัดหาบุคลากรระดับผู้บริหาร การเตรียมการเพื่อถ่ายโอนกิจการ และการพิจารณาผลตอบแทน ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ แกรนท์ ธอร์นตัน ประเทศไทย กรุณาค้นหาที่เว็บไซต์ www.grantthornton.co.th

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม ท่านสามารถติดต่อ เอียน แพสโค ลักษณ์พิไล วรทรัพย์ กรรมการบริหาร ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายการตลาดและการสื่อสาร แกรนท์ ธอร์นตัน แกรนท์ ธอร์นตัน โทร: 02 205 8100 โทร: 02 205 8142 อีเมล์: [email protected] อีเมล์: [email protected]