เครือข่ายพุทธิกาชวนร่วมงาน "มหกรรมจัดการอารมณ์ป่วน"

22 Jun 2011

กรุงเทพฯ--22 มิ.ย.--มูลนิธิสยามกัมมาจล

คุณเคยเจออารมณ์แบบนี้ไหม? โกรธ -อยาก -เหงา -ฟุ้งซ่าน -ลังเลสงสัย ... ที่ล้วนแต่เป็นอารมณ์ไม่พึงประสงค์ รังแต่จะบั่นทอนสุขภาพกาย – สุขภาพใจของเรา แต่ทว่าคำถามที่สำคัญยิ่งกว่า เมื่อพบกับมันแล้ว คุณหล่ะจัดการกับมันอย่างไร?

เป็นที่มาของงาน “ป่วน” มหกรรมงานศิลปะเพื่อชีวิตและอิสรภาพ (Freedom Here and Now) ภายใต้ โครงการ “ศิลปะเพื่อชีวิตและอิสรภาพของคนรุ่นใหม่” จัดโดยเครือข่ายพุทธิกา ในการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) มูลนิธิสยามกัมมาจล หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และนิตยสารไบโอสโคป

คุณพรเพ็ญ วงศ์กิจมโนชัย เครือข่ายพุทธิกา กล่าวถึงกิจกรรมนี้ว่า “อารมณ์และความรู้สึก” เป็นเสมือนเพื่อนของมนุษย์ทุกคน ที่ต้องมี และสามารถพบได้ในชีวิตประจำวัน หลายครั้งเราถูกตัวป่วน คือ อารมณ์ต่างๆ ทั้งอารมณ์รัก อยาก โกรธ เหงา เซ็ง ฟุ้งซ่าน ลังเลสงสัย ฯลฯ คอยขัดขวางไม่ให้เราเป็นอิสระ และบั่นทอนไม่ให้เราสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้

งานมหกรรมป่วนจึงทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมโยงหลักธรรมพื้นฐานในชีวิตกับการจัดการอารมณ์อย่างรู้เท่าทัน ให้ผู้ร่วมงานได้เรียนรู้และทำความเข้าใจกับอารมณ์ทั้ง 5 นี้ชัดเจนขึ้น ผ่านกิจกรรมศิลปะในรูปแบบที่หลากหลาย อาทิ ฟรีเวิร์คช็อป หนังสั้น เวทีเสวนากับไอดอลคนดัง และนิทรรศการเขาวงกตอารมณ์ป่วน ที่ล้วนแล้วแต่จะทำให้ผู้ร่วมงานค่อยๆ ซึมซับทำความเข้าใจกับอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ของตนเองได้โดยง่าย และเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ในท่ามกลางสังคมยุคใหม่ที่มีความสลับซับซ้อนและสับสนวุ่นวาย ผ่านการสังเกตพินิจพิเคราะห์พฤติกรรมการแสดงออก ไม่ใช่ของใครอื่น หากแต่เป็นของตัวเราเอง

“พฤติกรรมหนึ่งนั้นอาจประกอบไปด้วยอารมณ์หลากหลายที่มาขับเคลื่อนร่วมกัน เพียงแค่เราตั้งต้นจากตนเอง เริ่มสังเกต เรียนรู้ สืบค้น สร้างความเข้าใจ แล้ววิถีทางที่จะดูแลและจัดการกับสภาวะอารมณ์ต่างๆ ในชีวิตก็จะค่อยๆ คลี่คลายออกมาด้วยตัวของเราเอง” คุณพรเพ็ญ กล่าว

ทั้งนี้ งาน “ป่วน” มหกรรมงานศิลปะเพื่อชีวิตและอิสรภาพ (Freedom Here and Now) จะมีขึ้นในวันที่ 29 มิถุนายน – 3 กรกฎาคมนี้ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมฟรีเวิร์คช็อปได้ที่ http://www.budnet.org/puan รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 081-685-8176 และอีเมล [email protected]